วิธี “นั่งเรือโดยสาร” อย่างปลอดภัย และวิธีเอาตัวรอดฉุกเฉิน
การเดินทางด้วยเรือโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเรือข้ามฟาก ข้ามเกาะ นั่งเรือด่วน หรือนั่งเรือโดยสารคลองแสนแสบ ล้วนเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ทั้งนั้น จึงไม่ควรประมาทเป็นอันขาดเมื่อต้องใช้บริการเรือโดยสาร
และหากเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เรือล่ม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องจำให้แม่น คือ “ต้องช่วยตัวเองให้ปลอดภัยก่อน จึงจะช่วยเหลือผู้อื่น” ซึ่ง Tonkit360 ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อใช้บริการเรือโดยสารมาฝากกัน
ก่อนการเดินทาง
- หากมีการแจ้งเตือนเรื่องพายุหรือคลื่นลมแรง ขอให้งดการเดินทาง เพื่อความปลอดภัย
- ขอให้เลือกโดยสารเรือที่ดูแข็งแรง ปลอดภัย และมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำไว้บริการผู้โดยสาร อาทิ เสื้อชูชีพ ห่วงยาง
- หากพบว่าตรงบริเวณโป๊ะหรือท่าเรือมีผู้โดยสารยืนอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ควรเสี่ยงเดินลงไป เพราะโป๊ะหรือท่าเรือดังกล่าวอาจล่มหรือพลิกคว่ำได้
- รอให้เรือโดยสารเข้าเทียบท่าเสียก่อน จึงเดินขึ้น-ลงเรือ อย่างเป็นระเบียบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเดินเบียดเสียดจนมีคนพลัดตกลงไปในน้ำ และถ้าเห็นว่าเรือบรรทุกตามน้ำหนักหรือจำนวนที่กำหนดแล้ว ให้รอลงเรือลำต่อไป
- ถ้าคุณว่ายน้ำไม่เป็น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเรือ แต่หากมีความจำเป็นจริง ๆ ขอให้ชวนเพื่อนที่ว่ายน้ำเป็นเดินทางไปด้วย และควรแจ้งเจ้าหน้าที่บนเรือว่า คุณว่ายน้ำไม่เป็น
- เลือกแต่งกายด้วยชุดที่ถอดได้ง่าย หากใส่รองเท้าหุ้มส้นก็ไม่ควรเป็นแบบผูกเชือก และเมื่อลงเรือควรคลายเชือกรองเท้าให้หลวมไว้ก่อน ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันจะได้รองเท้า ซึ่งอาจกลายเป็นตัวถ่วงน้ำหนักออกได้ทันที
ขณะเดินทาง
- ขอให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด อาทิ หากเจ้าหน้าที่แจ้งให้ขยับเข้าไปยังพื้นที่ด้านใน ก็ควรทำทันที ไม่ควรยืนขวางตรงบริเวณทางขึ้น-ลงเรือ เพราะขวางทางเดินผู้อื่น และยังอาจพลัดตกลงไปในน้ำได้
- ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่โดยสารทางเรือ หากพลัดตกน้ำจะได้พยุงตัวลอยน้ำ เพื่อรอความช่วยเหลือ
- ควรเลือกที่นั่งหรือที่ยืนแบบกระจายตัว ไม่กระจุกตัวอยู่มุมใดมุมหนึ่งของเรือมากเกินไป เพราะจะทำให้เรือเอียงไปด้านใด ด้านหนึ่งจนเสียสมดุลและพลิกคว่ำ
- เมื่อขึ้นเรือโดยสารแล้ว หากไม่มีที่นั่งก็ควรหาที่จับให้มั่น เพื่อป้องกันการลื่นล้ม
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะนั่งเรือ เพราะอาจทำให้ปฏิกิริยาตอบสนองของคุณช้าลง และไม่ควรสูบบุหรี่แม้ว่าบนเรือโดยสารบางลำจะไม่ระบุข้อห้ามนี้ไว้ เนื่องจากหนึ่งในเพื่อนร่วมทางอาจมีใครแพ้กลิ่นหรือควันบุหรี่ก็เป็นได้
เมื่อการเดินทางสิ้นสุด
- เมื่อเรือเข้าเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว ให้ทยอยลุกขึ้น อย่าลุกขึ้นพร้อมกันเพราะอาจทำให้เรือพลิกคว่ำได้
ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขณะโดยสารเรือที่ควรรู้กรณีเรือเอียงหรือโคลง
- เมื่อสังเกตว่าเรือเอียงหรือโคลงไม่ว่าจะเพราะคลื่นหรือเหตุใด ขอให้คุณพยายามยึดจับพนักที่นั่งให้มั่น พร้อมขืนตัวไม่ให้เอียงไปทางกราบเรือที่เอียงอยู่ เพราะจะทำให้น้ำหนักเทไปตรงด้านที่เรือเอียง จนทำให้เรือล่มได้
- ผู้ที่อยู่ทางกราบเรือที่เอียงขอให้ตั้งสติให้ดี และอย่าพยายามขืนอาการเอียงของเรือเช่นกัน
กรณีพลัดตกน้ำหรือเรือล่ม
- หากพลัดตกเรือไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใด ๆ ก็ตาม พยายามว่ายน้ำออกไปให้ห่างจากตัวเรือมากที่สุด เพื่อป้องกันกระแสน้ำดูดในกรณีที่เรือล่ม และป้องกันอันตรายจากใบพัดเรือ
- รีบถอดสิ่งที่เป็นตัวถ่วงน้ำหนักออกทันที อาทิ กระเป๋าเป้ เสื้อคลุม หรือรองเท้าหุ้มส้น หลังจากนั้นให้พยายามว่ายเข้ามาสิ่งของที่คุณสามารถใช้ยึดเกาะ เพื่อพยุงตัวรอการช่วยเหลือ หากไม่มีให้ถอดเสื้อหรือกางเกงทำเป็นโป่งลอยน้ำใช้พยุงตัวชั่วคราว
- ไม่ควรว่ายไปจับกราบเรือที่กำลังแล่นผ่านไปมา เพราะจะถูกดูดเข้าใต้ท้องเรือ และได้รับอันตรายจากใบพัดเรือที่กำลังทำงานอยู่
- อย่าพยายามว่ายน้ำตามเรือหรือว่ายเข้าฝั่งด้วยตนเอง ถึงแม้ระยะทางจะดูไม่ไกลมาก เพราะคุณอาจหมดแรงหรือเป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิต
- หากพบเห็นคนจมน้ำ ให้รีบตะโกนขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ว่ายน้ำเป็น หรือโยนวัสดุที่ลอยน้ำได้ไปให้เกาะเพื่อพยุงตัว ขณะรอคนเข้ามาช่วย
- ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประสบภัยหรือผู้เห็นเหตุการณ์ หากไม่มีทักษะว่ายน้ำที่แข็งพอ ก็ไม่ควรเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้พลัดตกน้ำ เพราะอาจจมน้ำเสียชีวิตได้