ตามรอยความสมบูรณ์ของอ่าวไทย ล่องเรือดูวาฬบรูด้า ใกล้กรุงที่สมุทรสาคร
แม้โปรแกรม ล่องเรือดูวาฬบรูด้า ในไทยจะสามารถทำได้ตลอดปี แต่ฤดูกาลไฮต์ซีซันที่จะเห็นวาฬได้เยอะจริงๆ คือหลังฤดูร้อนเริ่มเข้าฤดูฝนไปจนถึงเข้าฤดูหนาว และก็ไม่น่าเชื่อว่าขับรถจากกรุงเทพฯ มาเพียงชั่วโมงเศษตรงมาที่จังหวัดสมุทรสาคร บริเวณตำบลพันท้ายนรสิงห์ ก็สามารถลงเรือท่องเที่ยวออกไปชม วาฬบรูด้า ได้แล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เราได้พบ วาฬบรูด้า ในบริเวณนี้มากถึง 20 ตัว ห่างชายฝั่งออกไปราว 26 กิโลเมตร ช่วงแนวนอกปากร่องแม่น้ำท่าจีนไปจนถึงเขตรอยต่อกรุงเทพฯ
วาฬบรูด้า ในไทยนั้นหากินอยู่ทั้งในฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในอ่าวไทยตอนบนหรือที่ชาวเรือเรียกว่า “อ่าวรูปตัวกอ” ประกอบด้วยพื้นที่ชายทะเลของจังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ซึ่งในพื้นที่รูปตัวกอนี้มีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลลงทะเล เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำบางปะกง ในช่วงฤดูฝนแม่น้ำจะพัดพาเอาธาตุอาหารจากบกไหลสู่ทะเล ทำให้แพลงก์ตอนอุดมสมบูรณ์ ฝูงปลากะตักและปลาทูจะว่ายเข้ามากินแพลงก์ตอนที่อ่าวไทยใกล้ชายฝั่ง และปลาเหล่านั้นก็ดึงดูดวาฬบรูด้าให้ติดตามเข้ามาต้อนกินเป็นห่วงโซ่อาหาร และทำให้พบเจอวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวรูปตัวกอเป็นจำนวนมากจนเกิดกิจกรรมท่องเที่ยวดูวาฬ โดยสามารถเลือกขึ้นเรือได้ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร (ตำบลพันท้ายนรสิงห์) และจังหวัดเพชรบุรี (ตำบลบางตะบูน ตำบลแหลมผักเบี้ย)
สำหรับการดูวาฬบรูด้าครั้งนี้เราขับรถออกจากกรุงเทพฯ เพียงชั่วโมงเศษก็มาถึงท่าเรือร้านเจ๋ง ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นจุด ล่องเรือดูวาฬบรูด้า ที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด ตัวเรือเป็นเรือท่องเที่ยวที่สะดวกสบายมากๆ มีทั้งห้องติดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ ห้องน้ำสะดวก รวมอาหาร 2 มื้ออยู่ในแพ็กเกจ ที่สำคัญคือมีไกด์ประจำเรือที่มีความชำนาญและให้ความรู้เรื่องวาฬได้อย่างละเอียด แถมยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการถ่ายภาพวาฬ สำหรับมือใหม่หัดถ่ายวาฬจึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้แอ็กชันสวยๆ เป็นของฝาก
นั่งเรือออกจากชายฝั่งปากคลองประมงมาราวชั่วโมงเศษโลมาอิรวดีคู่หนึ่งก็กระโดดน้ำโชว์ตัวต้อนรับ สำหรับใครที่ไม่ได้ลงเรือก็ยังมีจุดชมโลมาอิรวดีที่บริเวณสะพานแดง ซึ่งสามารถพบเจอได้ราวเดือนพฤศจิกายน-เดือนมกราคม
แดดยังไม่ทันแรงเรือก็ร่องถึงปากร่องแม่น้ำท่าจีน เราได้พบวาฬกลุ่มแรกขึ้นโบลว (Blow) แถมยังโชว์อ้าปากโฉบกินปลากะตักคำใหญ่ๆ และจากนั้นก็เจอวาฬกลุ่มต่างๆ นับรวมได้ราว 20 ตัว ซึ่งถือว่าเยอะมาก ความพิเศษของวาฬบรูด้าอ่าวไทยคือทุกตัวมีชื่อและสามารถระบุอัตลักษณ์ได้หมด โดยทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้เริ่มศึกษาจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยการใช้ภาพถ่าย (Photo Identification, Photo-ID) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 อาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิบริเวณต่างๆ ตามลำตัว หรือแม้แต่ตำหนิที่อยู่ในปาก สามารถจำแนกความแตกต่างของวาฬบรูด้าในบริเวณอ่าวรูปตัวกอและตั้งชื่อให้วาฬมากถึง 60 ตัว เช่น เจ้าศรีสุข ลูกแม่สดใส เมื่อโผล่พ้นน้ำจะเห็นว่าครีบหลังขาด มีจุดสีดำ 2 จุดที่เพดานปากด้านซ้าย หรือแม่สดใสเองก็มีลักษณะครีบหลังแหว่งเข้าด้านใน เป็นต้นและไม่ใช่แค่นักวิจัยแต่ไกด์วาฬและชาวประมงในชุมชนที่นี่แค่เห็นวาฬโผล่พ้นน้ำก็สามารถเรียกชื่อวาฬทุกตัวได้อย่างแม่นยำราวกับว่ายักษ์ใหญ่ใจดีเหล่านี้คือหนึ่งในสมาชิกชุมชนอ่าวไทยที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
สำหรับใครที่สนใจ ล่องเรือดูวาฬบรูด้า ในทะเลใกล้กรุงที่สมุทรสาครแบบนี้สามารถสำรองที่นั่งและดูโปรแกรมการเดินเรือได้ที่ วาฬบรูด้าสมุทรสาคร บอกเลยว่าการดูวาฬไม่ใช่แค่ความเพลิดเพลินของการถ่ายภาพ แต่เวลาเพียงครึ่งค่อนวันสามารถทำให้คุณนึกหวงแหนท้องทะเลที่อยู่ของวาฬและอยากให้วาฬบรูด้าอยู่คู่อ่าวไทยนี้ไปนานๆ
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ