กรมการท่องเที่ยวเปิด 15 เส้นทางท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน"
กองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว จัดประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการศึกษาออกแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เน้น “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)” เป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคต โดยมีนายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว และนางสาวศิริวรรณ พรเลิศวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นำเสนอรายละเอียดโครงการฯ ในงานสัมมนาที่ผ่านมา
นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า โครงการศึกษาออกแบบสำรวจเส้นทาง กรมการท่องเที่ยวมอบหมายบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการ ซึ่งเป็นการศึกษาเส้นทางการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติได้รับความสะดวกสบาย มีความพึงพอใจสูงสุด และสามารถตอบโจทย์ได้ทุกกลุ่มท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)” ซึ่งได้มีการพัฒนาโครงการต้นแบบ 4 เขต สู่เส้นทางการท่องเที่ยวทั้งหมด 15 เส้นทางที่มีศักยภาพ พัฒนาให้ทุกเส้นทางในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ได้รับความนิยมและสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ ชุมชน และประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง (เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ)
1) เส้นทางโรแมนติกรูท เที่ยวเมืองแห่งศิลปะ และวิถีเกษตรริมลำน้ำเหือง (ด่านซ้าย-นาแห้ว-ภูเรือ-ท่าลี่-เชียงคาน)
2) เส้นทางแม่โขงอิ่มบุญ (หนองคาย-บึงกาฬ-นครพนม-มุกดาหาร)
3) เส้นทางตามรอยพญานาค ศรัทธาแห่งลุ่มน้ำโขง (หนองคาย-บึงกาฬ)
4) เส้นทางเที่ยวนครพนม เมืองคลาสสิคริมฝั่งโขง (เมืองนครพนม-ธาตุพนม)
5) เส้นทางแม่โขงม่วนซื่น เที่ยวสำราญชายโขง (มุกดาหาร-นครพนม)
เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช)
6) เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าสองทะเล (เกาะยอ-คาบสมุทรสทิงพระ)
7) เส้นทางท่องเที่ยวสายชมวิว ชิลเว่อร์ พัทลุง (ทะเลน้อย-เขาปู่เขาย่า)
8) เส้นทางท่องเที่ยวสายราชดำเนิน เพลินมรดกวัฒนธรรม งามล้ำเมืองนคร
เขตพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันตก (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง)
9) เส้นทางท่องเที่ยวชมเมืองพริบพรี
10) เส้นทางท่องเที่ยวหัวหิน ดินแดนแห่งรัก แหล่งพักตากอากาศ
11) เส้นทางท่องเที่ยวเปิดโลกเมืองชุมพร ทัศนาจรชายฝั่งทะเล
12) เส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าระนอง แหล่งน้ำพุร้อน นครสองป่า
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา)
13) เส้นทางท่องเที่ยววิถีถิ่น ยลงานศิลป์เมืองฉะเชิงเทรา
14) เส้นทางชลบุรี ชิค แอนด์ ชิลล์ เที่ยวเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พนัสนิคม-บางแสน-อ่างศิลา-เมืองชลบุรี)
15) เส้นทางเที่ยวป่าในเมือง และสวนเกษตรแบบ Low Carbon (เมืองระยอง-แกลง-วังจันทร์)
นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก ผู้จัดการโครงการฯ, นางสาวจิติมา จิตรวรนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว และ นายณัฐพงศ์ เทพสมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ นำเสนอแนวคิดหลัก ในด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ รวมถึงโปรแกรมการท่องเที่ยวตามเส้นทางไว้อย่างน่าสนใจ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น
ด้าน ดร.อนุชา เล็กสกุลดิลก ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวสรุปว่า โครงการฯ ใช้เวลากว่า 10 เดือน ในการศึกษาและออกแบบพื้นที่ ทั้งหมด 4 เขต ซึ่งอยู่ในแนวคิด “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)” ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการมาในระยะหนึ่ง โดยมีหลักการของ Universal Design เข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ทั้งหมด 7 ข้อหลัก ได้แก่ ด้านพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมาย, พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในพื้นที่, พัฒนาการท่องเที่ยวที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับคนทั้งมวล, ศึกษาออกแบบ วิเคราะห์เส้นทางเชื่อมโยง, จัดทำการออกแบบรายละเอียด รูปแบบการก่อสร้าง งบประมาณ เวลา ที่ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ได้, เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานสากล และ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ Tourism for All
“คัดเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพมาไม่น้อยกว่า 30 เส้นทาง แล้วคัดกรองโดยคณะทำงานที่เชี่ยวชาญ เหลือ 15 เส้นทาง นอกจากนี้ยังได้จัดทำกรอบวิสัยทัศน์ในการพัฒนา โดยการทำแผนพัฒนาเส้นทาง และคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเพื่อจะทำการออกแบบสถาปัตยกรรม ส่วนในการเลือกแหล่งท่องเที่ยวนั้น ศึกษาจากพื้นที่ที่มีศักยภาพ ดูที่ความต้องการ ดูที่โอกาสในการดำเนินงานได้จริง รวมถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้น ๆ เป็นสำคัญ” ดร.อนุชา กล่าวทิ้งท้าย
จากการศึกษาออกแบบโครงการ “เที่ยวทั่วไทย เที่ยวได้ทุกคน (Tourism for All)” พัฒนาโดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งในด้านความเหมาะสมของเส้นทางท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง ๆ การศึกษาโครงการเพื่อนำ 15 เส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ นำไปสู่การเป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและต้อนรับการเปิดประเทศในอนาคตต่อไป
อัลบั้มภาพ 31 ภาพ