เมื่อเทคโนโลยีและโลกเสมือนจริงถูกนำมาชุบชีวิต วัดภุมรินทร์ราชปักษี

เมื่อเทคโนโลยีและโลกเสมือนจริงถูกนำมาชุบชีวิต วัดภุมรินทร์ราชปักษี

เมื่อเทคโนโลยีและโลกเสมือนจริงถูกนำมาชุบชีวิต วัดภุมรินทร์ราชปักษี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นกิจกรรมสั้นๆ แต่น่าสนใจอย่างมากสำหรับกิจกรรมสั้นๆ ตลอด 4 วัน ที่ทีมอาจารย์และนักศึกษาจาก สถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมด้วยพาร์ทเนอร์ในภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามาชุบชีวิตทำให้ชื่อของ วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดร้างฝั่งธนบุรีที่มีอายุอานามกว่า 250 ปี ให้กลับมาอยู่ในความสนใจของทั้งวงศิลปะและคนรุ่นใหม่อีกครั้งผ่าน งานภุมรินทร์ราชปักษี ที่เหมือนงานวัดขนาดย่อมๆ พาย้อนเวลาท่องไปตั้งแต่ก่อนการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อสำรวจความรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนาที่ทำให้ชุมชนดุสิดารามปากคลองบางกอกน้อยแห่งนี้มีวัดถึง 3 วัดตั้งอยู่ติดกัน ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างเหลือเพียงวัดดุสิดารามในปัจจุบัน พร้อมเจาะลึกถึงรายละเอียดความงามของจิตรกรรม และสถาปัตยกรรมช่วงอยุธยาตอนปลายซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นช่วงที่วัดภุมรินทร์ราชปักษีถูกสร้าง เรื่อยมาถึงช่วงที่วัดได้รับการบูรณะโดยช่างสกุลวังหน้าราวรัชกาลที่ 3-4 อันบ่งบอกถึงความสำคัญของวัด และจากนั้นกลับถูกทิ้งร้างในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 ก่อนที่จะสปอตไลต์จะสาดส่องมาอีกครั้งในงาน งานภุมรินทร์ราชปักษี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน พ.ศ. 2565

hyht

phummarin7-1


ในบรรดาวัดร้างกว่า 20 แห่งในกรุงเทพฯ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ถือได้ว่าเป็นวัดที่ยังคงความสมบูรณ์ของงานศิลป์ฝีมือช่างหลวง ปัจจุบันวัดแห่งนี้อยู่ในความดูแลของ วัดดุสิดาราม ซึ่งตั้งอยู่ฟากตรงข้ามถนน สถานะวัดร้างของวัดภุมรินทร์ราชปักษีเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงทำการสำรวจวัดฝั่งธนบุรี และพบว่า วัดภุมรินทร์ราชปักษี มีภิกษุจำพรรษาเพียงรูปเดียว พระองค์จึงทรงรับสั่งให้รวมวัดภุมรินราชปักษีเข้ากับวัดดุสิดาราม และนั่นก็ทำให้ วัดภุมรินทร์ราชปักษี เปลี่ยนสถานะเป็นวัดร้างในทันที แม้ตัววัดภุมรินทร์ราชปักษีเองจะมีวิหารและโบสถ์ตั้งอยู่เคียงกัน 2 หลัง แต่เมื่อไม่มีพระสงฆ์ก็เป็นการยากที่จะรักษาหรือบูรณะ

phummarin2-1
phummarin5-1

ในยามปกติโบสถ์และวิหารของวัดภุมรินทร์ราชปักษีจะถูกปิดไว้แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดความงามของจิตรกรรมฝาผนังภายในส่วนของวิหารซึ่งแม้จะลบเลือนไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็ยังโดดเด่นด้วยลายเส้นของสกุลช่างวังหน้าซึ่งถือป็นช่างศิลป์ฝีมือเยี่ยมในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งหาชมได้เฉพาะวัดสำคัญในยุคต้นรัตนโกสินทร์เท่านั้นรวมทั้งวัดภุมรินทร์ราชปักษีซึ่งคาดว่าจะได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 3-4 ก่อนจะถูกทิ้งร้างด้วยการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ทำให้ความรุ่งเรืองของแต่ละชุมชนเปลี่ยนตามไป

phummarin3-1
Projection Mapping “ชมพูทวีป”

สำหรับ งานภุมรินทร์ราชปักษีนอกจากจะมีกิจกรรมพาเที่ยวชุมชนวัดดุสิดารามและทอดน่องท่องเส้นทางวัดร้างฝั่งธนบุรีแล้ว งานภุมรินทร์ราชปักษี ยังมีการเสวนาต่อยอดองค์ความรู้ที่ถูกทิ้งไว้พร้อมกับวัดร้างพร้อมไฮไลต์ยามค่ำคืนเป็นงาน Projection Mapping เปลี่ยนวิหารเก่าแก่ให้เป็นดินแดนที่เรียกว่า “ชมพูทวีป” ตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏอยู่ภายใน แตกต่างด้วยการเป็นชมพูทวีปที่ถูกตีความใหม่และเล่าใหม่ผ่านศิลปะสมัยใหม่ มีความเคลื่อนไหวอย่างสมจริงพร้อมแสง เสียง ออกแบบโดย Asitnahc ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล บนความยาวราว 10 นาที แบ่งออกเป็น 15 ตอน เต็มผนังทั้ง 4 ด้านในวิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี

phummarin13-1
AR พระพุทธเจ้าเปิดโลก

นอกจาก Projection Mapping เรื่องชมพูทวีปแล้วอีกไฮไลต์ที่จำทำให้วัดโบราณกลับมามีชีวิตคือ AR พระพุทธเจ้าเปิดโลก นำเนื้อหาในคัมภีร์โบราณและภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารมาเล่าใหม่ผ่านเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง AR หรือ Augmented Reality ออกแบบโดย พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน (เพจ คิดอย่าง), Wellion Software และ นฤดม แก้วชัย ที่จะพาไปตามรอยเหตุการณ์สำคัญในพุทธศาสนาตอนที่พระพุทะเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดา และเปิดโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิ

phummarin14-1
อีกความน่าสนใจของ AR ไม่ใช่แค่เครื่องมือสื่อสารที่นำสารจากโบราณมาสู่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ AR ที่นำมาใช้ในครั้งนี้ยังเป็นการใส่ข้อสันนิษฐาน และจินตนาการว่าสิ่งที่ขาดหายไปพร้อมการเวลาของภาพจิตรกรรมเหล่านี้มีความน่าจะเป็นอย่างไร โดยงาน AR มีทั้งบริเวณผนังในวิหาร บนกำแพงสกัดเหนือกรอบประตู และองค์พระประธาน โดยมีพุทธชาดกทั้ง 10 เรื่องเป็นเรื่องราวหลัก ซึ่งทางผู้ออกแบบกล่าวว่านี่เป็นงาน AR เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาชิ้นแรก ความยากคือ มุมมองของผู้คนในยุคก่อน กับมุมมองของผู้คนในยุคปัจจุบันที่แตกต่างกัน

phummarin11
Photogrametry & Hologram

Photogrametry คือเทคโนโลยีในการเขียนและกำหนดภาพสามมิติของวัตถุ อาคาร หรือพื้นที่ใดๆ จากภาพถ่ายสองมิติ วิธีการดังกล่าวในปัจจุบันได้เข้าไปมีบทบาทในงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ความรู้ทางด้านนี้ถูกนำไปใช้ในการสำรวจรังวัดอาคารประวัติศาสตร์หรือโบราณสถานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของอาคารที่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของพื้นที่และการเข้าถึงเช่นเดียวกับวัดภุมรินทร์ราชปักษีที่ครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยี Photogrametry เข้ามาสำรวจเก็บข้อมูล ประมวลผล และสร้างภาพสามมิติในรูปแบบของ Hologram ให้ได้เห็นโครงสร้างโบสถ์ วิหารทั้งหลังและหน้าบันอย่างสมจริง เรียกได้ว่าเป็นการ Re-think หามุมมองใหม่ๆ ในการศึกษา อนุรักษ์ ต่อยอดองค์ความรู้จากอดีตผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งนี่เป็นหัวใจสำคัญของ งานภุมรินทร์ราชปักษี ที่จะฟื้นชีวิตเรื่องราวในอดีตให้ไม่เป็นแค่เรื่องเล่าจากโบราณที่เล่าขานต่อๆ กันมาเท่านั้น

phummarin10-1

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ เมื่อเทคโนโลยีและโลกเสมือนจริงถูกนำมาชุบชีวิต วัดภุมรินทร์ราชปักษี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook