Greeting Benjakitti เปลี่ยน สวนป่าเบญจกิติ เป็นอาร์ตสเปซ เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมฉบับป่ากลางเมือง

Greeting Benjakitti เปลี่ยน สวนป่าเบญจกิติ เป็นอาร์ตสเปซ เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมฉบับป่ากลางเมือง

Greeting Benjakitti เปลี่ยน สวนป่าเบญจกิติ เป็นอาร์ตสเปซ เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมฉบับป่ากลางเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โปรเจ็กต์เปิดมุมมองใหม่กรุงเทพฯ Unfolding Bangkok เดินทางมาถึง 2 โปรแกรมสุดท้ายที่กำลังจัดขึ้นพร้อมๆ กันใน 2 สถานที่ที่คนกรุงเทพฯ ต่างคุ้นเคยกันดีอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพงที่มาภายใต้ธีม “Living Old Building” และ สวนป่าเบญจกิติ ที่มากับธีม Greeting Benjakitti

unfolding-7-1The Center of Universe

ในส่วนของสวนป่าเบญจกิตินี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะพื้นที่ตรงนี้ถูกยกให้เป็นสวนสาธารณะเชิงนิเวศแห่งแรกของกรุงเทพฯ ความน่าสนใจของ Greeting Benjakitti จึงแน่นอนว่าเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับเมืองๆ แต่แทนที่จะพาเข้าไปทัวร์พื้นที่สีเขียวอย่างตรงตัว งานนี้กลับเลือกที่จะพาไปสำรวจพื้นที่ป่ากลางเมืองผ่านงานศิลปะจัดวาง (Art Installation) และศิลปะการแสดง Performing Art โดยมี  อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ศิลปินที่มีมุมมองร่วมสมัยมาทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ ชวนเปิดมุมมองสวนป่าเบญจกิติในประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมกับศิลปินอีก 5 คน ได้แก่ สุวรรณี สาระบุตร, วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และ อรรถพร คบคงสันติ จัดแสดงกันยาวๆ 6 เดือน ระหว่าง 18 มีนาคม – 30 กันยายน 2566

unfolding-3
Greeting Benjakitti จัดวางชิ้นงานศิลปะกระจายอย่างแนบเนียนกับพื้นที่สวน โดยเน้นการสร้างงานที่ไม่กระทบกับพื้นที่และสิ่งมีชีวิตเจ้าของพื้นที่มากนัก และเนื้อหาของงานจะเป็นการดึงองค์ประกอบโดยรอบของสวนเข้ามาให้เราได้ซึบซับ รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในแบบฉบับของสวนป่ากลางเมือง

unfolding-8The Center of Universe

ผลงานแรกที่เราได้ดูคือ The Center of Universe โดย อรรถพร คบคงสันติ ชิ้นนี้เปรียบเสมือนการดึงสวนรอบตัวเข้ามาไว้เพื่อนำเสนอมุมมองที่แปลกตาออกไปตามประสบการณ์ของผู้ชมในแต่ละช่วงเวลาและทิศทางของแสง ศิลปินเลือกใช้การชมสวนจากมุมมองของกล้องคาไลโดสโคป (Kaleidoscope) แต่เป็นการนำมาจัดวางและออกแบบมุมมองใหม่ โดยให้ผู้ชมต้องเข้าไปอยู่ภายในส่วนกลางของชิ้นงานเพื่อทอดสายตาออกมารอบๆ และด้วยความที่ชิ้นนี้ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วม จึงตั้งใจจัดวางแบบลดหลั่นกับขั้นบันไดคอนกรีตเพื่อให้เด็กๆ และผู้ใหญ่สามารถเข้าไปมองดูได้และได้เห็นความเป็น ป่ากลางเมือง สลับกับ เมืองที่มีพื้นที่ป่าล้อมรอบ ได้สนุกมาก

unfolding-2Stingless Bee City

unfolding-5ผึ้งชันโรง

อีกชิ้นที่สะดุดตาคือ Stingless Bee City หรือ ผึ้งน้อยธานี ออกแบบโดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ กับคำถามที่เกิดขึ้นว่า ในเมื่อมองไปโดยรอบเราเห็นสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกรามอยู่รายล้อมใจกลางเมือง แล้วทำไมสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วอย่างผึ้งชันโรง (Stingless Bee) จะมีที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองบ้างไม่ได้ ศิลปินจึงสร้างสรรค์รังของ ผึ้งชันโรง ขึ้นมาในรูปแบบ Living Sculptor  โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการเรียงตัวของเกสรดอกไม้และผลไม้ที่พบเห็นในธรรมชาติ ภายในผึ้งน้อยธานีมีผึ้งชันโรงอาศัยอยู่จริงกว่า 200,000 ชีวิต แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นอันตรายเพราะผึ้งชันโรงเป็นแมลงที่ไม่มีเหล็กใน ทั้งยังทำงานหนักด้วยการเป็นนักผสมเกสรแบบไม่เลือกดอก ฉะนั้นผลงานชิ้นนี้จึงเป็นการทดลองเพื่อให้เกิดประโยชน์กับวงจรธรรมชาติโดยรอบสวน และถือเป็นการปรับมุมมองต่อแมลงขนาดเล็กอย่างผึ้งชันโรงให้เป็นที่รู้จักและมีตัวตนในฐานะหนึ่งสมาชิกสำคัญของระบบนิเวศในเมืองใหญ่ไปด้วย และถ้าใน 6 เดือนนี้ผึ้งชันโรงสามารถอยู่รอดในป่ากลางเมืองได้ ก็อาจจะเป็นโมเดลใหม่ๆ ของการสร้างระบบนิเวศในป่ากลางเมืองได้เช่นกัน

unfolding-4Hornbill Villa

อีกหนึ่งผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ขนาดเล็กคือ Hornbill Villa หรือ วิลล่านกเงือก โดย สุวรรณี สาระบุตร ไอเดียตั้งต้นของศิลปินเกิดจากการเดินทางไปเห็นนกเงือกทั้งที่อาศัยอยู่ในโพรงไม้ตามธรรมชาติและก็มีบ้างที่มองหารังเทียมจากมนุษย์อย่าง ไห เพื่ออาศัยอยู่ ครั้งนี้ศิลปินจึงร่วมงานกับชุมชนช่างปั้นครกดินเผาในชุมชนไทญ้อ บ้านกลาง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในการปั้นเครื่องปั้นดินเผา 200 ชิ้น นำมาติดตั้งจัดวางเป็นเหมือนคอนโดกลางเมืองเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยของสัตว์ และก็ไม่แน่ว่างานชิ้นนี้อาจจะเพิ่มแหล่งพักพิงอาศัยให้กับนกและสัตว์เล็กอื่นๆ ในสวนป่าเบญจกิติในระยะยาวต่อไป

unfolding-6The Circle Biogenesis 2023

The Circle Biogenesis 2023 ออกแบบโดย สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ผลงานนี้เป็นเพียงชิ้นเดียวที่จัดแสดงอยู่ในน้ำและเป็นผลงานเชิงความหมาย ศิลปินตั้งใจสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของธรรมชาติ ชีวิต และจักรวาล จึงถ่ายทอดผลงานออกมาในรูปแบบวงกลมที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงและหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกันของทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ต้นข้าว และอาหารหลักที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีผลงานของอีกหนึ่งศิลปินคือ House of Silence หรือ เรือนแห่งความเงียบ โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้ใช้เวลาในการหยุดพักอยู่กับตัวเอง โดยการเชื่อมต่อสิ่งแวดล้อมและความรู้สึกภายในของตัวเรา

Fact File

  • ไม่เพียงแต่ผลงานศิลปะจัดวาง ด้วยความที่สวนป่าเบญจกิตติเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ Greeting Benjakitti จึงตั้งใจสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ให้กับพื้นที่ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างศิลปะการแสดงและเวิร์กช็อป สามารถติดตามโปรแกรมได้ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA
  • รับชม 5 ผลงานศิลปะ ในงาน Greeting Benjakitti สวนป่าเบญจกิติ ได้ตั้งแต่ 18 มีนาคม – 30 กันยายน 2566  เวลา 5.00 – 21.00 น.

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ Greeting Benjakitti เปลี่ยน สวนป่าเบญจกิติ เป็นอาร์ตสเปซ เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมฉบับป่ากลางเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook