6 พิกัดสวยห้ามพลาด ในงาน Bangkok Design Week 2022
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กำหนดจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 หรือ Bangkok Design Week 2022 ระหว่างวันที่ 5 - 13 กุมภาพันธ์ 2565 ใน 5 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” โดยปีนี้ได้ขยายพื้นที่การจัดงานไปยัง “พระนคร” ครอบคลุมตั้งแต่ บริเวณปากคลองตลาด พระนคร ไปจนถึงบางลำพู ซึ่งจากเดิมพื้นที่หลักจะอยู่ที่ 4 ย่าน “เจริญกรุง-ตลาดน้อย” “อารีย์-ประดิพัทธ์” “ทองหล่อ-เอกมัย” และ “สามย่าน” โดยหวังว่าจะสามารถสร้างสีสันที่หลากหลายให้กับเทศกาลฯ สร้างความคึกคัก และสร้างรายได้ ปลุกชีวิตชีวาให้กับชุมชนโดยรอบได้กว้างยิ่งขึ้น โดยมีเวลาให้เดินสำรวจตลอดระยะเวลาการจัดงาน ถึง 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 – 13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้
การนี้จึงได้รวมพิกัดงานแสงสี lighting Installation และ Projection Mapping ที่จะช่วยชุบชูใจ ปลุกไฟสร้างสรรค์ให้กับชีวิต เพื่อให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ร่วม “คิด สร้าง ทางรอด: Co with Creation” กันต่อไป
1.คลองผดุงกรุงเกษม ถนนมหาพฤฒาราม
The WALL 2022 by LIGHTING DESIGNERS THAILAND
ปลุกชีวิตคลองเก่าที่มีความสำคัญต่อความรุ่งเรืองของกรุงเทพฯ
ทุกวัน 18:00 – 22:00 น.
ตั้งแต่บริเวณ สะพานพิทยเสถียร ด้านหน้าอาคารชัยพัฒนศิลป์ https://goo.gl/maps/pgySFovc9EZggKpf6
ไปจนถึงสะพานนี้จงสวัสดี (ตลาดน้อย) https://goo.gl/maps/54DHmLj51qP463ME7
ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ กลุ่ม Lighting Designers Thailand (LDT) ทีมนักออกแบบแสงที่สนใจงานสถาปัตยกรรมและพื้นที่ ต้องการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของแสงและการส่องสว่างเพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น จึงร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ “The Wall 2022” ในปีนี้ที่บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม คลองเก่าแก่อายุ 170 ปี ที่อยู่คู่กับคนกรุงเทพมหานครมาช้านาน เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเมือง รื้อฟื้นความทรงจำและเสน่ห์ของชุมชนริมน้ำซึ่งถูกลบเลือนไปจากวิถีชีวิตของคนกรุงเทพในปัจจุบัน โดยหวังว่า “แสงและการส่องสว่าง” สำหรับพื้นที่เล็กๆ เพียงเสี้ยวหนึ่งของคลองแห่งนี้ จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงและคนในเมืองใหญ่ที่ได้มีโอกาสเข้ามาชมงาน ได้รำลึกวันวานด้วยความสุขและรอยยิ้มสมดังชื่อคลอง “ผดุงกรุงเกษม” ส่งต่อความสุขผ่านแสงสีและปลุกกระแสการพัฒนาชุมชนเก่าแก่อย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์แห่งการออกแบบแสงหลากรูปแบบหลายเทคนิค ตามแนวคิดที่ว่า...เมืองที่มีการออกแบบแสงที่ดีทำให้คนอยากออกมาใช้ชีวิต และยังช่วยสร้างความผูกพันระหว่างคนกับเมืองได้
2.โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
Lighting Printing house & Printery Awakening
ปลุกชีวิตอาคารโรงพิมพ์เก่า มรดกสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5
Lighting จัดแสดงทุกวัน เริ่ม 17:00 – 22:00 น.
Projection mapping จัดแสดงเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ รอบ 19:00, 19:45, 20:30, 21:15
สถานที่ https://goo.gl/maps/yNg5Q7Etq5iARn6t9
อาคารเก่าแก่ทรงคุณค่าหลังนี้ได้หลับใหลมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งปีนี้ Bangkok Design Week ร่วมกับ Urban Ally Festival 2022 เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในย่านพระนคร และ เทศกาล “รวม-มิตร-เมือง” ปลุกให้กาลเวลาไหลเวียนอีกครั้ง ด้วยการปรับปรุงและเปิดโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจขึ้นอีกครั้งเพื่อเป็นจุดจัดงานหลักแห่งหนึ่งในย่านพระนคร สามารถเข้าชมได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยจะมีงานนิทรรศการสวยๆ ถึง 2 งานภายในอาคาร และพื้นที่นั่งพักผ่อนทานขนมเครื่องดื่มพร้อมดื่มด่ำไปกับกลิ่นของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ยังคงทันสมัยจนถึงทุกวันนี้
โดยมีไฮไลท์ที่น่าสนใจอีกอย่างคืองานออกแบบแสง (Lighting) ภายนอกอาคาร “Lighting Printing house” โดย Fos Lighting Design Studio ที่ทางนักออกแบบเล่าที่มาของงานนี้ว่า เราจะหยุดนิ่ง และปล่อยให้ “งานสถาปัตยกรรมนำแสงไฟ” ด้วยรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีลวดลายปูนปั้นและงานลายไม้ฉลุที่งดงามลงตัว แสงจึงทำหน้าที่เปิดเผยให้เห็นความงามและรายละเอียดอาคารอย่างตรงไปตรงมาที่สุด แสงสีขาวอมเหลืองถูกเลือกใช้เพื่อสร้างบรรยากาศภูมิฐานและอบอุ่นให้กับอาคารเมื่อมองจากภายนอก จัดแสดงในช่วงเย็นของทุกวัน
และงานออกแบบภาพฉายลงบนอาคาร (projection mapping) ยามค่ำคืน ในชื่อ Printery Awakening สะท้อนความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสิ่งพิมพ์และสถาปัตยกรรม อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย SULIB (Silpakorn University Central Library), ก้องเดช หวานจริง และ ณัฐวุฒิ มีทรัพย์ทอง ที่จะจัดแสดงเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์
3.นิวเวิลด์ สี่แยกบางลำพู
New World x Old Town Part 2
ปลุกชีวิตห้างเก่า บอกเล่าความเป็นย่านบางลำพูผ่านการออกแบบแสงและเสียง
ทุกวัน รอบ 17:00, 18:00, 19:00, 20:00 น.
สถานที่ https://goo.gl/maps/z9BWuRXe2DyT4bXt8
นิวเวิลด์ห้างสรรพสินค้าชื่อดังในอดีตที่ตั้งอยู่กลางสี่แยกบางลำพูที่ถูกปล่อยทิ้งร้างตามกาลเวลาได้ถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เพื่อพาผู้คนในปัจจุบันย้อนกลับไปสำรวจย่านบางลำพูด้วยกัน ผ่าน "New World x Old Town Part2: The Reflection From the Light Source” โดยปีนี้นี้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมปฏิบัติการโดย HUI Team Design, Saturate Designs, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และภาคีนักออกแบบอิสระ กลุ่มแสงปลากบ สนใจ เกสรลำพู เสน่ห์บางลำพู และประชาคมบางลำพู เป็นนิทรรศการศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ด้วย Lighting & Sound Installation จำนวน 9 ชิ้นงาน ที่สะท้อนเรื่องราวของย่านบางลำพู ผ่านเสียงของผู้คนในย่านจริง ร้อยเรียงเป็นงานที่สื่อสารถึงความเป็น "บางลำพู" ในหลายมิติ โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทั้งอดีต และปัจจุบัน ตีความออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ หลายสิ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย หลายสิ่งบอกเล่าเรื่องราวที่ซ่อนที่มาที่ไปในบางลำพูที่คุณอาจจะไม่คิดมาก่อน ทุกสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์และเกิดขึ้นที่ "New World x Old Town Part2" จึงเปรียบเสมือนบทสรุปบอกเล่าทุกเรื่องราวของบางลำพู ผ่านการสื่อสารในเชิงนามธรรม ที่อยากให้ทุกคนเข้าไปค้นหาเรื่องราวเหล่านั้น
หมายเหตุ
อาคารได้มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทําการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง รวมถึงมีการติดตั้งสิ่งป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อย และทางเจ้าของพื้นที่ให้ความอนุเคราะห์เปิดพื้นที่ทิ้งร้างแห่งนี้ให้เป็นสถานที่จัดงานได้
**จำกัดจำนวนผู้เข้าชม**
บุคคลทั่วไปลงทะเบียนผ่าน EVENTBRIGHT https://shorturl.asia/5Vpzn
4.อาคารไปรษณียาคาร
Revitalise The First Post Office
ปลุกชีวิตอาคารไปรษณีย์หลังแรกของไทย
จันทร์ - ศุกร์ เริ่ม 19:00 - 21:00 น.
เสาร์ - อาทิตย์ เริ่ม 19:00 - 22:00 น.
สถานที่ https://goo.gl/maps/tzxjygzg8uUTEMHr6
Lighting และ Projection mapping สุดอลังการ ภายใต้คอนเซ็ป Revitalise The First Post Office ที่อาคารไปรษณียาคาร หรือที่เดิมสะกดว่า “ไปรสนียาคาร” ที่ตั้งเดิมของกรมไปรษณีย์และที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธ ย่านปากคลองตลาด อาคารเก่าแก่ดั้งเดิมที่ไม่เคยเปิดให้ใครเข้าชมอย่างใกล้ชิดมาก่อน โดย Urban Ally ร่วมกับ APLD The Lighting Company และ Studio Visual Assembly
การจัดแสดงการออกแบบส่องสว่าง Lighting ที่สะท้อนความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเล่าเรื่องผ่านกาลเวลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงช่วงของยุคสมัยผ่านกาลเวลาที่แปรเปลี่ยนจนมาถึงยุคปัจจุบัน ผ่านการแสดงสามฉาก สามจุดรอบไปรณียาคาร 1. ฉากยุคปัจจุบันผ่านสีของแสงขาวกระจ่าง เป็นที่นั่งบริเวณริมรั้วเชื่อมต่อสะพานลอยฟ้า 2. ฉากเน้นแสงเงาที่ส่องผ่านต้นไม้ให้เกิดอารฒณ์เหมือนภวังค์ เกิดความนิ่งสงัดปนเศร้า 3. ฉากหน้าของไปรณียาคารที่หันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงอัตลักษณ์ของอาคารตัวแทนที่ทำการโทรเลขหลังเก่าที่สร้างไว้เป็นอนุสรณ์
นอกจากนี้ในทุกคืนยังมีการแสดง Projection mapping ฉายภาพลงบนอาคาร ที่บอกเล่าถึงการกลับมามีชีวิตชีวาของสถานที่นี้ ผ่านภาพกราฟิกสีสันสะดุดตา โดยมีตัวการ์ตูนคาร์แรกเตอร์แนว POP Art ที่เป็นตัวแทนของย่านในธีม Hello 2022 คอยทักทายผู้คนที่สัญจรไปมา
5.มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)
Data Art by URBAN ALLY X ARTISTS
ปลุกชีวิตข้อมูลงานวิจัยให้จับต้องได้ผ่านศิลปะร่วมสมัย
ทุกวัน เริ่ม 11:00 - 20:00 น.
สถานที่ https://goo.gl/maps/jDb2Lnf4HjJRcSyA9
พบกับ Showcase สนุกๆ จากผลงาน "ศิลปะข้อมูล (Data Art)” ที่นำเสนอการแปรเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นทัศนศิลป์ ผลงานจากงานวิจัย โดย อ.สิริพร ด่านสกุล จาก City Reinventing Lab ของ Urban Ally ออกแบบการนำข้อมูลมาถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบงานศิลปะร่วมสมัย 6 ชิ้น ให้ตามไปถ่ายรูปกัน กับ Color & Memory | Recall | Instagramble Memory | Homage to the Fallen | Anemography | Anemochore (sound effect) จากกว่า 10 นักออกแบบ จัดแสดงภายในสวนแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร
6.ปลุกชีวิตวิถีชุมชนคลองเจ้าดอกไม้
มองเมืองเก่า เล่าผ่านแสง by 27JUNE STUDIO
สะพานข้ามคลอง ข้างโรงเรียนราชินี
ทุกวัน เริ่ม 19:00 - 22:00 น.
สถานที่ https://goo.gl/maps/BBJBE2KepQt44M4P8
ปิดท้ายด้วย “งานแสง” แบบเล็กๆ น่ารักๆ กับงาน “มองเมืองเก่า เล่าผ่านแสง (Old Town Illumination)” โดย 27 JUNE Studio เป็นการทำ Interactive Flower Mapping ที่บริเวณสะพานข้ามคลอง ข้างโรงเรียนราชินี สะพานข้ามคลองที่อยู่คู่ชุมชนปากคลองมานาน ผ่าน Lighting รูปดอกไม้ในปากคลอง ที่ถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยี ให้ผู้คนในย่านและผู้ที่มาชมงานมีส่วนร่วม (interaction) และสนุกไปกับชิ้นงานและอัตลักษณ์ของชุมชน โดยผู้เข้าชมสามารถถ่ายรูปกับ Lighting ดอกไม้บริเวณสะพาน และเล่นกับนิทรรศการด้วยการพิมพ์ข้อความในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ไปปรากฏบนพื้นสะพานได้ ผ่านการสแกน QR code ในบริเวณงาน
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ด้วยการนำนวัตกรรมและงานออกแบบมาปรับใช้กับมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งยังคง สีสัน ความสนุกและความปลอดภัยไว้อย่างครบครัน
กรุงเทพจะกลับมาคึกคักและมีสีสันอีกครั้งในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2565
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ