"คุ้มเจ้าหลวง" สมบูรณ์ที่สุดนอกเมืองเชียงใหม่

"คุ้มเจ้าหลวง" สมบูรณ์ที่สุดนอกเมืองเชียงใหม่

"คุ้มเจ้าหลวง" สมบูรณ์ที่สุดนอกเมืองเชียงใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  หลายแห่งได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ให้เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง ล่าสุดผู้สื่อข่าวพาไปชม

"คุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ"  อายุเกือบ 100 ปี ของ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 ซึ่งถือว่าเป็นคุ้มเจ้านอกเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด และ เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านในชุมชน

คุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ ตั้งอยู่ในชุมชนทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 5 ไร่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2470 เป็นเรือนไม้แบบพื้นเมือง ยกใต้ถุนสูง มีระเบียงโดยรอบ ด้านหน้าเป็นชานเรือนกว้าง ตัวเรือนประกอบไปด้วยห้องโถง ห้องพระ ห้องบรรทม ห้องทรงงาน 

ด้านหลังมีชานเชื่อมกับครัว ทิศตะวันออกของคุ้มซึ่งติดกับห้องบรรทม มีต้นลำดวนและต้นมะปรางขนาดใหญ่ที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระขนิษฐาต่างมารดา ได้ทรงปลูกไว้และยังคงยืนต้นเคียงคู่เรือนประทับหลังนี้มาจนถึงปัจจุบัน

พระครูถาวรนพรัฐ เจ้าอาวาสวัดศรีนวรัฐ หรือ วัดทุ่งเสี้ยว  เล่าว่า  สาเหตุที่เจ้าแก้วนวรัฐทรงสร้างคุ้มหลังนี้ที่ชุมชนทุ่งเสี้ยว ก็เพราะว่าพระมารดาของพระองค์อยู่ที่ชุมชนทุ่งเสี้ยว  ประกอบกับเจ้าแก้วนวรัฐทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาและได้ทรงบูรณะวัดทุ่งเสี้ยวที่มีความทรุดโทรม ในปี 2460 คุ้มหลังนี้จึงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับทุกครั้งที่เดินทางมาร่วมทำบุญที่วัดทุ่งเสี้ยว

คุ้มหลังนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน กระทั่งทายาทเจ้านายฝ่ายเหนือได้เข้ามาบูรณะเมื่อ 5 ปีก่อน จากนั้นถูกเปลี่ยนมือ แต่ถือว่าโชคดีที่ผู้ครอบครองคนใหม่ เห็นร่วมกับทางวัดและชุมชนในการอนุรักษ์คุ้มเจ้าหลังนี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและมรดกของคนรุ่นหลัง

จึงมีการปรับปรุงบูรณะและปรับภูมิทัศน์ เตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต ส่วนระหว่างนี้ให้ทางวัดช่วยดูแลและอนุญาตให้ทางวัดพานักท่องเที่ยวเข้าชมได้

ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ผ่านสถานที่จริง สามารถติดต่อกับวัดศรีนวรัฐ หรือ วัดทุ่งเสี้ยวได้ ซึ่งพระครูถาวรนพรัฐ พร้อมจะพานักท่องเที่ยวย้อนเวลากลับสู่อดีตผ่านบรรยากาศภายในคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐอันร่มรื่น 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook