คนเลี้ยงควายแห่งพรุหญ้าแหลม พัทลุง
เสียงเครื่องยนต์ท้ายเรือดับลงไปได้ครู่ใหญ่แล้ว เรือโดยสารลำยาวเปลี่ยนมาล่องไปข้างหน้าด้วยระบบแมนนวล “สมใจ เอ่งเซ่ง” ใช้ไม้ถ่อไปช้าๆตามร่องน้ำแคบที่ความลึกไม่ถึง 2 เมตร เนินดินข้างหน้ามีผืนหญ้าเขียวดูราบเรียบสม่ำเสมอเหมือนสนามฟุตบอล ฝูงควายหลายสิบตัวแสดงความคุ้นเคยต่อความเคลื่อนไหวที่กำลังล่องเข้าหาโดยไม่มีตัวไหนเดินหนี พวกมันใช้ชีวิตไปตามปกติ บ้างนั่งๆนอนๆเล็มหญ้าเคี้ยวหยับๆ บ้างส่งเสียงร้องเบาๆอยู่ในลำคอเหมือนกำลังทักทายกันเอง มีเพียงบางตัวเหลือบมามองแสดงความสนใจอย่างระแวดระวังอยู่เป็นระยะ
“กว่า 20 ปีที่แล้ว ค้าขายไม่ค่อยดีผมจึงขายรถ เอาเงินไปซื้อควายสาวอายุประมาณ 3 ปี ได้มา 10 ตัว” สมใจ เล่าขณะที่เรือหยุดนิ่งอยู่ริมร่องน้ำ เขามีเพื่อนที่เลี้ยงมาก่อนแนะนำว่าการเลี้ยงควายเป็นอาชีพที่อิสระที่มีรายได้ดี ไม่ต้องดูแลทุกวัน เพียงแต่ต้องดูแลเป็นพิเศษสักหน่อยในช่วงน้ำหลาก
การเลี้ยงควายพื้นเมืองในจังหวัดพัทลุง มีมานานเป็นร้อยปี เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ เช่น หญ้าไทร หญ้าหวายตามพื้นที่ป่าพรุ หญ้ากระจูด และหญ้าปล้องในพื้นที่ชุ่มแฉะ ส่วนพื้นที่พรุหญ้าแหลม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอาศัยควายที่เขาเลี้ยงไว้ มีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่า 4 พันไร่ และหากรวมอาณาเขตพื้นที่รอบๆทะเลน้อยกับควายในพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด คงมีไม่ต่ำกว่าร้อยฝูง
ภารกิจแรกหลังการตัดสินใจมาทำปศุสัตว์แบบธรรมชาติเมื่อหลายปีก่อน เริ่มต้นด้วยการสร้างคอกให้ฝูงควายมีที่อยู่ในช่วงฤดูฝน ช่วงแรกๆ ตื่นเช้ามาก็มีหน้าที่แค่ล่องเรือมาปล่อยควายออกไปหากินเองตามท้องทุ่ง จน 4 โมงเย็น ล่องเรือกลับมาต้อนควายเข้าคอก ทำแบบนี้ไปเป็นปีๆ ส่วนรายได้เลี้ยงชีพก็มาจากการขายอุปกรณ์ประมงและเรือนำเที่ยวไปก่อน
เมื่อควายเริ่มจำที่ได้แล้วจึงปล่อยให้มันเป็นอิสระ เพราะธรรมชาติของควายมักอยู่ประจำที่เดิมไม่หนีออกจากฝูง วิถีคนเลี้ยงควายจึงไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่านั้น เว้นแต่นานๆทีที่เกิดภัยธรรมชาติ
“การขายควายจะมีเถ้าแก่มาดูเอง อยากได้ตัวไหนก็ชี้นิ้วเลย” หลังจากลูกค้าหมายตาแล้วว่าเลือกตัวไหน คนเลี้ยงต้องต้อนเข้าคอก เพื่อให้วันต่อมาสามารถคัดตัวที่ถูกเลือกออกมาลงเรือได้สะดวก ซึ่งควายส่วนมากที่ซื้อขายกัน ถ้าเป็นตัวเล็กก็นำไปเลี้ยงต่อ แต่ส่วนใหญ่มักถูกนำไปเพื่อการบริโภค
การเลี้ยงควายเป็นวิถีการทำปศุสัตว์ที่เรียบง่ายอยู่คู่พื้นที่ชุ่มน้ำพัทลุงมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ จนกระทั่งเกิดกระแสด้านการท่องเที่ยวเกี่ยวกับชมวิถีชีวิตควายในพื้นที่ชุ่มน้ำราวสิบปีที่ผ่านมา “เมื่อก่อนพื้นที่เลี้ยงควายมีการปลูกต้นปาล์ม มีเรือขุดลอกดินเข้ามาขุดกลายเป็นร่องน้ำ”
แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วการปลูกปาล์มประสบความล้มเหลว แต่ผลลัพธ์ที่ทิ้งไว้ทำให้เรือลำเล็กสามารถลัดเลาะเข้ามาตามร่องน้ำในพื้นที่เลี้ยงควายได้ใกล้ชิดขึ้น การนั่งเรือเข้ามาชมควายกลางทุ่ง จึงกลายเป็นโปรแกรมใหม่ที่น่าสนใจบอกกันไปปากต่อปาก
หนึ่งในเอกลักษณ์ที่นักท่องเที่ยวกล่าวถึงกันมาก คือ ดินแดนแห่งควายน้ำ ซึ่งหมายถึง ควายในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีน้ำท่วมเกือบทั้งปี มันจึงสามารถดำน้ำลงไปกินหญ้าได้ “ดำลงไปประมาณเมตร และไม่เกิน 2 นาที เฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่ถ้าน้ำไม่ท่วม มันก็กินหญ้าเหมือนควายปกตินั่นแหละ” คนเลี้ยงควายพูดพลางหัวเราะ และอธิบายว่า ควายไม่ควรแช่อยู่ในน้ำต่อเนื่องเกิน 6-8 ชั่วโมง และจำเป็นต้องมีที่พักให้ตัวแห้ง “ไม่ควรให้มันต้องตากฝน ตากน้ำ เกิน 4-5 วัน ไม่งั้นมันจะเป็นโรคปอดบวม”
ในช่วงที่ไม่มีน้ำท่วม ควายเหล่านี้เป็นควายปลักที่อาศัยกินหญ้าอยู่ในท้องทุ่งพื้นที่โล่งๆ แต่โชคดีที่ควายในจังหวัดพัทลุงเป็นพันธุ์พื้นเมือง มันจึงปรับตัวได้ง่ายกับสภาพลมฟ้าอากาศ และกลายเป็นหนึ่งในจุดขายด้านการท่องเที่ยว
ข้อมูลเพิ่มเติม
มีเรือนำเที่ยวชมควายในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณจุดลงเรือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง