เดินให้หลง แล้วจะรักษ์ปากคลองตลาดกับ #เดินหลงในดงดอก
แฮชแท็กที่ร้อนแรงในโลกโซเชียลโดยเฉพาะอินสตราแกรมตอนนี้ต้องยกให้ #เดินหลงในดงดอก และ #ปากคลองStrikeBack กับภาพตลาดดอกไม้ และปากคลองตลาดที่มีความหวานสดใสขึ้น
#เดินหลงในดงดอก ชื่อนี้คือชื่อกิจกรรม และ ปากคลอง Strike Back เป็นชื่อของโครงการที่มีบรรดานักศึกษาปริญญา โท-เอกด้านสถาปัตยกรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นโต้โผ โดยผสมผสานนิทรรศการ street art การเล่นเกมไล่ล่าหา AR เข้ากับการเก็บข้อมูลชุมชน ไปพร้อมๆ กับการเยียวยาไม่ให้พ่อค้าแม่ขายชาวปากคลองตลาด ต้องอยู่กับผลกระทบทางเศรษฐกิจซบเซาเนื่องด้วยการระบาดของไวรัสตัวร้ายเพียงลำพัง
ทำไมพวกเด็ก (เรียน) สร้างบ้าน ที่ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมศิลปะชุมชนเฉพาะกิจกลุ่มนี้ถึงสามารถนำวัตถุประสงค์หลายข้อมาเขย่ารวมในกิจกรรมที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญอยู่ตอนนี้ได้ Sarakadee Lite ขอพาไปทำความรู้จักและทราบที่มาของปรากฎการณ์ #เดินหลงในดงดอก ที่จะทำให้ปากคลองตลาดฟรุ้งฟริ้งขึ้นกว่าที่เคย
กระตุกปากคลองด้วยศิลป์สนุกๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันปากคลองตลาดกำลังถูกท้าทายด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ของพื้นที่ที่เปลี่ยนไป ยอดคนจับจ่ายลดลง การเติบโตของตลาดอื่นๆ ในย่านชานเมืองที่เดินทางและขนส่งสะดวกขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าบรรยากาศดั้งเดิมอันจอแจของตลาดเก่าแก่ประชิดเขตเกาะรัตนโกสินทร์แห่งนี้ได้จางหายไปบ้าง จากการจัดระเบียบทางเท้าในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือในครึ่งปีแรกของปี 2020 โรคโควิด-19 ได้นำนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงคนไทยเองด้วย ที่พอจะเป็นลูกค้าขาจรหดหายตามไปอีก
นับเป็นโอกาสดีที่ทางผู้ค้าของสถานที่ที่หนังสือท่องเที่ยวต่างขนานนามไว้ว่าเป็น Bangkok Flower Market แห่งนี้ได้ตัวช่วย ซึ่งก็คือโครงการ ปากคลอง Strike Back จากฝีมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับทีม Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ และ ทีม Splendour Solis เพื่อช่วยกระตุ้นบรรยากาศให้อย่างน้อยในช่วงที่ไม่มีชาวต่างชาติก็ยังพอมีคนไทยมาช่วยสร้างความคึกคักขึ้นมาบ้าง
“ที่ใช้คำ Strike Back เพราะทางทีมคณะสถาปัตย์ฯ เคยมาลงพื้นที่กันบ้างแล้ว โดยเริ่มสะสมข้อมูลกันเมื่อหลายปีก่อน เป็นการเก็บรายละเอียดของบรรดาร้านค้าทุกประเภทและภาวะผลกระทบจากการจัดระเบียบย่าน ในคราวนี้เราทำกิจกรรมโดยได้ความร่วมมือจากผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ พร้อมกับข้อมูลชุดเก่าที่เคยทำไว้อยู่”
ผศ. ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ นักวิชาการหัวหอกด้านสถาปัตยกรรมกับการพัฒนาชุมชนและการรักษาอัตลักษณ์พื้นถิ่น ผู้เป็นหัวหน้าโครงการกล่าว ซึ่งข้อมูลชุดดังกล่าวได้ถูกรวบรวมไว้ใน https://flowerhub.space/stories
“ใน เดินหลงในดงดอก เราใช้กลวิธีสร้างเทศกาลดอกไม้ โดยไม่ใช้ดอกไม้จริง แต่เป็นดอกไม้ในพื้นที่ของโลกเสมือนจริง อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AR (Augmented Reality) มาช่วยดึงคนให้เข้ามาซื้อดอกไม้จริงๆ จากร้านค้า ซึ่งทำไปพร้อมๆ กับการแนะนำให้โลกภายนอกได้รู้จักโลกภายในปากคลองตลาดมากขึ้น โดยนำมนุษย์ปากคลองในสาขาอาชีพต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังตลาดแห่งนี้ มาถ่ายรูปและขยายเป็นแผ่นภาพขนาดใหญ่ยักษ์ แต่งสีสันภาพให้สดใสมากขึ้น นำไปติดตามพื้นผนังของจุดสำคัญต่างๆ ทั่วปากคลอง”
จากจุดเริ่มต้นของภาพถ่ายคนในตลาดดอกไม้แห่งนี้ กิจกรรมได้แตกขยายออกเป็นอีก 4 กลุ่มเริ่มจาก Flower Quiz คล้ายการลงทะเบียนแบบมีลูกเล่น ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้เล่นเกมตอบคำถาม ในตอนท้ายจะได้รับคำนิยามว่าคุณเป็นดอกไม้ประเภทไหน เพื่อจะได้แผนที่ online ไปท่องหาจุดต่างๆ ทั่วตลาดทั้งสิบจุดที่ซ่อนงานศิลปะและเกมให้สนุกกันต่อ
ต่อด้วย Humans of Flower Market การเดินตามหาภาพถ่ายมนุษย์ปากคลองตามจุดในตลาด คล้ายการเล่นแรลลี่หาจุด RC ที่ติดตั้งงานนิทรรศการภาพถ่ายขนาดใหญ่กลางแจ้ง ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้บริบทพื้นที่ต่างๆ ของตลาดแห่งนี้แทบจะทุกซอกทุกมุม ส่วน Flower tracking คือการผจญภัยหา AR tracking โดยแต่ละจุดจะมีรูปวาดดอกไม้ซ่อนอยู่ ซึ่งพอแสกน QR code แล้วจะสามารถเล่นถ่ายรูป ณ จุดนั้น พร้อม filter สารพัดลูกเล่น ปิดท้ายด้วย Secret Flower Crown ที่ชวนคนให้ซื้อดอกไม้จริงๆในตลาด ถ่ายรูปแล้ว inbox มาที่ แฟนเพจ Humans of Flower Market เพื่อแลกกับ interactive filter ลับๆ ที่ไม่ซ้ำกับที่เล่นในส่วนจัดแสดง
เดินให้หลง แล้วจะรักษ์
ถ้าใครเดินหลงในงาน #เดินหลงในดงดอก แล้วเก็บแต้มครบทุกจุดก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะแม้แต่มนุษย์ปากคลองตลาดเองแท้ๆ ก็ยังไล่ล่าจุดที่ซ่อนไว้ในซอกหลืบของตลาดปากคลองได้ไม่ครบ ตัวช่วยที่ดีอันหนึ่งในการเก็บแต้มให้ครบก็คือการตามบรรดาภาพถ่ายมนุษย์ปากคลองขนาดใหญ่ที่ติดอยู่ทั่วตลาด กับเหล่าชื่อตรอกซอยและชื่อร้านรวงที่ใบ้ไว้ให้ในโพยแผนที่
แต่สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นกับตลาดดอกไม้แห่งนี้ แนะนำให้มารับแผนที่ได้ที่ ร้าน Sunflower ถ้าทางร้านไม่วุ่นวายกับการดริปกาแฟจนเกินไปนักก็ยินดีมาช่วยสอนวิธีการเข้าใช้ application ต่างๆ โดยหนุ่มๆ ของร้าน eco shop แห่งนี้เป็นทีมหลักชุดหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรม #เดินหลงในดงดอก ร้าน Sunflower ที่ว่าอยู่ไม่ไกลจากทางออกหมายเลข 4 ของสถานี MRT สนามไชย แค่ข้ามสะพานตรงคลองคูเมืองเดิมไปทางริมฝั่งถนนอัษฎางค์ก็จะเห็นร้านคูหาเดียวสีพาสเทลนี้ตั้งอยู่ (ขอโน้ตว่าทางออกนี้เขียนว่าสำหรับ ปากคลองตลาด และวัดใจด้วยขั้นบันไดล้วนๆ ไม่มีบันไดเลื่อนหรือลิฟต์แต่อย่างใด) แต่สำหรับคนที่เชี่ยวตรอกซอยของปากคลองตลาดก็สามารถเข้าไป download แผนที่เพื่อตระเวนเองได้เลยที่ https://flowerhub.space/quiz/about/
แต่ถ้าจะให้ครบเครื่องยิ่งขึ้นก็อย่าลืมเอากระเป๋ามาหิ้วดอกไม้หลากประเภท หลายขนาด กลับไปบูชาหิ้งพระหรือตกแต่งห้องหับที่บ้าน เดี๋ยวนี้ชาวปากคลองไม่ได้ทำแต่มาลัยบายศรีเท่านั้น แต่ยังจัดช่อหรือกระถางดอกไม้สดเล็กๆ ไว้ไปสร้างมุมสดชื่นให้กับห้องของชาวคอนโดอีกด้วย ยังไม่นับพืชผักผลไม้ที่ตอนนี้ใจดีแยกขายปลีกให้ไปปรุงต่อที่บ้านในราคาที่หาไม่ได้ในซูเปอร์มาร์เกต ส่วนท้องก็ไม่ควรปล่อยให้ว่างกับร้าน แผง และมุมของกินราคามิตรภาพมากมาย เพียงเท่านี้ก็ทำให้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ให้ชาวชุมชนปากคลองได้มีแรงดำเนินชีวิตต่อ และยังช่วยอนุรักษ์วิถีชีวิตของย่านโบราณประจำพระนครแห่งนี้
ปากคลองนำร่อง ลองศิลปะกระตุ้นชุมชน
ดอกไม้ ถูกเลือกมาเป็นตัวแม่เหล็กหลักในการสร้างลูกเล่นดึงดูดคนให้มาร่วมกิจกรรมฟื้นตลาดปากคลอง ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ใช้เพื่อตอกย้ำความสำคัญของตลาดที่เลื่องชื่อในการจำหน่ายดอกไม้แห่งนี้เท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างนิยามใหม่ของความเป็น Bangkok Flower Market โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่แฟนเพจ Humans of Flower Market แหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ว่าด้วยมนุษย์ในตลาดดอกไม้ปากคลองตลาด เพจนี้ทำขึ้นเพื่อนำเสนอกลุ่มผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในพื้นที่โดยรอบของย่าน รวมถึงมุมมองที่ทีมนักศึกษาสถาปัตย์ฯ ศิลปากร มีต่อ “ความเป็นย่านของปากคลองตลาด” ที่กำลังประสบกับจุดเปลี่ยน
“จุดแข็งอันหนึ่งของชาวปากคลองตลาดคือ พลังชุมชน ตัวอย่างที่ชัดอันหนึ่งก็คือแม้ว่าความเบียดเสียดวุ่นวายและการแข่งขันค้าขายจะมีอยู่สูง เนื่องจากพื้นที่จำกัดและขายของในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ค่อยเห็นการทะเลาะเบาะแว้ง นี่ถือเป็นเอกลักษณ์อันหนึ่ง พอมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจากการจัดระเบียบหรือจำนวนคนลดลง ทุกคนต่างร่วมใจที่จะหาทางออกให้กับตลาด”
อาจารย์สุพิชชา หรือ อาจารย์หน่อง กำลังหลักคนหนึ่งของวงการศิลปะชุมชนกล่าว โดยอาจารย์สุพิชชาเคยลงพื้นที่ชุมชนมาแล้วหลายที่ไม่ว่าจะเป็นที่กุฎีจีน คลองบางหลวง และล่าสุดบางลำพู ที่เพิ่งมีงาน New World x Old Town ไปเมื่อมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
“ทีมของหน่องมองว่า ทางชุมชนน่าจะรักษาจุดเด่นของความเป็นตลาดดอกไม้และผักผลไม้สดชั้นนำที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่สานต่อโดยการหาพื้นที่ใหม่อย่างตลาดออนไลน์เป็นทางเสริม ซึ่งในเว็บ flowerhub และแฟนเพจ Humans of Flower Market ได้รวบรวมและนำเสนอไว้ หากสามารถส่งต่อจุดเด่นให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นถัดไปจำต่อได้ว่า ถ้าต้องการของดีเกรดปากคลองก็ยังสามารถสั่งซื้อผ่าน modern marketplace ที่ลิงค์ไว้ให้ได้ เพียงเท่านี้ปากคลองตลาดก็ยังมีหนทางไปต่อ”
นอกจากจะสร้างทางออกให้กับปัญหาเก่าแล้ว เทคโนโลยีและการออกแบบที่นำมาลองใช้ใน #เดินหลงในดงดอก ยังมาช่วยสร้างทางออกให้กับปัญหาใหม่ในยุคโควิด-19 ได้ด้วย รูปแบบวิธีการท่องตลาดด้วยตัวช่วยผ่านสมาร์ตโฟนที่มีทั้งแผนที่ ข้อมูล ผสมเกมและลูกเล่น ทั้งหมดสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ เหมาะกับภาวะที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลตามมาตรการ social distancing ได้เป็นอย่างดี
ส่วนในด้านการจัดการงานศิลปะชุมชน โครงการ ปากคลอง Strike Back นี้นับเป็นสนามเรียนรู้ของทีมงานศิลปะชุมชนนี้ใหม่กันอีกครั้ง เพราะมีวาระใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคการหาเนื้อกระดาษที่เหมาะสมและการเคลือบพื้นผิวที่ทนแดดทนฝน การติดตั้งในพื้นที่แคบสูงในเวลาที่จำกัดของตลาดที่คึกคักแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนให้ไว้ใจพอที่จะยอมมาถ่ายรูปจัดแสดง
อุดหนุนดอกไม้ เป็นสื่อแทนใจ
นอกเหนือจากการช่วยกันติด hashtag #ปากคลองstrikeback และ #เดินหลงในดงดอก แล้ว อาจารย์สุพิชชา ยังเชิญชวนไปส่งกำลังใจชาวชุมชนตลาดปากคลองด้วยการอุดหนุนสินค้าที่ไม่ได้มีดอกไม้เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงบริการต่างๆ ซึ่งนับเป็นเป้าหมายแฝงอันหนึ่ง แม้ว่าการถ่ายภาพและเล่นเกมจะรบกวนการสัญจร การขนส่ง และระบบธุรกิจประจำวันของชาวปากคลองอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่ในชุมชนต่างก็ให้ความร่วมมือ
อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าประทับใจที่สุดของกิจกรรม #เดินหลงในดงดอก นี้ ไม่ได้อยู่ที่การล่าพิกัดและการลุ้นลูกเล่นของแต่ละ filter ทว่าเป็นการคอยหาว่ามนุษย์ปากคลองที่อยู่ในภาพถ่ายยักษ์นั้นเดินอยู่ในละแวกนั้นหรือไม่ หลายท่านถ้าไม่วุ่นกับภารกิจเฉพาะหน้าจนเกินไปก็ยินดีที่จะให้ถ่ายรูปและพูดคุยด้วย (รวมถึงช่วยถ่ายรูปให้อีกต่างหาก) ไม่ว่าจะเป็น หนุ่มแบงค์ น้องชายเฮียเก่งเจ้าของร้านมะลิมาลัยสด พี่จันทร์ มนุษย์รถเข็นหญิง กลุ่มชายฉกรรจ์แรงงานประเทศเพื่อนบ้านแสนขยัน รวมถึง คุณป้าเปรมจิตร เจ้าของร้านอาหารในตรอกเสียวหลัง(ที่ต้องลองนั่งกินข้าวกระเพราสูตรจุกท้องแล้วถึงจะรู้ที่มาของชื่อร้าน) สิ่งนี้นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานครั้งนี้ที่สามารถประสาน ศิลปะวัฒนธรรมและเทคโนโลยี ให้สนองประโยชน์วิถีชุมชน และสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนข้ามชุมชนในเขตเมืองได้เป็นอย่างสร้างสรรค์
หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ก็อาจเป็นแรงบันดาลใจในการหาไอเดียสร้างสรรค์ในการช่วยฟื้นฟู ย่านและชุมชน ที่ประสบภาวะถดถอยได้ เพราะคนผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวอาคาร โดยโครงการ ปากคลอง Strike Back นี้ทางคณะสถาปัตย์ฯดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), กฎบัตรแห่งชาติ และกฎบัตรรัตนโกสินทร์
ปากคลอง Strike Back! จัดขึ้นเต็มบริเวณย่านปากคลองตลาดทั้งสองฝั่งถนนจักรเพชร ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563 รีบไปเดินหลงในดงดอกด่วนๆ ชาวปากคลองรอต้อนรับอยู่ มีเวลาอีกเพียงไม่กี่วันในช่วงสองสุดสัปดาห์ที่เหลือแล้ว
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ