เที่ยวพิพิธภัณฑ์-หอศิลป์ เสพศิลปะ เพิ่มสุนทรียะให้ชีวิต

เที่ยวพิพิธภัณฑ์-หอศิลป์ เสพศิลปะ เพิ่มสุนทรียะให้ชีวิต

เที่ยวพิพิธภัณฑ์-หอศิลป์ เสพศิลปะ เพิ่มสุนทรียะให้ชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงวันหยุดยาวหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ธรรมดา หากใครอยากออกไปเที่ยวแต่ยังไม่มีที่ไป ไม่รู้จะไปที่ไหน สัปดาห์นี้ Tonkit360 อาจจะมาแปลกกว่าทุกครั้ง เพราะสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากชวนทุกท่านไปเดิน คือ “พิพิธภัณฑ์-หอศิลป์” ไปเพื่อเสพงานศิลปะ เพิ่มสุนทรียภาพแห่งชีวิตกัน ไปผ่อนคลายความเครียด ตามหาแรงบันดาลใจ ไอเดียใหม่ ๆ จากสิ่งสวย ๆ งาม ๆ ที่มองแล้วจรรโลงใจ สบายใจ ได้ฉุกคิดอะไรบางอย่าง ในบทความนี้ได้รวบรวมพิพิธภัณฑ์-หอศิลป์มาให้แล้ว 5 สถานที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีที่ไหนบ้างไปดูกัน

1.หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หนึ่งในความภาคภูมิใจของคนกรุงเทพฯ ก็คือหอศิลป์กรุงเทพฯ นี่เอง (โครงการสำรวจของกรุงเทพโพลล์) ซึ่งก็ไม่ได้เกินจริงอะไรเลย อาคารทรงกระบอกความสูง 9 ชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 25,000 ตารางเมตรนี้ เป็นสถานที่ที่รวบรวมงานศิลปะไว้หลายแขนง คนที่รักงานอาร์ตหรืออยากจะลองเสพผลงานศิลปะ เป็นสวรรค์ของคนรักศิลปะ และสถานที่สำหรับตามหาแรงหาบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเลยก็ว่าได้ มาที่นี่รับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

ปกติห้องนิทรรศการหลักจะอยู่ที่ชั้น 7 8 และ 9 อีกทั้งยังมีงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการหมุนเวียนให้ได้ชมอยู่ตลอด แต่ปัจจุบันมีพื้นที่แห่งใหม่ที่บริเวณชั้น 2 จำนวน 3 ห้อง เรียกว่า People’s Gallery เป็นบริเวณที่จัดแสดงผลงานศิลปะ จัดการแสดง และกิจกรรมศิลปะอื่น ๆ สำหรับศิลปินหน้าใหม่ไฟแรงที่อยากแสดงผลงานของตัวเอง เรียกได้ว่า ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ คุณสามารถเป็นได้ทั้งศิลปินและผู้เสพงานศิลปะ แถมมีห้องออดิทอเรียมสำหรับกิจกรรมการประชุม บรรยาย สัมมนา แสดงละคร ดนตรี ตลอดจนฉายภาพยนตร์ ห้องสตูดิโอที่เป็นพื้นที่อิสระสำหรับกิจกรรมหลากหลาย คาเฟ่ ร้านค้า พื้นที่เวิร์กช็อปศิลปะ และห้องสมุดศิลปะที่ตกแต่งได้อาร์ตสุด ๆ ไปเลย

2.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นอกจากสถานที่อาร์ตแกลเลอรี่แล้ว สถานที่ที่มักจะรวบรวมงานศิลปะเอาไว้มากที่สุดอีกแห่งหนึ่งก็คงจะหนีไม่พ้นพิพิธภัณฑ์ และถ้าอยากได้ฟีลอาร์ตสุดติ่งก็ต้องไปเจอกันที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปเลย ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของสยามประเทศ ตั้งขี้นเมื่อปี พ.ศ.2402 (ยังใช้ชื่อสยามอยู่เลย) ประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้แต่เดิมเคยเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” ซึ่งหลังจากรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้าไป พระราชวังแห่งนี้จึงว่างลง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ “มิวเซียมหลวง” ณ ศาลาสหทัยสมาคมหรือหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวังมาตั้งแสดง

สำหรับงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ที่นี่ เกือบทั้งหมดคืองานศิลปะระดับชาติ ผลงานศิลปะโบราณและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่จัดแสดงที่นี่แต่ละชิ้นมีความเก่าแก่ มีความขลัง บางชิ้นมีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา ต้องบอกว่าแม้จะเก่าและผุพังไปมาก แต่เห็นเค้าเดิมของความวิจิตรตระการตาจริง ๆ เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีน หรือเปิดประตูย้อนเวลาเข้าไปหาอดีตอย่างไรอย่างนั้น ที่สำคัญคือมีครบแขนงของศิลปะ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรีและนาฏกรรม มากกว่านั้นคือประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างเชื่อว่าหาดูไม่ได้ง่ายจากที่อื่น

3.RCAC BKK หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าที่นี่จะเน้น “ศิลปะร่วมสมัย” เพราะฉะนั้น ที่นี่ก็จะได้ฟีลคนละแบบกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแน่นอน เดิมอาคารแห่งนี้เคยถูกปล่อยร้าง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้เข้ามาริเริ่มโครงการปรับปรุงอาคารแห่งนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ให้ศิลปินใช้จัดแสดงผลงานและกิจกรรมสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการทางด้านงานศิลปะร่วมสมัยทุกสาขาให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป

ห้องนิทรรศของที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ พื้นที่ชั้น 1 เหมาะสำหรับจัดงานนิทรรศการผลงานศิลปะที่ต้องการใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก และห้องออดิทอเรียม ที่มีวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งระบบภาพ แสง สี เสียงที่ทันสมัย พื้นที่ชั้น 2 แบ่งการใช้งานออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย ห้องสมุด ห้องนิทรรศการ และห้องปฏิบัติการ 1-2 ส่วนพื้นที่ชั้น 3 เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งถูกตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน ผ่านนิทรรศการหมุนเวียนที่ถูกจัดขึ้นตลอดทั้งปี จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับแสดงงานศิลปะและแหล่งเรียนรู้ที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงและสัมผัสได้

4.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

ถ้าใครที่อยู่ในแวดวงศิลปะแล้วไม่รู้จักชื่อของ อ.ศิลป์ พีระศรี ต้องกลับไปพิจารณาตัวเองด่วน ๆ เพราะท่านคือผู้วางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่วงการศิลปะไทยสมัยใหม่ บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย ปูชนียบุคคลผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร และเจ้าของวลี “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ในหนังสือเรียนวิชาศิลปะต้องมีชื่อท่านอย่างแน่นอน แต่เอาเข้าจริงหลายคนอาจจะได้ยินแต่ชื่อท่านจากหนังสือ ทว่าไม่เคยเห็นหน้าค่าตาท่านมาก่อน ก็เลยไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วท่านเป็นชาวต่างชาติ (ทว่าท่านเคยกล่าวว่าท่านเป็นคนไทยที่เกิดผิดที่) มีนามเดิมว่าคอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) เป็นชาวอิตาลีโดยกำเนิด ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นคนไทยในปี พ.ศ.2485

ดังนั้น ถ้าคิดจะศึกษาศิลปะให้ถึงแก่นจริง ๆ แล้วล่ะก็ ย่อมพลาดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะที่นี่รวบรวมเรื่องราวด้านศิลปะและแฟชั่นไว้เพียบ ภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ของบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด ส่วนที่สอง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่นี่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของท่าน อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันนี้ – 30 ก.ย. 2565 พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว แต่ยังสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงได้ ที่นี่

5.หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา

ถ้ายังไม่หนำใจกับบ้านโบราณแล้วล่ะก็ ต้องชี้เป้าให้ทุกคนไปที่ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา เสียแล้ว เป็นอีกหนึ่งอาร์ตแกลเลอรี่ในกรุงเทพฯ ที่ได้กลิ่นอายความเก่าแก่ เดินอยู่อาจรู้สึกเหมือนทะลุเข้าไปในกระจกไปโผล่อีกภพหนึ่งก็เป็นได้ เนื่องจากตัวอาคารเป็นเรือนทรงปั้นหยาริมแม่น้ำเจ้าพระยา สถาปัตยกรรมเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่ใกล้กับสวนสันติชัยปราการและป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ อดีตเป็นตำหนักของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันที่นี่บริหารงานโดยเอกชน

อาคารโบราณที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม และถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะ กลายเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง หรือศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งการมาเสพงานศิลปะที่นี่ก็ไม่ใช่แค่การก้าวเข้าไปในโลกของงานอาร์ตเท่านั้น เพราะไฮไลต์สำคัญก็คือสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของอาคารหลังนี้ จะสัมผัสได้ถึงความงดงาม ความคลาสสิกเหนือกาลเวลา ฉะนั้น มาที่นี่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางศิลปะ ไม่จำเป็นต้องดูงานศิลปะเป็น ไม่จำเป็นต้องพยายามเข้าใจจิตวิญญาณ​ของศิลปะอะไรทั้งนั้น ทำหัวให้โล่ง ๆ ปล่อยใจให้ว่าง ๆ ยืนดู ให้ทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาตญาณ แค่นี้ก็ได้อะไรกลับมาแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook