วัดประยุรวงศาวาส วัดดังต้นกรุงรัตนโกสินทร์กับ 6 ไฮไลต์ที่ต้องปักหมุดเที่ยว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์ ซีรีส์ ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังอย่างมากในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับ บุพเพสันนิวาส ๒ ตำนานรักข้ามภพบทใหม่ที่ต่อยอดมาจากละครโทรทัศน์ บุพเพสันนิวาส (2561) ที่ทำให้เกิดกระแสประวัติศาสตร์อยุธยาฟีเวอร์มาแล้ว มาครั้งนี้ บุพเพสันนิวาส ๒ จะพาทัวร์ประวัติศาสตร์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ราวปลายรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 ซึ่งตรงกับยุคที่ชาติตะวันตกกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในสยามไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การค้า การแพทย์ วิทยาการ เทคโนโลยีสมัยใหม่
ในภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ นอกจากจะพาไปรู้จักผู้คนในประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ก็ยังมีสถานที่สำคัญแห่งยุคมาร่วมเข้าฉากด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ วัดประยุรวงศาวาส หรือชื่อเต็ม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือที่ชาวฝั่งธนบุรีเรียกสั้นๆ ว่า วัดประยูรฯ วัดรางวัลอนุรักษ์ระดับยูเนสโกที่ตั้งโดดเด่นอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กับสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานภูมิปัญญาเชิงช่างในอยุธยา แต่ก็ยังมีดีไซน์โคโลเนียลของยุโรปสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน บวกด้วยงานศิลปะจากรั้ววังในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แถมย่านหน้า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ยังเคยเป็นที่อยู่อาศัยของหมอบรัดเลย์ แพทย์ชาวตะวันตกคนดังแห่งยุคซึ่งก็เป็นตัวละครในบุพเพสันนิวาส ๒ ด้วยเช่นกัน ส่วนใครที่ยังลังเลว่าเที่ยววัดจะสนุกไหม เรามี 6 ไฮไลต์เที่ยว วัดประยุรวงศาวาส มาให้ได้ปักหมุดตามรอยกัน
กำแพง “รั้วเหล็กแดง” จากอังกฤษ
วัดประยุรวงศาวาส สร้างโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อ พ.ศ. 2371 ใช้เวลาสร้างนานถึง 8 ปี โดยชาวบ้านย่านธนบุรีดั้งเดิมต่างเรียกวัดนี้ว่า วัดรั้วเหล็ก เหตุเพราะสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ท่านได้สั่งรั้วเหล็กสีแดงมาจากอังกฤษเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 สำหรับใช้เป็นกำแพงในพระบรมมหาราชวัง เป็นรั้วเหล็กนั้นสูงประมาณ 3 ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธโบราณ คือ หอก ดาบ และขวาน แต่ด้วยรั้วมีลวดลายเป็นอาวุธพระองค์ไม่โปรด ทาง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์จึงขอรับพระราชทานนำกลับมาทำเป็นกำแพงวัดแทน และยังปรากฏให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบันซึ่งเป็นกำแพงที่อยู่ด้านในวัดใกล้กับพระบรมธาตุมหาเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่
“เขามอ” ถาวรวัตถุระดับชาติ
แม้วัดประยูรฯ จะตั้งอยู่ใกล้กับริมเจ้าพระยาแต่ด้านในกลับมีภูเขาเล็กๆ ซ่อนอยู่เป็นเขามนุษย์สร้างที่เรียกว่า เขามอ โดยคำว่า ‘มอ’ มาจากคำว่า ‘ถมอ’ ในภาษาเขมร แปลว่า ก้อนหิน ดังนั้น เขามอ จึงหมายถึงภูเขาจำลองที่ก่อขึ้นจากหินจนมีรูปทรงคล้ายคลึงกับภูเขา เขามอในต้นกรุงรัตนโกสินทร์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เขามอขนาดเล็ก ที่ประดับอยู่ในกระถาง ซึ่งเป็นศิลปะการจัดสวนรูปแบบหนึ่งที่นิยมทำคู่กับการเล่นไม้ดัด อีกประเภทคือ เขามอขนาดใหญ่ เป็นเขามอที่ก่อลงบนพื้นดินหรือกลางสระน้ำ มีการจำลองยอดเขาสูงและใส่ต้นไม้ประดับไม่ต่างจากภูเขาจริง เขามอแบบนี้ใช้ประดับตกแต่งวัดและพระราชอุทยานของกษัตริย์ซึ่งอย่างหลังนี้นิยมสร้างเขามอประดับมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
การสร้างเขามอได้รับการสืบทอดมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แต่ยังคงจำกัดอยู่ในส่วนพระราชอุทยานของกษัตริย์ ทว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เขามอก็ไม่ได้จำกัดแค่องค์ประกอบของพระราชอุทยานอีกต่อไป ในรัชกาลนี้นิยมสร้าง เขามอ ขึ้นภายในวัด ถวายเป็นพุทธบูชารวมทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่อันร่มรื่นดึงดูดพุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัยให้เข้าวัดเพื่อที่จะได้ทำบุญฟังธรรมกันมากขึ้น
สำหรับเขามอที่วัดประยุรวงศาวาสฯ เป็นเขามอขนาดใหญ่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “หยดเทียนขี้ผึ้ง” ที่รัชกาลที่ 3 พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ผู้สร้างวัด หยดเทียนขี้ผึ้งดังกล่าวเกิดจากน้ำตาเทียนที่รัชกาลที่ 3 ทรงจุดขณะประทับอยู่ในห้องสรงภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อน้ำตาเทียนละลายก็ทับถมเป็นก้อนชั้นขนาดใหญ่ เนื่องจากทรงจุดต่อเนื่องมาหลายต่อหลายปี ดูแล้วให้นึกถึงภูเขาธรรมชาติที่เทือกเขาสลับซับซ้อนกันไปมา และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้รับพระราชทานหยดเทียนขี้ผึ้งมา ก็ได้นำเค้าโครงของหยดเทียนขี้ผึ้งนี้มาเป็นแบบสำหรับสร้างภูเขาจำลอง หรือเขามอแห่งวัดประยุรวงศาวาสฯ ทั้งนี้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนภูเขาจำลองหรือเขามอแห่ง วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นถาวรวัตถุสำคัญของชาติ
“เจดีย์ทรงลังกา” รางวัลอนุรักษ์จากยูเนสโก
อีกสิ่งที่สร้างชื่อให้วัดประยูรฯ โด่งดังไปทั่วโลกคือ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวทรงลังกาซึ่งสร้างขึ้นที่วัดนี้เป็นวัดแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีเจดีย์เล็ก 18 องค์อยู่รายรอบ องค์เจดีย์ทรงกลมสัณฐานรูปโอคว่ำสูง 60.525 เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ 54 คูหา
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นผู้เริ่มให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่นี้แต่ยังสร้างไม่ทันแล้วเสร็จ ท่านก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายคนโต ดำเนินการสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์เจดีย์ ทั้งใช้เป็นที่เก็บอัฐิของคนในสายสกุลบุนนาคด้วย
เมื่อ พ.ศ. 2414 พระเจดีย์องค์ใหญ่ถูกฟ้าผ่าจนยอดพระเจดีย์หักไม่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นเวลานานถึง 47 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2461 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในขณะนั้น ได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ขึ้นอีกครั้ง
พระบรมธาตุมหาเจดีย์ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556 จากยูเนสโกด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา (ห้องพิพิธภัณฑ์ของโบราณ) สะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง
“เสาครู” หนึ่งเดียวในรัตนโกสินทร์
มาถึงวัดประยูรฯ ต้องขึ้นบันไดไปด้านบนของ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ เพราะมีประตูเล็กๆ เปิดเข้าไปด้านในเจดีย์องค์สีขาวขนาดใหญ่ได้ เมื่อเข้าไปจะเห็นโครงสร้างการก่อสร้างเจดีย์แบบในสมัยอยุธยาดั้งเดิมที่กลางเจดีย์มีลักษณะกลวงและมีเพียงเสาแกนกลางหรือ “เสาครู” ขนาด 144 ตันค้ำยันไว้ ซึ่งในประเทศไทยเหลือเพียงที่วัดประยูรฯ แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังคงอนุรักษ์เทคนิคการก่อสร้างแบบช่างอยุธยาพร้อมด้วยอิฐก้อนเดิมที่ยังคงอยู่ ที่สำคัญสุดคือเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมถึงแกนกลางเจดีย์ได้ และจากมุมด้านบนนี้สามารถมองเห็นวิวชุมชนกุฎีจีนซึ่งมีโบส์ซานตาครูส
“งานวัดวัดประยูรฯ” เก่าแก่กว่า 100 ปี
ฝั่งพระนครมีงานวัดภูเขาทองอันโด่งดัง ส่วนฝั่งธนบุรีก็มีงานวัประยูรฯ ที่เก่าแก่จัดต่อเนื่องมานับร้อยปีโดยลูกหลานตระกูลบุญนาค งานวัดประยูรฯ ในอดีตจัดอย่างยิ่งใหญ่ 7 วัน 7 คืน เพื่อให้คนมาปิดทองพระพุทธฉายและพระพุทธบาทที่บริเวณเขามอ แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวัดประยูรฯ ก็ต้องยุติไปและมีการรื้อฟื้นกลับมาใหม่ได้ไม่นาน
งานฉลองวัดประยูรฯ มีบันทึกอยู่ในหนังสือของ หมอบรัดเลย์ บันทึกไว้ว่าในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาส ในปี พ.ศ.2379 นั้น ได้มีการทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ โดยฝังโคนกระบอกปืนใหญ่ลงในแผ่นดิน เมื่อจุดชนวนขึ้น ปืนใหญ่เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายคน หมอบรัดเลย์ซึ่งในขณะนั้นได้ร่วมกับคณะมิชชันนารีเปิดที่พักของตนเองให้เป็นโอสถศาลาโดยอาศัยพื้นที่บ้านที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ปลูกให้ชาวต่างชาติเช่า บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้า วัดประยุรวงศาวาส อยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียง 250 เมตร
เจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ)จึงให้คนตามตัวหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บ มีพระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์จึงจำเป็นต้องตัดแขนของพระรูปนั้นจนประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นาน จึงนับได้ว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นที่ วัดประยุรวงศาวาส ในวันฉลองวัด ภายหลังจากอุบัติเหตุการระเบิดครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ให้สร้างอนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอกไว้ในบริเวณอุทยานเขามอเพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต
“ชุมชนกุฎีจีน” ท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรม
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ของย่านชุมชนกุฎีจีน ซึ่งเป็นย่านพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานหลากหลายศาสนาและเชื้อชาติ ดังนั้นเที่ยววัดประยูรฯ เสร็จแล้วจึงห้ามพลาดที่จะเดินเชื่อมไปยังตัวชุมชน ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าแม่กวนอิม (กวนอันเก๋ง หรือ เกียงอันเกง) สีเก่าซีด แต่มีมนตร์ขลังบนซุ้มประตูแบบเก๋งจีน เดิมศาลเจ้าแห่งนี้คือศาลเจ้าโจวซือกงและศาลเจ้ากวนอูของชาวจีน ฮกเกี้ยน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวจีนรื้อศาลเก่าทั้งสองแห่งลง แล้วสร้าง ศาลใหม่ขึ้นเป็นศาลเดียว พร้อมอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมมาเป็นองค์ประธาน และเรียกชื่อใหม่ว่าศาลเจ้ากวนอันเก๋ง
ใกล้กันคือวัดซางตาครู้ส ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวคริสต์ในชุมชนนี้ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาว โปรตุเกส ตัวโบสถ์ถูกรื้อสร้างใหม่มาแล้วถึง 2 ครั้ง โบสถ์ปัจจุบันซึ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ.2457จึงเป็นหลังที่ 3 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบอิตาลี บริเวณด้านหลังโบสถ์เป็นที่ฝังศพบาทหลวงผู้เคยพำนักอยู่ที่นี่ และนอกจากเป็นที่ประกอบศาสนกิจมาหลายชั่วอายุคน โบสถ์วัดซางตาครู้สยังนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนไทยกับชาวโปรตุเกสยาวนานหลายร้อยปี ใครที่สนใจชิมอาหารตำรับโปรตุเกสชุมชนนี้มีเสิร์ฟอยู่หลายร้าน รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนกุฎีจีนขนาดย่อม และถ้ามีแรงเดินไหวสามารถไปต่อได้ที่วัดกัลยานมิตรและมัสยิดต้นสน หรือ กุฎีบางกอกใหญ่ ซึ่งสามารถจัดโปรแกรมวันเดย์ทริปเดินเที่ยวได้เช่นกัน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ