ชวนสำรวจ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทย

ชวนสำรวจ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทย

ชวนสำรวจ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนที่ไม่รู้จัก "ดอยอินทนนท์" แต่หากพูดชื่อ "อ่างกา" อาจมีคนทำหน้าสงสัย sanook.com เองก็สงสัย เมื่อได้รับหมายเชิญให้ไปร่วมทริปสำรวจ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ   

จุดประสงค์ของการพาสื่อมวลชนไปร่วมเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในครั้งนี้ ก็เพื่อเปิดตัวเส้นทาง ที่ตั้งใจปรับปรุงใหม่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทยนั่นเอง ความน่าสนใจ ไม่ใช่แค่การจัดระเบียบโซนเรียนรู้หรือติดป้ายสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทางใหม่เท่านั้น แต่ยังเพิ่มความล้ำสมัยด้วยการส่งมอบ "แอปพลิเคชันอ่างกา Virtual 360 องศา" ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกด้วย   

ทำความรู้จัก "อ่างกา" เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนยอดดอยอินทนนท์  

“เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” มีลักษณะเป็นเป็นหย่อมป่าที่มีเอกลักษณ์พิเศษในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความสูงกว่า 2,550 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงเป็นป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย และเป็นป่าเมฆที่มีความชุ่มชื้นและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี ต้นไม้ใหญ่ในผืนป่าจะมีพืชปกคลุมหนาแน่นตามลำต้น เปรียบเสมือนต้นไม้ที่กำลังใส่เสื้อ มีความงามคล้ายป่าดึกดำบรรพ์ เป็นผืนป่าต้นน้ำที่มีระบบนิเวศที่หาได้ยากยิ่งรูปแบบหนึ่งของไทย ปกคลุมด้วยหญ้า ไม้พุ่ม และข้าวตอกฤาษี  

ผลงานวิจัยการศึกษาละอองเรณูและสปอร์ของพืชในอดีตกาลบริเวณแอ่งพรุภูเขาบ่งชี้ด้วยว่า ผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าดิบเขาย้อนไปราว 4,300 ปีก่อน อีกทั้งยอดภูเขาสูงแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย เนื่องจากมีหลักฐานการพบเฟิร์นดิน ชนิดพันธุ์ Plagiogyria communis Ching ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับที่พบบนเทือกเขาหิมาลัย  

"อ่างกา" ยังได้ชื่อว่าเป็น "ป่าเมฆ" เนื่องจากอัตราการคายน้ำของป่า เพื่อก่อเป็นเมฆฝนสูงกว่าอัตราการระเหยน้ำในแหล่งน้ำทั่วไป จึงเป็นผืนป่าที่กำหนดฝนผ่านการคายน้ำ ซึ่งเรียกป่าลักษณะนี้ว่า ป่าเมฆ นั่นเอง

กลางผืนป่าอ่างกามีแอ่งน้ำซับลักษณะเป็นป่าพรุขนาด 30 ไร่ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากรูปแบบหนึ่งของไทย และยังอยู่บนยอดดอยที่สูงที่สุดของประเทศ น้ำในป่าพรุมีสีคล้ายน้ำชาและเป็นกรดอ่อน เพราะมีอินทรียวัตถุย่อยสลายอยู่ในน้ำที่แช่ขังตลอดทั้งปี มีการไหลเวียนของน้ำอย่างช้าๆ  ทำให้ป่าพรุน้ำจืด เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่มีคุณภาพ และเป็นต้นกำเนิดลำน้ำแม่กลาง ก่อนไหลลงสู่แม่ปิง จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดเรื่องราวความสำคัญและเสน่ห์ของผืนป่าให้กับนักท่องเที่ยวและผู้คนในวงกว้าง เหมาะเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ    

ป่าพรุ ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในการลดปัญหาโลกร้อน ยิ่งดินพรุมีความหนามากเท่าใด ยิ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปริมาณที่เพิ่มขึ้น  พื้นที่ด้านล่างของพรุ มีอุณหภูมิเย็นจัดราวช่องแช่แข็ง แบ่งออกเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยชั้นของซากพืช ซากสัตว์ที่ทับถมและย่อยสลายอย่างช้าๆ มีชั้นดินที่ลึกต่ำลงไปมาก ซึ่งความหนาของชั้นดินพรุ 7-8 เซนติเมตร ใช้เวลานับ 100 ปี และตามด้วยชั้นหินผุคงสภาพ (saprolite) ที่สังเกตเห็นลักษณะของหินต้นกำเนิดเดิมได้อยู่บ้าง   

ที่สำคัญยังเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ผืนป่าอ่างกาจึงมีคุณค่าและความสำคัญต่อระบบนิเวศและประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การรักษาและส่งเสริมให้ผู้มาเยี่ยมเยือนมีความรู้ ความเข้าใจ ในคุณค่าของผืนป่าสำคัญแห่งนี้

“เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” ปรับปรุงใหม่ หลังสำรวจและออกแบบครั้งแรกเมื่อปี 2534 ให้เป็น “ห้องเรียนสู่ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ”

จากความสำคัญของพื้นที่ ทำให้มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งดำเนินภารกิจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2545  ตัดสินใจปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาใหม่ทั้งหมด นับตั้งแต่ ไมเคิล แมคมิลแลนวอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้สำรวจวางแนวและออกแบบทางเดินครั้งแรก ในปี 2534 – 2536  

และด้วยปัจจุบันอ่างกาเสี่ยงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจเป็นสาเหตุให้ระดับน้ำใต้ดินของป่าพรุอ่างกาลดลงอย่างมาก พืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศจึงลดลงตามไปด้วย และในระยะยาว อาจทำให้เศษซากพืชซากสัตว์ใต้น้ำที่ยังสลายตัวอย่างช้าๆ แห้งลง จนเปลี่ยนสภาพเป็นเชื้อเพลิงที่อาจก่อให้เกิดไฟใต้ดิน นอกจากนี้  ในฤดูท่องเที่ยว พบว่าแมลงที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของน้ำมีจำนวนลดลง

โดยปรับปรุงเป็นเส้นทางเดินไม้ยกระดับที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นมิตรและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal design) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาป้ายสื่อความหมายในเส้นทาง 11 จุด เพื่อเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางธรรมชาติแก่ผู้มาเยือนตลอดเส้นทาง  เช่น วิถีพืชอิงอาศัย หรือต้นไม้ใส่เสื้อซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของป่าเมฆ ข้าวตอกฤาษี มอสส์สกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกและเป็นแหล่งกักเก็บน้ำของผืนป่า และป่าพรุภูเขา ระบบนิเวศบนยอดดอยสูงที่สุดของประเทศไทย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกามีลักษณะเป็นวงกลม ระยะทางรวม 320 เมตร แม้เป็นเส้นทางที่มีระยะสั้น  แต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตบริเวณนี้ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศเฉพาะถิ่น เป็นแหล่งพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า จึงเหมาะสำหรับการเดินศึกษาธรรมชาติในระยะสั้น แต่ได้เรียนรู้และดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ อีกทั้งเส้นทางนี้อยู่ห่างจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยเพียง 50 เมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้ง 2 แห่งได้ภายในวันเดียวกัน  

แอปพลิเคชัน “อ่างกา Virtual 360 องศา” เข้าถึงและเข้าใจธรรมชาติผ่านโลกออนไลน์

เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่่ชื่นชอบธรรมชาติ แต่อาจลำบากในการเดินทางมาในยุคนิวนอลมอล มูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “อ่างกา Virtual 360 องศา” เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศาผ่านระบบออนไลน์ด้วย นอกจากบรรยากาศของป่าเมฆอ่างกาแล้ว ยังมีจุดสื่อความหมาย และคำอธิบายแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ เสมือนได้มาเดินในเส้นทางแหล่งเรียนรู้นี้ด้วยตนเอง

การพัฒนาและปรับปรุง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” สู่การเป็น “ห้องเรียนสู่ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ” ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยว มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำ การอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างมีความหมาย และร่วมรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

ปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ ใครที่ยังไม่มีทริปปลายปีที่จะเที่ยวไหนและวันลายังเหลืออีกมากมาย ลองปักหมุดหมายใหม่ไปที่ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” หันหลังให้เทคโนโลยีสัก 2-3 วันแล้วให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูจิตใจก็ดีไม่น้อย

หรือหากไม่มีเวลา แต่อยากใกล้ชิดธรรมชาติ แสกน QR Code ในภาพด้านล่างนี้ก็ได้ออกไปสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาได้เหมือนกัน 

[Advertorial] 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook