ชาวสวนทุเรียนรื้อฟื้นลุมโป๊ะ ทุเรียนกวนแบบโบราณยืดอายุ
ทุเรียนบ้าน หรือ ทุเรียนพื้นเมืองเป็นไม้ผลประจำถิ่นทางภาคใต้ มีขนาดเล็กกว่าทุเรียนพันธุ์ ลักษณะผลค่อนข้างกลม มีทั้งหนามสั้นและยาว เนื้อน้อย แต่รสหวาน ผลแก่จะสุขคาต้นและหล่นเอง โดยทุเรียนพื้นเมืองหรือทุเรียนบ้าน ชาวบ้านนิยมนำไปทำทุเรียนกวนไว้รับประทานหรือขายตลอดทั้งปี
ในระยะหลังได้รับความนิยมไม่แพ้ทุเรียนพันธุ์ เนื่องจากข้อดีของทุเรียนบ้านคือปลอดสารพิษ และบางสายพันธุ์มีรสชาติอร่อย เนื้อมากไม่แพ้ทุเรียนพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ทุเรียนบ้านของจ.สตูลเริ่มหล่นและออกสู่ตลาดโดยราคาขายอยู่ที่ก.ก.ละ 50-70 บาท ถือว่าเป็นราคาดี
นางดวงตา มาลินี อายุ 62 ปี ชาวสวนในพื้นที่ ม.1 ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล กล่าวว่า ที่สวนของตนเองเป็นสวนผสมผสาน มีทั้งทุเรียนพื้นเมือง ทุเรียนพันธุ์และ ผลไม้ชนิดอื่นเช่นเงาะ จำปาดะ ลองกอง มังคุด ส่วนทุเรียนพื้นเมืองหรือทุเรียนบ้านของตนนั้นมีหลายสายพันธุ์ แต่ต้นที่อายุ 200 ปีซึ่งมีต้นเดียว ให้ผลผลิตประมาณ 500 ลูก ปีนี้มีรสชาติหวานเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะทุเรียนแทงยอดช่วงที่ออกผลผลิตแล้ว รสชาติจึงไม่หวานเท่าที่ควร
เมื่อนำไปขายก็จะถูกต่อว่าจากลูกค้า ทุเรียน 500 ลูกกำลังจะเสียหายและต้นอื่นก็กำลังหล่นตามมา ตนจึงนำมาทำ “ลุมโป๊ะ” ซึ่งลุมโป๊ะคือการทำทุเรียนกวนแบบโบราณ เริ่มจากแกะเนื้อทุเรียน แล้วนำมากวนในกระทะใช้ไม้ฟืนแบบโบราณ ใช้เวลากวนประมาณ4-5 ชั่วโมงจนกลิ้งในกระทะ
จากนั้นนำมาห่อด้วยใบกระพ้อและมัดด้วยใบลาน และนำมาอังไฟประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ทุเรียนกวนแห้งสนิทจนใบกระพ้อจากสีเขียวเป็นสีขาว ซึ่งนางดวงตา กล่าวว่าการทำลุมโป๊ะนี้ เป็นเนื้อทุเรียนล้วน ไม่ผสมน้ำตาลหรือแป้งแต่อย่างใด แต่เนื่องจากทุเรียนต้นนี้ปีนี้ไม่หวานมาก
เมื่อนำมากวน จึงหวานน้อยกว่าปกติกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนรักสุขภาพ ประกอบกับการทำแบบโบราณที่ไม่ค่อยมีใครทำ ซึ่งลูกสาวได้เปิดขายให้ทางเฟส จึงมียอดการจองที่ค่อนข้างดี ลูกค้าเห็นและสั่งจองกันมาก จนผลิตให้แทบไม่ทัน
โดยลุมโป๊ะหรือทุเรียนกวนโบราณของตนขายชิ้นละ 20 บาท หากเป็นกิโลกรัมขายก.ก.ละ 350 บาท วิธีทำแบบนี้ตนสืบทอดมาจากแม่ซึ่งเคยเห็นแม่ทำตอนสมัยตนอยู่ป. 4 และจดจำมาจนกระทั่งปีนี้ประสบปัญหาทุเรียนหวานน้อยจึงได้ทดลองทำ กลับได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรักสุขภาพ ลุมโป๊ะหรือทุเรียนกวนแบบโบราณสมัยก่อนไม่มีตู้เย็น จึงต้องทำไว้เพื่อรับประทานได้นานเป็นการยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนกวนให้อยู่ได้นานขึ้นโดยไม่ต้องใส่สารกันบูด
หากแห้งมากสามารถเก็บได้นานเป็นปี เมื่อหมดฤดูทุเรียน สามารถนำมาผสมกะทิและน้ำตาล กินเป็นข้าวเหนียวทุเรียนได้โดยรสชาติและความหอมยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำขนมทุเรียนและขนมต่างๆได้เหมือนทุเรียนสด การที่นำมาห่อด้วยใบกระพ้อและนำมาอังไฟ แทนที่จะมีกลิ่นควันไฟ แต่กลับเป็นกลิ่นหอมของใบกระพ้อแทน กลายเป็นพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในช่วงทุเรียนกำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ด้วย
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ