“เพชรบุรีมีมนตร์” เยือนถิ่น 3 วัง มหัศจรรย์เมือง 3 รส
หากพูดถึงเมืองท่องเที่ยวตากอากาศของไทย เชื่อว่า “เพชรบุรี” คงจะติดโผมาด้วยทุกครั้งอย่างแน่นอน ด้วยคุณสมบัติที่มี “ครบ” ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอาหาร เรียกว่าใครได้แวะเวียนมาเที่ยว ก็คงตกหลุมรักเมืองแห่งนี้ได้ไม่ยาก และเมื่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจร ครั้งที่ 2 “เพชรบุรีมีมนตร์” วันที่ 27-28 สิงหาคม 2565 เราจึงไม่รอช้าที่จะขอร่วมเดินทางไปเยือนถิ่น 3 วัง มหัศจรรย์เมือง 3 รส และความประทับใจที่ได้กลับมาก็เอ่อล้น จนต้องขอมาเล่าสู่กันฟัง
เยือนถิ่น 3 วัง
เราเริ่มออกเดินทางจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันเสาร์ ที่ 27 สิงหาคม พร้อมกับวัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม และธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักวิชาการศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี ซึ่งมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในทริปนี้ ร่วมด้วยเพื่อนร่วมทริปมากหน้าหลายตา ที่ต่างก็ยิ้มแย้มแจ่มใส และตื่นเต้นที่จะได้ไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยกัน
ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เราก็มาถึงวังแรกของทริป นั่นคือ “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งอยู่ระหว่างการบูรณะฟื้นฟู และจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้อีกครั้ง เมื่อพระราชนิเวศน์ฯ มีอายุครบ 100 ปี ในปี 2567 ดังนั้น การเยือนพระราชนิเวศน์ฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านกระบวนการทำงานโบราณคดี เช่น การค้นหาสีดั้งเดิมที่ใช้ทาหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ด้วยการลอกสีลงไปเป็นชั้น ๆ เพื่อหาชั้นในสุดที่เป็นสีชั้นแรกที่ทาลงไปบนผิวไม้ และการขุดค้นถนนโบราณ บริเวณหน้าพระราชนิเวศน์ฯ ซึ่งพบว่าเป็นถนนโรยหินบดอัด โดยส่วนไหนที่มีขอบซีเมนต์เสริมเหล็กจะเป็นทางเดินรถ ซึ่งถือเป็นงานคอนกรีตเสริมเหล็กรุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย
นอกจากกระบวนการทำงานโบราณคดีแล้ว ยังมีงานอนุรักษ์พระราชนิเวศน์ฯ ที่พยายามฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้เหมือนครั้งอดีตมากที่สุด โดยการใช้แนวคิด “ช่วยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง” ด้วยการนำสิ่งแปลกปลอมที่ไม่เคยอยู่ในระบบนิเวศเดิมออกไป และผลลัพธ์ที่ได้คือ พืชท้องถิ่นกลับมาเติบโตงอกงามหลายสายพันธุ์
“หลังจากทำงานวิจัยแล้ว เราก็สรุปออกมาว่าเราจะทำพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการสืบค้นและรวบรวมหลักฐาน ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในด้านของวัฒนธรรม ภูมิปัญญา แล้วก็เรื่องของธรรมชาติวิทยา” เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนพระราชนิเวศน์ฯ ให้เสมือนเป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต”
หลังจากเดินชมบริเวณพระราชนิเวศน์ฯ จนทั่ว เราก็มีโอกาสได้แวะไปจิบชาที่ “เรือนเจ้าพระยารามราฆพ” ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นร้านน้ำชาพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน โดยมีชาชั้นเลิศให้ได้เลือกสรร ทั้งชาดำมาร์โคโปโลและชาแดง Rouge Bourbon รวมถึงขนม-ของว่าง ทั้งอาลัว หอมนวล ปั้นขลิบ และแซนด์วิชไส้ไข่กับไส้แตงกวา พร้อมดื่มด่ำบรรยากาศสบาย ๆ ริมชายทะเล
วังต่อมาที่เราไปเยือนคือ “พระนครคีรี” หรือ “เขาวัง” พระราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการยกพระบรมมหาราชวังมาตั้งไว้ที่เมืองเพชรบุรี ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมของพระนครคีรีจะมีกลิ่นอายของการผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่มีการเผชิญหน้ากับอิทธิพลตะวันตก และด้วยตำแหน่งของวังที่ตั้งอยู่บนภูเขา ก็ทำให้เราสามารถชมเมืองเพชรบุรีจากมุมสูงได้รอบทิศทาง นอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังได้อิ่มเอมกับทัศนียภาพที่สวยงามของพระนครคีรีและเมืองเพชรบุรีไปพร้อมกัน
และวังสุดท้ายที่เราได้ไปเยือน ก็คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือ “วังบ้านปืน” ซึ่งเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งออกแบบโดยคาร์ล เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมัน โดยได้แรงบันดาลใจจากพระราชวังตากอากาศฤดูร้อนของพระเจ้าวิลเลียม ไกเซอร์แห่งเยอรมนี ด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรกและอาร์ตนูโว ที่เน้นความทันสมัย จึงทำให้พระรามราชนิเวศน์ดูใหญ่โต โอ่อ่า และสง่างาม เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของ “เจ้าจอมก๊กออ” สนมเอกสายเมืองเพชร พระสนมคนโปรดของรัชกาลที่ 5 ที่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราประทับใจพระรามราชนิเวศน์เป็นพิเศษ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ควรมาเยือนเป็นอย่างยิ่ง หากมีโอกาสมาที่เมืองเพชรบุรี
มหัศจรรย์เมือง 3 รส
ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศที่หลากหลายของเมืองเพชรบุรี รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อทรัพยากรอาหารของเมืองแห่งนี้ และทำให้เมืองเพชรบุรีเป็น “เมือง 3 รส” ได้แก่ รสเค็ม จากเกลือบ้านแหลม, รสเปรี้ยว จากมะนาวแป้น และรสหวาน จากน้ำตาลโตนด ด้วยเอกลักษณ์นี้เอง จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2564 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้เพชรบุรีเป็น “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร” (City of Gastronomy หรือ UNESCO Creative Cities Network)
การได้ร่วมเดินทางกับทริปนี้ ทำให้เราได้มีโอกาสลิ้มลองอาหารรสชาติเมืองเพชร ที่เคยได้ยินมาว่า “อร่อยทุกอย่าง” ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน โดยอาหารมื้อกลางวันแรกของทริป เริ่มต้นที่ “ร้านครัวไม้พยุง” เป็นเมนูอาหารทะเลครบรส และขอยกให้ “ผัดกะเพราปลาหมึก” เป็นเมนูที่ 1 ในใจ อยากแนะนำว่าใครไปก็ควรสั่งมาลอง แล้วยังมีไข่เจียวปูร้อน ๆ กินพร้อมกับต้มยำทะเลรสชาติจัดจ้าน ทำให้เราต้องขอเพิ่มข้าวไป 2 รอบ
ตามมาด้วยมื้อเย็น ที่ชาวทริปไปฝากท้องกันที่ “ร้านครัวห้วยทราย” ร้านเด็ดประจำหัวหิน-ชะอำ ที่ลูกค้าเต็มตลอด เมนูเด็ดที่ไม่ควรพลาด คือหอยเชลล์ผัดเนยกระเทียม หอยเชลล์ตัวใหญ่ รสชาติหวาน พร้อมกลิ่นหอมของเนยและกระเทียม เช่นเดียวกับไข่เจียวกรอบโคตรปู ที่มีเนื้อปูเน้น ๆ เต็มคำ จุดเด่นของร้านนี้ คือขอเพิ่มข้าวได้ฟรีไม่อั้น เพราะอาหารของเขาอร่อยทุกเมนูจริง ๆ
และไฮไลต์ของทริปนี้สำหรับเรา คือมื้อเที่ยงของวันที่สอง ณ “ร้านระเบียงริมน้ำ” ร้านอาหารเล็ก ๆ ริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่ขอขีดเส้นใต้ว่าอาหารอร่อยทุกอย่าง และเปิดประสบการณ์กิน “ขนมจีนทอดมัน” ซึ่งเป็นเมนูของคนเมืองเพชรที่กินกันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่า โดยเป็นทอดมันชิ้นโต เสิร์ฟร้อน ๆ คู่กับขนมจีน พร้อมน้ำจิ้มเปรี้ยวหวานสูตรดั้งเดิม อีกเมนูเด็ดของทริป ต้องยกให้ “แกงหัวตาลกุ้ง” แกงกะทิรสชาติหวานมัน มี “หัวตาล” สุดยอดวัตถุดิบของเมืองเพชรบุรีเป็นตัวชูโรง ซึ่งจะมีรสชาติคล้ายกับยอดมะพร้าวอ่อน นอกจากนี้ ยังมีเมนูอื่น ๆ ให้ได้ลองชิมกันด้วย เช่น แกงป่า ต้มโคล้งปลาดุกย่าง ปลาดุกฟูผัดพริกขิง ไข่เจียวเพชรบุรี ปลาหมึกผัดไข่เค็ม ยำเนื้อมะเขืออ่อน และปิดท้ายด้วย “ขนมตาล” ชิ้นเล็กเนื้อแน่นแสนอร่อย ที่ทำให้อาหารมื้อนี้กลายเป็นมื้อพิเศษที่ลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว
นี่คือความประทับใจจากทริป “เพชรบุรีมีมนตร์” ที่พาไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนเมืองเพชร และเอร็ดอร่อยกับอาหารรสเลิศ ที่อาจจะหาทานไม่ได้จากที่ไหน ซึ่งเราก็อยากให้ทุกคนได้ลองไปเปิดประสบการณ์ที่เมืองเล็ก ๆ แสนอบอุ่นแห่งนี้สักครั้ง แล้วเราก็เชื่อว่า ถ้าได้ไปเยือนที่นี่สักครั้ง จะอยากกลับไปถิ่น 3 วัง เมือง 3 รสแห่งนี้อีกหลาย ๆ ครั้งแน่นอน
อัลบั้มภาพ 44 ภาพ