ปลอดภัยเมื่อไปเที่ยว! แนะนำวิธีการเอาตัวรอดจาก Crowd Crush ในพื้นที่ผู้คนคนแออัด
เหตุสลดที่เกิดขึ้นมือคืนวันเสาร์ที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังออกไปเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน ช่วงเวลาที่ทุกคนอยากจะสนุกสนาน อยากจะออกเที่ยวให้หายอัดอั้นหลังจากที่ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่างมาราว ๆ 2-3 ปี ด้วยสถานการณ์โรคระบาด แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น การออกไปเที่ยวเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่มีใครที่สมควรถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิด สมควรได้รับการลงโทษ เพราะการเลือกที่จะออกไปเที่ยว ไม่มีใครอยากจะออกไปเที่ยวแล้วไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีก เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ไปเที่ยว ≠ ไปตาย แต่ใช้ชีวิตแบบไม่ประมาทจะดีที่สุด
เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ประเด็นน่าสนใจที่เรามักจะเห็นอยู่เป็นประจำก็คือ มักจะมีคนออกมากล่าวโทษเหยื่อ เสมอ ๆ ไม่ว่าเหตุการณ์จะชวนให้เศร้าสลดแค่ไหนก็ตาม ในทำนองที่ว่าถ้าอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ออกไปเที่ยวที่อโคจร ไม่ออกไปเที่ยวกลางคืน หรือไม่ทำตัวอินเทศกาลก็คงไม่ตายหรือไม่ต้องมาประสบเหตุเช่นนี้ ต่อให้คำพูดดังกล่าวจะมีส่วนจริง แต่มันไม่ใช่คำพูดที่ถูกกาลเทศะเท่าไรนักในสถานการณ์แบบนี้ หากไม่สามารถรู้สึกสลดใจ เสียใจ หรือหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามข่าวได้ การเลื่อนข่าวผ่านไปเฉย ๆ แล้วอาจจะนินทาผู้ประสบเหตุแค่ในใจไม่ให้ใครรู้ น่าจะดีกว่า
สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ “อุบัติเหตุ” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิด คนที่ออกไปเที่ยวก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาประสบเหตุแบบนี้ เพราะจุดประสงค์ที่คนออกไปเที่ยว ก็เพื่อความสนุกสนาน เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล ไม่มีใครอยากไปเที่ยวโดยมุ่งหวังเพื่อไปตาย หากไม่เกิดเหตุร้ายขึ้น พวกเขาก็สามารถสนุกสนานได้ตามที่ตั้งใจออกไปตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น การออกไปเที่ยวสถานบันเทิง เที่ยวกลางคืน หรือเฉลิมฉลองเทศกาลตามวาระ พวกเขาไม่ได้ทำผิดบาปอะไร การออกไปเที่ยวจะต้องไม่เท่ากับไปตาย และถ้าว่ากันตามจริง ต่อให้นอนอยู่บ้านเฉย ๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันได้เหมือนกัน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องออกไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์หรอก
อย่างไรก็ดี คนที่ออกไปเที่ยวก็อาจจะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน อย่าประมาทเด็ดขาด หากเห็นลาง ๆ แล้วว่าสถานการณ์ตรงหน้าไม่น่าไว้วางใจ จงเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง และพยายามมีสติรู้ตัวอยู่เสมอ อนึ่งคือการรับรู้ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นหากเข้าไปใช้บริการสถานที่นั้น ๆ เพราะเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีอะไรอื่นที่ซุกไว้ใต้พรมหรือเปล่า อย่างที่ผ่านมา เหตุการณ์ไฟไหม้สถานบันเทิงที่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก จุดเริ่มต้นนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่การใช้งานอาคารผิดประเภท และตัวอาคารไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้วยซ้ำ
มันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะออกไปเที่ยวตามสถานบันเทิง เที่ยวกลางคืน หรือออกไปเฉลิมฉลองเทศกาลใด ๆ และเราไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่บ้านตลอดเวลาไม่ไปเที่ยวไหนเพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดี หากเราไม่ได้กระทำการใดที่ผิดกฎหมายหรือทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร เช่น การพยายามจะเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงทั้งที่อายุยังไม่ถึง การออกจากบ้านไปโดยที่ไม่บอกคนที่บ้านให้รู้ชัด ๆ ว่าเราจะไปไหน บอกว่าจะไปที่สถานที่หนึ่งแต่ตัวมาปรากฏอีกสถานที่หนึ่ง เป็นต้น เรื่องไม่ดีไม่สมควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้นแต่มันก็เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น อย่ากล่าวโทษว่าใครเป็นคนผิดเพียงเพราะเขาออกไปเที่ยว พวกเขาไม่ได้สมควรตายเพราะไปเที่ยว!
ทักษะการปฐมพยาบาล ไม่ว่าใครก็ควรทำเป็น
เนื่องจากอุบัติเหตุ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน และสถานการณ์ที่โรคประจำตัวกำเริบเป็นเรื่องใกล้ตัวเรากว่าที่คิด และมันก็จำเป็นมากต่อการช่วยเหลือชีวิตผู้คนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้มันเกิดแบบปัจจุบันทันด่วน โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า และอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ การที่มันไม่เกิดกับตัวเรา ก็อาจจะเกิดขึ้นกับคนรอบข้างเรา หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้าที่เดินสวนทางกัน ซึ่งถ้าเราเกิดเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเข้า เราจะทำอย่างไร เราจะช่วยเหลืออะไรคนเหล่านั้นได้บ้าง หรือทำได้แค่ยืนมองเฉย ๆ เพราะปฐมพยาบาลไม่เป็น!
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid) เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บแบบทันที ณ บริเวณที่เกิดเหตุ โดยผู้ช่วยเหลือจำเป็นต้องมีทักษะความรู้เฉพาะทางหรือการตัดสินใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ซึ่งในการช่วยเหลือเบื้องต้นอาจใช้เพียงอุปกรณ์เท่าที่หาได้ในขณะนั้น เพื่อประคับประคองอาการของผู้ป่วยจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือถูกส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม คนเดินถนนทั่ว ๆ ไปในสังคมมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องน้อยมาก ปัจจัยหนึ่งคือ โรงเรียนหรือหลักสูตรการศึกษาไม่ได้สอนให้ทำเป็นอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นทักษะที่ติดตัวไว้
แม้ว่าทักษะการปฐมพยาบาลจะไม่ใช้สิ่งที่คนเราอาจมีโอกาสได้ใช้บ่อย ๆ (ซึ่งดีแล้วที่ไม่จำเป็นต้องใช้) แต่ในสถานการณ์ที่เห็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือกำลังร้องโอดโอยอยู่ตรงหน้า อย่างน้อยที่สุดก็ควรที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้บ้าง ไม่ใช่ทำได้เพียงยืนมองเฉย ๆ ดังนั้น ทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งที่ควรมีติดตัวไว้เป็นความรู้รอบตัว ไม่ว่าใครก็ควรทำเป็น
เอาตัวรอดจากสถานการณ์ Crowd Crush
จากเหตุการณ์ที่เราอาจเรียกว่าเหยียบกันตายนั้น จริง ๆ สาเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตอาจไม่ได้มาจากการล้มลงแล้วถูกเหยียบจากฝูงชนจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นการล้มทับกันหลาย ๆ ชั้น ทำให้คนล่าง ๆ รับน้ำหนักไม่ไหว หรือจากการที่มีฝูงชนเป็นจำนวนมากเบียดเสียดกันจนหายใจไม่ออกแล้วขาดอากาศหายใจไปในที่สุด หรือการกระแทกกันไปมาจนได้รับบาดเจ็บ ทำให้โดยรวมแล้วเราจะเรียกเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่า Crowd Crush
หลายคนอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่าเหตุการณ์ Crowd Crush แบบที่เกิดขึ้นที่อีแทวอน โซล เกาหลีใต้ เมื่อคืนวันที่ 29 ต.ค. ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของโลก ที่ผ่านมาเคยเกิดโศกนาฏกรรมลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน คนที่สนใจศึกษาเหตุการณ์อื่น ๆ ในอดีตสามารถหาอ่านข่าวเก่า ๆ หรือคอนเทนต์ที่รวบรวมเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก็ได้ ย้อนไปได้มากสุดราว ๆ 40 กว่าปีเลยทีเดียว ทั้งที่เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก แต่วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกกลับเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ที่มักจะมีผู้คนไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมากเป็นธรรมดา มันเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนควรได้สนุกสนานและมีความสุขมากกว่า ไม่มีใครอยากไปแล้วตาย
ข้อมูลจาก BRIGHT SIDE ซึ่งเป็นช่อง YouTube ของไซปรัส ที่รวบรวมเกี่ยวกับเกร็ดน่ารู้และเคล็ดลับในการใช้ชีวิต อัปโหลดคลิปวิดีโอที่มีชื่อว่า 9 Quick Tips to Survive In a Crowd เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2018 เป็นข้อมูลเรื่องวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงชนเป็นจำนวนมากที่กำลังตื่นตระหนก ด้วยอาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้สถานการณ์ควบคุมไม่ได้ ในคลิปได้พูดถึงวิธีพาตัวเองไปสู่ความปลอดภัย แบ่งออกเป็น 9 วิธี
- กวาดตาสำรวจพื้นที่รอบตัว เมื่อใดก็ตามที่คุณจะต้องเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ให้ใช้เวลาราว ๆ 5 นาทีเพื่อดูช่องทางและวางแผนการหลบหนี มองหาทางออกฉุกเฉินว่าอยู่ที่ใด และอาจจะมีเลือกตัวเลือกทางออกอื่นอีก 2-3 ทาง เพราะธรรมชาติของคนเรา เวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนก คนจะวิ่งกลับออกมาในเส้นทางที่ที่ตัวเองเข้าไป หากไม่ได้มองหาทางหนีทีไล่อื่นไว้ (แต่การไม่พาตัวเองเข้าไปจะดีที่สุด)
- หาพื้นที่สูง ในบางสถานการณ์แห่งความตื่นตระหนก จะเป็นการดีกว่าที่เราจะไม่มุ่งหน้าไปที่ทางออก พร้อมกับฝูงชนอื่น ๆ ที่กำลังหวาดกลัว ถ้าเป็นไปได้ ให้หาพื้นที่สูง ๆ ขึ้นไปอยู่ และอยู่ดูสถานการณ์สักครู่
- งอแขนของคุณขึ้น การงอแขนขึ้นจะทำให้เกิดพื้นที่เล็กน้อยรอบ ๆ ตัวคุณ เพื่อให้คุณได้มีช่องว่างได้หายใจโล่ง ๆ เพิ่มขึ้นสักนิดก็ยังดี
- หลีกเลี่ยงการใช้ทางเดินที่แคบ โอกาสในการเอาชีวิตรอดของคุณจะลดลงอย่างมาก เมื่อคุณพยายามเบียดกับผู้คนเพื่อที่จะออกจากโถงทางเดินแคบ ๆ คุณอาจกระแทกไปจนมุมหรือถูกฝูงชนล้อมอย่างง่ายดาย ที่สำคัญ มันมีความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่คุณจะเจอเข้ากับคนที่เต็มใจจะช่วยคุณ เพราะใคร ๆ ก็พยายามจะเอาชีวิตตัวเองให้รอดในวินาทีนั้นทั้งนั้น
- ใช้ภาษามือสื่อสารกับผู้อื่น หากคุณต้องการอะไรจากผู้อื่น ในกรณีที่ทำได้ ให้ใช้ภาษามือช่วย รวมถึงการแสดงออกทางสีหน้า เพื่ออธิบายสถานการณ์ของคุณ บางทีเสียงกรีดร้องมันดังมาก ตะโกนแค่ไหนก็สื่อสารไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ บางกรณีที่เหตุการณ์กำลังเงียบ การตะโกนอาจจะทำให้คนตื่นตระหนกกันมากขึ้น แล้วทุกคนจะสติแตกกันกว่าเดิม
- มองหาทางออกอื่นที่เหมาะสม ในขณะที่ทุกคนกำลังจะมุ่งหน้าไปยังทางออกที่พวกเขารู้ว่าอยู่ตรงไหน หากคุณมีสติพอที่จะเจอทางออกอื่นที่พอจะออกไปได้ ให้ลองใช้ทางออกอื่น เนื่องจากจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะทำแบบเดียวกับคุณ โอกาสที่คุณจะรอดจึงพอมีอยู่บ้าง
- ถ้าคุณทำของตก ทิ้งมันไป วินาทีนั้นไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าคุณทำอะไรตก อย่าเสียเวลาก้มเก็บ มันไม่คุ้มกัน เพราะฝูงชนมหาศาลจะทำให้คุณล้มลงอย่างรวดเร็ว และถ้าคุณล้ม โอกาสที่คุณจะลุกได้แทบจะเป็นศูนย์ ให้พยายามป้องกันร่างกายตัวเอง เช่น การห่อตัว การใช้มือป้องกันศีรษะ อย่านอนราบหรือนอนหงายเด็ดขาด นั่นเป็นจุดอ่อนของร่างกาย
- ใช้เทคนิคการเดินแบบหีบเพลง หลักการคือเวลาคุณโดนกระแทกไปกระแทกมา มันจะเหมือนมีคลื่นเข้าออกตามแรงที่กระแทกกันไปมา ซึ่งมันจะเป็นจังหวะให้พอจะแทรกตัวออกมาได้ช่วงเวลาสั้น ๆ โดยการเดินตามแนวตั้งฉากกับการบีบกันของคลื่นคน
- อย่าหยุด เดินไปข้างหน้าหรือเคลื่อนไปในแนวทแยงมุมและอย่าหันหลังกลับ อย่าสวนทางไปในเส้นทางที่ผู้คนกำลังไหลถาโถม เพราะจะทำให้ล้มได้ แต่ให้ไหลตามคนที่กระแทกมาไปเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำที่มีคนแชร์กันจาก YouTube ช่อง The Common Thread ที่เคยให้ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ Crowd Crush โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นที่เทศกาลดนตรี Astroworld เมื่อเดือน พ.ย. ปี 2021 คำแนะนำโดยรวมใกล้เคียงกัน แต่เพิ่มเติมคือ ให้พยายามรักษาบาลานซ์ของร่างกายเอาไว้อย่าให้ล้ม (ล้มแล้วจะไม่ได้ลุกอีกเลย) ยืดตัวขึ้นให้ร่างกายขยายตัวเต็มที่ พยายามควบคุมการหายใจให้เป็นปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกแขนขึ้นมาตั้งการ์ดปกป้องบริเวณทรวงอก อวัยวะภายในที่สำคัญอยู่บริเวณนั้น ค่อย ๆ ไหลไปตามกระแสของมวลชน หลีกเลี่ยงการพาตัวเองไหลไปถึงจุดอับอย่างเสา รั้ว และกำแพง จะทำให้เรายิ่งโดนบีบอัดจากคนมหาศาล
แน่นอนว่าในสถานการณ์จริง วิธีการเอาตัวรอดอย่างในคำแนะนำมันคงไม่ง่ายขนาดนั้น แต่อย่างน้อยที่สุด เราควรรู้ไว้เพื่อเป็นความรู้ก็ได้ เผื่อว่าวันหนึ่งเราเจอสถานการณ์นี้กับตัวและคิดอะไรไม่ออกแล้วในเวลานั้น จะได้พอมีวิธีเอาตัวรอดในเบื้องต้น ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็น่าจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย เพิ่มโอกาสที่รอดหรือสูญเสียน้อยที่สุดหากทุก ๆ คนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันได้ มันก็คงดีกว่าการไม่รู้วิธีเอาตัวรอดใด ๆ เลย สิ่งสำคัญ คือการพยายามมีสติให้มากที่สุดและตัดสินใจให้เร็ว อย่าลังเลที่จะพาตัวเองออกไปสู่ที่โล่ง หรือหนทางที่ตัวเองจะปลอดภัย
และอีกสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่พาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเมื่อเห็นแล้วว่าสถานการณ์ตรงหน้าดูไม่น่าปลอดภัย ประเมินสถานการณ์สักหน่อยว่าควรพาตัวเองเข้าไปอยู่ในฝูงชนขนาดนั้นหรือไม่ และลองนึกถึงกรณีที่จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดดูก็ได้ หากได้คำตอบแล้ว เราจะรู้เองว่าควรหรือไม่ควรเข้าไป การระมัดระวังตัวเองเป็นการระวังเหตุที่ดีที่สุดแล้ว แน่นอนว่ามันไม่ใช่การห้ามออกไปเที่ยว แต่ต้องรู้ว่าความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน