Chiang Rai : Wiang of Light หลงแสงเวียง ที่เจียงฮาย
วันนี้นวลจะชวนทุกคนไปชื่นชมความยิ่งใหญ่ตระการตาของเชียงรายบนเส้นทางแห่งกาลเวลา สะท้อนประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ ของเวียงเจียงฮาย ผ่านการแสดงแสงสีตระการตา ในคอนเซ็ปต์ ‘Time & Travel’ กับ 15 จุดเช็คทั่วเมืองเชียงราย โดยที่แต่ละจุดจะนำเสนอความโดดเด่นทางสถาปัตย์และอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยแนวคิดและเทคนิคการจัดแสงสีที่สวยงามแตกต่างกันออกไป
งานนี้นวลต้องกระซิบบอกว่า ไม่ว่าเพื่อนๆ จะเป็นนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ทีมถ่ายรูป ทีมเช็คอิน ทีมแต่งสวย หรือทีมอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนไม่ควรพลาด
“ตกเย็นโทรถามเพื่อนสาว ว่าคืนนี้เราจะไปไหนกันดี”
“เพื่อนสาวเธอตอบอย่างไม่ลังเลใจ ถ้าคืนนี้ไป อยากไปดูแสงสี!”
โอเค จัดไป!!
หลังพระอาทิตย์ตกปุ๊บ ก็ได้เวลาที่นวลนัดกับเพื่อนไว้ วันนี้เราจะไปตะลุยเวียงเจียงฮาย ถ่ายรูป เดินชมงานแสดงแสงสี "วิจิตร 5 ภาค @เชียงราย หลงแสงเวียง ที่เจียงฮาย"
แน่นอนว่าเรารีบพากันออกไปชมกันตั้งแต่หัวค่ำ เพราะงานดีๆ แบบนี้ไม่ได้มีให้เราได้ชมบ่อยๆ แถมจุดแสดงแสงสีก็มีให้ชมถึง 15 จุดทั่วเมืองเชียงราย ซึ่งนวลคุยกับเพื่อนแล้วว่า ต้องเก็บให้หมด!
ค่ำนี้เรานัดกันที่หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ หลังจากทานข้าวเย็นเติมพลังกันเรียบร้อย เราก็พร้อมออกย่ำรอบเมืองเชียงราย ไปยังจุดเช็คอิน 15 จุด ด้วยระยะทางทั้งหมดกว่า 5 กม.
Let’s goooooo!!
1.หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ
เราเริ่มต้นชื่นชมงานแสดงแสงสีกันที่แรกที่หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นหอนาฬิกาที่สวยมากของไทย ด้วยการแบบของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ โดยหอนาฬิกาแห่งนี้เป็นหอนาฬิกาสีทองที่ประดับด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
2.ถนนเชื่อมหอนาฬิกา
เราเดินต่อมาชมความปัง ฟีลหนังไซไฟที่มีฉากหลังเป็นหนังประวัติศาสตร์ เพราะบนถนนเส้นนี้เขามีการจัดแสงสีด้วยเทคนิค Laser & Mirror ด้วยการยิงเลเซอร์ถักเป็นตาข่ายเหนือพื้นถนน เหมือนเป็นคลื่นแสงเชื่อมสองเวลา และสองสถานที่เข้าด้วยกัน มันต๊าซซซมากแม่
3.หอนาฬิกาเก่า
นวลเดินตามถนนสุขสถิตย์มาเรื่อยๆ จนถึงหอนาฬิกาเก่าของจังหวัดเชียงราย
ที่นี่จัดแสดงแสงสีด้วยคอนเซ็ปต์ Classical Time ด้วยเทคนิค Luminous Light ซึ่งเป็นการยิงแสงสีขาวล้อมรอบหอนาฬิกา อวดโฉมช่วงเวลาหนึ่งในอดีต ที่หอนาฬิกาแห่งนี้เคยเป็นตัวแทนที่สื่อถึงความเจริญของเมืองเชียงราย
กาดก่อเมือง
การค้าไม่เคยแยกจากมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่ผสานกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนมายาวนาน การค้าของรัฐดินแดนตอนใน (ไม่ติดทะเล) อย่างล้านนา มีส่วนอธิบายการก่อรูปของรัฐผ่านการปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มคนในระดับต่างๆ และพื้นที่ทางการค้าเหล่านี้เองที่สร้างเงื่อนไขของกระบวนการรับรู้ความต่างระหว่างชาติพันธุ์ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและเข้ามากระทบต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการแลกเปลี่ยนจึงส่งผลต่อการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงมิติความสัมพันธ์ในด้านอื่นไปด้วยพร้อมกัน (ผู้เขียน : วราภรณ์ เรืองศรี)
4.ตึกสามเหลี่ยม
เรามาต่อกันที่ตึกสามเหลี่ยม ที่ตอนนี้ถูกประดับประดาและฉายสว่างด้วยแสงนีออน เห็นแบบนี้ปุ๊บ ดนตรีกับเนื้อเพลงหนาวแสงนีออน ลอยเข้ามาในหัวนวลทันทีเลยจ้า 55555
แต่ว่าไม่ได้นะ การจัดแสงสีที่นีเขาสวยอลังจริง ด้วยรูปทรงแปลกตาของตึกสามชั้นที่เห็นอยู่เบื้องหน้า กับเทคนิคการจัดแสง LED Neon Night ใต้แนวคิด Neon Era ที่นำเอาไฟนีออนมาใช้ในการตกแต่งและจัดวางเป็นศิลปะ สร้างเอกลักษณ์ และสะท้อนถึงยุคสมัยหนึ่งในอดีต
5.วัดมิ่งเมือง
เราเดินมาชมความอลังการของแสงสีและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นกันต่อที่วัดมิ่งเมือง หรือที่ชาวเชียงรายเรียกกันว่า วัดจ๊างมูบ (ช้างหมอบ) หรือวัดตะละแม่ศรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย ตั้งอยู่ตรงสี่แยกขัวดํา ใกล้หอนาฬิกา
วัดมิ่งเมืองเป็นสถาปัตยกรรมศิลปะผสม ระหว่างพม่าและล้านนา การันตีความวิจิตรงดงามทั้งภายในและภายนอก
6.มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์
ไปต่อจ้า..
เราเดินมาชมแสงสีกันต่อที่มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงราย ที่นี่มีการจัดแสดงแสงสีภายใต้แนวคิด Power of Gods ด้วยเทคนิค Red & Gold Lights โดดเด่นด้วยสีแดงและสีทอง ซึ่งเป็นสีแห่งความโชติช่วงชัชวาล และเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง โชคดี ซึ่งเราก็ไม่พลาดถ่ายรูปเช็คอิน เรียกความปังต่อเนื่องแบบไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ รัวชัตเตอร์วนไปจ้า
7.วัดพระแก้ว
หลังจากถ่ายรูปเช็คอินที่มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงรายจนพอใจแล้ว เราก็ไปต่อกันที่วัดพระแก้ว บนถนนไตรรัตน์ ใจกลางเมืองเชียงราย ซึ่งวัดนี้เป็นสถานที่แรกที่มีการค้นพบพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในกรุงเทพฯ
ตามประวัติเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นเจ้าครองเมืองเชียงใหม่ ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมาจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบันวัดพระแก้วเชียงรายได้สร้างและประดิษฐานพระหยก ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่
8.ศาลากลางจังหวัด (เก่า)
“คุณได้ไปต่อค่ะ”
เราเดินหน้าไปชื่นชมความตระการตาของแสงสีกันต่อแบบไม่สะดุด ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า
ที่ศาลากลางเก่ามีการนำเสนอแสงสีในรูปแบบ Concept Motion l Chiang Rai, Wiang of Light ด้วยเทคนิค Projection 3D Mapping บอกเล่าถึงที่มาของแนวคิดของการจัดงาน พร้อมนำเสนอข้อมูลเส้นทางการชมสถานที่จัดงาน ทั้ง 15 จุดทั่วเมืองเชียงราย
สวยแจ่ม ไม่ผิดหวัง บอกเลย
9.หอประวัติเมือง
เดินมาถึงหอประวัติเมือง ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าชวนให้นวลนึกถึงหนังเรื่อง Night at the Museum ด้วยความสวยงามของตัวอาคาร บวกกับการจัดแสงสีตระการตาด้วยเทคนิค Colorful Par Light ที่ใช้วิธีตกแต่งด้านนอกตัวอาคารด้วยไฟหลากสี เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าไปชมนิทรรศการภายในอาคาร
โดยเฉพาะช่วงงานหลงแสงเวียงเจียงฮายนี้ ทางหอประวัติเมืองได้ขยายเวลาเปิดทำการภาคกลางคืนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมด้วยนะทุกโค้นนนน
10.แมงสี่หูห้าตา
แมงสี่หูห้าตา เป็นชื่อสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งในตํานาน ว่าด้วยวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว มีลักษณะเหมือนหมีสีดําตัวอ้วน มีหูสองคู่และตาห้าดวง กินถ่านไฟร้อนเป็นอาหาร และถ่ายมูลเป็นทองคํา
ที่เก๋ไก๋ไปกว่านั้นคือ แมงสี่หูห้าตาเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นมาสคอตประจำงานกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 36 "เจียงฮายเกมส์" ด้วยนะ
11.ต้นไม้ใหญ่
หลังจากชื่นชมโคมไฟแมงสี่หูห้าตาเสร็จ นวลกับเพื่อนก็ตรงลงมาที่จุดจัดแสดง ‘ต้นไม้ใหญ่’ ซึ่งจัดอยู่ที่กลุ่มต้นไม้ใหญ่บริเวณริมถนนสิงหไคล เพื่อเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า การรักษาระบบนิเวศและความยั่งยืนร่วมกันของคนเชียงรายกับป่าไม้
12.บ้านสิงหไคล
เดินออกมาไม่ไกลนัก นวลก็มาถึงบ้านสิงหไคล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดแสดงแสงสีที่สวยงามไม้แพ้จุดอื่นๆ ที่จุดนี้มีการจัดแสงสีด้วยเทคนิค Tiny Light Bulbs Par Light โดยใช้แสงอาบฉาบผิวด้านนอก และใช้แสงสว่างออกมาจากภายในตัวบ้าน ผ่านช่องหน้าต่าง เพื่ออวดสัดส่วนการออกแบบบ้านอันสวยงาม และตกแต่งรอบบ้านด้วยไฟเม็ดถั่ว ในคอนเซ็ปต์ Shape of House
13.ตู้โทรศัพท์
ออกจากบ้านสิงหไคล เราก็ไปกันต่อที่จุดจัดแสดงแสงสี ‘ตู้โทรศัพท์’ ซึ่งสะท้อนถึงอีกหนึ่งประวัติศาสตร์การสื่อสารของคนเชียงรายในอดีตที่เปลี่ยนผ่านไป ในแนวคิด Silent Call ด้วยเทคนิค Light Inside Box-Phone ซึ่งเป็นการติดตั้งแสงภายในตู้โทรศัพท์แบบหยอดเหรียญ เพื่อคืนชีวิตให้กับตู้โทรศัพท์ให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง
ว่าแล้วก็นึกถึงสมัยก่อนที่นวลต้องแลกเหรียญไปยืนเข้าแถวรอหน้าตู้โทรศัพท์ทุกวันหลังเลิกเรียนซะจริงๆ
“โทรหาแหน่เด๊อ จำเบอร์โทรน้องได้บ่?” แน่ะ เพลงมาอีกละ 555
14.สวนตุงและโคม
นวลมาต่อที่สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75พรรษา ซึ่งเป็นจุดที่จัดแสงสีด้วยเทคนิค Light Installation ออกมาเป็นประติมากรรมดอกพวงแสดส่องแสง ประกอบฉากแสงสีส้ม บนสวนสาธารณะกลางเมือง เนื่องจากดอกพวงแสดนั้นเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงรายนั่นเอง
15.โบสถ์คริสตจักรที่ 1
และแล้วนวลก็เดินทางมาถึงจุดจัดแสดงแสงสีจุดสุดท้าย ที่โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย ซึ่งใช้รูปแบบการจัดแสงสีแบบ Light vs Shadow ซึ่งเป็นการสู้กันระหว่างแสงและเงา ภาพที่ออกมาจึงดูสวยงามน่าค้นหา
แน่นอนว่านวลไม่พลาดที่จะเก็บภาพความประทับใจและความสวยงามของการจัดแสงสีสะท้อนความเป็นมาของเวียงเจียงฮายจุดนี้ด้วย
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจไปชมการจัดแสดงแสงสีตระการทั้ง 15 สถานีประวัติศาสตร์แบบนวล งาน "วิจิตร 5 ภาค @เชียงราย หลงแสงเวียง ที่เจียงฮาย" จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20-28 พ.ค. 2566 เวลา 18:00-24:00 น. ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย นะ
อย่าลืมไปร่วมเสพงานศิลป์ สูดกลิ่นประวัติศาสตร์ด้วยกันเน้อทุกคน มาหลงแสงเวียงที่เจียงฮายพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 20-28 พ.ค. 2566 เวลา 18:00-24:00 น. ณ อ.เมือง จ.เชียงราย
อัลบั้มภาพ 77 ภาพ