ท่องประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 กับโฉมใหม่ อาคารมหาสุรสิงหนาท

ท่องประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 กับโฉมใหม่ อาคารมหาสุรสิงหนาท

ท่องประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 กับโฉมใหม่ อาคารมหาสุรสิงหนาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทยอยเปิดอย่างต่อเนื่องกับห้องจัดแสดงใหม่ของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หลังจากมีการปรับปรุงเรื่อยมาตลอดระยะเวลาร่วม 10 ปีตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และล่าสุดกับการเปิดโฉมใหม่ของ อาคารมหาสุรสิงหนาท สำหรับจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 18

การจัดแสดงภายในอาคาร อาคารมหาสุรสิงหนาท แบ่งเป็น ห้องศิลปะเอเชีย เพื่อแสดงความหลากหลายของรูปแบบศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชีย ห้องก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และการพัฒนาตามลำดับ ห้องทวารวดี เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ห้องลพบุรี เล่าเรื่องศิลปกรรมที่มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 และปิดท้ายด้วย ห้องศิลปะศรีวิชัย นำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีของวัฒนธรรมศรีวิชัยโดยเฉพาะในทางตอนใต้ของประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18

new-exhibition-17


อาคารมหาสุรสิงหนาท ได้รับการปรับปรุงเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้วยกเว้นห้องลพบุรีซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 พร้อม ๆ กับการเปิดโฉมใหม่ของพระตำหนักแดงและหออนุสรณ์เจ้าพระยายมราชที่จะจัดแสดงศิลปะจีนในวังหน้า

“เราวางเส้นทางการเดินชมนิทรรศการที่ อาคารมหาสุรสิงหนาท เป็นแบบวันเวย์ โดยเริ่มจากห้องศิลปะเอเชีย และต่อไปยังห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรีและปิดท้ายที่ห้องศิลปะศรีวิชัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 เพื่อส่งต่อเนื้อหาไปยังอาคารถัดไปคือ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 18” ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อธิบาย

ไฮไลต์ของแต่ละห้องจัดแสดงใน อาคารมหาสุรสิงหนาท มีอะไรน่าสนใจบ้าง ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์จะแนะนำให้ได้ตามรอยกัน

new-exhibition-4
ห้องศิลปะเอเชีย

ตู้แรกในห้องศิลปะเอเชียเล่าเรื่องการกำเนิดพระพุทธรูปโดยจัดแสดงชุดเศียรพระพุทธรูปในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 6-8 ซึ่งขุดพบที่เมืองฮัดดา ประเทศอัฟกานิสถาน และพระพุทธรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-11 ซึ่งพบที่เมืองมาลาคันด์ ประเทศปากีสถานโดยพระพักตร์ของพระพุทธรูปคล้ายเทพอพอลโลของกรีก มวยผมหยิกแบบธรรมชาติและยังไม่ขมวดเป็นก้นหอย ส่วนจีวรห่มแบบริ้วผ้าธรรมชาติตามอย่างประติมากรรมโรมัน

new-exhibition

นี่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะกรีกและโรมันที่สืบเนื่องมาจากการยกทัพแผ่ขยายอิทธิพลของกษัตริย์กรีกโบราณ อเล็กซานเดอร์มหาราช มายังดินแดนเมโสโปเตเมีย จักรวรรดิเปอร์เซีย และอินเดีย โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นผลงานของสกุลช่างคันธาระในแคว้นคันธาระของอินเดีย (ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศปากีสถาน) ซึ่งถือเป็นสกุลแรกที่มีการสร้างพระพุทธรูป

ตามคตินิยมของพระพุทธศาสนาแต่เดิมนั้นไม่นิยมสร้างพระพุทธรูปเพื่อบูชา แต่เมื่อกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ายึดครองบริเวณเอเชียแถบนี้จึงได้มีการนำวัฒนธรรมการสร้างเทพเจ้ามาประยุกต์ทำให้พระพุทธรูปและรูปเคารพต่าง ๆ ในศิลปะแบบคันธาระมีลักษณะหน้าตาตามคตินิยมของทางตะวันตกและมีความเสมือนจริงตามหลักกายวิภาค

new-exhibition-22

“งานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นคือพระพุทธรูปปางประทานพรแบบศิลปะคุปตะของอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11 โดยสกุลช่างสารนาถซึ่งนักวิชาการกล่าวว่าเป็นยุคทองของศิลปะอินเดียเหมือนกับสมัยสุโขทัยของเรา พระพุทธรูปในยุคนี้มีความเป็นมหาบุรุษมากกว่าแบบสกุลคันธาระ เช่น ผมขมวดเป็นก้นหอย กะโหลกศีรษะปูด หูยาว แขนยาวเกือบเสมอหัวเข่า เครื่องเพศเก็บอยู่ในฝักและไม่ได้เปลือยแต่ห่มจีวรบางแนบลำตัวแบบผ้าไหมกาสีของแคว้นกาสี” ศุภวรรณกล่าว

new-exhibition-9

ในห้องยังจัดแสดงรูปเคารพในคติความเชื่อของพุทธศาสนาในนิกายต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นศิลปะของอินเดีย ลังกา จีน ญี่ปุ่น จาม พุกาม-เมียนมา ที่เกิดจากการเผยแผ่ศาสนาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตั้งแต่โบราณก่อนคริสตกาลผ่านการค้าบนเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลที่เชื่อมอารยธรรมตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน

“นิกายแบบมหายานของจีน ทิเบต และเนปาลนับถือพระโพธิสัตว์มากกว่าพระพุทธเจ้า เราจึงได้เห็นรูปเคารพแปลก ๆ เช่น รูปยมานตกะ (ภาคดุร้ายของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี) และพระเกศาของพระโพธิสัตว์บางองค์ในนิกายมหายานของทิเบตและเมียนมามีการทาสีน้ำเงินด้วยพิกเมนต์ (pigment) ของแร่ลาพิสลาซูลี ซึ่งเป็นสีเหมือนสีของท้องฟ้ายามค่ำคืนในคัมภีร์มหายาน”

new-exhibition-6

นอกจากนี้ยังจัดแสดงพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์ใหญ่หายากแบบนิกายมหายานของเมียนมาที่ทรงเครื่องแสดงภูมิสปรรศมุทรา หรือปางสัมผัสแผ่นดิน ซึ่งก็คือปางมารวิชัยหากเรียกตามแบบนิกายเถรวาท อีกหนึ่งไฮไลต์คือพระพุทธรูป 8 ปางแบบอินเดียปาละในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 แกะสลักจากหินและปิดทองซึ่งขุดได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา และบริเวณด้านหลังของพระพุทธรูปยังจารึกคาถาเยธัมมาฯ ด้วยตัวอักษรเทวนาครี โดยคาถานี้ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเพราะกล่าวถึงความเป็นเหตุผลและจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาไว้ในคาถาเดียว

new-exhibition-14
ห้องก่อนประวัติศาสตร์

ห้องก่อนประวัติศาสตร์จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทยที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ภาชนะดินเผา สำริด เหล็ก แก้ว เครื่องมือล่าสัตว์และเพาะปลูก และเครื่องประดับต่าง ๆ รวมไปถึงพิธีกรรมความเชื่อที่สะท้อนผ่านโบราณวัตถุ

new-exhibition-7

“ไฟเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้รวมตัวและเกิดภาษาพูดคุยกัน เมื่อก่อไฟแล้วรอบ ๆ กองไฟทำให้ดินบริเวณนั้นแข็งเป็นดินเผาจึงเริ่มเอามาทำเป็นภาชนะ ต่อมาเริ่มมีการคุมอุณหภูมิไฟให้สูงขึ้นจนหลอมเป็นโลหะได้ ในห้องจัดแสดงจะเห็นภาชนะทำจากสำริดที่ผสมตะกั่วในปริมาณสูงทำให้ได้ภาชนะที่บางมากซึ่งน่าจะใช้ในพิธีกรรม นอกจากนี้ยังมีลูกปัดสีน้ำเงินจากโคบอลต์ที่ค้นพบบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงซึ่งในช่วงนั้นบ้านเราไม่มีโคบอลต์แต่น่าจะมาจากอัฟกานิสถาน” ศุภวรรณกล่าว

new-exhibition-5

นอกจากนี้ยังมีโลงศพอายุประมาณ 1,000-2,600 ปีที่ใช้ไม้ทั้งต้นในการทำโลงและค้นพบที่จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งบอกเล่าพิธีกรรมปลงศพในโลงไม้แล้วนำไปวางตามถ้ำหรือเพิงผา รูปแบบการฝังศพนี้มักพบในพื้นที่สูงตามแนวเทือกเขาด้านตะวันตกของประเทศไทย เช่น อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

ถัดมาเป็นโลงศพดินเผาทรงแคปซูลอายุประมาณ 1,800-2,000 ปี ขุดพบบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ณ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนแท่น อำเภอท่าครก จังหวัดสุรินทร์ โดยพบแต่ส่วนด้านบนไม่มีด้านท้ายซึ่งมักจะมีการเจาะรูเพื่อระบายน้ำเหลืองของศพ ในห้องนี้ยังจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เจอในหลุมฝังศพอายุ 4,000 ปีลงมาที่เชื่อว่าทำขึ้นมาสำหรับพิธีกรรมเพื่ออุทิศสิ่งของให้แก่ผู้ตายเพื่อนำไปใช้ในโลกหน้าอย่างสุขสบาย

new-exhibition-8

บริเวณโถงทางเดินที่จะต่อไปยังห้องทวารวดีเป็นส่วนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และเครื่องประดับที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์กับยุคเริ่มประวัติศาสตร์ ไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดคือตะเกียงโรมันสำริดซึ่งฝาเปิดหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าซิเลนัส (Silenus) ของโรมัน ด้ามหล่อเป็นลายใบปาล์มและโลมา 2 ตัวหันหน้าชนกัน เนื่องจากลวดลายสัญลักษณ์ดังกล่าวจึงคาดว่าตะเกียงนี้น่าจะหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ขณะอยู่ภายใต้การปกครองของโรมันราวก่อนพุทธศตวรรษที่ 6-10 ซึ่งตะเกียงถูกขุดพบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และคาดว่าพ่อค้าชาวอินเดียได้นำเข้ามาในประเทศไทยเพราะตำบลที่พบตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายที่พ่อค้าชาวอินเดียเคยเดินทางผ่านไปมา

new-exhibition-10

“ที่น่าสนใจอีกอย่างคือเครื่องประดับอายุกว่า 2,000 ปี ที่ทำจากหินคาร์เนเลียน (Carnelian) ที่มีสีส้มและทำเป็นลวดลายสีดำ กรรมวิธีคือส่วนไหนที่อยากให้เป็นสีดำก็จะเว้นว่างไว้และหุ้มส่วนที่เป็นสีส้มเดิมของหินด้วยขี้ผึ้ง จากนั้นนำไปแช่ในน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อยเพื่อให้น้ำตาลซึมเข้าไปในรูพรุนของหินและนำไปเผา ตรงส่วนที่มีน้ำตาลซึมลงไปจะเปลี่ยนเป็นสีดำซึ่งเป็นต้นแบบการผลิตลูกปัดมีตาของทิเบต” ศุภวรรณอธิบาย

โบราณวัตถุที่ทำจากหินคาร์เนเลียนในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและค้นพบในสถานที่เดียวกันคือ แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ได้นำมาจัดแสดงพร้อมกันด้วย เช่น จี้หินรูปสิงโต และภาชนะสำริดประดับด้วยลูกปัดหินคาร์เนเลียน

new-exhibition-11
ห้องทวารวดี

วัฒนธรรมทวารวดีแพร่กระจายไปตามชุมชนโบราณหลายแห่งของประเทศไทยนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยพบหลักฐานจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก สัญลักษณ์ทางศาสนาที่เด่นชัดของยุคนี้คือธรรมจักร ในห้องนี้จัดแสดงธรรมจักรหลายขนาดทั้งแบบหินทรายและศิลาแลงโดยส่วนใหญ่มีประติมากรรมรูปกวางหมอบอยู่ด้านหน้าและลวดลายมีความหลากหลาย เช่น ลายผักกูด ลายขมวดและลายดอกบัวซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะคุปตะของอินเดียที่มีความผสมผสานลวดลายของทางตะวันออกและตะวันตก

new-exhibition-12

“ธรรมจักรคือล้อแห่งธรรม คือหมุนไปที่ไหนก็มีแต่แสงสว่าง ส่วนกวางหมอบเป็นสัญลักษณ์ของการปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ป่ากวาง (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน)” ภัณฑารักษ์อธิบาย

ไฮไลต์ของห้องนี้คือ ธรรมจักรและกวางหมอบศิลาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งค้นพบที่วัดเสน่หา (ร้าง) อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และภาพจำหลักศิลาแสดงพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ (พุทธศตวรรษที่ 13) ซึ่งพบที่วัดจีน จังหวัดอยุธยา

new-exhibition-21
ห้องศิลปะศรีวิชัย

ในโซนแรกของห้องศิลปะศรีวิชัยพูดถึงภูมิหลังศรีวิชัยบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยทางภาคใต้ของประเทศไทยนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8-13 ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดแวะพักของเส้นทางการค้าทางทะเลจากจีนไปยังประเทศทางตะวันตก อีกทั้งพ่อค้าชาวอินเดียใช้เส้นทางนี้ในการติดต่อค้าขายกับจีนและได้นำวัฒนธรรมและศิลปะแบบอินเดียมาเผยแพร่และบางส่วนได้ตั้งรกรากที่นี่จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและความเชื่อ

new-exhibition-2

ไฮไลต์ของโซนนี้คือ พระวิษณุจตุรภุช หรือพระนารายณ์ 4 กร เป็นเทวรูปแกะสลักจากหินทรายแบบศิลปะศรีวิชัยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ เทวรูปขนาดสูงราว 2 เมตรคาดว่าสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 และค้นพบที่บริเวณเขาพระเหนอ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งสันนิษฐานว่าบริเวณเขาพระเหนอน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์อันเป็นที่เคารพของพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางค้าขายตามเส้นทางคาบสมุทรภาคใต้ เทวรูปองค์นี้มีลักษณะกายวิภาคแบบมนุษย์แสดงให้เห็นกล้ามเนื้อชัดเจนและนุ่งผ้ายาวแบบโสร่งอินเดีย นับเป็นเทวรูปที่แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูยุคแรก ๆ ในประเทศไทย

new-exhibition-23

โซนถัดมาเล่าเรื่องราวศรีวิชัย นครรัฐที่รุ่งเรืองในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยและเกาะสุมาตราในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 โดยมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 และค้นพบที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปปั้นมีเฉพาะส่วนองค์ท่อนบนส่วนพระวรกายท่อนล่างชำรุดหายไป พระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณีเป็นรูปหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่นับถือในศาสนาพุทธแบบมหายานและวัชรยานและโบราณวัตถุสำริดชิ้นนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมืองไชยาเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธศาสนาลัทธิมหายานในคาบสมุทรมลายู

“ในขณะที่เทวรูปพระวิษณุจตุรภุช สร้างแบบกายวิภาคเหมือนมนุษย์ซึ่งเราสามารถเดินดูได้รอบองค์และสอดคล้องกับพิธีกรรมการบูชารูปเคารพของฮินดูที่ว่าเราให้ท่านเห็นเราและเราเห็นท่าน แต่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแบบพุทธมหายานนั้นมีโครงสร้างแบบด้านหลังกะโหลกแบนและหลังแบนเพราะมักตั้งติดผนัง นี่เป็นความแตกต่างการบูชารูปเคารพของสองศาสนา”

new-exhibition-16

นอกจากนี้ใน อาคารมหาสุรสิงหนาท ยังมีโซนจัดแสดงโบราณวัตถุที่ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับศิลปะชวาของประเทศอินโดนีเซีย ชิ้นเด่นคือรูปเคารพ พระคเณศ 4 กร แบบศิลปะชวาตะวันออก แกะสลักจากหินภูเขาไฟเป็นรูปพระคเณศประทับบนฐานประดับหัวกะโหลกทรงอาภรณ์และเครื่องประดับรูปหัวกะโหลก รูปเคารพนี้สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-16 มีน้ำหนักร่วม 5 ตัน และค้นพบที่ศาสนสถานจันทิสิงหส่าหรี ประเทศอินโดนีเซีย และรัฐบาลฮอลันดาซึ่งปกครองเกาะชวาในขณะนั้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“พระคเณศองค์นี้เป็นปางคณปติ หมายถึงผู้เป็นใหญ่ ผ้านุ่งและเครื่องประดับเป็นลายหัวกะโหลกจึงได้รับการนับถือว่าเป็นเจ้าแห่งภูติผีและช่วยลบล้างมนตร์ดำ บริเวณใต้ท้องที่มีรูสี่เหลี่ยมนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเคยมีรูปหนูซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศประดับอยู่” ศุภวรรณอธิบาย

หากยังไม่จุใจและต้องการท่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยต่อเนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยที่รุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 ขอแนะนำให้เข้าชมอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ที่ตั้งอยู่ถัดไปซึ่งจัดแสดงโบราณวัตถุในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 18 รวมกว่า 900 รายการภายใน 5 ห้องนิทรรศการซึ่งแบ่งตามไทม์ไลน์ของอาณาจักรต่าง ๆ ได้แก่ ห้องสุโขทัย ห้องล้านนา ห้องกรุงศรีอยุธยา ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และห้องกรุงรัตนโกสินทร์

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 8.30-16.00 น.
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาทต่างชาติ 200 บาทนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ ท่องประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 กับโฉมใหม่ อาคารมหาสุรสิงหนาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook