100 ปี สวนลุมพินี กับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ

100 ปี สวนลุมพินี กับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ

100 ปี สวนลุมพินี กับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดเผยภาพโครงการออกมาแล้วสำหรับ สวนลุมพินี โฉมใหม่ที่เตรียมปรับปรุงครั้งใหญ่ในวาระครบรอบ 100 ปี สวนลุมพินี ที่จะมาถึง จากสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2468 สู่แนวคิดสวนที่ “เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ” ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2568 เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป

สวนลุมพินี
สวนลุมพินี ปอดใจกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้คือสวนสาธารณะแห่งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งนั้นพระองค์ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวน 360 ไร่ ให้เป็น “วนสาธารณ์” หรือ “สวนสาธารณะ” แก่ประชาชน

สวนลุมพินี เดิมชื่อ “ทุ่งศาลาแดง” โดยทุ่งศาลาแดงที่ว่านี้เดิมทีเป็นทุ่งนา และเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล (แรกนาขวัญ) ประจำปีในสมัยรัชกาลที่ 6 บริเวณโดยรอบมีไม้ใหญ่พันธุ์พื้นเมือง โดยปี พ.ศ.2467 เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทูลเกล้าฯ ถวายแบบสร้างวนสาธารณ์ หรือ สวนสาธารณะที่ ตำบลศาลาแดง แขวงสีลม เขตบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 และเริ่มทำการก่อสร้างสวนลุมพินี

รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่สวนจะสร้างเสร็จว่า “สวนลุมพินี” ตามชื่อสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ต่อมา พ.ศ.2468 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการจัด “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ขึ้นในบริเวณสวนนี้ ซึ่งงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เป็นงานแสดงสินค้าของแต่ละจังหวัดในไทย คล้ายกับ “งานแสดงผลิตผลอุตสาหกรรมแห่งชาติ” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทว่าระหว่างการก่อสร้าง รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ต่อมาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้งดการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ แต่ยังทรงให้สร้างสวนสาธารณะต่อจนกระทั่งสำเร็จ และเปิดบริการครั้งแรกในปีเดียวกัน ถัดมาใน พ.ศ. 2485

lumpini-100-year2
สำหรับโครงการปรับปรุง 100 ปี สวนลุมพินี ที่จะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้านั้นตั้งอยู่บนหลักในการออกแบบ 5 ด้าน ได้แก่

  1. การคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

  2. ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ

  3. ผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม

  4. เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมนันทนาการยุคใหม่

  5. มีการออกแบบเพื่อคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ

lumpini-100-year4
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า การปรับปรุงในวาระ 100 ปี สวนลุมพินี มีเป้าหมายที่จะให้สวนลุมพินีเป็นต้นแบบของสวนสาธารณะที่เป็น “มากกว่าสวนสาธารณะ” ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองแล้ว ในอนาคตสวนลุมพินียังต้องเปิดกว้างต้อนรับผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานะ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และนวัตกรรม โดยในขั้นตอนของโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีแบ่งออกเป็น 2 เฟส

เฟสแรกเริ่มต้นโครงการที่บริเวณถนนแกนกลางสวน ประกอบด้วย งานปรับปรุงภูมิทัศน์ถนน งานก่อสร้างถังเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง และงานก่อสร้างอาคารสวนลุมพินี 100 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยจะใช้เวลาปรับปรุง 240 วัน 

lumpini-100-year6
lumpini-100-year7

สำหรับเฟส 2 ได้แก่ การปรับปรุงพื้นที่ส่วนที่เหลือของสวนลุมพินีทั้งหมด ประกอบด้วย สวนน้ำช่วยเมือง (Resilient Park) สวนป่าและกิจกรรมยุคใหม่ จุดเชื่อมต่อสะพาน ลานรอบอาคารบันเทิง สวนจีน โรงอาหารและสวนผักในเมือง สวนเพื่อการเรียนรู้ ชมรมและกิจกรรมนันทนาการ นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างทางจักรยาน งานก่อสร้างอาคาร งานปรับปรุงอาคาร และสิ่งก่อสร้างเดิมภายในสวนลุมพินี ปรับปรุงสะพานข้ามคูน้ำภายในสวน 10 แห่ง งานปรับปรุงรั้วและประตู ก่อสร้างป้อมยาม งานปรับปรุงระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดินและปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง งานปรับปรุงระบบประปา และจัดระเบียบมิเตอร์น้ำประปา ปรับปรุงภูมิทัศน์ สนามหญ้า และการฟื้นฟูสภาพต้นไม้ใหญ่

lumpini-100-year5
สำหรับใครที่สนใจรายละเอียดโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีครั้งใหญ่ เนื่องในโอกาส 100 ปีสวนลุมพินี สามารถร่วมชมนิทรรศการโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 มีนาคม 2564 เวลา 18.00-19.00 น. บริเวณสวนปาล์ม ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี กรุงเทพฯ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ 100 ปี สวนลุมพินี กับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook