กินปู ดูทะเล ฟังเสียงนกเขา ณ “จะนะ” ก่อนนิคมอุตสาหกรรมจะกลืนเมือง
Highlight
- อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม แต่ภาครัฐก็มีความพยายามจะเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก ส่งผลให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นต่อต้านโครงการดังกล่าว
- หาดสวนกงถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านและคนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ทะเลจะนะยังมีสัตว์ทะเลนับร้อยชนิด โดยชาวบ้านจะออกเรือตอนกลางคืน และกลับเข้าฝั่งตอนเช้า พร้อมกับอาหารทะเลสด ๆ
- นอกจากนี้ อำเภอจะนะยังเป็นศูนย์กลางนกเขาชวา มีฟาร์มนกเขาชวาในพื้นที่มากมาย เช่นเดียวกับชาวบ้านที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับนกเขา เช่น ทำกรงนก เพาะพันธุ์นก ทำหัวกรง หรือทำผ้าคลุมกรง
หากพูดถึง “อำเภอจะนะ” หลายคนคงนึกถึงการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้อง “บ้าน” ของตัวเอง หลังจากรัฐบาลมีมติจะเปลี่ยนพื้นที่จะนะให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่อำเภอเล็ก ๆ ริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยของจังหวัดสงขลาแห่งนี้ ก็เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเล รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่งดงามและคู่ควรแก่การอนุรักษ์ นี่คือเหตุผลที่เราค้นพบระหว่าง 3 วันที่ลงพื้นที่กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเราได้สัมผัสกับธรรมชาติที่ชาวบ้านหวงแหน ลิ้มรสอาหารทะเลสด ๆ และสัมผัสวิถีชีวิต “ชาวเล” ที่แสนเรียบง่าย การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงเปรียบเหมือนการได้ไปเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าทำไมชาวบ้านจึงต้องลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจใด ๆ
“หาดสวนกง” พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน
ความประทับใจแรกเมื่อมาถึง “หาดสวนกง” คือทะเลที่ทอดยาวไปไกลสุดลูกหูลูกตา คู่ขนานไปกับหาดทรายละเอียดสีขาว ลมทะเลที่พัดมาให้พวกเราได้เย็นฉ่ำ พื้นที่สาธารณะตรงนี้เปิดให้ทุกคนมานั่งพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรัก บางคนเตรียมอาหารใส่ตะกร้าใบใหญ่มาจากบ้าน บางคนก็มาพึ่ง “บาร์กาแฟ” ขนาดเล็กที่มาเปิดท้ายรถดริปกาแฟในบรรยากาศสโลว์ไลฟ์ ใบหน้าเปื้อนยิ้มของคนที่นี่มีเสียงหัวเราะพูดคุยเป็นซาวด์ประกอบ พร้อมด้วยภาพแบ็กกราวด์เป็นเด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่อย่างสนุกสนาน บ้างก็ติดว่าวมาเล่นเรียกเสียงตื่นเต้นจากเพื่อนรอบข้าง
นอกจากเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมของคนในพื้นที่แล้ว หาดสวนกงยังมีลานหญ้าสีเขียวขนาดใหญ่ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้มากางเต็นท์ ผูกเปลญวน รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แม้แดดจะแรง แต่เราไม่รู้สึกร้อนเลยสักนิด เนื่องจากลมเย็นที่พัดเข้ามาจากทะเลอย่างต่อเนื่องและร่มเงาของต้นไม้ที่กระจายอยู่รอบพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่อากาศบริสุทธิ์สดชื่นและเราก็สามารถสูดหายใจได้อย่างเต็มปอด
ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหววัย 19 ปี ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของอำเภอจะนะ เล่าให้เราฟังว่า เธอมักจะมานอนกางเต็นท์ที่หาดสวนกงและรอชมความสวยงามของแสงอาทิตย์ยามเช้าบนชายหาด
“บ้านหนูมีทะเล บ้านหนูมีคลอง 2 คลองที่เชื่อมต่อกับน้ำทะเล เป็นคลองที่มี 3 น้ำ คือน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ตื่นเช้ามาเราก็เจอทะเลเลย บางวันก็เจอปลาโลมา บางวันเราก็เล่นน้ำทะเลจนโดนแม่ด่า เพราะว่าเล่นน้ำจนแม่ซักเสื้อผ้าให้ไม่ทัน” ไครียะห์เล่า
การมีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้มาพักผ่อนแบบนี้ถือเป็นเรื่องดีสำหรับคนในชุมชนและคนทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่หาดสวนกงที่เปิดรับทุกคนอย่างอบอุ่น ดังนั้น หาดสวนกงจึงไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับการมาพักผ่อนหรือนั่งกินลมชมทะเลเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยสานความพันธ์ระหว่างมนุษย์ให้แน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย
อาหารทะเลสดคือความอร่อยและวิถีชีวิตของชาวบ้าน
มาทะเลก็ต้องทานอาหารทะเล และ “ทะเลจะนะ” ก็ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเลสดอร่อย เรือประมงจะแล่นออกจากฝั่งในตอนกลางคืน และกลับมาในช่วงเช้ามืดพร้อมอาหารทะเลเต็มลำ ซึ่งการออกประมงของชาวบ้านจะนะล้วนแล้วแต่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงผู้ออกเรือ พ่อค้า/แม่ค้าอาหารทะเล หรือชาวบ้านที่มารับจ้างปลดอวน โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูกาลของกุ้งแชบ๊วย ชาวเลทั้งหลายต่างก็รอคอยและมีความสุขเมื่อฤดูกาลนี้มาถึง เพราะนอกจากจะรายได้ดีแล้ว กุ้งแชบ๊วยก็อร่อยมากจนยากจะปฏิเสธได้
“นอกจากกุ้งแล้ว ก็มีปลาทู ปลาจะละเม็ด ปลาอินทรี มีเป็นร้อย ๆ ชนิดเลย มันก็มีได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เราก็มีความสุขในวันที่ถึงแม้จะไม่ได้เงิน แต่วันนั้นเราได้กับข้าวแล้ว ไม่ต้องซื้อกับข้าว มันคือความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ พ่อออกเรือ แม่ก็ตำเครื่องแกงรอได้เลย วันนี้จะทำแกงอะไร แกงกะทิหรือแกงส้มก็ว่ากันไป พอพ่อกลับมาถึงบ้าน เราก็ได้กินแล้ว มันคือวิถีชีวิตชาวบ้านที่เรามีความสุข” สุใบเด๊าะ ผกาเพชร์ ชาวบ้านผู้มีเรือประมงเป็นของตัวเอง เล่าให้เราฟัง
อาหารทะเลสด รสชาติหวาน และเนื้อแน่น ทั้งกุ้ง ปู หรือปลาล้วนแล้วแต่ทำให้ทุกมื้ออาหารตลอด 3 วันที่เราอยู่จะนะ เต็มไปด้วยความทรงจำดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นแกงส้มปลารสจัด ต้มปลาทูเนื้อแน่น ปลาโอต้มหวานรสชาติกลมกล่อม และปูนึ่ง ซึ่งเราจัดให้เป็นไฮไลต์ของทริปนี้เลยก็ว่าได้ ปูตัวใหญ่เนื้อแน่น แกะกระดองเจอมันปู ราดน้ำจิ้มซีฟู้ดสูตรชาวบ้านจะนะ ก่อนจะกินพร้อมข้าวมัน เรียกได้ว่านี่คือประสบการณ์อร่อยแสงออกปากอีกครั้งในชีวิต
ทั้งนี้ อาหารทะเลที่อุดมสมบูรณ์ก็แลกมาด้วยการต่อสู้ของชาวบ้านอย่างยาวนาน ทะเลจะนะที่ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ของชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อ 30 ปีที่แล้วเคยเป็น “ทะเลร้าง” ไร้ซึ่งสัตว์ทะเลอยู่อาศัย ชาวบ้านขาดรายได้จนต้องทิ้งครอบครัวไปทำงานต่างพื้นที่ หัวหน้าครอบครัวต้องยอมทิ้งโต๊ะกินข้าวที่ทุกคนเคยกินอิ่มพร้อมหน้า เพื่อไปหาเงินส่งมาที่บ้านให้ทุกคนท้องอิ่ม กระทั่งชาวบ้านกลุ่มหนึ่งตัดสินใจกลับมาฟื้นฟูแหล่งอาหารในชุมชน สร้างบ้านปลาและปะการังเทียมขึ้น จนปลาและสัตว์ทะเลอื่น ๆ อพยพกลับมาอาศัยที่ทะเลจะนะ เช่นเดียวกับหัวหน้าครอบครัวที่กลับบ้าน และครอบครัวก็ได้อยู่กันพร้อมหน้าอีกครั้ง
“ทะเลอ้าปากรอรับเสมอ ไม่ต้องจบปริญญาก็รับหมดทุกคน เราก็เลยไม่อยากสูญเสีย ถ้าโครงการใหญ่เกิดขึ้น เราจะไปอยู่กันที่ไหน ทำมาหากินไม่ได้” บ่าวยะ ระหมันยะ เจ้าของฉายา “พรานทะเล” บอกเรา
แหล่ง “นกเขาชวา” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นกเขาชวาถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของอำเภอจะนะ ถึงขั้นปรากฏอยู่ในคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “นกเขาชวาเสียง สำเนียงสะกอม วัฒนธรรมหล่อหลอม ออมทรัพย์เด่นดัง” ด้วยความรู้และภูมิปัญญาในการเลี้ยงนกเขาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ทำให้ชาวบ้านในอำเภอจะนะมีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงและคัดเลือกนกเขาที่มีคุณลักษณะที่ดี เสียงไพเราะ และสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ
ชาวจะนะนิยมเลี้ยงนกเขากันอย่างแพร่หลาย เรียกได้ว่าแทบทุกครัวเรือนจะมีกรงนกแขวนอยู่หน้าบ้าน ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ การเลี้ยงนกเขาก็ยังเป็นสร้างอาชีพให้กับคนจะนะ ทั้งการเพาะนกเขาขาย การทำกรงนก การทำหัวกรง หรือแม้แต่การทำผ้าคลุมกรง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความชำนาญในการทำ
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ “การแข่งขันนกเขาชวา” ซึ่งชาวบ้านจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันจัดตามหมู่บ้าน และนำนกเขาของตัวเองมาประชันเสียงกันเพื่อค้นหาผู้ชนะ และรับรางวัลที่ขึ้นอยู่กับแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งก็มีทั้งหม้อหุงข้าว พัดลม และอื่น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการได้รับเชิดชูว่าเป็น “นกเขาชนะรางวัล” ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อราคาของนกเขาตัวนั้นหรือลูก ๆ ของมัน นายสะมะแอ มะขะเหร็น หรือ บังยี รองประธานชมรมนกเขาชวา อำเภอจะนะ เล่าให้เราฟังว่า ถ้าเป็นนกเขาเสียงดี ชนะรางวัลเยอะ ก็มีโอกาสที่จะซื้อขายกันหลายหมื่นหลายแสน หรือถ้าเอาไปผสมพันธุ์ ลูกของมันก็จะราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
วิธีการแข่งขันนกเขาชวา คือผู้เข้าแข่งขันจะนำนกเขาของตัวเองขึ้นเสา ซึ่งในพื้นที่การแข่งขันจะมีเสาดังกล่าวมากกว่าร้อยเสา จึงเป็นภาพที่สวยงามและน่าตื่นตาตื่นใจ หลังจากที่เอานกขึ้นเสาแล้ว เจ้าของก็จะออกจากพื้นที่เพื่อให้คณะกรรมการเข้ามาฟังเสียงเพื่อตัดสินหาผู้ชนะ โดยนกเขาชวาจะมีทั้งหมด 3 เสียง คือ เสียงใหญ่ เสียงกลาง และเสียงเล็ก นกเขาที่ขันเสียงกังวานถือว่าเป็นนกที่ดี นอกจากนี้ยังต้องดูลีลาจังหวะการขันของนกเขาอีกด้วย
ในขณะที่รอผลการแข่งขัน เจ้าของก็จะเกาะกลุ่มพูดคุยหรือรับประทานอาหารร่วมกัน กิจกรรมการแข่งขันนกเขาจึงเปรียบเหมือนกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ให้กับคนในพื้นที่และช่วยสืบสานประเพณีท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งเราจะได้เห็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ที่มีความผูกพันกับการเลี้ยงนกเขา บังยีบอกว่า สภาพภูมิอากาศของอำเภอจะนะ เหมาะกับการเลี้ยงนกเขา หากเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และวิถีชีวิตการเลี้ยงนกเขาชวาของชาวบ้านที่นี่ก็อาจจะหายไป
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการได้ลงไปสัมผัสพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แน่นอนว่าจะนะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามอื่น ๆ อีกมากมาย ทว่าทางภาครัฐกลับพยายามที่จะเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก ชาวบ้านจึงลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้อง “บ้าน” ของตัวเองให้ลูกหลานได้กินได้ใช้บนผืนแผ่นดินและในน่านน้ำทะเลที่พ่อแม่เคยได้หาเลี้ยงชีวิต ดังนั้น หากอยากเข้าใจว่าทำไมชาวบ้านจึงยืนหยัดต่อต้านเพื่อไม่ให้อำเภอถูกเปลี่ยนให้เป็นนิคม เราจึงขอชวนทุกคนมาสัมผัสความสวยงามทางธรรมชาติ ลิ้มรสอาหารแสนอร่อย และทำความเข้าใจวิถีชีวิตแบบชาวจะนะแบบที่เราได้ไปสัมผัสมา
รูปโดย: NATTATITI K.
อัลบั้มภาพ 37 ภาพ