ทำนาในทะเลสาบ วิถีชีวิตหนึ่งเดียวในเมืองไทยของชาวพัทลุง
ชาวบ้านในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง เริ่มปักดำต้นกล้าทำนาในทะเลสาบวิถีหนึ่งเดียว สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษและถือว่าการทำนาในทะเลสาบมีแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นมุมถ่ายภาพสวยๆยามเช้าที่ดวงอาทิตย์โผล่จากผิวน้ำ
ชาวบ้านในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 ตำบลลำปํา อำเภอเมืองพัทลุง ที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมทะเลสาบ ใช้จังหวะช่วงน้ำในทะเลสาบลดลงต่างพากันทำนาข้าวในทะเลสาบ โดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวเกือบ 9 กม เพื่อทำการปักดำปลูกข้าว ที่เป็นวิถีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษเพื่อใช้ผลผลิตที่ได้เลี้ยงครอบครัว และถือว่าการทำนาในทะเลสาบมีแห่งเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้
ในช่วงนี้สามารถทำนาข้าวได้ เพราะทะเลสาบไม่มีคลื่นลม เรียกว่าช่วงลมพลัด โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ในช่วงเดือนกันยายนนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวพอดี และจะต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จด้วย เพราะหลังจากเดือนกันยายนแล้ว จะเข้าสู่ช่วงลมนอก แล้วทะเลสาบสงขลาจะมีคลื่นลมแรง หากเก็บเกี่ยวไม่เสร็จข้างจะเสียหายหมด” วิธีการเพาะปลูกนั้น ต้องหาพันธุ์ข้าวที่ลำต้นแข็งแรง มีรากลึก และต้นข้าวเมื่อเจริญเติบโตแล้วต้องมีความสูง สามารถต้านกับสภาพแรงลมและคลื่นขนาดเล็กที่ซัดเข้าหาฝั่งได้ ดังนั้นจึงนิยมใช้พันธุ์ข้าว กข.33 และพันธุ์ข้าวชัยนาท ผู้ทำนาข้าวในทะเลสาบนั้น จะต้องเตรียมแปลงนาข้าวบริเวณเพาะปลูกเนื่องจากนาข้าวส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่น้ำไม่จมประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำการไถกลบหน้าดินเล็กน้อย อีกส่วนที่จมน้ำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร สามารถปักดำได้เลย เนื่องจากเป็นดินเลนและตะกอนที่ทับถม
นางซิ่น พูลสวัสดิ์ อายุ 69 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับการถ่ายทอด ความรู้เรื่องวิธีการทำนาข้าวในทะเลสาบ เล่าว่า ใช้พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ทำนาข้าวริมทะเลสาบมานานหลายสิบ ปี และยังมีเพื่อนบ้านอีกหลายครัวเรือนทำเช่นเดียวกันรวมพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 500 ไร่ ใช้เวลาราว 3 เดือนครึ่งในการปลูกข้าว จะเริ่มกันประมาณต้นเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนกันยายน ของทุกปี ด้วยเหตุผลที่เลือกทำนาในช่วงเวลานี้ เพราะน้ำในทะเลสาบลดลง ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ หากเกินช่วงเวลาดังกล่าวนาข้าวจะไม่ได้ผลผลิตเพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงท่วมต้นข้าวเสียหาย
สำหรับการดูแลรักษานั้นไม่ยุ่งยากและไม่ต้องใช้เงินในการซื้อปุ๋ย เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีตะกอนแร่ธาตุจากธรรมชาติไหลมาทับถมอยู่แล้ว และยังมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ตามการขึ้นลงของน้ำในทะเลสาบเกษตรกรจึงได้รับผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งอาศัยของกุ้ง หอย ปู ปลา ขนาดเล็กอีกด้วย ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ชาวบ้านได้รับอีกทอดหนึ่ง ที่สำคัญการทำนาของชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องใช้ทุนใช้เพียงแรงเท่านั้น และในช่วงเริ่มปักดำต้นกล้าจะมีนักถ่ายภาพมืออาชีพและสมัครเล่นจากทั่วสารทิศแห่ถ่ายภาพในช่วงตอนเช้าตรู่ขณะที่ดวงอาทิตย์โผล่จากผิวน้ำ พร้อมกับภาพชาวนาที่กำลังปักดำต้นกล้า เป็นอีกมุมหนึ่งของการท่องเที่ยววิถีชุมชนของชาวบ้านริมทะเลสาบสงขลา ที่เหมาะให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้และเช็กอินมุมสวยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ