Bangkok Naruemit Pride 2022 ไพรด์พาเหรดเต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพฯ
นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกสำหรับ Bangkok Naruemit Pride 2022 หรือ นฤมิตไพรด์ งานไพรด์พาเหรดอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพฯ จัดโดยทีมบางกอกไพรด์และเครือข่ายนักกิจกรรม ร่วมด้วยภาคเอกชนที่มารวมตัวส่งเสียงดังๆ ให้รู้ว่าโลกนี้ยังมีความแตกต่างหลากหลายที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเพศ ทำให้งานนี้จึงไม่ได้เล่าแค่เรื่องความแตกต่างหลากหลายของเรื่องเพศ แต่ยังมีเสียงของคนตัวเล็กๆ ที่สังคมไม่เคยยอมรับว่าพวกเขามีตัวตน เช่น Sex Worker เข้ามาร่วมบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาด้วย
ขบวนพาเหรดเริ่มต้นเวลา 16.00 น. ของวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่บริเวณด้านหน้าวัดแขก ถนนสีลม กรุงเทพฯ ยาวไปถึงบริเวณหน้าซอยธนิยะ แบ่งเนื้อหาในขบวนออกเป็น 6 เฉดสีตามความหมายของธงสีรุ้งทั้ง 6 เฉด ซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์สากลของความแตกต่างหลากหลายเรื่องเพศ ระหว่างทางมีทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่กล่าวย้ำในงานว่า
“ความสวยงามของบางกอกไพรด์มาจากความร่วมมือของหลากหลายส่วน เป็นความสวยงามในการยอมรับความแตกต่าง เป็นความใส่ใจเพื่อนที่มีความหลากหลาย”
ในงานยังมีศิลปินหลากหลายสาขาเข้าร่วม เช่น มด-นิสา ศรีคำดี หรือ มอลลี่ ก็นำน้องแก้มป่องน้ำตาซึม Crybaby เฉดสีรุ้งที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ Cry Me A River มาร่วมขบวนด้วย เช่นเดียวกับ SILVY หรือ ซิลวี่-ภาวิดา มอริจจิ ศิลปินไทยลูกครึ่งอิตาลีที่มักสะท้อนแนวคิดการรักตัวเองออกมาในผลงานของเธอก็มาร่วมขบวนไพรด์ในครั้งนี้พร้อมกับกล่าวว่า
“ไม่คิดว่าจะมีงานไพรด์พาเหรดแบบนี้เกิดขึ้นได้จริงในเมืองไทย ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่คนส่วนใหญ่จะหันมาพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง”
นอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ ที่ถูกตะโกนออกมาดังๆ จากไพรด์พาเหรดครั้งนี้แล้ว อีกประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจคือ สิทธิและสวัสดิภาพของเหล่าพนักงานบริการ หรือ Sex Worker ซึ่งทาง มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING ได้ออกมาบอกเล่าถึงปัญหาที่พนักงานเหล่านี้ต้องเจอ พร้อมผลักดันให้พวกเขาได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพ เข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมและความเท่าเทียม และผลักดันให้เห็นความสำคัญของอาชีพพนักงานบริการและย้ำว่า Sex work is work
แม้งานไพรด์พาเหรด Bangkok Naruemit Pride 2022 จะจบลงแต่เชื่อว่าเสียงตะโกนดังๆ ในครั้งนี้จะทำให้เมืองที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายอย่างกรุงเทพฯ และรัฐบาลได้เห็นความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์ ตัวตน เพศ อาชีพ และหันมามองตัวบทกฎหมายที่จะเข้ามารับรอง คุ้มครองความหลากหลายนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง และสำหรับชาวกรุงเทพฯ นั้นกิจกรรม Pride Month ถูกบรรจุอยู่ในนโยบาย 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วเป็นที่เรียบร้อย
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ