ด่วน! ระงับเที่ยวบินออกจาก ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ทุกไฟล์ทในพื้นที่สีแดง 21 ก.ค. นี้เป็นต้นไป

ด่วน! ระงับเที่ยวบินออกจาก ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ทุกไฟล์ทในพื้นที่สีแดง 21 ก.ค. นี้เป็นต้นไป

ด่วน! ระงับเที่ยวบินออกจาก ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ทุกไฟล์ทในพื้นที่สีแดง 21 ก.ค. นี้เป็นต้นไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

CAAT หรือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ออกประกาศควบคุมเที่ยวบินเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้ม มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคครั้งล่าสุดของรัฐบาล ตามที่ ศบค. ประกาศข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 28) และมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 10/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 

โดยมีกำหนดแนวปฏิบัติซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้

1.ห้ามสายการบินที่ให้บริการผู้โดยสาร (Passenger Flight) ทำการบินเที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic Flight) รับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงที่มีการระบาดสูงตามข้อกำหนด (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ประเมินไว้เบื้องต้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน) เว้นแต่

1.1 เป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) หรือ

1.2 เป็นกรณีอากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing) หรือขอลงทางเทคนิค (Technical Landing) โดยไม่มีผู้โดยสารลงจากเครื่อง หรือ

1.3 มีความจำเป็น และได้รับอนุญาตจาก CAAT ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความจำเป็นนั้นเพื่อประกอบการขออนุญาต เช่น เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ เพื่อการรับวัคซีน เป็นต้น

โดยให้สายการบินรวมถึงสนามบินจัดเตรียมเอกสารรับรองความจำเป็นให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะในสังกัดซึ่งได้รับยกเว้น เพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หากมีการตรวจสอบในการปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่วนกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบินและการรวมเที่ยวบิน ให้สายการบินแจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสม ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 สำหรับเที่ยวบินที่ให้บริการระหว่างประเทศ และเที่ยวบินที่ขนสินค้าโดยไม่มีผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบจากประกาศนี้

2.สำหรับสนามบินและสายการบินที่ยังคงให้บริการได้ในช่วงเวลานี้ ให้ปฏิบัติดังนี้

2.1 การบินรับส่งผู้โดยสาร ให้มีจำนวนผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารของอากาศยานที่ใช้ในเที่ยวบินนั้น ๆ และให้จัดที่นั่งภายในอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัด แต่ถ้าผู้โดยสารเดินทางมาด้วยกันสามารถให้นั่งติดกันได้

2.2 ก่อนเข้าพื้นที่สนามบิน ให้ตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการอย่างเข้มงวด โดยต้องตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact Infrared Thermometer) หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด

2.3 ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้สายการบินตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสารตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัด หากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน อาจพิจารณาระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น

2.4 ให้สายการบินตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสารโดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัดก่อนขึ้นเครื่องที่สถานีต้นทาง หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

2.5 ก่อนออกจากพื้นที่สนามบิน ให้สนามบินตรวจคัดกรองผู้โดยสารอย่างเข้มงวดโดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

2.6 ให้สนามบินติดตามดูแลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ ปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. โดยเคร่งครัด

2.7 ให้สนามบินและสายการบินเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแลให้ประชาชนผู้มาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัด และมาตรการ แนวทาง หรือแนวปฏิบัติอย่างอื่นที่ ศบค. หรือรัฐบาลกำหนด

2.8 ให้สนามบินและสายการบินแจ้งเตือนผู้โดยสารกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยันหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ประกาศเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 3) ประกาศ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 แทน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook