“ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์” ความบันเทิงเหนือกาลเวลา
Highlight
- ห้องสมุดแผ่นเสียง เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ภายในพื้นที่กรมประชาสัมพันธ์
- ภายในห้องสมุดแผ่นเสียง จัดแสดงแผ่นเสียงจากทุกยุคและทุกแนวเพลง จำนวนกว่าแสนแผ่น รวมทั้งสามารถฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงจริงได้
- เป้าหมายของห้องสมุดแผ่นเสียง คือการเป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้าข้อมูล และเป็นห้องสมุดมีชีวิต ที่สามารถฟังเสียงและทดลองใช้ได้ด้วย
ในยุคที่การฟังเพลงสามารถทำได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา ผ่านระบบสตรีมมิงออนไลน์บนมือถือ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ฟังเพลงอย่าง “แผ่นเสียง” บางคนอาจจะจินตนาการไม่ออกว่าจานพลาสติกสีดำแผ่นบาง จะสามารถเล่นเพลงเป็นสิบๆ เพลงได้อย่างไร และยังอาจจะมองว่าอุปกรณ์ฟังเพลงชนิดนี้เป็นเรื่องโบราณของคนรุ่นเก่า อย่างไรก็ตาม ภาพจำของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อแผ่นเสียงอาจเปลี่ยนไป เมื่อกรมประชาสัมพันธ์เปิดตัว “ห้องสมุดแผ่นเสียง” ภายในพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ในย่านอารีย์ พื้นที่สุดชิคแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
ห้องสมุดแผ่นเสียง เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ในวาระครบรอบ 89 ปี กรมประชาสัมพันธ์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงประวัติและพัฒนาการของกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมประชาสัมพันธ์ในแต่ละยุค
ทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เล่าว่า กรมประชาสัมพันธ์มีสื่อในยุคแรกคือวิทยุกระจายเสียง ซึ่งนอกจากจะทำหน้าเผยแพร่ข่าวสารแล้ว ยังส่งต่อความบันเทิงผ่านวงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ ที่บรรเลงเพลงออกอากาศกันแบบสดๆ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคแผ่นเสียง ที่นักจัดรายการวิทยุหรือดีเจจะเล่นเพลงจากแผ่นเสียง ตามด้วยยุคเทป ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นเทปรีลและเทปคาสเซ็ต ก่อนจะกลายเป็นยุคซีดีเพลง และเข้าสู่ยุคที่เล่นเพลงจากไฟล์ในคอมพิวเตอร์ในที่สุด
“ตลอดระยะเวลาที่เราตั้งกรมมา 89 ปี เรามีแผ่นเสียงเป็นแสนๆ แผ่น ซึ่งกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ” ทัศนีย์กล่าว
เมื่อหมดความนิยม แผ่นเสียงกว่าแสนแผ่นก็กลายเป็นของเก่าที่ไม่ได้รับการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนปัจจุบัน จึงมีนโยบายให้รวบรวมแผ่นเสียงที่มีอยู่เป็นจำนวนมากตามสถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ มาเก็บรักษาไว้ในรูปแบบห้องสมุดแผ่นเสียง
คลังเสียงสุดคูลทุกแนวเพลง
ห้องสมุดแผ่นเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ จัดเก็บแผ่นเสียง 2 รูปแบบ ได้แก่ “แผ่นครั่ง” ซึ่งเป็นแผ่นเสียงยุคแรก จำนวนหลักหมื่นแผ่น และ “แผ่นไวนิล” หรือแผ่นเสียงในรูปแบบปัจจุบันที่เราคุ้นเคย ก็มีอยู่ถึงกว่าแสนแผ่นเลยทีเดียว แถมยังมีครบทุกแนวเพลง ตั้งแต่เพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากลทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ รวมถึงเพลงสากล ตั้งแต่ยุค 70s จนถึง 90s เลยทีเดียว โดยเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์เล่าให้เราฟังว่า แผ่นเสียงของศิลปินที่เรียกเสียงฮือฮาจากผู้มาเยือนได้มากที่สุด คือคอลเลคชันของเอลวิส เพรสลีย์ และ The Beatles
นอกจากจะเป็นคลังเพลงระดับตำนานแล้ว สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่อย่างมาก คือการจัดแสดงเครื่องเล่นแผ่นเสียงตั้งแต่รุ่นเก่าที่มีลำโพงรูปแตรขนาดใหญ่ และใช้มือหมุนเพื่อเล่นแผ่นเสียง ไปจนถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้เข้าชมสามารถเลือกเพลงจากศิลปินคนโปรด และนำแผ่นเสียงมาให้เจ้าหน้าที่เปิดเพลงให้ ผู้เข้าชมสามารถฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงจริง ซึ่งให้คุณภาพเสียงที่คมชัด เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน
มนต์เสน่ห์ที่ดิจิทัลแทนที่ไม่ได้
เมื่อถามถึงเสน่ห์ของแผ่นเสียง ที่เทคโนโลยีดิจิทัลแทนที่ไม่ได้ ทัศนีย์ ในฐานะอดีตนักจัดรายการวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า การเล่นแผ่นเสียงต้องใช้ความละเอียดอ่อนมากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ โดยเฉพาะการวางเข็มบนแผ่นเสียง ซึ่งมีเทคนิคพิเศษที่บ่งบอกถึงความชำนาญของผู้เปิดเพลง
“แผ่นเสียงแผ่นหนึ่ง มันจะมีขีดๆ และสมมติว่าแผ่นนี้มี 10 เพลง มันจะมีขีดที่เป็นขั้นไว้ 10 ขั้น แปลว่าถ้าเราวางขั้นที่ 1 จะได้ฟังเพลงที่ 1 แต่ถ้าเราไม่อยากฟังเพลงที่ 2 เราจะแตะเข็ม แล้วก็ข้ามมาฟังเพลงที่ 5 ก็ได้ แต่เราต้องนับแทร็กให้ถูก แล้วก็วางให้ถูก เสน่ห์ในการเปิดนี่คือ เราต้องวางให้แม่น ถ้าเราวางไม่แม่น เพลงจะไม่ขึ้นตั้งแต่อินโทร ก็จะทำให้คนที่ฟังเขาจะมีความรู้สึกว่า ทำไมวันนี้ผู้จัดรายการไม่เปิดเพลงตั้งแต่ต้นเพลง”
“ถ้าเราเปิดเป็นและวางได้เป๊ะ เราจะมีความรู้สึกว่า หืม... วันนี้เราวางได้เจ๋งมาก” ทัศนีย์เล่า
ทัศนีย์อธิบายเพิ่มเติมว่า การวางเข็มด้วยน้ำหนักมือที่พอเหมาะ จะทำให้เข็มไม่หัก และทำให้เสียงเพลงที่ออกมามีคุณภาพ
“หัวเข็มนี่เป็นอะไรที่บอบบางมาก ถ้าเราวางลงไปแรง มันกระแทก และหัวเข็มมันสึก เพลงที่ออกมามันจะดังและจะฟังรู้เลยว่าเข็มมันสึกแล้ว คือดนตรีมันจะเพี้ยนไป มันจะมีเสียงซี้ดๆ อี๊ดๆ ออกมา แล้วมันก็จะทำให้แผ่นเสียหายด้วย ก็คือตรงส่วนที่เป็นเหล็กหรือเป็นโลหะมันไปครูดกับเนื้อไวนิล แล้วมันก็จะทำให้แผ่นเป็นรอย พอแผ่นเป็นรอยแล้วเราเอาไปเล่นทีหลัง เข็มที่จะเป็นตัวอ่านเสียง มันจะตกร่อง เพลงมันก็จะย้ำอยู่ประโยคเดิม อย่างนี้เขาเรียกแผ่นเสียงตกร่อง” ทัศนีย์กล่าว
นอกจากนี้ การจับแผ่นเสียงยังต้องมีเทคนิคในการจับด้วย เพราะหากใช้มือที่ไม่สะอาดจับแผ่นเสียงโดยตรง ก็จะทำให้ฝุ่นเกาะแผ่นเสียง ทำให้แผ่นเสียงสะดุดได้เช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับผู้เข้าชม
ห้องสมุดที่มีชีวิต
เมื่อเปิดตัวห้องสมุดแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ทัศนีย์คาดการณ์ว่า ผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดแผ่นเสียงน่าจะเป็นแฟนคลับเพลงยุคเก่า หรือเป็นคนรุ่นเก่าที่รู้จักคุ้นเคยกับแผ่นเสียง และเข้ามาเยี่ยมชมเพื่อซึมซับบรรยากาศเก่าๆ ทว่าที่จริงแล้ว ผู้ที่เข้าชมห้องสมุดส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่มากกว่า ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ทัศนีย์ก็มองว่าเป็นความท้าทายด้วย เพราะคณะทำงานของพิพิธภัณฑ์จะต้องรวบรวมแผ่นเสียงให้ได้มากที่สุด เพื่อตอบโจทย์การใช้บริการด้านการค้นคว้าข้อมูล ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความน่าสนใจและความตื่นเต้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ด้วย
“เราต้องทำให้ห้องสมุดนี้มีชีวิต เพราะว่ามันเป็นห้องสมุดแผ่นเสียง เข้ามาแล้วเห็นเฉพาะแผ่นไม่ได้ ต้องได้ยินเสียงด้วย และที่สำคัญก็คือต้องให้เขาได้ทดลองใช้ และมันจะพาเขาย้อนกลับไปในยุคที่เขาไม่เคยเจอ ก็เลยคิดว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้น้องๆ เกิดแรงบันดาลใจ ช่วยกันตามหา ช่วยกันอนุรักษ์ หรือช่วยกันทำให้เกิดยุคหลังของแผ่นเสียงในยุคปัจจุบัน หรือยุคอนาคต เกิดขึ้นมาใหม่จากจุดเริ่มต้นของเราก็ได้ค่ะ” ทัศนีย์กล่าวทิ้งท้าย
ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ เปิดให้บริการวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.00 - 16.30 น. สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Facebook Fanpage พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ หรือโทร. 02-618-2323
อัลบั้มภาพ 39 ภาพ