เปิดประวัติ “คามินาริมง” ประตูสายฟ้าแห่งวัดเซ็นโซจิ
เพื่อนๆ ที่ชอบไปเที่ยวที่จังหวัดโตเกียว คงจะเคยไปเยี่ยมชมความสวยงามของวัดเซ็นโซจิ หรือวัดอาซากุสะกันมาบ้างใช่ไหมครับ แน่นอนว่าจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นประตูสายฟ้าคามินาริมง (雷門) ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าของวัด และยังถือเป็นสัญญลักษณ์การท่องเที่ยวของย่านอาซากุสะอีกด้วย แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยไหมครับว่าประตูคามินาริมงมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไรบ้าง ดังนั้น วันนี้เราจะมาร่วมค้นหาอดีตของประตูอันมีชื่อเสียงโด่งดังแห่งนี้กันครับ
ประวัติความเป็นมาของประตูสายฟ้าคามินาริมง (雷門)
คาดการณ์กันว่าคามินาริมงถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 942 ในยุคสมัยเฮอัน เดิมตั้งอยู่บริเวณย่านโคมากะตะ หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยคามาคุระได้มีการรื้อถอนและย้ายมาก่อสร้างใหม่ในย่านอาซากุสะ โดยหลังจากก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีการนำรูปปั้นของเทพเจ้าแห่งสายฟ้า “ไรจิน” (雷神) และเทพเจ้าแห่งสายลม “ฟูจิน” (風神) มาประดิษฐานไว้ทางด้านซ้ายและด้านขวาของประตู จึงทำให้ในช่วงเวลานั้นคามินาริมงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ฟูไรจินมง” (風雷神門) ซึ่งแปลว่า “ประตูเทพแห่งสายลมและสายฟ้า” ส่วนสาเหตุที่ต่อมามีการเรียกย่อๆ ว่า คามินาริมงนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด
ต่อมาราวปี ค.ศ. 1865 ในช่วงปลายยุคสมัยเอโดะได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ทำให้ประตูคามินาริมงได้รับความเสียหาย แต่ก็ไม่ได้รับการบูรณะแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1960 (ปีโชวะที่ 35) ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดย มัตสึชิตะ โคโนะสุเกะ ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ามัตสึชิตะ ปัจจุบันคือ บริษัท พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่นนั่นเอง กล่าวกันว่า มัตสึชิตะ ได้มาที่วัดเซ็นโซจิเพื่อขอพรให้ตัวเองหายจากอาการป่วย และต่อมาคำขอของเขาได้กลายเป็นจริง มัตสึชิตะ จึงได้ตัดสินใจทำบุญโดยการบูรณะประตูคามินาริมงที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ให้กลับมาสง่างามอีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งโคมแดงขนาดใหญ่ที่เขียนว่า 雷門 (คามินาริมง) เพิ่มเข้าไปตรงทางเข้าประตูอีกด้วย หลังจากนั้นทั้งโคมแดงขนาดใหญ่และประตูคามินาริมงก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของย่านอาซากุสะสืบเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
รูปปั้นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า “ไรจิน” (雷神) และ เทพเจ้าแห่งสายลม “ฟูจิน” (風神)
รูปปั้นเทพเจ้าแห่งสายฟ้าไรจินและเทพเจ้าแห่งสายลมฟูจินซึ่งประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของประตูคามินาริมงนั้น เชื่อกันว่าเทพทั้งสองพระองค์จะคอยทำหน้าที่ปกปักรักษาวัดเซ็นโซจิให้พ้นจากอุทกภัยและอัคคีภัย แต่เดิมรูปปั้นทั้งสองเคยถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายหนักจนเหลือแค่ส่วนหัว แต่ในปี ค.ศ 1874 (ปีเมจิที่ 7) ได้มีการบูรณะซ่อมแซมส่วนของลำตัวขึ้นมาใหม่ และต่อมา ในปี ค.ศ. 1960 (ปีโชวะที่ 35) ในช่วงที่มีการบูรณะซ่อมแซมประตูคามินาริมงโดย มัตสึชิตะ โคโนะสุเกะ ก็ได้มีการทำสีรูปปั้นใหม่อีกครั้ง จนกลายเป็นรูปปั้นที่มีลักษณะสง่างามและน่าเกรงขามตามที่เราเห็นในปัจจุบัน
รูปปั้นเทพเจ้ามังกร “ริวจิน” (龍神)
เมื่อเดินผ่านประตูคามินาริมงเข้าไป แล้วหันหน้ากลับไปตรงทางเข้าวัด จะพบกับรูปปั้นเทพเจ้ามังกรริวจิน ประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของประตูคามินาริมงในตำแหน่งเดียวกับรูปปั้นของเทพฟูจินและไรจิน รูปปั้นของเทพทั้งสองพระองค์นี้ก็ได้รับการอุทิศจากบริษัทมัตสึชิตะเช่นกัน โดยรูปปั้นที่ประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายของประตูคือเทพเจ้ามังกรเพศชายมีนามว่าเท็นริว (天龍) ส่วนที่ประดิษฐานอยู่ทางด้านขวาของประตู คือเทพเจ้ามังกรเพศหญิงมีนามว่าคินริว (金龍) กล่าวกันว่าทั้งสองพระองค์เป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ทำหน้าที่คอยชั่วเหลือผู้คนที่ประสบภัยทางทะเล นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าทั้งสองพระองค์ยังช่วยให้ธัญพืชต่างๆ เจริญเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
โคมแดงขนาดใหญ่แห่งประตูคามินาริมง
โคมแดงขนาดใหญ่ถือเป็นสัญลักษณ์ของประตูคามินาริมง และยังเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันมากที่สุดอีกด้วย โคมแดงขนาดใหญ่นี้มีความสูงประมาณ 3.9 เมตร กว้างประมาณ 3.3 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 700 กิโลกรัม นอกจากนี้ ด้านล่างของโคมยังมีรูปแกะสลักของมังกรที่ดูสง่างามและน่าเกรงขามอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับประวัติความเป็นมาของคามินาริมง ประตูสายฟ้าที่เป็นสัญญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งย่านอาซากุสะ ตัวผมเองก็เพิ่งทราบจากบทความต้นฉบับว่าด้านล่างของโคมแดงขนาดใหญ่นั้นมีรูปแกะสลักมังกรอยู่ด้วย ถ้าเพื่อนๆ ท่านได้เพิ่งทราบเหมือนกับผมล่ะก็ ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสไปเที่ยววัดเซ็นโซจิก็อย่าลืมแหงนมองใต้โคมแล้วถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วยนะครับ
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ