ร้านป้านาง ส้มตำยโสเก่าแก่กลางกรุง
ปัจจุบันร้านส้มตำในกรุงเทพฯ เป็นของธรรมดาที่สามารถหารับประทานได้ทั่วไป เนื่องจากชาวอีสานเข้าทำงานในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก คนอีสานจำนวนไม่น้อยที่ใช้ร้านอาหารอีสานเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยและรวมกลุ่มกัน
“มื้อนี้กินหยังดีน้อ” เสียงหวานๆ ของป้านาง อุ่นเรือน สว่างวงษ์ แม่ค้าส้มตำวัย 62 ปี ที่ทักทายลูกค้าทุกคนด้วยความเป็นกันเอง โดยใช้ภาษาอีสานบ้านเกิดและความคุ้นเคยที่ขายส้มตำในย่านนี้กว่า 40 ปี ถือว่าเป็นแม่ค้าส้มตำอีสานที่มีความเก่าแก่ร้านหนึ่งในกรุงเทพฯ สลับกับการตระเตรีมอาหารเพื่อเสิร์ฟลูกค้าคนอื่นๆ อย่างชำนิชำนาญ
แม้ไร้ชื่อแต่รู้จักกันดี
ในตรอกพระศุลีริมถนนดินสอใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโรงเรียนสตรีวิทยาและโรงเรียนวัดบวรฯหลบมุมถนนใหญ่เข้ามามีร้านส้มตำอาหารอีสานเล็กๆไม่มีชื่อไม่มีป้ายแต่เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักชิมแถบนั้นดีโดยเฉพาะครูนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาและในละแวกใกล้เคียง
เดินเข้ามาจะพบเจอรอยยิ้มจากสองแม่ค้าคือป้านาง และพี่ติ๊ก ประภาภรณ์ แสงพล วัย 39 ผู้เป็นหลานสาวและการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทะมัดทะแมงแข็งขันว่องไวไม่หยุดนิ่งเพื่อให้ทันใจลูกค้าผู้หิวโหยหลังสิ้นการงาน
“คนแถวนี้เขารู้จักกันดีเพราะป้าออกจากบ้านมาขายส้มตำแถวนี้มาตั้งแต่เป็นสาว” ป้านางเริ่มเล่าเรื่องราวส่วนตัวว่าเริ่มเข้ากรุงมาแสวงโชคเหมือนคนอีสานอื่นๆ
ป้านางเป็นชาวอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธรเริ่มเข้ามาทำมาค้าขายในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยช่วงแรกนั้นปูเสื่อขายส้มตำบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 จึงได้ย้ายมาตั้งร้านณตรอกพระศุลีจนถึงปัจจุบัน
“แต่ก่อนบ้านป้าอยู่ในซอยตรงนั้นน่ะ” ป้านางชี้ไปฝั่งตรงข้ามที่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนวัดบวรฯ เมื่อบ้านพักเดิมได้ถูกเวนคืนที่ดินทำให้ชาวบ้านที่เคยเช่าอยู่พื้นที่ตรงนั้นต้องย้ายออกไปพักที่อื่น ป้านางก็คือหนึ่งในนั้น แต่ถึงแม้จะพักอยู่ที่อื่นแล้วยังคงยึดมั่นที่จะค้าขายอยู่จุดเดิม
ป้านางเดินทางมาจากบ้านพักที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ฝั่งธนบุรี เริ่มเตรียมของย่างไก่ ย่างหมูตั้งแต่บ่ายสามโมงของทุกๆ วัน วันธรรมดาจันทร์ – ศุกร์มีน้องๆนักเรียนเป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่เลิกเรียนประมาณสี่โมงเย็นป้านางและพี่ติ๊กก็จะเริ่มประจำที่ของตนเพราะจะเป็นช่วงที่วุ่นมากๆเมื่อนักเรียนมัธยมเข้ามารับประทานอาหารและถือเป็นการคั่นเวลาที่จะเรียนพิเศษณโรงเรียนกวดวิชาที่อยู่ข้างๆ
เวลาห้าโมงคือกลุ่มลูกค้าในเวลาต่อมาซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่จะเลิกงานประมาณห้าโมงเย็นไปจนถึงค่ำ กลุ่มนี้มีหลากหลายทั้งครูโรงเรียนใกล้เคียง พนักงานออฟฟิศ และผู้ปกครองที่มารอรับบุตรหลาน ส่วนเสาร์–อาทิตย์ และวันหยุดก็จะมีลูกค้าเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในแถบนี้และนักท่องเที่ยวทั่วไป
“ส่วนใหญ่เมนูอะไรขายดี” ผู้เขียนถามแม่ค้าทั้งสอง พี่ติ๊กมือตำส้มตำตอบด้วยความไม่ลังเลที่จะตอบว่า “คอหมูย่างจะขายดีที่สุด ส่วนส้มตำจะเท่าๆ กันระหว่างตำไทยและตำลาว” พี่ติ๊กยังกล่าวไปอีกว่า “เดี๋ยวนี้น้องๆ มัธยมกินตำลาวเผ็ดๆ เก่งมาก ทางร้านจึงขายดีเลยทีเดียว” รสชาติส้มตำพริกติดครกของเราที่สั่งทานประจำดูจืดไปเลย
ทีเด็ดคือปลาร้าโฮมเมดจากยโส
ร้านส้มตำในกรุงเทพฯมีมากก็จริงแต่จะหารสชาติบ้านๆดั้งเดิมนั้นก็ยากจากการสังเกตและตระเวนรับประทานอาหารอีสานอยู่หลายร้านพบว่าร้านส้มตำอีสานเปลี่ยนมาใช้ปลาร้าขวดสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานไปหมดแล้วส้มตำหลายๆร้านจึงมีรสชาติคล้ายๆกันไปหมด
จากการสนทนากันไปเรื่อยๆ ผู้เขียนเริ่มแลกเปลี่ยนกับแม่ค้าทั้งสองด้วยการบอกว่าเป็นคนอีสานเหมือนกัน โดยแนะนำตัวว่าเป็นคนจังหวัดมหาสารคาม
“ถ้าป้ากลับยโสในเส้นทางเก่าจะต้องผ่านบ้านหนูแน่ๆ แต่ตอนนี้ป้ากลับทางตัดใหม่แล้วคือเส้นอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เพราะมันใกล้และสะดวกกว่า แต่ก็แล้วแต่คนขับนะ” ป้าพูดไปยิ้มไป
หลังจากที่รู้ว่าพื้นเพเป็นชาวอีสานเหมือนกัน ภาษาในการสนทนาก็เริ่มเปลี่ยนไป ป้าไม่พูดภาษากลางกับเราและมีความสนิทสนมมากยิ่งขึ้น เพลง “คนบ้านเดียวกัน” ของพี่ไผ่ พงศธร ก็แว๊บเข้ามาในหัวทันที สำนึกร่วมความเป็นท้องถิ่นเดียวกันเริ่มชัดขึ้น ป้าเริ่มถามไถ่เราต่างๆ นานาเหมือนลูกเหมือนหลาน
“ปลาร้าป้าเอามาจากบ้านเฮาเลย ป้าเอามาต้มเอง” ป้านางกลับเข้าเรื่องส้มตำที่ค้างกันไว้พร้อมทั้งกล่าวถึงเคล็ด (ไม่) ลับของความอร่อยและความดั้งเดิมของส้มตำยโสธรบ้านเกิดในตำรับของป้า
ผู้เขียนเริ่มตื่นเต้นและถามต่อว่าป้าใช้ปลาแบบไหนมาทำปล้าร้า “ปลาข่อนบ้านเฮานี่ล่ะลูก” ปลาข่อนในที่นี้หมายถึง ปลาที่อยู่ในแอ่งน้ำขนาดเล็กตามทุ่งนา การทำปลาร้าของป้าจะนำปลาตัวเล็กๆ ที่ได้จากแอ่งน้ำน้อยๆ มาหมักในไหตามสูตรเฉพาะ ป้านางบอกว่าปลาร้าที่มาจากบ้านรสจัดเกินไปต้องปรุงโดยใช้น้ำกระเทียมดองก่อนมาใส่ส้มตำจึงจะได้รสชาติที่พอดี
ปลาร้าทำเองที่ว่าเด็ดและจะให้ครบเครื่องเรื่องส้มตำตามสูตรตำรับที่คนอีสานกินกันต้องใส่มะกอกลงไปด้วย เพิ่มรสชาติความนัวจึงจะถึงใจ ปัจจุบันแม้แต่ในพื้นที่อีสานเองจะหาส้มตำที่ใส่มะกอกก็ว่ายากแล้ว ในกรุงเทพฯ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ น้อยนักน้อยหนาที่จะเจอ แต่ร้านป้านางมีครบเพิ่มความเป็นอีสานที่ชาวอีสานโหยหาอย่างมาก จึงไม่แปลกที่จะพบชาวอีสานทั้งวัยรุ่นหนุ่มสาว วัยทำงาน ตลอดจนถึงผู้สูงอายุ มารวมตัวกันที่นี่
ถึงแม้ว่าร้านป้านางจะมีเมนูให้เลือกไม่มาก แต่อยากจะบอกว่า “น้อยแต่ดี” นัวทั้งส้มตำครกลาวและไทยเมนูปิ้งย่างก็มีทั้งไก่หมูปลาดุกเมนูลาบหรือจะต้มแซบร้อนๆซดให้สดชื่น
เราเริ่มสะสางค่าใช้จ่ายที่เราสั่งไป 4-5 อย่างในราคาไม่ถึง 200 บาท ถือว่าพอใจทั้งผู้จ่ายและผู้รับ อิ่มหนำสำราญจากอาหารและการพูดคุย
จากนั้นลาจากป้าและมื้อค่ำด้วยการบันทึกภาพบรรยากาศที่แสนอบอุ่น แสงพระอาทิตย์ที่กำลังตกดินกระทบกับควันไฟย่างหมูของป้านางกำลังงาม สลับกับความวุ่นวายของผู้คนที่เดินผ่านไปมาเข้าออกตรอกมิขาดสาย แม้ว่าช่วงสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด -19 จะทำให้ซอยนี้ไม่มีชาวต่างชาติเข้าๆออกๆเหมือนเคยก็ตาม
เสร็จสิ้นภารกิจมื้อเย็นแล้ว ป้าทิ้งทายกล่าวคำอำลาเราด้วยความสนิทชิดเชื้อ “โชคหมานเด้อลูก” ตามประสาไทอีสานเหมือนกัน
Info
ร้านป้านาง
ที่ตั้ง ตรอกพระศุลี ริมถนนดินสอ ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โรงเรียนสตรีวิทยาและโรงเรียนวัดบวรฯ
เปิด ทุกวัน ประมาณ 16.00 เป็นต้นไป
โทร 089-0697187 พี่ติ๊ก