Franz & Sons ไส้กรอกสไตล์ยุโรปรสชาติไทย ที่เริ่มจากความรัก “ไร้เคมี” กว่า 20 ปีแล้ว
พาไปลิ้มรส Franz & Sons ไส้กรอกโฮมเมดสไตล์ยุโรปแบรนด์น้องใหม่ แต่รสชาติดีจนเราอยากทำความรู้จัก เมื่อรู้ที่มาแล้วยิ่งทึ่ง เพราะเรื่องราวความเป็นมาของไส้กรอกจานนี้ไม่ธรรมดา ครั้งนี้ Sanook Travel คงต้องขอเลยเถิดไปมากกว่าการรีวิวอาหาร เพราะเราจะรีวิวมายเซตของครอบครัวหนึ่งที่จะมาเล่าเรื่องผ่านไส้กรอกที่พวกเขาลงมือทำเอง
หอมกรุ่นรสจัดจ้าน
ไร้สารสังเคราะห์
ไม่บ่อยนักที่การเดินเที่ยวงานแฟร์เล็ก ๆ จะเจอสักร้านที่รู้สึกสะดุดให้ลองชิม ลองซื้อ แล้วกลายเป็นกลับมาซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่บูธเล็ก ๆ ของ แนท– ณัฐ รตะพิพัฒน์ หนุ่มวัย 27 ปี และครอบครัวที่กำลังสาละวนอยู่กับการย่างไส้กรอกที่ส่งกลิ่นหอมมาแต่ไกล กำลังเชื้อเชิญให้ลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติคนแล้วคนเล่ากลับมาซื้อซ้ำได้ ภายใต้ร่มร้าน Franz & Sons กลิ่นเครื่องเทศจากไส้กรอกเมื่อสัมผัสความร้อนจากเตาย่าง ดูเหมือนจะเรียกแขกได้อย่างดี เมื่อลองชิมแล้วจึงรู้ว่ารสชาติเข้มข้นแบบไม่ต้องพึ่งซอสใดๆ
ลูกค้าชาวต่างชาติที่มากันเป็นครอบครัว ต่างพากันสอบถามว่าไส้กรอกทำมาจากวัตถุดิบอะไรบ้าง แนทอธิบายเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งคำตอบที่ได้ชวนเรียกความสนใจได้อีก ไส้กรอกทุกชิ้นทุกรสของร้าน พวกเขาทำเองโดยไม่มีการผสมสารไนเตรท-ไนไตรท์ (Nitrate-Nitrite) สารเจือปนในอาหารที่ใช้กันมากในผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงแป้งและน้ำตาล เป็นไส้กรอกโฮมเมดขนานแท้ที่ทำเอาสายรักสุขภาพตาลุกวาวเลยทีเดียว
สารไนเตรท-ไนไตรท์ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ในอุตสาหกรรมทั้งเล็กใหญ่ต่างใช้สารนี้เพื่อการคงรูป คงสี คงอายุผลิตภัณฑ์ให้ยาวนาน แต่เมื่อโดนความร้อนจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ทั้งหากบริโภคมากเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะไส้กรอกเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่สะดวกต่อการบริโภคในภาวะเร่งรีบและเป็นที่โปรดปรานของเด็ก ๆ รวมถึงผู้ปกครองที่นิยมความสะดวกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมองข้ามภัยร้ายซ่อนอยู่แบบไม่ทันรู้ตัว
แต่สำหรับครอบครัวของ Franz & Sons พวกเขาเห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปีกว่าแล้ว
ทำไส้กรอกไร้สารเคมี
เพื่ออาหารที่ดีที่สุดของลูก
แนทยังไม่ว่างจากหน้าเตา จึงส่งไม้ต่อมาให้คุณพ่อได้พูดคุยกันก่อน ซึ่งเราขอเรียกว่า ลุงแป๊ะ-ฐานิศร์ รตะพิพัฒน์ ชายวัย 68 ปี เจ้าของสูตรต้นตำหรับผู้สร้างตำนานไส้กรอกเยอรมันปลอดสารเคมี ลุงแป๊ะเล่าว่า เขาเริ่มทำไส้กรอกเองตั้งแต่ลูกชายอายุเพียงห้าขวบ และย้อนความถึงจุดเริ่มต้นว่าสมัยก่อนตนได้เดินทางไปมาระหว่างไทยและอังกฤษอยู่บ่อยครั้งจนได้พบกับภรรยาที่อังกฤษ...
“พอแนทเกิดได้สามปีผมก็กลับไทยมาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ดูแต่ลูกไม่ได้ทำงานประจำ พอแนทห้าขวบอยู่ประมาณอนุบาลสองก็พอมีเวลา ผมอยากทำไส้กรอกเองมานานแล้วตั้งแต่อยู่อังกฤษเพราะไส้กรอกที่นั่นมันเลี่ยนมากและน้ำมันเยอะมาก ผมกับลูกชอบทานไส้กรอกมากแต่รสชาติไม่ถูกปาก ผมก็เลยคิดว่าจะทำไส้กรอกอย่างไรให้อร่อยกว่า”
จากความรู้สึกแรกที่อยากทำไส้กรอกอร่อย ๆ ไว้ทานเอง แต่ยุคนั้นไม่มียูทูปหรือเสิร์ชเอนจิ้นให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ ลุงแป๊ะต้องอาศัยเรียนรู้จากผู้มีความรู้โดยตรง อ่านตำรา และลงทุนซื้อเครื่องทำไส้กรอกอย่างดีเพื่อลงมือทดลองทำเอง แต่ปรากฏว่าทุกสูตรที่ได้เรียนรู้มาต่างมีส่วนผสมของสารไนเตรท-ไนไตรท์ทั้งสิ้น
“ใจมันรักที่จะทำ แต่ตอนนั้นหาข้อมูลยากมาก ทุกสูตรใส่ผงไนเตรท-ไนไตรท์เพื่อเพิ่มสีเพิ่มความเด้งของเนื้อ ที่เรียนมาใส่ทุกสูตรเลยแต่ผมไม่อยากไปจุดนั้น เพราะผมรู้สึกว่าถ้าลูกผมกินจะอันตราย มันเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมา เพราะเราจะทำของดีๆ กินกันเองในครอบครัว”
นอกจากไนเตรท-ไนไตรท์ เขายังปฏิเสธการใส่สารบอแรกซ์ ผงชูรส สีผสมอาหาร แป้ง น้ำตาล และสารกันบูดทุกชนิด ลุงแป๊ะลองผิดลองถูก ปรับสูตรไปทำทิ้งไปอยู่พักใหญ่ เพราะสารดังกล่าวมีผลกับการจับตัวของเนื้อ ทั้งรสชาติทั้งเนื้อสัมผัสก็ยังไม่ลงตัว ถึงขั้นเพื่อนฝูงที่นำไปให้ลองชิมบอกตรง ๆ ว่า “หมาไม่แ_ก!!”
“เพื่อนผมก็บอกว่า เฮ้ย! ไม่อร่อยเลย เอี๊ยเอ้ย! หมาไม่แดก! ผมก็เอ้า ทิ้ง! เอ้า ทำอีก! ทำอีก! ทำอีก! ทำจนเพื่อนบอกว่า เฮ้ย! ได้แล้วเว้ย!”
คราวนี้ไส้กรอกสูตรไร้สารที่รสชาติลงตัวก็กลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของกลุ่มเพื่อนไปด้วย เป็นทั้งกับข้าวชั้นดีของครอบครัว และเป็นกับแกล้มชั้นเลิศในวงสุราของเพื่อนฝูง
เพื่อนจุดประกาย
ทำขายไม่ติดแบรนด์
รสชาติที่ลงตัวกำเนิดเป็นไส้กรอกสไตล์ยุโรปที่มีรสเครื่องเทศไทยเด่นชัดผสมผสานกับเครื่องเทศตะวันตก กลายเป็นของซื้อฝากแบบปากต่อปากในเวลาต่อมา กระทั่งเพื่อนของลุงแป๊ะรับไปขายต่อที่การบินไทย และตลาดบองมาเช่ ย่านประชานิเวศน์ 1 ที่เพิ่งเปิดใหม่ในเวลานั้น ลุงแป๊ะแพกไส้กรอกใส่ถุงพลาสติกขายส่งให้เพื่อนไปขายต่อโดยไม่ทำมาร์เก็ตติ้งใด ๆ ไม่มีสติกเกอร์ติดแบรนด์
ช่วงนั้นเขาทำไส้กรอกทุกวันเดือนละไม่ต่ำกว่า 300-500 กิโลกรัม ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ต่อมาลุงแป๊ะเห็นช่องทางสนุก ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งขายได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 500 บาท
“ตอนนั้นมีบาร์เปียโนฟอร์เต้ ที่เอกมัย แล้วก็อ๊องซ์สุขุมวิทซอย 1 แล้วก็ปีกาซัส ผมจะเข้าเลาจ์พวกนี้เพราะผมเที่ยว พอเอาค่าไส้กรอกไปเป็นเมมเบอร์” (หัวเราะ)
ลุงแป๊ะใช้วิธีให้เปอร์เซ็นต์กับมาม่าซังแต่ละแห่ง เด็กในร้านจึงพากันเชียร์ให้แขกสั่งไส้กรอกเป็นกับแกล้มขึ้นโต๊ะ ซึ่งแต่ละร้านก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างดีเพราะรสชาติจัดจ้านเข้มข้นถูกใจสายบาร์ แต่ก็ไม่ทำตลาดสร้างแบรนด์เช่นเคย กระทั่งลูกชายเริ่มโตและเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ
“พอแนทโตผมก็เริ่มแบกไส้กรอก 20 30 โลขึ้นค็อกเทลเลาจ์ไม่ไหว ก็เลยหยุดไปดูแลสวนเกษตรที่ทำไว้ที่ระนองเป็นหลัก ผมก็ถือว่าเลี้ยงลูกสำเร็จแล้ว จะทำไว้แค่กินกันเองในบ้าน หรือเพื่อน ๆ รวมกันสั่งมาทำไปฝากผู้ใหญ่เป็นครั้งคราว”
ลูกชายนักเรียนนอก
คืนชีพไส้กรอกคุณภาพ
กระทั่งช่วงโควิคแพร่ระบาดเมื่อหลายปีก่อน แนทเรียนจบกลับประเทศไทยพอดี หลายคนถามถึงไส้กรอกออริจินอลของพ่อ เขาจึงทดลองทำขายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งเดลิเวอรี่ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องหยุดไป เพราะได้งานบริษัทที่อังกฤษซึ่งตรงกับวิชาที่ร่ำเรียนมา
“ผมจบด้านบัญชีและไฟแนนซ์ ตอนนั้นยังอยากทำอะไรที่ตรงสายอยู่พอดี ก็เลยกลับไป ทำได้ประมาณหนึ่งปี งานที่นั่นเงินดีบริษัทดูแลดี แต่พออยู่ลอนดอนแล้วรายได้ก็หมดไปกับค่าใช้จ่ายไม่เหลือ ความคิดในใจคือเราก็อยากกลับมาอยู่ไทยเพราะครอบครัวอยู่ที่นี่ และผมก็โตมาในสภาพแวดล้อมที่ครอบครัวทำธุรกิจของตัวเองทั้งป๋าและอา ผมมาลองคิดดูใหม่ว่าถ้าเราลองกลับมาทำจริงจังดีไหม ก่อนที่จะติดชีวิตงานออฟฟิศจนต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ ติดกับภาระจนไปไหนไม่ได้
“แล้วผมก็เห็นมาตลอดว่าป๋าทำไส้กรอกจนส่งผมเรียนที่อังกฤษได้ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว พอมามองก็คือเห็นความอดทนของเขามาตั้งแต่เด็ก ป๋าจริงจังกับไส้กรอกจนทำขายได้ถึงขนาดนี้ มีเครื่องมือพร้อมมีครัวพร้อม มีทุกอย่างพร้อม ผมรู้สึกว่าต้องทำต่อ อย่างน้อยก็ควรจะลองว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหน มันก็ต้องลองหน่อยครับ” แนทเล่าสิ่งที่พ่อสร้างไว้ให้ด้วยความภูมิใจ
“ป๋าไม่ได้บังคับนะ ไม่ได้ชวนนะ เพราะถ้าเกิดมันไม่เวิร์ค จะมาโทษป๋าไม่ได้นะ ผมบอกเขาก่อนเลยเพื่อให้เค้าได้เลือกเอง เรียนรู้เอง” ลุงแป๊ะเล่าสำทับ
ไส้กรอกคุณภาพจากรุ่นพ่อ จึงคืนชีพอีกครั้งในชื่อ Franz & Sons ลุยตลาดโดยการออกอีเว้นท์นานาชาติ และส่งจำหน่ายในร้านอาหารเป็นหลัก
รสชาติหลากสไตล์
ให้รางวัลในวันชีทเดย์
ลุงแป๊ะแชร์ประสบการณ์ว่า ตลาดไส้กรอกโฮมเมดยังคงน่าสนใจ เพียงแต่คนส่วนใหญ่ยังติดกับแมสโปรดักส์ ซึ่งเบื้องหลังแล้วมีเปอร์เซ็นต์แฟตหรือไขมันมากกว่า 50-70% ทั้งยังใช้ไส้สังเคราะห์และผสมสารเคมีต่าง ๆ เขามั่นใจและภูมิใจว่าคุณภาพและรสชาติของ Franz & Sons ไม่แพ้ใคร เพราะกว่าจะถึงจุดนี้เขาชิมไส้กรอกสไตล์เดียวกันมามาก เรียนรู้และปรับปรุงด้วยตัวเอง จนสามารถลดไขมันได้น้อยมากจนเหลือเพียงกว่า 20% เท่านั้น เพียงพอต่อความจำเป็นที่ต้องมีส่วนของไขมันผสมอยู่บ้างเพื่อให้เนื้อไส้กรอกไม่แข็งกระด้างจนเกินไป
นั่นจึงนับได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ Franz & Sons เหมาะสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพอย่างยิ่ง แม้แต่สายคลีนที่อยากจะมี "ชีทเดย์" (Cheat Day) ให้รางวัลตัวเองด้วยการลิ้มรสของอร่อยสักมื้อด้วยของดีมีประโยชน์ ไส้กรอกโฮมเมดไร้สารจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งปัจจุบันมีการพัฒนาสูตรใหม่เพิ่มเติมอีกหลายรสชาติมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ได้แก่
- FRANZ Signature ไส้กรอกสไตล์เยอรมันรสชาติไทยแบบ Original หอมกระเทียมพริกไทย กรุ่นกลิ่นเครื่องเทศตะวันตก รสชาติดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นพ่อ
- Franzfurter ไส้กรอกรสชาติแบบ Traditional Hotdog ที่หลายคนคุ้นเคย แต่เน้นหนักเครื่องเทศโชยกลิ่นหอมใหญ่
- Lincolnshire ไส้กรอกสดสไตล์อังกฤษ ที่ทำให้ลืมความมันจากแฟตปริมาณสูง พร้อมรสชาติเข้มข้น
- Sausage Patty เนื้อไส้กรอกแผ่นกลมสไตล์อังกฤษถึงกลิ่นเครื่องเทศ
- ล่าสุด Spicy Italian Sausage ไส้กรอกสดสไตล์อิตาเลียน เต็มรสด้วยหมูบดหยาบแต่ให้รสชาติจัดจ้าน เผ็ดร้อนจากเครื่องเทศ
แต่ละรสชาติมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 350 บาทต่อ 500 กรัม สามารถนำไปย่างเองที่บ้านหรือติดตู้ไว้ยามปาร์ตี้กับครอบครัว หรือจะให้เป็นของฝากเหมือนลูกค้าประจำของร้านก็ได้
“ผมตั้งใจตั้งแต่แรกว่าไส้กรอกของเราต้องไม่ใส่สารเคมีเลย ใช้มันน้อย และรสชาติเตะปากคนไทย ซึ่งวันนี้ผมพอใจแล้ว แต่หากสิ่งที่ผมทำกลายเป็นธุรกิจที่แนทสามารถนำไปต่อยอดได้ ผมจะดีใจมาก” ลุงแป๊ะกล่าวอย่างมีความสุข ขณะที่ลูกชายกล่าวปิดท้ายอย่างภูมิใจว่า
"วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าประสบความสำเร็จเพราะเริ่มทำได้ไม่กี่เดือน แต่หากนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มตั้งต้นใหม่ก็นับว่ามาไกลแล้วครับ”
ลุงแป๊ะ กับแนท สองพ่อลูกเจ้าของธุรกิจ Franz & Sons
สนใจผลิตภัณฑ์หรืออยากทำความรู้จักกับ Franz & Sons เพิ่มเติม ติดต่อได้ที่
- FB: Franz & Sons ไส้กรอกเยอรมันโฮมเมด
- IG: https://www.instagram.com/franz_sausages/
- LINE: @franz_sausages