มิวเซียมลำปาง : เล่าเรื่องเมืองลำปางให้ชัดกว่าที่เคยรู้จัก
มิวเซียมลำปาง หรือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง เป็นพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองลำปางที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานในท้องถิ่น ภายในบรรจุเรื่องราวจัดแสดงผ่านสิ่งของที่น่าสนใจ ทั้งหมดทั้งมวลถูกรวมไว้ในตัวอาคารศาลากลางหลังเก่า ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ดีในการเล่าเรื่องราวของเมืองลำปางจากอดีตจนเห็นภาพในปัจจุบัน
นิทรรศการชุด “คน – เมือง – ลำปาง” เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ “ผู้คน” ที่ตั้งถิ่นฐานและเข้ามาอยู่อาศัยในลำปางหลากหลายยุคสมัย พร้อมทั้งกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้ยังได้นำศิลปวิทยาการ วัฒนธรรมและการค้า ทำให้ลำปางเติบโตจนเป็น “เมือง” ให้เห็นถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแต่บอกเล่าส่งผ่านเรื่องราวความรุ่งเรืองของเฉพาะตัวเมืองเท่านั้น แต่ยังพยายามขยายให้เห็นภาพใหญ่ของ “ลำปาง” ที่มีสิ่งน่าสนใจอยู่ในทุกๆ อำเภอของจังหวัดลำปาง
ภายในพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งห้องย่อยไว้ 16 หัวข้ออย่างน่าสนใจ ดังนี้
1.ก่อร่างสร้างลำปาง (Building Lampang City)
2.เปิดตำนานอ่านลำปาง (Legends of Lampang)
3.ผ่อผาหาอดีต (Back to the Past)
4.ประตูโขงโยงรากเหง้า (Pratu Khong, Roots of Lampang)
5.สี่สหายฉายประวัติ (Fantastic Four of Lampang’s History)
6.แง้มป่องส่องเวียง (A Look into Lampang)
7.ไก่ขาวเล่าวันวาน (Chicken Stories)
8.จุดเปลี่ยนเมืองลำปาง (Turning Points of Lampang)
9.รางเหล็กข้ามเวลา (Railway Story)
10.รถม้าพาม่วน (Lampang on a Carriage)
11.วัดพม่าหน้าตาอินเตอร์ (Myanmar Temples, International Style)
12.พอดีพองาม อารามลำปาง (Simple Temple of Lampang)
13.คมปัญญา (Wisdoms of Lampang)
14.ซับป๊ะเสียงสำเนียงลำปาง (Dialects of Lampang)
15.ลำปางมีดีเมืองนี้ห้ามพลาด (Tourism in Lampang)
16.เนี๊ยะ ลำปาง (This is Lampang)
จากมนุษย์ยุคบรรพกาลสู่ชาวเมืองลำปาง
เรื่องราวโบราณเก่าแก่ของลำปางไม่ได้มีเพียงตำนานและนิทานที่เล่าสืบกันปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น ลำปางยังถือว่าเป็นแหล่งที่เหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบว่ามีฟอสซิลของโฮโมอิเรคตัส หรือที่เรียกกันว่า “มนุษย์เกาะคา” ที่มีอายุกว่า 500,000 ปี รวมถึงภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์และหลุมฝังศพที่ประตูผา ซึ่งมีอายุกว่า 3,000 ปี
มิวเซียมลำปางสามารถเล่าเรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์นี้ได้อย่างน่าสนใจ เช่น มีการจำลองรูปพรรณสันฐานของผู้คนเหล่านั้นให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและพอจินตนาการออก อีกทั้งมีการจำลองภาพเขียนสีซึ่งเป็นไฮไลท์ของห้องได้อย่างน่าสนใจ ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าลายเส้นของภาพเขียนสีชุดนี้มีความสวยงามเละเป็นเอกลักษณ์ในตัวเองอยู่แล้ว การนำมาผลิตซ้ำขับเน้นให้เป็นที่สนใจจึงเป็นสิ่งที่ดีทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจ
จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างคือมีการใช้เทคนิค แสง สี เสียง ทำให้เกิดภาพพิพิธภัณฑ์ที่ผู้ชมได้มีส่วนร่วม สิ่งนี้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมที่เป็นเด็กได้ไม้น้อย อีกทั้งมีการเล่าเรื่องราวตำนานพื้นบ้านที่มีอยู่หลากหลายเวอร์ชั่นให้สั้นกระชับและเข้าใจได้เพียงเวลาไม่กี่นาทีอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ลอดซุ้มประตูโขงวัดพระแก้วดอนเต้าเพื่อเข้าสู่ดินแดนเขลางค์นคร ซึ่งเป็นเมืองลำปางรุ่นแรก ในสมัยทวารวดีที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ส่งผ่านมาถึงเวียงลคอร หรือเมืองลำปางรุ่นที่สองที่มีผู้เล่าเรื่องคือสหายทั้งสี่แห่งวัดปงสนุกเล่าด้วยภาษาถิ่นลำปาง สนุก กระชับ เข้าใจง่าย
ก่อนจะให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมเปิดหน้าต่างเพื่อย้อนมองบ้านเมืองนครลำปางยุคที่สามที่มีผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอยู่อาศัย เช่น พม่า ไทใหญ่ จีน อังกฤษ ฯลฯ ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้ลำปางมีความเจริญก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน
สิ่งของเล่าเรื่องย้อนวันวาน
เมืองลำปางถึงแม้จะไม่ใช่ศูนย์กลางการปกครองแต่ก็เป็นแหล่งชุมทางการค้าโดยเฉพาะไม้และความเจริญต่างๆ ของภาคเหนือ เนื่องจากมีผู้คนหลากหลายชาติ ศาสนา เข้ามาอยู่อาศัยหลายยุคหลายสมัยจึงมีมรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่างที่ตกทอดกลายเป็นอัตลักษณ์ของเมืองลำปาง เช่น รถม้า โรงเรียนและสนามกีฬาของชาวอังกฤษ วัดของชาวพม่า ย่านการค้าตึกโบราณของคนจีน รวมถึงสินค้าสำคัญอย่าง ถ้วยตราไก่ หรือ ถ้วยก๋าไก่ที่ทำมาจากดินขาวซึ่งพบในจังหวัดลำปางโดยชาวจีน ทั้งรถไฟที่เปิดเส้นทางการคมนาคมให้เมืองลำปางสามารถเดินทางสู่ศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ได้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกประกอบสร้างให้เป็นอัตลักษณ์ของเมืองลำปางที่ใครๆ ก็รู้จักมาบ้างแล้ว เช่น รถม้า ถ้วยตราไก่ และวัดสำคัญๆ หลายแห่ง แต่คงยังไม่รู้ที่มาที่ไปอย่างแน่ชัด ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเรื่องราวที่มีอยู่แล้วมาขยายให้เกิดความรู้ความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เล่าจากมุมมอง “คนใน” ที่สามารถสื่อสารกับคนนอกได้ดี
พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตคือพิพิธภัณฑ์ที่ผู้ชมได้มีส่วนร่วม และชุมชนได้เกิดสำนึกร่วมกันในการเป็นเจ้าของ หลายจังหวัด หลายพื้นที่อยากมีเรื่องเล่าของตัวเองแบบนี้ แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่จะสามารถทำออกมาได้ ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง มิวเซียมลำปางอาจจะเป็นต้นแบบที่ทำให้ท้องถิ่นอื่นๆ เกิดแรงบันดาลใจที่จะสานต่อความใฝ่ฝันเดียวกันนี้ให้เป็นจริง
Info
มิวเซียมลำปาง
ที่ตั้ง ถนนไปรษณีย์ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
เปิด อังคาร – อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา 09.00 – 17.00 น.
โทร 054-237 237 ต่อ 3207 ,06 2465 2520
สามารถเข้าชมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่หากไปเป็นหมู่คณะแนะนำให้ติดต่อล่วงหน้า
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ