ชวนดู "สายธารเหยี่ยวอพยพ" กว่า 2 แสนตัว หนีหนาวบินผ่านเขาเรดาห์

กิจกรรมดูเหยี่ยวอพยพใช้ชื่อว่า “สายธารเหยี่ยวอพยพ (River of Raptors)” ระหว่างปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่สถานีทวนสัญญาณบ้านไชยราช หรือ เขาเรดาร์ ซึ่งอยู่ก่อนถึงศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ ถนนเพชรเกษม หลักกิโลเมตรที่ กม. 431+800 มุ่งหน้าลงทิศใต้ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย
ซึ่งเป็นจุดดูเหยี่ยวอพยพที่สำคัญในประเทศไทยและเป็นจุดที่จะพบฝูงเหยี่ยวหลากหลายสายพันธุ์ นกอพยพเหล่านี้บินไกลมาจากประเทศไซบีเรีย จีน มองโกเลีย เกาหลี และญี่ปุ่น โดยฝูงเหยี่ยวจะเดินทางระยะไกลกว่า 2,000-4,000 กิโลเมตร (กม.) มุ่งหน้าสู่ทิศใต้ผ่านประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่า
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นทางหลวงจุดเชื่อมต่อระหว่างเขตอบอุ่นและเส้นศูนย์สูตรจึงเหมาะสมด้วยภูมิประเทศที่มีอ่าวไทยเป็นผืนน้ำขนาดใหญ่และเหยี่ยวอพยพจะเดินทางในเวลากลางวัน อาศัยลมร้อนหนุนส่งให้บินสูงขึ้นเพื่อมุ่งหน้าลงใต้ จึงพบเหยี่ยวอพยพจำนวนมากตามแนวชายทะเลอ่าวไทย เหยี่ยวหลีกเลี่ยงการบินเหนือผืนน้ำเพราะอาจจะหมดแรงบินไม่ถึงแผ่นดินข้างหน้า
ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจและไม่ควรพลาด ทั้งนี้ฝูงเหยี่ยวอพยพจะบินออกหาอาหารในช่วงกลางวันและรวมฝูงกันกลางอากาศนับร้อยนับพันตัว บินลอยละล่องบนท้องฟ้ากระจายออกเป็นเสมือนสายน้ำซึ่งน่าสนใจและหาดูได้ยากมาก
ทั้งนี้จุดดูเหยี่ยวอพยพที่สำคัญในประเทศไทยและยิ่งใหญ่ในด้านความหลากหลายของชนิดเหยี่ยวและจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ไปชมกันได้ง่ายๆ มีด้วยกัน 2 จุด คือ เขาเรดาร์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเขาดินสอ จ.ชุมพร
โดยเฉพาะเขาเรดาร์เป็นจุดที่สามารถส่องเหยี่ยวได้สบายๆ เพราะลงจากรถยนต์ก็ถึงลานชมเหยี่ยวบนเขาเรดาร์ เหมาะสำหรับคนดูเหยี่ยวทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กๆ และผู้สูงวัยไม่ต้องเดินขึ้นเขาสูงชัน ขนอาหาร น้ำดื่ม เก้าอี้เอนหลังไปนั่งปิกนิกทอดอารมณ์ชมเหยี่ยวบินผ่านในระดับสายตาจากทิศเหนือลงใต้เหมือนไปปิกนิก
โดยเหยี่ยวอพยพ 6 ชนิดหลักประกอบด้วยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวนกเขาชิครา เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวหน้าเทา และเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ สำหรับช่วงเวลาชมเหยี่ยวอพยพจะเป็นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกันยายน-ต้นเดือนตุลาคม จะพบเหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น และในสัปดาห์ที่ 3 เดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน จะพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ เหยี่ยวและนกอินทรีหายาก
นางสาวโศรยา หอมชื่น ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขอชวนนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าร่วมดูเหยี่ยวระหว่างปลายเดือนกันยายน-ต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยเวลาที่เหมาะสมในการดูเหยี่ยวคือช่วงเวลา 07.00-11.00 น. และ 14.00 -17.00 น. ทั้งนี้ขอให้เตรียมอุปกรณ์ในการส่องนกกำลังขยาย 8 เท่า เช่น 8x32, 8x40, 8x42 (เหมาะสำหรับมือใหม่)
เนื่องจากมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ติดต่อสอบถามได้ที่คุณประพิณ บัวสงค์ เจ้าหน้าที่ดูแลสถานที่ (เขาเรดาร์) โทร.086-1651352 หรือคุณคำพูน บุญเสงี่ยม รองนายก อบต.ไชยราช โทร.032 694619ในวันและเวลาราชการ
และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.BirdsofThailand.org, www.facebook.com/ThaiRaptorGroup.TRG, www.facebook.com/KasetsartUniversityRaptorUnit พร้อมทั้งขอรับเอกสารในการดูเหยี่ยวได้ที่ ททท. สำนักงานประจวบฯ เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.โทรศัพท์ 032 513885 , 032513871 Fan Page : TAT PRACHUAP
ทางด้านนายจีรภัทร วังกะ อายุ 18 ปี นิสิตคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้มีโอกาสมาชมเหยี่ยวอพยพเป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจมาก เพราะเป็นฝูงเหยี่ยวอพยพตามธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้จากนอกตำราเรียน นอกรูปภาพ เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นเหยี่ยวจากภูเขาสูงแบบนี้
ส่วนตัวชอบสัตว์ป่า แต่มีโอกาสสมัครมาร่วมกิจกรรมดูเหยี่ยวในครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยยอมรับว่าการดูเหยี่ยวค่อนข้างยาก ด้วยชนิด ความสูง และการบินร่อน ไม่อยู่กับที่ แต่ได้ฝึกดูเทียบลักษณะกับตำราดูนก ช่วยทำให้ง่ายขึ้น อยากชวนเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจดูเหยี่ยวอพยพซึ่งเป็นปรากฏการทางธรรมชาติที่น่าสนใจ
นายประพิณ บัวสงค์ นักดูเหยี่ยวชาวบางสะพานน้อย กล่าวว่า ตนหัดดูเหยี่ยวอพยพมาได้ประมาณ 10 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งการดูเหยี่ยวแรกๆ มีความยากแต่สามารถดูได้ โดยดูจากลักษณะโครงสร้าง ขนาดตัว สี ท่วงท่าการบิน
เมื่อจำลักษณะของเหยี่ยวแต่ละชนิดได้ จะบอกได้ว่าตัวไหนเป็นเหยี่ยวพันธุ์อะไร อีกทั้งในปัจจุบัน ททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำคู่มือการดูเหยี่ยวอพยพ ให้กับประชาชนที่สนใจมาดูเหยี่ยวได้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ดูเหยี่ยวอพยพได้อย่างง่าย โดยเฉพาะเยาวชนที่สนใจสามารถมาชมและศึกษาข้อมูลได้ทุกวัน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ