เช็กลิสต์ จังหวัดไหนในประเทศไทยที่เปิดโมเดลท่องเที่ยว Sandbox
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทยในเวลานี้จะค่อนข้างสาหัส โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 29 กรกฎาคม 64 พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 17,669 ราย และเสียชีวิต 165 ราย อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอยู่อีก 13 จังหวัด แต่ด้วยภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องรีบกลับมาเปิดให้เร็วที่สุด เพื่อกู้เศรษฐกิจในประเทศ จึงมีแผนการเปิดประเทศออกเป็น 4 ระยะ บางส่วนเปิดบริการแล้ว บางส่วนเตรียมเปิดบริการ และบางส่วนต้องรอประเมินสถานการณ์ ดังนี้
- ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 64
- สมุย พลัส โมเดล เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 64 นำร่องเปิดเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี (รูปแบบ Sealed routes)
- กระบี่ นำร่องเปิดเกาะพีพี เกาะไหว และไร่เลย์ และ พังงา นำร่องเปิดเขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 สิงหาคม 64
- 10 จังหวัดท่องเที่ยว (กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และบุรีรัมย์) เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 ตุลาคม 64
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานี้ มีที่ไหนบ้างที่เปิด (และเตรียมเปิด) รับนักท่องเที่ยวด้วยโมเดลแซนด์บ็อกซ์ตามแผนการเปิดประเทศบ้าง หลังจากที่อยู่ครบกำหนดแล้วสามารถเดินทางไปที่ไหนได้บ้าง รวมถึงมีการกำหนดเงื่อนไขของนักท่องเที่ยวไว้อย่างไร Tonkit360 รวบรวมข้อมูลมาให้ดังนี้
จ.ภูเก็ต
เป็นจังหวัดนำร่องโมเดลเปิดเมืองแบบ Phuket Sandbox (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์) ซึ่งเป็นนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทยแบบบินตรงภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว โดยระหว่างนี้จะเที่ยวที่ไหนก็ได้ แต่ต้องอยู่เฉพาะในภูเก็ตเท่านั้นเป็นเวลา 14 วัน หลังจากนั้นถึงจะเดินทางข้ามจังหวัดได้ โดยโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เปิดรับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญในจังหวัดภูเก็ตที่ขานรับนโยบายนี้ มีจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติสิรินาถ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาโต๊ะแซะ และสถานแสดงพันธุ์พืชน้ำภูเก็ต ซึ่งทั้ง 4 แห่งได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA+ เรียบร้อยแล้ว
ในวันที่ 25 ก.ค. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้รายงานความคืบหน้าตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ระหว่างวันที่ 1-24 ก.ค.64 เป็นเวลา 24 วัน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภูเก็ตแล้ว 10,849 คน และตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแต่ละวันก็มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างในวันที่ 24 ก.ค. เพียงวันเดียวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 640 คน จำนวน 7 เที่ยวบิน
ในส่วนการจองห้องพักโรงแรม Sha+ ยอดจองได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยยอดจองระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย. 64 อยู่ที่ 267,755 คืน แบ่งเป็นเดือนก.ค. จำนวน 192,415 คืน เดือนส.ค.จำนวน 70,256 คืน และเดือนก.ย.จำนวน 5,084 คืน
เมื่อโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ในภูเก็ตครบ 14 วัน พบว่ามีการเดินทางจากภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น ไปยังจังหวัดต่าง ๆ สูงสุด 5 อันดับแรก คือ จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา จ.กระบี่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชลบุรี ตามลำดับ
เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
หลังจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ก็ต่อด้วย “สมุย พลัส โมเดล” ของจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเปิดรับนักท่องเที่ยววันแรกเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา สมุย พลัส โมเดลเปิดรับนักท่องเที่ยว 3 เกาะ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า อย่างไรก็ดี พบว่ายังมีนักท่องเที่ยวมาไม่มาก อาจเพราะมีการเปิดเร็วขึ้นกว่าไทม์ไลน์เดิม ที่จะเปิดในเดือนต.ค.
ในวันที่ 26 ก.ค. มีรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเกาะสมุย พบว่า 12 วันหลังเปิดโครงการ มีนักท่องเที่ยวสะสมเพียง 64 คน มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการในวันที่ 26 ก.ค. จำนวน 12 คน แต่มีนักท่องเที่ยวที่มาจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (ไปภูเก็ตก่อนแล้วค่อยมาสมุย) สะสมจำนวน 158 คน
จ.กระบี่และจ.พังงา
2 จังหวัดที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่อจากภูเก็ตและเกาะสมุย คือ จ.กระบี่และจ.พังงา โดยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ส.ค. ที่จะถึงนี้ นำร่องเปิด 3 แหล่งท่องเที่ยวในกระบี่ ได้แก่ เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เลย์ และ 3 แหล่งท่องเที่ยวในพังงา ได้แก่ เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ในรูปแบบ 7+7 ซึ่งเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเส้นทางเดียวกันที่เชื่อมโยงกับจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่นำร่องที่เปิดไปแล้ว
โดยจะมีมาตรการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นเวลา 7 วันสามารถเดินทางท่องเที่ยวและต้องพำนักในพื้นที่อื่นอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันหลังจากนั้น ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) จ.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เลย์) และจ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่)
จ.เชียงใหม่
และอีก 1 จังหวัดที่เตรียมเปิดแซนด์บ็อกซ์รับนักท่องเที่ยว คือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ภายใต้โครงการ Charming Chiang Mai Sandbox โดยจะดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และอ.ดอยเต่า คาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ส.ค. ที่จะถึงนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี เชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์จะแบ่งระบบการท่องเที่ยวออกเป็น 2 ระบบ คือระบบ Sandbox สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ และระบบ Sealed Route เพื่อควบคุมนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ท่องเที่ยวได้ตามเส้นทางที่กำหนดเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เดินทางอย่างอิสระ และมีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรการ Standard Operation Procedures (SOP) ร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับมาตรฐาน SHA หรือ SHA+ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้ท่องเที่ยวทั้งจังหวัด (25 อำเภอ) ภายใน 15 ต.ค. 64
กรุงเทพมหานคร
ณ ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และอีก 12 จังหวัด รวม 13 จังหวัด เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) ประกอบด้วยกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งมีมาตรการที่เข้มงวดมากในการลดการเดินทางในพื้นที่และงดการเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมีการระงับเที่ยวบินเข้าออก 13 จังหวัดนี้
ทั้งนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยังมีเส้นทางบินที่เปิดให้บริการตามปกติจากกรุงเทพฯ ไปเกาะสมุย ภายใต้มาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุด ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย (ไป-กลับ) ที่รองรับเฉพาะผู้โดยสารที่ต่อเครื่องมาจากต่างประเทศ ให้บริการวันละ 3 เที่ยวบิน
อีกทั้งภายในพื้นที่สีแดงเข้มยังมีการปิดสถานที่ และงดการดำเนินกิจกรรมที่เสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะฉะนั้น ไม่เพียงแต่เข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้ในช่วงเวลานี้ ถึงจะมาได้ก็ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวใดเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบอยู่ดี ดังนั้น หากจะเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ จึงต้องรอเวลาอีกสักระยะ แต่คาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทันกำหนดเดิมวันที่ 1 ต.ค. 64 หลังจากนี้ให้ติดตามมาตรการและเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่อีกครั้ง
พัทยา จ.ชลบุรี
เป็นอีก 1 พื้นที่ที่อยู่ในแผนเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยว หากโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี โดยจะใช้ชื่อโมเดลว่าเกาะล้านแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งแผนเดิมคือในวันที่ 1 ต.ค. 64 แต่ ณ ขณะนี้ จ.ชลบุรีก็เป็น 1 ในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ หลังจากนี้ให้ติดตามมาตรการและเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่อีกครั้ง
หลักเกณฑ์ทั่วไปในการเข้าพื้นที่แซนด์บ็อกซ์
อ้างอิงจากพื้นที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เงื่อนไขของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ได้มีอะไรบ้าง
1. เดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลางตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนด
2. มีหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry-COE) ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ
3. ได้รับวัคซีนตามกำหนดครบโดสตามประเภทวัคซีน อย่างน้อย 14 วันแต่ไม่เกิน 1 ปี ก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) จากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนที่ฉีดจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียบร้อยแล้ว กรณีเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีเดินทางเข้ามาพร้อมกับผู้ปกครองได้
4. มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ใช่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 (ตรวจเชื้อด้วยวิธีการ RT-PCR หรือเก็บสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบนของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19) ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เด็กที่อายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อเช่นกัน
5. กรณีเคยติดเชื้อต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดตามประเภทวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน
6. ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล (รวมการรักษาโควิด-19) ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
7. จะต้องมีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน
8. จะต้องรายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข
9. สามารถทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน D-M-H-T-T-A
- Distancing (อยู่ห่างไว้)
- Mask wearing (สวมใส่มาส์ก)
- Hand washing (หมั่นล้างมือ)
- Testing (ตรวจโรคให้ไว)
- Thai Chana (ใช้ไทยชนะและหมอชนะ)