"ผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูป" ของฝากขึ้นชื่ออำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ในการปลูกกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมส้ม มากที่สุดในจังหวัดหนองคาย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยประมาณ 5 พันไร่ ส่งขายตามตลาดใหญ่ ๆ ในภาคอีสาน และคนในชุมชนก็ได้มีการนำกล้วยมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด ที่ขึ้นชื่อคือกล้วยตาก
ถือเป็นของฝากของอำเภอสังคม ร้านขายของฝากที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ที่ต้องแวะซื้อก่อนกลับหรือก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่น คือร้านแม่อารักษ์ ที่ขายผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปมากว่า 15 ปี ตั้งแต่รุ่นแม่ จนขณะนี้ถึงรุ่นลูกแล้ว ในร้านมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปมากกว่า 7 ผลิตภัณฑ์ และยังมีการนำผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อจากกลุ่มอื่น ๆ ในจังหวัดหนองคาย มาจำหน่ายอีกหลายผลิตภัณฑ์
นายพิพัฒพงษ์ คันธี อายุ 40 ปี เจ้าของร้านของฝาก แม่อารักษ์ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกตนก็ไม่คิดมาก่อนว่าจะมาทำร้านของฝากฯ นี้ เริ่มต้นจากเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คุณแม่ได้ทำผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปขายมาก่อน และเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาคุณแม่ไม่สบายตนก็ได้ลาออกจากงานที่ทำอยู่มาดูแลคุณแม่ ทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งจากที่ร้าน จากการได้ไปอบรมพัฒนาตนเองอยู่เป็นประจำ ทำให้ตนกล้าที่จะลงทุนทำผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปให้มีความหลากหลายมากขึ้น
จึงได้ไปกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาลงทุน มีการพัฒนาแพ็คเกจจิ้ง มีการเรียนรู้ เข้าอบรม พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเรียนรู้วิธีการทำการตลาด จนทำให้ขณะนี้ผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของร้าน เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อและเป็นของฝากของอำเภอสังคม ซึ่งต่อจากนี้ในเร็ว ๆ นี้อาจจะมีการรีแบรนด์และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก
นายพิพัฒพงษ์ เล่าต่อไปอีกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของร้าน คือกล้วยตาก ทำจากกล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยตากที่ตากจากพลังงานแสงอาทิตย์ สลับอบด้วยเตาถ่าน ทำให้หอมหวานจากธรรมชาติ ไม่ได้ใส่น้ำผึ้ง ไม่ได้ใส่น้ำเชื่อมเป็นกล้วยน้ำว้าร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์กล้วยทอดหรือ กล้วยสุกทอดเบรกแตก กล้วยฉาบหวานน้อย ที่เคลือบน้ำเชื่อมบาง ๆ ตามเทรนสุขภาพที่ไม่หวานมาก ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ได้รับประทาน
กล้วยอบเกลือบาง ๆ ก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้รับความนิยม กล้วยคลองแคลง กล้วยอบเนย และกล้วยปาปิก้า นอกจากนี้ยังมีการนำเผือก มัน และฟักทอง มาแปรรูปตามฤดูกาลอีกด้วย ที่สำคัญวัตถุดิบในการแปรรูปจะซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากชาวบ้านในชุมชนทั้งหมด ซึ่งอำเภอสังคม เป็นพื้นที่ ๆ มีการปลูกกล้วยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
หากผลผลิตแปรงใหญ่ที่มีผลผลิตมากก็จะส่งตามตลาดใหญ่ ๆ แต่ถ้าเป็นแปรงเล็กผลผลิตไม่มาไม่คุ้มที่จะส่งขายตลาดใหญ่ ก็จะส่งให้ขายในชุมชน ทำให้ร้านของตนมีกล้วยที่เป็นวัตถุดิบหลักมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดทั้งปี และในอนาคตก็จะมีการหาพื้นที่เพื่อปลูกกล้วยไว้เป็นวัตถุดิบของเองด้วย เนื่องจากขณะนี้พบว่าขณะนี่ชาวบ้านไม่มีการเพิ่มพื้นที่ในการปลูกกล้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะทำมีปัญหามีกล้วยไม่เพียงพอในการแปรรูป
ในส่วนของการตลาดนั้น จะขายที่หน้าร้านประมาณร้อยละ 80 เนื่องจากอำเภอสังคมมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นเส้นทางในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่น ๆ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวหรือจะผ่านอำเภอสังคม ก็จะหาร้านของฝาก ร้านของตนเป็นจุดศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาจับจ่ายซื้อหาของฝากกัน ทำให้กลายเป็นร้านของฝากประจำอำเภอสังคม
อีกร้อยละ 10 จะขายส่งให้กับลูกค้านำไปทำแพ็คเกจและแบรนด์ของตนเอง และอีกร้อยละ 10 ก็จะขายทางโซเชียล ทั้งหน้าเฟสบู๊ค ไลน์ และลาซาด้า สำหรับปัญหาที่มีในขณะนี้คือ ในเรื่องของกำลังการผลิต เนื่องจากเป็นการผลิตด้วยมือ ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในการผลิต ทำให้ไม่ได้ไม่มาก ทำให้บางครั้งบางผลิตภัณฑ์ที่ขายไปหมดผลิตไม่ทันจนต้องรอรอบการผลิตใหม่ ส่วนราคาที่มีการจำหน่ายสมเหตุสมผล เป็นถุงเริ่มต้นจาก 35 – 150 บาท ส่วนซื้อยกแพ็คก็จะอยู่ที่ 500 – 600 บาท
นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ผ่านไปทางอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย สามารถแวะซื้อของฝากขึ้นชื่อได้ที่ ร้านแม่อารักษ์ บ้านสังคม ต.สังคม จังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายสังคม – ปากชม อยู่ในเขตตัวอำเภอสังคม เปิดขาย ตั้งแต่เวลา 07.00 น. – 18.00 น. ทุกวัน
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ