“พระนครทอดน่อง” 5 พิกัด สำรับริมทาง ตำนานความอร่อยแห่งรัตนโกสินทร์
“กรุงเทพมหานคร” หากแปลความหมายตามตัวชื่อนี้คือ “นครแห่งเทพ” แต่หากตามชื่อเสียงแล้ว กรุงเทพฯ จัดว่าเป็นสรวงสวรรค์แห่งอาหารการกิน ทั้งแนว สตรีตฟูด สำรับริมทาง ที่ติดโผอันดับ 1 และอันดับต้นๆ ของ World’s best street food cities จากทุกสำนัก รวมถึงแนวร้านอาหารนั่งกินและบาร์ที่ทยอยไต่อันดับโลกสูงขึ้นทุกปี บ่งชี้ถึงพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งของเมืองหลวงประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวโลกแห่งนี้
เสน่ห์ของเมืองเทพสร้างไม่ได้จำกัดแค่อรรถรสบนปลายช้อน ประวัติศาสตร์ของชุมชนที่อยู่รายล้อมแผงรถเข็นและภัตตาคารร้านรวงก็มีส่วนเสริมความอร่อยน่าลิ้มลองนี้ด้วย หลายชุมชนความอร่อย สำรับริมทาง มีที่มาที่ไปพร้อมการเติบโตของเมือง แต่ก็น่าเศร้าที่บางแหล่งกำลังลดความนิยมลงไป เอกลักษณ์ของหลายย่านอาหารได้อิงกับบริบทของแม่ค้า ชาวชุมชน มิติทางวัฒนธรรม รวมถึงหน้าที่ดั้งเดิมที่รับใช้พระนครมานานนับทศวรรษ การออกสำรวจถิ่นย่านของกินอร่อยแบบฉบับ สำรับริมทาง เหล่านี้จึงเป็นการสานต่อลมหายใจชุมชนได้อีกทางหนึ่งนอกเหนือไปจากประสบการณ์ทางปลายลิ้นที่จะได้รับ
จากตัวเลือกหลายสิบย่านเก่าที่มีเสน่ห์ด้วยรสอร่อยของกรุงเทพฯ Sarakadee Lite ขอคัดสรร 5 ย่านเด่นเก่าแก่เกินกว่าร้อยปี มากระตุ้นต่อมลิ้น และกระตุกข้อเข่าให้ออกเดินตามรอยกินและชิม สำรับริมทาง สไตล์ สตรีตฟูด ได้แก่ บางลำพู ตลาดประชิดเกาะรัตนโกสินทร์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งกลางวงล้อมของศาสนสถานและแหล่งพิพิธภัณฑ์สำคัญของชาติ นางเลิ้ง คลังอาหารที่ผันแปรจากตลาดบกสู่ฟูดคอร์ตความอร่อยริมกรมกระทรวง ทรงวาด ย่านริมน้ำหลังไชนาทาวน์ที่น้อยความจอแจแต่รุ่มรวยด้วยของดีประจำถิ่นกำเนิดเจ้าสัว ต่อด้วย ศรีย่าน สี่แยกเล็กๆ ที่มักมองผ่านบนเส้นสามเสน แต่กลับซ่อนของเด็ดที่เหล่าผู้ดีกรุงเทพฯ สมัยก่อนต้องมาเดิน และปิดท้ายที่ คลองสาน-ท่าดินแดง ย่านที่จะพาเราทวนเข็มนาฬิกาไปกับชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา ครบทั้งบ้านเก่า อาคารเก๋า และโกดังเก๋
จุดต่าง ๆ ที่ปักหมุดมาให้ส่วนหนึ่งเป็นพิกัดที่ขาท่องพระนครและนักชิมสไตล์ สำรับริมทาง อาจจะรู้จักดี แต่สำหรับมือใหม่เดินทอดน่องท่องเมืองเก่าก็ถือว่าเป็นพิกัดที่จะพลาดไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีที่เช็กอินใหม่ๆ ที่อาจต้องมุด ถามทางคนในชุมชน หรือโทรถามพิกัดกันบ้าง ขอเพียง ร่ม กระติกน้ำ และรองเท้าคู่ใจติดกายไว้ให้พร้อม ชม ชิม ช็อป พร้อมสักการะ จะแบบจบในครึ่งวัน เต็มวัน หรือข้ามวันก็ตามแต่อัธยาศัย…ว่าแล้วก็เก็บลิสต์แล้วเตรียมออกเดินทางได้กันเลย
“บางลำพู” ตลาดโบราณใจกลางย่านพระนคร
ชุมชนเล็กๆ ที่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ จุดตัดของถนนสามเสนกับพระสุเมรุ แห่งนี้ รับหน้าที่มาแล้วสารพัดบทบาท ทั้งอดีตแหล่งรวมช่างฝีมือ วิกลิเก ดงนักเลง ย่านช็อปปิงที่ถูกขนานนามว่า ‘สิบสามห้าง’ จัดจำหน่ายสินค้าสารพัดประเภท ทั้งเครื่องหอม สังฆภัณฑ์ ผ้าผืน อุปกรณ์ตัดเย็บ เสื้อสำเร็จรูป รวมถึงชุดนักเรียน ไปจนถึงข้าวสาร จวบจนปัจจุบันที่กลายเป็นแหล่งที่พักราคาย่อมเยาใกล้พระบรมมหาราชวัง ภาพคุ้นตาหนึ่งของบางลำพู (ที่ไม่มีต้นลำพูหลงเหลือแล้ว) คือแหล่งปะทะทางวัฒนธรรมที่สามารถเห็นผู้สูงอายุ นักบวช และนักท่องเที่ยวนานาประเทศแบกเป้ เดินสวนเบียดเสียดกันไปมากลางกองทัพแผงลอย สตรีตฟูด ที่ปัจจุบันแม้ซาไปนิดด้วยผลกระทบจากโรคระบาด แต่ก็ยังไม่สิ้นเสน่ห์ โดยเฉพาะมรดกด้านอาหารที่เป็นผลพวงจากบริบทดังกล่าว โดยเฉพาะอาหารแนวไทยๆ ที่หากินยากในย่านอื่น
กิน/ชิม : ท่ามกลางร้านอาหารพร้อมที่นั่งกินนับหลายสิบแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเย็นตาโฟเครื่องปลาหลากหลายเจ้า ก๋วยเตี๋ยวเป็ดย่างข้างวัดชนะสงคราม กับร้านต้มยำกุ้ง 2 เจ้ามาแรงที่ประชันกันขายในเต็นท์หน้าอาคารจอดรถ กทม. แต่ที่จัดว่าเป็นดาวเด่นในมุมหลืบมานานหลายปีคือ ขนมจีนน้ำยากะทิปลาช่อน ซอกข้างห้างตั้งฮั่วเส็ง แรงจูงใจคือผักทั้งสดและดองแบบหยิบไม่อั้น กับไข่ต้มยางมะตูมที่มาทั้งใบไม่ผ่าทิ้งไว้เพื่อไม่ให้ยางมะตูมข้างในแห้ง ที่แนะนำเป็นพิเศษคือพริกป่นรสเผ็ดฉุน เพราะน้ำยาปรุงมารสไม่จัดมากเพื่อเอาใจผู้สูงอายุที่เป็นลูกค้าหลัก ส่วนตัวเลือกอื่นที่อร่อยไม่แพ้กันคือน้ำยาป่า น้ำเงี้ยว และแกงเขียวหวานไก่
สำหรับคนที่อยากหลบอากาศร้อนริมทางให้ตรงมาที่ สมทรงโภชนา (เจ้าเก่าวัดสังเวช) ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวข้ามคลองหลังป้อมพระสุเมรุ ร้านนี้ยืนเด่นเมื่อเทียบร้านในแนวและรุ่นเดียวกันที่เปลี่ยนรุ่นปรับเมนูกันไป ร้านเชลล์ชวนชิมที่เป็นผู้บุกเบิกก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยให้ชาวพระนครเจ้านี้ ยังคงหน้าตาและรสชาติอาหารทุกจานได้ไม่ต่างจากแต่ก่อน ทั้งขนมจีนซาวน้ำ ไชโป๊ผัดไข่ ผัดปลาดุก หรือผัดเผ็ดลูกชิ้นปลากราย รวมถึงขนมข้าวฟ่างราดกะทิตัดเค็มนิดๆ และขนมอินทนิลสีใบเตยที่หายากซึ่งมีบริการเฉพาะบางวัน
ตรงข้ามพุทธสถานสำคัญอย่างวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มีร้าน ณ บวร ที่สวยทั้งรูปด้วยการนำตึกแถวเก่าแก่คูหาครึ่งมาปรับโฉมให้เป็นร้านทันสมัย งามด้วยหน้าตาของอาหารที่เสิร์ฟมาเป็นสำรับ และเลิศรสด้วยเมนูโบราณจากเชฟครัวไทยรุ่นใหม่ที่ผ่านชั่วโมงบินจากร้านหรูชั้นนำ ความล้ายามบ่ายจะคลายลงเมื่อได้นั่งชั้นสองชิมและชมวิวหน้าจั่วเครื่องยอดของพระอารามหลวง หากยังง่วงอยู่ก็มีกาแฟหอมกรุ่นจากฝีมือโรบอตบาริสตา na bowon ROBO X CAFE
เพื่อไม่ให้เสียชื่อว่ามาถึงย่านนานาชาติอย่างบางลำพู ไม่นับบาเยียและอาหารมุสลิมแบบไทยๆ หน้าตรอกเข้ามัสยิดจักรพงษ์ ร้านขนมปังสไตล์ญี่ปุ่นแต่ราคาสบายกระเป๋าอย่าง Konnichipan คือร้านที่ต้องเช็กอิน จะผสมโรงหย่อนก้นบนม้านั่งทั้งหน้าหรือในร้านร่วมกับผู้มาเยือนจากต่างแดนก็ไม่ผิดกติกา อีกหมุดที่ต้องปักคือร้านอาหารแนวตะวันออกกลาง Shoshana ที่เคยเป็นโรงอาหารหลักให้กับเหล่าแบ็กแพ็กเกอร์ชาวอิสราเอลมาร่วม 40 ปี จากแรกเริ่มที่มีเพียงอาหารสุขภาพจานพื้นๆ อย่างสลัดพร้อมฟาลาเฟลที่ทำจากถั่วเขียวบดทอด คละเนื้อสัตว์อย่างไก่และเนื้อวัวคลุกเครื่องเทศย่าง แกล้มแผ่นแป้งพิตา จิ้มเครื่องดิปที่ทำจากถั่วลูกไก่หรือเนื้อมะเขือยาวบดผสมน้ำมันงา ทางร้านได้เพิ่มเบเกิ้ลและเมนูอีกระดับอย่างเนื้อแกะมาได้หลายปีแล้ว
สำหรับคอกิบจุบจิบ ย่านไหนก็สู้บางลำพูไม่ได้ ขุมทองคือโซนหัวมุมสี่แยก โดยมี ขนมเบื้องโบราณแม่ประภา หน้าห้างแผ่นเสียงเก่า ต.เง๊กชวน เป็นแม่เหล็กหลัก ไม่แพ้กันคือขนมไทยสูตรกะทิ แม่งามจิตต์ ฝั่งธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีขนมกรวยเป็นดาวเด่น แต่หากอยากชิมถั่วทอดจากแผงรถเข็น ป้าแต๋ว ฝั่งขนมเบื้อง ก็ต้องเตรียมตัวดีมาสักหน่อย เพราะเปิดรับโทรศัพท์จองตอนสาย โดยต้องลุ้นเล็กน้อยว่าจะได้คิวกี่โมง แต่ที่มีให้หิ้วกลับไปได้แน่ๆ คือน้ำพริกสารพัดสูตรจาก ร้านนิตยา ทั้งร้านใหญ่ตรงป้ายรถเมล์และร้านรองหัวถนนตานี และเครื่องหอมและของสักการะคัดสรรจาก ร้านบัวสอาด ในซอยรามบุตรี ร้านกิจการเก่าแก่คู่บางลำพูที่มีมาก่อนคำว่า “สายมู” จะกำเนิด
เก็บ/เช็ก : วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารไม่เพียงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบางลำพู แต่ยังเป็นวัดสำคัญประจำประเทศไทย โดยวัดบวรฯ ยังมีพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ปกติเปิดทุกเสาร์อาทิตย์ แต่หยุดบริการชั่วคราวในช่วงสถานการณ์โรคระบาด แต่หากใครมีเวลายังมีอีก 3 แหล่งเรียนรู้ในสังกัดกรมธนารักษ์ที่พร้อมกลับมาเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ทั้ง พิพิธบางลำพู ที่มีกลุ่มน้องๆ เกสรลำพู คอยจัดกิจกรรมไกด์เด็กอาสาสมัครพาท่องชุมชนอยู่เป็นระยะๆ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ที่เปิดแสดงเต็มพื้นที่ทั้ง 2 ชั้นพร้อมทีมนำชมเหรียญมีค่าและน่าสนใจนับพันๆ เหรียญ รวมถึง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป ศิลปสถานหลักด้านทัศนศิลป์ร่วมสมัย ที่ดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากรซึ่งกำลังมีงานอนุรักษ์ภาพเขียนของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภาพร่างต้นแบบของภาพบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ได้เข้าชม
“นางเลิ้ง” จากตลาดบกสู่ความอร่อยริมกระทรวง
ว่ากันว่าชื่อของย่านเก่าแก่กว่าร้อยปี “นางเลิ้ง” ผันมาจากคำว่า “อีเลิ้ง” หมายถึง ตุ่มหรือโอ่งใบใหญ่ สินค้าสำคัญประจำย่านในอดีตที่ถูกส่งลำเลียงทางเรือผ่านคลองผดุงกรุงเกษมที่ตัดขึ้นเพื่อขยายเขตพระนครในรัชกาลที่ 4 และมาขึ้นท่าตรงย่านการค้าใหม่แห่งนี้ที่ตัวตลาดบกชื่อเดียวกันได้เปิดอย่างเป็นทางการในรัชกาลที่ 5 แต่เดิมนางเลิ้งเลื่องชื่อในฐานะเป็นดงอบายมุขอย่างบ่อนพนัน ที่มีหลักโยงสำคัญอย่างสนามม้า ทั้งที่บทบาทที่วางไว้ คือให้เป็นย่านพาณิชย์ใหม่ เสริมตลาดเก่าของเยาวราชที่แออัด โดยมีตำหนักวังของเจ้านายองค์สำคัญและคฤหาสน์ของขุนนางชั้นสูงรายล้อม เนื่องด้วยอยู่ระหว่างทั้งพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาคารเหล่านั้นส่วนหนึ่งได้โอนถ่ายเป็นหน่วยราชการทั้งทำเนียบรัฐบาลและกรมกระทรวงต่างๆ นางเลิ้งจึงกลายเป็นครัวป้อนมื้อเที่ยง รวมถึงมื้อเย็นค่ำให้เหล่าข้าราชการ ไม่นับวันเสาร์อาทิตย์ให้แก่บรรดาเซียนม้าและเซียนมวยของสนามมวยราชดำเนินที่อยู่ไม่ไกลกัน
สำหรับคนร่วมสมัย ภาพจำของนางเลิ้งคือบรรดาตึกแถวเก่าทาสีชมพูตุ่น เรียงรายตามถนนนครสวรรค์ ไล่จากถนนพิษณุโลกถึงแยกผ่านฟ้า น่าดีใจที่โครงอาคารและฟาซาด (Facade) ด้านหน้าตึกแถวเหล่านี้ รวมถึงอาคารแนวสถาปัตยกรรมตะวันตกจำนวนไม่น้อยยังถูกอนุรักษ์ไว้ และหลายที่ก็ถูกพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ แม้ว่าปัจจุบันตัวตลาดจะคลายความคึกคักไป แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ จากทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ที่ต่างได้เตรียมความพร้อม ตกแต่งหน้าตาใหม่ให้นางเลิ้ง รอวันให้หวนคืนกลายเป็นแหล่งจับจ่ายและท่องเที่ยวสำคัญกลางพระนครอีกครั้ง
กิน/ชิม : แผงอาหารทั้งแบบปรุงสดและปรุงสำเร็จทั้งหมดถูกจัดระเบียบเรียบร้อยพอควรภายใต้หลังคาใหญ่หลังเดียว แถมยังมีโต๊ะนั่งรับประทานอาหารกลางโรงเพื่อให้ช็อปมาแบ่งกันชิมได้หลายร้านไปพร้อมกัน ขนมไทยและของกินเล่นทั้งแบบแห้งเก็บกินข้ามวันได้และแบบสดดูจะเป็นนางเอกของตลาด ไม่ว่าจะกลุ่มขนมทำจากกะทิ ทำจากไข่แดง สาคูข้าวเกรียบปากหม้อ และน้ำผลไม้ปั่น แต่นางเอกแถวหน้าของตลาดนางเลิ้งคงไม่พ้น ไส้กรอกปลาแนม ของกินเล่นไทยโบราณที่ทำแบบเล่นๆ ไม่ได้ เพราะมากด้วยเครื่อง วิธีการปรุง และมากขั้นตอนตั้งแต่ตอนเสิร์ฟไปจนถึงกินเลยทีเดียว แต่เจ้านี้กลับจัดสรรได้อย่างครบสูตร จนใครต่อใครอยากกินอาหารหายากชนิดนี้ก็นึกถึงเจ้านางเลิ้งเป็นหลัก แถมมีของเน้นเคี้ยวเอารสในแนวเดียวกันอย่าง ข้าวตังเมี่ยงลาว และ ข้าวตังหน้าตั้ง วางขายเคียงกันด้วย
ส่วนพระเอกต้องยกให้ ร้านจิ๊บกี่ ที่อยู่คนละฝั่งถนนของตัวตลาด ปักหลักย่างเป็ดหมูแดงหมูกรอบมานานเกือบหลายทศวรรษ ความขลังคงไม่อยู่แค่รูปบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกร้าน แต่ยังอยู่ที่เฟอร์นิเจอร์ไม้รุ่นเก่ารวมถึงจานช้อนส้อม รวมถึงการใช้ข้าวเก่าผสมข้าวใหม่ที่อาจจะขัดใจคนรุ่นใหม่แต่ถูกใจคนรุ่นเก่า เพราะเข้ากันได้ดีกับน้ำพะโล้รสกลมกล่อมที่ราดหน้า แต่พระเอกอีกร้านคือ ข้าวแกงกะหรี่-สตูลิ้นหมู ที่ซ่อนตัวอยู่บนถนนศุภมิตร แยกจากถนนกรุงเกษมริมคลอง เป็นทางเข้าตลาดด้านหลัง อาหารจานเดียวนี้เคยยอดฮิตในอดีต แต่กลับหากินยากและหาอร่อยแบบสูตรโบราณยากขึ้นทุกที ร้านที่กว้างถึง2คูหา แต่ขายกับเพียงแค่ 2 หม้อ คือ แกงกะหรี่หมู และสตูว์ลิ้นหมูแบบจีน และแทบทุกโต๊ะจะสั่งกุนเชียงมาแกล้ม เพราะน้ำแกงไม่เค็มหรือฉุนเครื่องพะโล้แบบร้านอื่น ส่วนเนื้อเองก็นุ่มจากการเคี่ยวตุ๋นที่ไม่เละจนเกินไป น่าเสียดายอยู่นิดที่ร้านนี้เลิกขายเนื้อและก๋วยเตี๋ยวไปแล้ว ส่วนคนที่ชอบชิมไปแชะรูปไป ร้านเป็ดตุ๋นฝั่งตลาดอีกร้านอย่าง ส.รุ่งโรจน์ ได้ตกแต่งโซนใหม่ให้มีภาพวาดรวมสิ่งสำคัญของย่าน ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังไม้ศาลาเฉลิมธานี และมิตร ชัยบัญชา พระเอกดังที่เป็นคนนางเลิ้ง
เก็บ/เช็ก : จุดตั้งต้นในการสำรวจชุมชนนางเลิ้งออกสตาร์ตกันที่ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน เนื่องจากท่านมีพระประวัติและความผูกพันกับนางเลิ้งอยู่ไม่น้อยเพราะวังของท่านตั้งอยู่ไม่ไกล อีกจุดสักการะคือพระรูปของพระองค์ท่านที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (พณิชยการพระนคร) ริมถนนพิษณุโลก อดีตที่ตั้งของวังพระองค์ท่าน ที่มี เรือนหมอพร ที่หลงเหลือจากสิ่งก่อสร้างในวังเป็นฉากหลัง โดยได้เปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงพระประวัติของพระองค์ท่าน
ผู้ที่หลงใหลอาคารแนวตะวันตก นางเลิ้งพร้อมจัดให้ ดาวเด่นคือผลงานออกแบบของ มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno)สถาปนิกอิตาลีแห่งกรุงสยาม ที่เปิดให้เข้าชมเสมอคือ Na Café at Bangkok 1899 ริมถนนนครสวรรค์ อดีตบ้านเสนาบดีเก่าอย่างเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่เคยเป็นโรงเรียนสตรีอยู่หลายทศวรรษจนได้เจ้าของรุ่นปัจจุบันและกลุ่มผองเพื่อน ปรับปรุงบ้านหลังงามให้เป็นคาเฟ่ผสมผสานความเป็นศูนย์กลางกิจกรรมเพื่อสังคมของชุมชนและสาธารณะ ส่วน บ้านสุริยานุวัตร ที่อยู่ริมคลองผดุงนั้น ต้องทำการนัดหมาย ตัวบ้านหรูเคยเป็นของพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรก ที่มีบทบาทในการวางรากฐานด้านระบบคลังและการต่างประเทศ ที่ได้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ครอบครองและดูแลในปัจจุบัน โดยปรับให้เป็นสถานที่ประวัติของท่านพระยา พร้อมกันกับความเป็นมาของหน่วยงานไปพร้อมๆ กัน
แน่นอนว่านางเลิ้งไม่ได้มีดีแค่ของกิน สตรีตฟูด และอาคารเก่า แต่ยังมีร้านที่ผลิตสินค้าระดับเกรดเยี่ยมอย่าง นางเลิ้งอาร์ต ที่สืบทอดการนำภาพถ่ายมาทำล็อกเก็ตหินด้วยวิธีโบราณ 100% และ เซ่งชง ที่แม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ในย่านนี้ แต่เก๋ามาจากสามยอด ที่ลือชื่อด้วยเป็นทายาทของอดีตมือทำรองเท้าเครื่องหนังและเครื่องม้าให้ราชสำนักรัชกาลที่ 6
“ทรงวาด” เปิดประตูจีนบนแผ่นดินรัตนโกสินทร์
หากเอ่ยถึง ทรงวาด ภาพจำของแนวถนนสั้นที่ขนานกับสายน้ำเจ้าพระยาแบบเกือบแนบสนิทเส้นนี้ คือ ตึกแถวหน้าตางดงามด้วยปูนปั้นลายชดช้อยที่ปัจจุบันกลับกลายเป็นโกดังสินค้าเกษตรมาคอยคั่น โดยชื่อ ‘ทรงวาด’ ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 5 ว่ากันว่าพระองค์ทรงวางแนวถนนเส้นที่ใช้เปิดประตูการค้าสยามสู่โลกตะวันตกด้วยพระองค์เอง จากแผนที่เก่าแก่ของเยาวราชแสดงให้เห็นถึงท่าเล็กท่าน้อยจำนวนมากของโกดังต่างๆ ริมน้ำ เล่ากันว่าท่าเหล่านี้เองที่เป็นจุดเหยียบย่างขึ้นแผ่นดินใหม่ของเหล่าชาวจีนอพยพหลายต่อหลายรุ่นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลายคนได้ดิบดีผันตัวเป็นขุนนางบ้าง นายห้างบ้าง โดยมีหลักฐานสำคัญคือสาขาแรกของบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ได้เติบโตเป็นเครือบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการเกษตรในปัจจุบันที่ยังมีให้เห็นอยู่
ทรงวาดคล้ายกับย่านเก่าแต่เก๋อื่นๆ ที่รอให้ใครต่อใครมาวาดโฉมใหม่ ตึกแถวทรงเสน่ห์ที่หน้าตาไม่ซ้ำกัน ได้ดึงดูดให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาจับจอง เปิดร้านรวง คาเฟ่ และที่พัก คู่ขนานไปกับร่องรอยของวัฒนธรรมการค้าและวิถีชีวิตจากโลกจีนสยามเก่าที่ยังพอหลงเหลือให้พอเห็นตามตรอกซอกซอย รวมทั้งศาสนสถาน โรงเรียน และห้างร้านต่างๆ ที่เก็บประวัติศาสตร์ การค้า ความรุ่งเรือง
กิน/ชิม : เมื่อพูดถึงชุมชนชาวจีน ก็อดเอ่ยถึงวัฒนธรรมการกินไม่ได้ แม้ปริมาณแผงร้านจะสู้โซนเยาวราชที่อยู่ถัดออกไปไม่ได้ แต่คุณภาพไม่ด้อยกว่า แถมยังได้ความสงบรื่นรมย์แบบวิถีชุมชนมาเป็นกับแกล้ม ส่วนใหญ่จะสัมผัสกันแต่เพียงเวิ้งตรงข้ามวัดเกาะที่มี ลูกชิ้นปลาลิ้มเหล่าโหงว เป็นดวงสุริยะรายล้อมไปด้วยดาวบริวารอย่างหมูสะเต๊ะ กระเพาะปลา บัวลอยน้ำขิง และขนมจีบ ที่ออกมาโคจรเฉพาะตอนเย็นหัวค่ำ แต่ขาอาหารจีนโดยเฉพาะแนวแต้จิ๋ว จะรู้กันดีว่าของเด็ดนั้นให้มาแต่เช้า โดยเฉพาะ ร้านอุไร หนึ่งในยุทธจักรห่านพะโล้ที่ยิ่งนับวันต้องยิ่งจับจองแย่งชิงกับเหล่าไรเดอร์ด้วยออร์เดอร์จากทั่วมุมพระนคร แต่ถ้าวิทยายุทธไม่แก่กล้าพอ ก๋วยจั๊บถังไม้ ตรอกอาเนี๊ยเก็ง ก็มีเครื่องในหมูปรุงมาแบบโบราณรอพร้อมซับน้ำตา ด้วยรสชาติที่ไม่เค็มเครื่องเทศหรือหวานน้ำตาลเกินเหตุแบบที่ขายกันทั่วไป แถมเหมาะกับคนที่อยากหัดกินเครื่องในหมูแต่กลัวสาบ ร้านอาจคลายเสน่ห์จากที่เลิกตั้งโต๊ะจกกินกันในตรอกย้ายมาเป็นตึกแถวในตำแหน่งติดกัน แต่นับว่าถูกอนามัยขึ้น
เตี่ยซัว คืออีกร้านเหลาชั้นเทพที่รู้กันในหมู่นักชิม ร้านบรรจุเมนูแต้จิ๋วแบบซัวเถาที่หากินยาก อย่าง ข้าวต้มปู เต้าหู้ทอดจิ้มน้ำเกลือ ปลาไหล และจานเนื้อสัตว์ผัดพริก เนื้อปลานึ่ง สำหรับสายบุญและคออาหารญี่ปุ่น ร้านชิจูย่า ที่อยู่ในเวิ้งสถานปฏิบัติธรรมวัชรโพธิสถานมงคลธัญญ์ จะช่วยเปิดโลกว่าอาหารเจกับอาหารญี่ปุ่น มันไปด้วยกันได้อย่างไม่ธรรมดา หากต้องการชมวิวแม่น้ำที่มีสิ่งก่อสร้างเก่าใหม่เรียงรายอย่างสงบนิ่ง พร้อมเหล่าเรือที่ล่องไปมาตลอดวัน พร้อมกาแฟเกรดเอ Woodbrook Bangkok คาเฟ่ที่ต้องอาศัยกำลังขาไต่ขึ้นไปชั้น 3 ของโฮสเทลข้างโกดังชั้นล่าง นับว่าสรุปนิยามความเป็นทรงวาดร่วมสมัย แต่หากต้องการสัมผัสเย็นลิ้นด้วยราคาเย็นใจ ไอศกรีมเกาลัดหนูรี่ ที่เคยซ่อนตัวแอบอาศัยอยู่ในโกดังหน้ามัสยิดหลวงโกชาอิศหากแต่ได้ย้ายมามีที่ทางของตัวเองในตรอกสะพานญวนข้างๆ กัน
เก็บ/เช็ก : ถ้าไม่นับกลุ่มศาสนถานอย่าง วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ) 2 อารามหลวงที่ซ่อนเรือนไม้ฉลุโบราณเอาไว้แม้จะทรุดโทรมไปบ้างแต่ก็ได้ข่าวว่ารอการบูรณะ และ ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง หน้าอาคารสวยคลาสสิกของโรงเรียนเผยอิงที่เป็นที่พึ่งพิงทางใจของเหล่าชาวจีนมาอย่างยาวนาน ทรงวาดก็มีที่ให้แวะชมในบรรยากาศร่วมสมัยอย่าง Play Art House ที่ปรับโกดังให้เป็นแกลเลอรีจิ๋วแต่แจ๋วด้วยงานศิลป์จากทั่วโลกตามแต่โปรแกรมจัดแสดง มุมแสนเก๋ที่วางชั้นรองเท้ายางยังบ่งบอกถึงอดีตของกิจการรองเท้ายางที่เจ้าของทายาทเลือดทรงวาดรุ่นใหม่ที่ร่ำเรียนมาทางศิลปะได้จัดวางอย่างเป็นเอกลัษณ์ และแม้ว่าทรงวาดปัจจุบันจะเป็นดงขายส่ง แต่หลายร้านในทรงวาดก็ยินดีจำหน่ายแบบแบ่งขายปลีก ทั้งเครื่องเทศสมุนไพร ธัญพืช ของเล่นพลาสติก รองเท้ายาง ปิ่นโต รวมถึงร้านถังไม้ซุ้ยล้ง แลนด์มาร์กหนึ่งของย่านที่มีส่วนเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านอย่างตลาดน้อย
“ศรีย่าน” เข้าตามตรอกออกไปตามรอยผู้ดีเดินย่าน
ก่อนที่จะมีสุขุมวิท ศรีย่าน จัดว่าเป็นถิ่นย่านชานพระนครของเหล่าขุนนางสยาม คู่คี่มากับย่านสาทร โดยเริ่มคึกคักในช่วงรัชกาลที่ 5 ผลพวงจากการตัดคลองผดุงกรุงเกษม การก่อตัวของอาณาเขตพระราชวังดุสิต การขยายถนนเส้นสามเสนตามแนวชุมชนโบราณโดยมี วัดโบสถ์ ที่เก่าแก่มาแต่ยุคปลายอยุธยาเป็นหมุดหมายสำคัญ รวมถึงการมาถึงของรถราง ที่เคยสุดทางที่แยกศรีย่านนี่เอง ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีบ้านเรือนสวยงามเป็นจำนวนมาก ที่ยังหลงเหลือซ่อนเร้นตามซอกซอยต่างๆ ของศรีย่าน
แต่ด้วยทางเข้าออกตลาดที่มีอยู่ไม่กี่ทาง ซึ่งดูเหมือนจะถูกสกัดด้วยถนน 2 เส้นแคบเพียง 4 เลน อย่างถนนสามเสน และถนนนครไชยศรี ประกอบกับสภาพการจราจรช่วงเที่ยง ที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานนับพันเฮโลออกมาจับจ่ายและช่วงบ่ายถึงเย็นที่รถผู้ปกครองมารอรับนักเรียนสารพัดโรงเรียนที่อยู่รอบๆ ทำให้หลายคนถอดใจกับการมาตลาดแห่งนี้ แต่ดาวก็ยังเป็นดาว เมื่อยุคไรเดอร์มาเป็นตัวช่วย แผงเด็ดร้านอร่อยที่ไม่แพ้ย่านอื่นแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้กันในวงกว้างก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ไม่แพ้ตลาดเพื่อนบ้านอย่างราชวัตรซึ่งอยู่ถัดออกไปเพียงไม่กี่แยก ด้วยอาศัยปากต่อปาก ไร้หน้าม้าตัวช่วยอย่างย่านอื่นๆ ยิ่งโซนตลาดสดนาม ‘สรีย่าน’ ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับการดูแลปรับปรุงใหม่ให้โปร่งโล่งแห้งสะอาดตา โดยมิลืมคงรักษาการสะกดชื่อแปลกตาแบบให้เห็นร่องรอยการสะกดคำในภาษาไทยยุคจอมพล ป. ทำให้เพิ่มแรงจูงใจในการไปละลายทรัพย์กับแหล่งจับจ่ายที่ขนาดกำลังพอดีแห่งนี้
กิน/ชิม : หากบางลำพูมีน้ำพริกนิตยา นางเลิ้งมีจิ๊บกี่ ศรีย่านก็ต้องมี ร้านลูกชิ้นศรีย่าน ที่ยังยืนหยัดขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำใส ท่ามกลางขาลงของวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อวัวได้อย่างโดดเด่น ด้วยน้ำซุปรสมหัศจรรย์ที่หาใครเทียมได้ยาก แต่ทางที่ดีควรจะสั่งแบบแห้งมาควบคู่ เพื่อลิ้มอีกอรรถรสของซีอิ๊วดำหวานแสนหอมที่เหยาะมาให้พอดีคลุกกับเส้นลวกใหม่ร้อนๆ และเข้ากันดีกับพริกน้ำส้ม ส่วนใครจะชอบลูกชิ้น เอ็น เนื้อสด เนื้อเปื่อย ก็เป็นเรื่องตามแต่อัธยาศัย
แต่ที่มาแรง จนเกือบจะแซงโค้งเป็นซิกเนเจอร์ใหม่ประจำย่าน คือ ห่อหมกแม่บุญมา ยำแหนมข้าวทอดพี่อ้อ และ ขนมบ้าบิ่นศรีย่าน (เจ้าแรก) เรียงรายบนฟุตบาทตั้งแต่ศรีย่าน ซอย1 ไปจนถึงซอย 2 ที่ล้วนออกรอบขายกันแต่เช้า ดังแค่ไหนก็ให้ลองกด google search ค้นดู ที่จะเด้งขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องไล่กดถึงชื่อแม่ค้า ทั้ง 3เจ้าล้วนแต่ขายกันนมนานมาหลายปี แต่เพิ่งรู้จักขายดีกันจนแม่ค้าเหนื่อย ต้องปรับตัวหาระบบจองกัน โดยขอรับจองวันต่อวันในตอนเช้า และแม้ว่าจะเพิ่งปรับขึ้นราคากันไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังนับว่าถูกกว่าอีกหลายย่าน สำหรับคนที่ชอบนั่งกินของอร่อยในห้องเย็นๆ ร้านแกงป่า ที่กลิ่นพริกเครื่องแกงเฉพาะตัว ตรงจุดตัดแยกถนนราชสีมา คือคำตอบหลักในใจ ไม่ก็ ร้านปาเน็ตโทน ที่มีอาหารไทยโบราณหลายเมนูให้รอจบมื้อด้วยเบเกอรีแสนอร่อย ทั้งที่กลับมาฮิตอย่างกาโตว์ และเค้กสารพัดแบบ รวมถึงสอยขนมกึ่งเค้กกึ่งปังชื่อเดียวกับร้านให้หิ้วกลับไปเป็นมื้อเช้าในวันถัดไป
นอกจากความคลาสสิก ศรีย่านฉบับทางเลือกก็พร้อมเสิร์ฟอยู่ที่ฝั่งริมน้ำก่อนถึงท่าเรือพายัพ โหมดทันสมัยหวานอมเปรี้ยวมีให้เช็กอินที่ร้านเปิดใหม่อย่าง Sriyan Tearoom ชากาแฟเกรดพรีเมียมกับเค้กระดับโรงแรมทำให้เคลิ้มไปกับบรรยากาศย้อนยุคบ้านผู้ดีเก่ารัตนโกสินทร์สมัยก่อนสงครามโลกหลังกะทัดรัดหลังนี้ ส่วนขาโจ๋พร้อมดื่มนั้นเขารู้จัก เตี๋ยวก็เตี๋ยวริมน้ำ กันมานานแล้ว แต่บาร์ลับริมแม่น้ำที่ถูกประกบด้วยศาลอาญาฯ คดีพิเศษ และ ศาลเจ้าจีนปุนเถ้ากง ดูจะไม่ค่อยลับอีกต่อไปแล้ว จากการขยายร้านแถมมีดนตรีสดในบางค่ำคืน โดยก๋วยเตี๋ยวหมู/เนื้อตุ๋น ข้าวกะเพรา และนานาเมนูกับแกล้มที่ร้อนแรงไม่แพ้เครื่องดื่ม แต่บริหารภายใต้ราคาและบริการที่เป็นมิตร
เก็บ/เช็ก : ศรีย่านไม่ได้หยิบยื่นเพียงแต่ของอร่อยในแบบฉบับครัวผู้ดีเก่า แต่ยังพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยเรือนสวยอาคารสง่าที่บ้างอวดโฉมและบ้างซุกซ่อนรอคนมาตื๊อให้เปิดประตู ไม่ไกลจาก วัดโบสถ์ ที่รอวันพระอุโบสถซ่อมแซมเสร็จเพื่ออวดโฉมร่องรอยศิลปกรรมยุคกรุงเก่าในเมืองกรุงอีกครั้ง คือร้านหนังสือ A Book With No Name ที่มีกาแฟให้จิบ กับแมวให้เกาคาง ในตึกแถวเก่า 2 คูหา พร้อมกิจกรรมประเทืองปัญญา แม้ข่าวเศร้าอย่างพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ในย่านบางกระบือใกล้ๆ กันจะเพิ่งปิดไป และ พิพิธภัณฑ์สิงห์ (Singha Museum) พิพิธภัณฑ์ในโรงกลั่นเบียร์ของค่ายสิงห์จะยังไม่มีกำหนดการกลับมาเปิดใหม่หลังปิดชั่วคราวช่วงโควิด แต่ศรีย่านก็กำลังรอสองจุดเช็กอินให้มาเป็นศรีกับย่าน จุดแรกคือ วังพายัพ ในพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐที่กำลังบูรณะโดยการไฟฟ้านครหลวงเจ้าของสถานที่
อีกจุดคือ วชิรานุสรณ์ วชิรพยาบาล อดีตตึกเหลือง บ้านหิมพานต์ ในอาณาเขตของสามเสนปาร์คของพระสรรพการหิรัญกิจ ที่อยู่ในความดูแลของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลที่เพิ่ง soft opening ไป โดยท่าเรือพายัพโฉมใหม่ที่ใกล้เสร็จก็จะสะกิดให้คนย่านอื่นหันมาเดินทางเยี่ยมย่านนี้ในยามบ่ายหรือวันหยุด ด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาได้อีกทางเลือก
“คลองสาน-ท่าดินแดง” ทวนเข็มนาฬิกากับชุมชนริมเจ้าพระยา
ตามหน้าประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ มักกล่าวขานกันถึงความเป็นนครแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่างชาติต่างภาษา ชุมชนที่เป็นตัวแทนของเอกลักษณ์ดังกล่าวได้ดีคือย่าน คลองสาน-ท่าดินแดง ของฝั่งธนบุรี ที่แฝงตัวอยู่ระหว่างชุมชนรอบวัดอนงคารามวรวิหารเชิงสะพานพุทธกับชุมชนชาวตลาดถนนท่าดินแดง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเลียบถนนสมเด็จเจ้าพระยา ที่เคยเป็นที่ตั้งของจวนสมเด็จเจ้าพระยาสายสกุลบุนนาคถึง 4 ท่าน เป็นถิ่นย่านที่เดินไปไม่กี่ก้าวก็พบกับร่องรอยของประวัติศาสตร์เก่า-ใหม่คั่นสลับแตกต่างกันเต็มไปหมด แม้บางจุดอาจทรุดโทรมเพราะถูกใช้เป็นแหล่งอาศัยอย่างแออัด และถูกทิ้งร้างไปบ้าง แต่ก็ได้รับการเอาใจใส่เก็บกวาดปรับปรุงเจริญตาขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
กิน/ชิม : ร้านกาแฟนั่งสบาย ร้านอาหารเชฟหนุ่มสาว ทยอยกันมาแต่งหน้าตาคลองสานไล่ไปจนถึงท่าดินแดง ให้ดูไฉไลขึ้น ทั้งโซนริมน้ำและริมถนน ภายใต้บรรยากาศสโลว์ไลฟ์แต่ที่คลองสานมีให้มากกว่าคือการชิมบรรยากาศ ประสบการณ์ และประวัติศาสตร์ชุมชน ร้านแรกที่แนะนำคือ บะหมี่ตู้ไม้โบราณ เปิดมานานกว่า 70 ปี ตรงซอยสมเด็จเจ้าพระยา 1 ที่เพิ่งย้ายออกมาลดความแออัดตรงเต็นท์ตรงข้ามวัดอนงฯ ในซอยเดิม โดยถูกราคาและถูกปากด้วยของเด็ดอย่างหมูแดงย่างเตาถ่านเนื้อนุ่ม และที่ต้องรีบไปก่อนที่บรรยากาศโกดังริมเจ้าพระยารอบข้างจะเปลี่ยนไปกว่านี้คือ Deep Root คาเฟ่ลับเปิดศุกร์ถึงจันทร์ ด้วยเมล็ดกาแฟชั้นดีเคียงคู่กับวาราบิโมจิและแซลมอนย่างใบชะพลู เสิร์ฟโดยเด็กๆ ในชุมชน ที่จะเข้ามาชวนคุยและเล่นบอร์ดเกมส์ ตกเย็นตรงสนามหญ้าร้างด้านข้าง มีผู้ใช้แรงงานของโกดังติดกันมาเตะตะกร้อเป็นฉากหลัง และหากโชคดีได้เจอเจ้าของร้านศิลปินนักเขียนบทก็จะได้ฟังเกร็ดชุมชนสนุกๆ เป็นของแถม
เมื่อมาถึงอดีตต้นกำเนิดของสายสกุลขุนนางเก่าแก่ ก็มิควรพลาด ร้านครัวสมเด็จเจ้าพระยา ข้างวัดอนงค์ฯ กับจานเด็ดตำรับบุนนาคอย่าง แกงเขียวหวานสมุนไพร 19 ชนิด น้ำพริกมะขามอ่อนที่แอบใส่กุ้งหวาน ไข่พะโล้โบราณ และอาหารไทยถูกปากอื่นๆ แต่ถ้าต้องการรสชาติแบบถึงไหนถึงกันละก็ ต้อง ร้านแอนท่าดินแดง ที่กำลังมาแรงด้วยฝีมือเจ๊แอนเจ้าแม่ซีฟู้ดสดๆ ควงกระทะเองทุกจาน หากนึกอะไรไม่ออกก็เนื้อปูผัดกระเทียมกับต้มยำทะเลไว้ก่อน ควรรีบชิมก่อนที่จะดังไปกว่านี้ และอย่าลืมสอยกานาฉ่าย ร้านซาเจ ในตัวตลาดกลับไปพุ้ยกับข้าวต้มที่บ้าน หรือปิดท้ายด้วย โบ๊กเกี้ย หมี่หวานคลายร้อนประจำท่าดินแดง
เก็บ/เช็ก : ที่คลองสานนั้น วัด มัสยิด ศาลเจ้า รวมถึงโบสถ์คาทอลิกจากเพื่อนบ้านฝั่งกะดีจีนอยู่เรียงเคียงกัน ล้อมปอดใจกลางของชุมชนอย่าง อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่เรียกกันติดปากชาวบ้านว่า สวนสมเด็จย่า เมื่อลงจากสะพานพุทธ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า) หรือสะพานพระปกเกล้า หรือจะสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ข้ามจากฝั่งพระนคร ถึงอดีตแยกวงเวียนเล็ก ที่ยังพอมีหอนาฬิกาเหลือให้พอทวนความทรงจำ ก็จะเห็นฉากหลังพระปรางค์สามยอดของ วัดพิชัยญาติการามวรวิหาร เด่นเป็นสง่า รวมถึงสายน้ำคลองสาน ที่สะกิดเตือนถึงความเป็นชุมชนอุดมลำคลองของฝั่งธนบุรีในอดีต ตรงข้ามกันคืออารามอกแตกอย่าง วัดอนงคารามวรวิหาร ที่มีซุ้มประตูหน้าต่างงดงามที่สุดแห่งหนึ่ง รวมถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่างพระแก้วขาวไว้ให้สักการะ โดยมีของแถมอย่างแมวเหมียวที่โยงใยกับตำราดูลักษณะแมวที่วัดนี้เคยจัดพิมพ์
หลังวัดอนงฯ คือจุดเดินต่อไปสำรวจ ศาลเจ้ากวนอู ริมแม่น้ำ ที่อยู่ติดกับเก๋งจีนยุครัชกาลที่ 5 อดีต โรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะ ที่บูรณะใกล้เสร็จและรอเปิดประตูอย่างเป็นทางการ โดยมีคาเฟ่ริมน้ำบ้านอากงอาม่า จำลองบรรยากาศเรือนไม้ริมน้ำแบบย้อนยุคไว้ให้คอยพักเหนื่อย และใช้เป็นจุดตั้งต้นมุดเซาะสถานที่ที่น่าสนใจอย่าง ซุ้มประตู RBMCO โรงเกลือแสงทอง โกดังเซ่งกี่ มัสยิดเซฟี โดยมีแผงร้านตลาดท่าดินแดงเป็นจุดสิ้นสุด เป็นรอยต่อก่อนที่จะลุยไปเก็บแต้มต่อที่โซนต่อไปอย่าง วัดทองธรรมชาติวรวิหาร วัดทองนพคุณ และชุมชนถนนเชียงใหม่ ก่อนเข้าย่านที่ทำการเขตคลองสานและห้างสรรพสินค้าใหญ่
อัลบั้มภาพ 33 ภาพ