เปิดใจสักนิดแล้วแฮงก์เอาต์กับเหล่าอสรพิษที่ “Snaka Snake Café”

เปิดใจสักนิดแล้วแฮงก์เอาต์กับเหล่าอสรพิษที่ “Snaka Snake Café”

เปิดใจสักนิดแล้วแฮงก์เอาต์กับเหล่าอสรพิษที่ “Snaka Snake Café”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะจัดอันดับสัตว์ที่มนุษย์กลัวที่สุด เชื่อว่างูจะต้องติดอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน ด้วยผิวหนังเรียบลื่นและลวดลายที่หลายคนมองว่าน่าขนลุก บวกกับลักษณะที่น่าเกรงขาม ลึกลับ และไม่อาจคาดเดาได้ โดยเฉพาะงูที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ภาพจำเหล่านี้จึงกลายเป็นกำแพงที่กั้นขวางระหว่างงูกับมนุษย์ ทำให้หลายคนมองงูเป็นศัตรู ที่เมื่อพบเจอก็ต้องทำร้ายให้ตาย เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่หลงใหลในธรรมชาติของงู และมองว่างูก็สามารถเป็นเพื่อนกับมนุษย์ได้ พร้อมทั้งสร้างพื้นที่ให้คนได้ทำความรู้จักกับงูอย่างลึกซึ้ง ในรูปแบบของ คาเฟ่งู” ในชื่อว่า “Snaka Snake Café” ที่ให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ขนม พร้อมทั้งพื้นที่แฮงก์เอาต์ระหว่างคนกับงูตัวเป็นๆ ที่ทั้งชิคและชิลล์ไม่ต่างจากคาเฟ่สัตว์ทั่วไปที่หลายคนคุ้นเคย

Snaka Snake Café

Snaka Snake Café เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์งู Siam Serpentarium ในย่านลาดกระบัง เดิมใช้ชื่อว่า Snaka Café ทำหน้าที่เป็นร้านอาหารที่ตกแต่งในธีมงู แต่ยังไม่มีงูเข้ามาประจำการ จนกระทั่งทีมงานของพิพิธภัณฑ์เกิดไอเดียจัดตั้งเป็นคาเฟ่งูขึ้น

“ตอนแรกก็มีคอมเมนต์เหมือนกันนะครับว่า มาที่คาเฟ่งูจะต้องเป็นอย่างไร นั่งทานอยู่แล้วมีงูเลื้อยอยู่รอบๆ หรือเปล่า เหมือนคาเฟ่แมวที่เรานั่งกินขนมไปก็มีแมว มีสุนัขมาเดินเล่นรอบๆ แต่งูคงทำแบบนั้นไม่ได้ เราก็พยายามหาวิธี ตอนแรกก็เป็นตู้เล็กๆ ที่ทุกคนสามารถยกไปที่โต๊ะทานข้าวได้ กินข้าวกับงู แต่งูก็ต้องอยู่ในกล่องมิดชิด เปิดไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของสุขอนามัยและความปลอดภัยด้วย บางทีการขยับเขยื้อนของเราอาจจะทำให้งูตกใจได้ ก็เลยต้องใส่กล่องป้องกันไว้ แต่ว่ามันก็ยังไม่ตอบโจทย์เท่าไร” ศรานนท์ เจริญสุข Senior Manager / Chief of Serpentarium Operations ของ Siam Serpentarium เล่าถึงการจัดตั้งคาเฟ่งูในระยะแรก ที่ยังมีข้อจำกัดอยู่ และนำไปสู่โจทย์ข้อต่อไปที่เขาและทีมงานต้องช่วยกันแก้

Snakeducation Zone

ด้วยความที่เป็นทั้งคาเฟ่ฮอปเปอร์และคนรักสวนสัตว์ ศรานนท์จึงทดลองนำแนวคิดของคาเฟ่และสวนสัตว์มาผสมผสานกันในการสร้างคาเฟ่งู โดยเริ่มสอดแทรกข้อมูลความรู้เกี่ยวกับงูเข้ามาไว้ในพื้นที่คาเฟ่ ก่อนที่จะจับมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานด้านการศึกษา เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาสัมผัสงูจริงๆ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

เราตั้งชื่อเล่นๆ ว่าเป็น Snakeducation Zone ก็คือมาจากคำว่า Snake แล้วก็ Education แล้วก็เป็นพื้นที่ เป็นโซน ตอนแรกก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีให้มันอยู่ในคาเฟ่แล้วก็ถูกสุขอนามัย เราก็เลยกั้นพื้นที่ แล้วก็ไม่มีการนำอาหารเข้าออก หรือไม่มีการนำงูเข้าออกในพื้นที่ที่เรานำงูออกมาให้จับ แล้วก็มีพื้นที่ให้ล้างมือก่อนและหลัง รวมทั้งสอดแทรกความรู้ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงู ให้ดูว่างูชนิดนี้เป็นงูที่เป็นสัตว์เลี้ยง ไม่มีพิษ แต่ถ้าเราไปเจอข้างนอก ห้ามจับ”

นอกเหนือจากการสัมผัสและทำความรู้จักกับงูแล้ว Snaka Snake Café ยังให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม และขนม เช่นเดียวกับคาเฟ่ทั่วไป แต่ที่พิเศษยิ่งกว่า คือเหล่าขนมรูปงูที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความหลงใหลในสัตว์ชนิดนี้

“ความน่าสนใจของขนมที่นี่ คือคนที่ทำขนมก็เป็นพนักงานของเราเอง ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบทำขนม แล้วก็รู้เรื่องชีววิทยาเกี่ยวกับงูดี เขาก็เลยทำขนมที่มีรายละเอียดของงูใส่เข้ามา ถ้าเป็นงูสามเหลี่ยมก็จะเป็นแพทเทิร์นสีของงูสามเหลี่ยมจริงๆ รูปทรงของการแผ่แม่เบี้ยของงูเห่าก็เป็นการแผ่แม่เบี้ยของงูเห่าจริงๆ คือเขาก็พยายามใส่รายละเอียดเข้ามาในคัพเค้กเล็กๆ ก็เป็นเรื่องสนุกของเรา แล้วก็ทำให้คนเปิดใจกับงูมากขึ้น” ศรานนท์อธิบายพร้อมรอยยิ้ม

แม้ว่าชื่อของคาเฟ่งูจะสร้างความประหลาดใจและหวาดหวั่นให้กับคนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับอสรพิษชนิดนี้ ทว่าเสียงตอบรับจากนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยที่มาใช้บริการกลับดีเกินคาด ซึ่งศรานนท์ระบุว่า

“ตอนแรกเราคิดว่าถ้ามีคนชอบงูมาเที่ยว เราก็ดีใจแล้ว แต่ว่าขั้นกว่าที่ทำให้เราและทีมงานดีใจคือ คนที่ไม่ชอบงูและกลัวงูมาเที่ยวแล้ว เออ มันก็จับได้นี่นา มันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด เขาเริ่มเปิดใจมากขึ้น พอจับอุ้มได้ สัมผัสได้ ถึงขั้นที่ว่าอยากลองเลี้ยงงูดูบ้าง ประมาณนั้นเลย”

ชิลล์เอาต์อย่างไรให้ปลอดภัยทั้งคนและงู

แม้ว่าทีมงานจะสามารถนำงูมาอยู่ในคาเฟ่และเปิดพื้นที่ให้คนได้สัมผัสงูอย่างใกล้ชิดได้ เช่นเดียวกับคาเฟ่สัตว์อื่นๆ แต่งูก็ยังมีลักษณะที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงทั่วไปที่คนคุ้นเคย และจำเป็นต้องได้รับการคัดสรร ดูแลอย่างพิถีพิถัน เพื่อความปลอดภัยของงูและผู้คนที่มาเข้าใช้บริการในคาเฟ่ ซึ่งศรานนท์อธิบายว่า งูที่จะเข้ามาโชว์ตัวในคาเฟ่ จะต้องเป็นงูที่ไม่มีพิษเท่านั้น โดยเป็นงูที่มีเรื่องราวน่าสนใจ และงูที่มีลักษณะสวยงาม เพื่อดึงดูดให้คนเปิดใจทำความรู้จักกับงู และมองว่างูไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

“วิธีการดูแลมี 2 อย่าง อย่างแรกก็คือทำอย่างไรไม่ให้งูตกใจ กับทำอย่างไรไม่ให้คนที่ยังไม่คุ้นเคยกับงูตกใจ เราก็อาจจะต้องเลือกจากงูก่อนว่า งูตัวไหนที่ไม่ค่อยขี้ตกใจเท่าไร หรือว่างูที่เรานำออกมาเล่นบ่อยๆ ก็จะลดปัญหาตรงนี้ไป แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เราก็ต้องพยายามประกบ 1 ต่อ 1 สำหรับงูน่ะครับ คือเจ้าหน้าที่ของเราจะประกบอยู่ตลอดเวลา เพื่ออธิบายถึงลักษณะนิสัยของงูตัวนี้ การเคลื่อนไหวที่มันจะเกิดขึ้นว่างูมันจะขยับแบบไหน เพราะอะไร อย่างเช่น มีอยู่จังหวะหนึ่งที่งูอ้าปากหาวขึ้นมา ถ้าคนไม่เข้าใจก็คิดว่าจะโดนกัด ก็จะพยายามบอกก่อนว่าตัวนี้เขามีนิสัยอย่างไร ชอบอ้าปากหาว แต่ว่าไม่ได้ทำอะไรเรา” ศรานนท์กล่าว

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจับงูจะต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่น ไม่จับหัวงู เพราะจะทำให้งูตกใจและหดตัวกลับเพื่อตั้งท่าป้องกันตัว ซึ่งอาจทำให้คนตกใจไปด้วย หรือไม่เล่นกับงูด้วยวิธีการที่รุนแรง รวมทั้งไม่นำงูออกนอกบริเวณพื้นที่จัดแสดง เพื่อความปลอดภัยและเพื่อไม่ให้คนที่ไม่พร้อมเข้ามาสัมผัสงูใกล้ๆ ต้องตกใจหรือฝังใจจนกลัวงูไปในที่สุด

ในฐานะที่เป็นคนรักงูและทำงานกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ ศรานนท์ยืนยันว่า “งูไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนทั่วไปคิด” แต่ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ หรือการปลูกฝังว่างูเป็นสัตว์อันตราย ก็ทำให้คนรู้สึกกลัวงู ทั้งที่จริงแล้ว งูเองก็กลัวคน และก็ต้องป้องกันตัวเองตามสัญชาตญาณของสัตว์ เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ

“จริงๆ แล้วงูในประเทศไทยก็มีเป็น 200 – 300 ชนิดนะครับ ที่เราค้นพบในปัจจุบัน มีงูที่มีพิษอันตรายในเมืองอยู่แค่ประมาณ 3 – 4 ชนิด ในแต่ละเมือง อย่างเช่นกรุงเทพฯ ก็อาจจะมีงูเห่า งูเขียวหางไหม้ ถ้าเป็นงูใหญ่ที่อันตรายก็งูเหลือม นอกนั้นเป็นงูที่ไม่อันตรายเลยในการอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศของเรา แต่พอคนไม่รู้จักก็คือ งูก็คืองู ก็ตีตายก่อน เราก็อยากเผยแพร่เรื่องของงูทั้งมีพิษและไม่มีพิษให้คนทั่วไปได้เข้าใจครับ” ศรานนท์กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับทาสงูหรือผู้ที่สนใจอยากทำความรู้จักกับเจ้าสัตว์เลื้อยคลานที่น่าสนใจชนิดนี้ สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่ Siam Serpentarium ซึ่งขณะนี้เปิดทำการเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 10.00 - 17.00 น. เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 สอบถามรายละเอียดการเข้าชมได้ที่ Facebook Fanpage ของ Siam Serpentarium หรือโทร. 02-326-5800

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ เปิดใจสักนิดแล้วแฮงก์เอาต์กับเหล่าอสรพิษที่ “Snaka Snake Café”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook