เกาะปันหยี วิถีนักเตะชาวเกาะ
เมื่อชาวเกาะกลางทะเลหลงใหลในเกมกีฬาที่คนทั่วโลกรู้จัก ภูมิปัญญาชาวบ้านกับความตั้งใจจึงเปลี่ยนข้อจำกัดเป็นความได้เปรียบ พร้อมส่งผลให้เกาะเล็กๆกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก
บรรพบุรุษของเกาะปันหยีเมื่อกว่าศตวรรษก่อน คงไม่ได้ตระเตรียมคิดเรื่องกิจกรรมกีฬาใดๆเอาไว้ล่วงหน้า
ว่ากันว่าพวกเขาล่องเรือรอนแรมจากทะเลแสนไกลมาตั้งรกรากบนเกาะเล็กๆของพื้นที่จังหวัดพังงาตั้งแต่ราวปลายสมัยกรุงธนบุรี ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลบริเวณนี้ เป็นเหตุผลให้ยึดอาชีพประมง และอาศัยบนเกาะเนื้อที่ไม่ถึง 2 ไร่ แทนที่จะขึ้นไปใช้ชีวิตบนแผ่นดินใหญ่
แม้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่ใครเล่าจะคิดว่าการเป็นชาวเกาะจะกลายเป็นปัญหาในยุคต่อมา เมื่อบรรดาลูกหลานเกิดไปหลงเสน่ห์แห่งเกมลูกหนัง และนึกอยากจะเตะฟุตบอลตามนักเตะระดับโลกที่เห็นในจอทีวีบ้าง
“สมัยก่อนคนบนเกาะปันหยีเล่นฟุตบอลกันตามชายหาดเฉพาะช่วงเวลาน้ำลด ในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือ 4 ค่ำ เล่นได้ในเวลาราว 4 โมงเย็น เมื่อมีบ้านเรือนบนเกาะปลูกมากขึ้น ก็ต้องนั่งเรือออกจากเกาะไปเล่นที่ชายหาดอีกแห่ง” บังหนาน - ประยุทธ ประสานพันธ์ ประธานชมรมกีฬาเกาะปันหยี เริ่มต้นเรื่องสนามฟาดแข้งในอดีต โดยมีคุณปกรณ์ แสงสาคร รองนายก อบต.เกาะปันหยี รวมถึงกลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันจับกลุ่มผลัดกันเล่าความทรงจำในอดีตอย่างออกรส บริเวณสภากาแฟประจำเกาะ
สนามฟุตบอลสร้างจากแผ่นไม้และโป๊ะลอยน้ำกลายเป็นแหล่งรวมตัวในยุคเริ่มแรก ต่อมามีการสร้างสนามพื้นไม้บริเวณโรงเรียน ก่อนจะพัฒนามาเป็นสนามปูนคอนกรีตที่มั่นคงแข็งแรง
ส่วนสนามฟุตบอลลอยน้ำที่มีในปัจจุบัน เป็นสนามที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อธนาคารทหารไทยทราบประวัติอันน่าประทับใจ และเข้ามาถ่ายโฆษณา จึงต้องการสร้างไว้เพื่อย้อนภาพอดีตให้เห็นภาพสนามฟุตบอลของชาวเกาะปันหยีในยุคก่อนชัดเจนขึ้น
ทุกวันนี้ สนามฟุตบอลลอยน้ำมีริ้วรอยของกาลเวลาที่กัดกร่อนให้เห็นความทรุดโทรมไปบ้าง และไม่ได้เป็นสนามหลักสำหรับการประลองฝีเท้าของเด็กๆบนเกาะอีก เพราะไม่ไกลจากกันมีสนามคอนกรีตที่เอื้อต่อการเล่นกีฬาอย่างจริงจังมากกว่า แต่ในวันที่สภาพอากาศเป็นใจ สนามฟุตบอลลอยน้ำก็ยังเป็นพื้นที่ยืดเส้นยืดสายของนักเตะรุ่นเยาว์ ที่ช่วยปัดเป่าความเหงาหงอยออกไปจากลานสี่เหลี่ยมกลางน้ำ
หากไล่เรียงยุคการท่องเที่ยวเกาะปันหยี คนไทยเริ่มรู้จักเกาะแห่งนี้จากการเสด็จเยือนของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อกว่า 40 ปีก่อน ตามติดมาด้วยภาพยนตร์สายลับเจมส์ บอนด์ The Man with the Golden Gun ที่ใช้พื้นที่ไม่ไกลกันอย่างเกาะตะปูถ่ายทำฉากสำคัญ และการที่ภูมิประเทศของอ่าวพังงา มีลักษณะเป็นอ่าวปิด ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากคลื่นลมมรสุม ทำให้สามารถทำการท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
รูปแบบการท่องเที่ยวบนเกาะปันหยี ส่วนมากนักท่องเที่ยวแวะมาชมวิถีชีวิต แวะมากินข้าวที่ร้านอาหาร หรือซื้อของที่ระลึกจากชาวบ้าน แต่โปรแกรมที่ไม่มีใครพลาดก็ยังต้องยกให้สนามฟุตบอลลอยน้ำแห่งเกาะปันหยี ที่ครองตำแหน่งสัญลักษณ์อันดับหนึ่งประจำเกาะอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยภาพความสวยงามไม่เหมือนที่ใด สำหรับสนามฟุตบอลบนทุ่นพลาสติกกลางผืนทะเลที่มีเกาะแก่งหินปูนมหึมาเป็นฉากรายล้อมราวภาพจิตรกรรม มีเรือหัวโทงจอดแช่นิ่งอยู่รอบๆพื้นที่สี่เหลี่ยม ถัดไปด้วยกระชังเลี้ยงปลากับบ้านเรือนยกพื้นสูงปลูกเรียงรายเหนือผิวน้ำ โดยมีมัสยิดเกาะปันหยีดารุสสลามเปล่งประกายยอดโดมสีทองอร่ามเรืองรองคู่กับเขาหินปูนโดดเดี่ยวอีกลูกตระหง่านอยู่ด้านหลัง
More Information
- การท่องเที่ยวเกาะปันหยี สามารถใช้บริการผ่านบริษัททัวร์ หรือชาวท้องถิ่น ลักษณะเหมาเรือเดย์ทริป รวมกับเกาะต่างๆในพื้นที่ ราคาประมาณ 1,200-1,500 บาท
- หากต้องการไปเที่ยวเฉพาะเกาะปันหยี รอเรือท้องถิ่น (เที่ยวละ 50 บาท) ที่ท่าเทียบเรือท่าด่าน พังงาเบย์ (ท่ากลาง)