7 สถานีรถไฟเก่าแก่ทรงคุณค่าของไทย
หนึ่งในการเดินทางที่มีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ คือ การเดินทางด้วยรถไฟ โดยสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ สถานีรถไฟ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น หรือจุดสิ้นสุดของการเดินทางในแต่ละครั้ง เมืองไทยมีสถานีรถไฟจำนวนมากที่นอกจากทำหน้าที่เป็นจุดรับส่งผู้โดยสารแล้ว คุณค่าของอาคารสถานีรถไฟยังควรค่าแก่การอนุรักษ์ ด้วยความงามแบบย้อนยุค รูปแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น หรือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชุมชน ที่ควรค่าหาโอกาสสักครั้งไปเยือน
The Passport คัดเลือก 7 สถานีรถไฟไทย ที่งามสง่าทรงคุณค่า อยากให้คุณลองหาโอกาสเดินทางไปชมด้วยสายตาตัวเอง
สถานีรถไฟนครลำปาง จังหวัดลำปาง
สถาปนิกชาวเยอรมันออกแบบงานสร้างไว้โดยผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมภาคเหนือกับตะวันตก อาคารสูงสองชั้นจึงโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ครึ่งตึกครึ่งไม้ มีลวดลายฉลุแบบทางเหนือ แต่มีโครงสร้างโคโลเนียลกลิ่นอายยุโรป
สถานีรถไฟคู่เมืองลำปาง เปิดให้บริการครั้งแรกมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2459 ซึ่งในยุคสมัยนั้นเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางสายเหนือ จึงเป็นเส้นทางคมนาคมที่นำความเจริญและความเปลี่ยนแปลงมาสู่นครลำปางเป็นอย่างมาก
หลังจากวันแรกที่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน สถานีรถไฟนครลำปางมีอายุมากกว่าร้อยปี และยังทำหน้าที่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยอาคารแห่งนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อปี 2536 อาคารสถานีรถไฟนครลำปาง จึงนับเป็นหนึ่งในมรดกด้านสถาปัตยกรรม และบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาวลำปางทุกคน
สถานีรถไฟพิจิตร
ถ้ามีโอกาสได้ขึ้นรถไฟสายเหนือจะต้องผ่านสถานีรถไฟสวยแห่งเมืองพิจิตรอย่างแน่นอน ตัวอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกก่ออิฐถือปูนขนาดสองชั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงทุกวันนี้ ความมีเสน่ห์ไม่ได้เลือนหายไป แถมยังเจือไปด้วยบรรยากาศสุดวินเทจ มีสถาปัตยกรรมแนวนีโอคลาสสิคตกแต่งลวดลวยโค้งเว้าอย่างสมดุล ทำให้สถานีรถไฟพิจิตรนั้นติดอันดับอาคารสถานีรถไฟที่ติดอันดับที่สวยที่สุดในประเทศไทยไปโดยปริยาย เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวแวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
มีสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากเดิมคือ ตลาดนัดถนนคนเดินในเย็นวันเสาร์บริเวณใต้ร่มไม้ใหญ่ติดกับสถานีรถไฟ ช่วยเพิ่มความคึกคักและสนุกสนานไปกับของกินท้องถิ่นสุดตระการตา อย่างเช่น เมนูผัดไทยห่อใบบัว หรือขนมเบื้องญวนเจ้าดัง รวมถึงสินค้างานฝีมืออีกเพียบ และสำหรับจุดชมวิวที่อยู่ใกล้ ๆ กัน มีสะพานแขวนข้ามแม่น้ำน่านให้เดินเล่นเป็นจุดชมบรรยากาศในยามเย็นที่ดีไม่น้อย
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
จุดเริ่มต้นการเดินทางด้วยรถไฟของไทย คงไม่มีสัญลักษณ์ใดโดดเด่นไปกว่าสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกกันติดปากจำง่ายๆว่าหัวลำโพง ความวิจิตรของอาคารทรงโดมสไตล์อิตาเลียน-เรเนสซองซ์ คล้ายสถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ตในเยอรมนี ที่ตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลามาเกือบศตวรรษ นับเป็นความงามสุดคลาสสิคคู่กับมหานครที่ทันสมัย
รถไฟขบวนแรกของไทย เดินทางมาที่สถานีแห่งนี้ ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 แม้ว่าในอนาคตสถานีแห่งแรกของไทยจะปรับลดขบวนโดยสารน้อยลง และย้ายศูนย์กลางไปสถานีกลางบางซื่อ แต่ความงามคลาสสิคของสถานีกรุงเทพ ก็ไม่น้อยลงไปแต่อย่างใด และจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ทรงคุณค่าแก่การไปชม หรือเก็บภาพเป็นที่ระลึกเช่นเดิม
สถานีรถไฟหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อาคารไม้ผสมปูนอิทธิพลของสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรีย สะดุดสายตาโดดเด่นด้วยสไตล์ย้อนยุคดั้งเดิม ฉาบทาสีแดงสดตัดสลับสีครีม พื้นที่ใช้สอยโดยรอบสะอาดสอ้านบ่งบอกถึงการดูแลรักษาเป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใด “สถานีรถไฟหัวหิน” จึงได้รับการยกย่องให้เป็นสถานีรถไฟที่สวยในระดับแนวหน้าของประเทศ เพราะไม่ใช่เป็นแค่สถานีรถไฟธรรมดาๆ แต่สถานีแห่งนี้เสมือนเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญคู่เมืองหัวหินมาช้านาน
ห่างกันไม่กี่ก้าวเป็นที่ตั้งของพลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ พลับพลาทรงจตุรมุขที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนจะยกมาสร้างใหม่ไว้ข้างสถานีรถไฟหัวหิน ให้ประชาชนคนทั่วไปได้ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านสถาปัตยกรรมอันวิจิตร
สถานีรถไฟบ้านปิน จังหวัดแพร่
มองดูภายนอกอย่างผิวเผิน สถานที่แห่งนี้น่าจะตั้งอยู่ที่ไหนสักแห่งในทวีปยุโรป มากกว่าที่จะเป็นสถานีรถไฟขนาดเล็กประจำตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ด้วยตัวอาคารสไตล์บาวาเรียน สถาปัตยกรรมที่พบได้ทั่วไปในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวขจีโดยรอบ ที่ยังคงไว้ซึ่งความงดงามแปลกตาและตั้งโดดเด่นคู่เส้นทางรถไฟสายเหนือมาเนิ่นนานกว่า 100 ปีแล้ว
ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเริ่มมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือ เชื่อมต่อการเดินทางภายในประเทศ โดยมีนายช่างชาวเยอรมันเป็นผู้ควบคุมการสร้าง ที่มองเห็นว่าป่าไม้สักในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก จึงมีความคิดที่จะสร้างอาคารสถานีรถไฟบ้านปินขึ้นมาด้วยสไตล์ที่เรียกว่า บาวาเรียน เฟรม เฮ้าส์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการใช้ไม้ในการก่อสร้างเป็นหลัก โดยใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 11 ปี จนออกมาเป็นอาคารที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของแคว้นบาวาเรียนขนานแท้ ผสมผสานกับเรือนปั้นหยาแบบไทยสุดงดงามเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด
สถานีรถไฟสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
สถานีรถไฟสำคัญแห่งสายเหนือฝั่งตะวันตก ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2453 หรือ 110 ปีที่แล้ว แม้เป็นสถานีรถไฟสายเหนือที่คนไม่ค่อยรู้จัก เพราะเป็นเส้นทางสายรองแยกมาจากชุมทางบ้านดารา จังหวัดอุตรดิตถ์ และต้องตั้งใจเดินทางมาที่อำเภอสวรรคโลกจริงๆ
แต่ความคลาสสิคของอาคารไม้สองชั้น ก็มีเสน่ห์ไม่น้อยไปกว่าที่อื่น อาคารไม้โครงสร้างเดิม มีการบูรณะบ้าง ทาสีใหม่สดใส แต่ยังเป็นทรงดั้งเดิมแบบอดีต และภายในสถานียังมีข้าวของเก่าในสมัยก่อนให้ชม เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งสถานีรถไฟของไทยที่เรียบง่าย แต่มีเสน่ห์แบบย้อนยุคที่สุด
สถานีรถไฟกันตัง จังหวัดตรัง
ขอบคุณผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางกันมาจนสุดสายปลายทางรถไฟของภาคใต้ฝั่งอันดามัน ณ จุดหมายสุดท้ายที่ ‘สถานีรถไฟกันตัง’ อำเภอกันตัง สถานีรถไฟเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดตรังมาเนิ่นนาน กลายเป็นส่วนหนึ่ง ของประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ
อาคารไม้ชั้นเดียวสีเหลืองมัสตาร์ดสดใส ขับความโดดเด่นของสถานีรถไฟกันตังให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยภาพที่ปรากฏต่อสายตา สถานีสุดท้ายของรถไฟสายใต้ฝั่งตะวันตกยังดูใหม่เอี่ยมจากโครงสร้างมั่นคง และสีสันที่ทาบทาลงไป แต่ทว่าอายุของเรือนไม้สถาปัตยกรรมทรงปั้นหยาซึ่งพิถีพิถันด้วยงานช่างแห่งนี้ มีอายุในปัจจุบันมากกว่าร้อยปี
แม้ความคึกคักที่เปรียบเป็นสถานีหน้าด่านสำคัญในการขนส่งสินค้าจากแหลมมลายูในยุคก่อน ไม่มีให้เห็นแล้วก็ตาม หลงเหลือเพียงความเงียบสงบในช่วงเวลาว่างๆ เพราะมีขบวนรถไฟวิ่งเข้าออก เพียงวันละ 2 เที่ยว แต่คุณค่าของสถานีรถไฟกันตังไม่ได้เสื่อมลง เพราะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร มีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เพิ่มเติมจุดให้บริการห้องสมุดรถไฟ ร้านกาแฟ จุดถ่ายภาพ เพื่อให้สัญลักษณ์สุดคลาสสิคของเมืองตรัง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยังมีชีวิตชีวาไม่ต่างจากวันวาน