เปิดห้องแห่งความลับของโมนาลิซา กับ เลโอนาร์โด ดา วินชี อัจฉริยะรอบด้านหนึ่งเดียวของโลกในรอบ 500 ปี

เปิดห้องแห่งความลับของโมนาลิซา กับ เลโอนาร์โด ดา วินชี อัจฉริยะรอบด้านหนึ่งเดียวของโลกในรอบ 500 ปี

เปิดห้องแห่งความลับของโมนาลิซา กับ เลโอนาร์โด ดา วินชี อัจฉริยะรอบด้านหนึ่งเดียวของโลกในรอบ 500 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ลโอนาร์โด ดา วินชี ไม่ได้เป็นเพียงศิลปินที่สร้างผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง “โมนาลิซา” และ “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” แต่ยังเป็นอัจฉริยบุคคลของโลกในรอบ 500 ปีที่เชี่ยวชาญในสหวิทยาการ
  • เขาได้ร่างแบบสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคมากมายไว้ในสมุดบันทึกซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบของการสร้างเครื่องบิน รถยนต์ อาวุธ และยุทโธปกรณ์ในปัจจุบัน
  • นิทรรศการ Da Vinci Alive Bangkok ไม่ได้นำเสนอเพียงผลงานจิตรกรรมของเลโอนาร์โดในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซิฟ แต่อีกหนึ่งไฮไลต์คือการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์จำลองกว่า 75 ชิ้น

เลโอนาร์โด ดา วินชี  (Leonardo da Vinci, ค.ศ.1452-1519) ไม่ได้เป็นเพียงศิลปินยุคเรอแนซ็องส์ที่สร้างผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง โมนาลิซา (Mona Lisa) วิทรูเวียนแมน (Vitruvian Man) และ อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) แต่เขายังเป็นอัจฉริยบุคคลของโลกในรอบ 500 ปีที่เชี่ยวชาญในสหวิทยาการทั้งด้านกายวิภาค วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และธรณีวิทยา และสิ่งประดิษฐ์ที่เขาได้ร่างแบบไว้ในสมุดบันทึกกว่า 7,000 หน้าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น เครื่องกลบินได้มีปีกเหมือนนก รถที่เคลื่อนที่ด้วยกลไกฟันเฟือง และปืนใหญ่พลังไอน้ำ ยังถือเป็นต้นแบบของการสร้างเครื่องบิน รถยนต์ อาวุธและยุทโธปกรณ์ในปัจจุบัน

เลโอนาร์โด ดา วินชี
นิทรรศการ Da Vinci Alive Bangkok ที่จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2567 ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม จึงไม่ได้นำเสนอเพียงผลงานจิตรกรรมของเลโอนาร์โดในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซิฟและพาโนรามา 360 องศา แต่ไฮไลต์คือการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์จำลองกว่า 75 ชิ้นตามแนวคิดที่ปรากฏในสมุดบันทึกของเลโอนาร์โดและตามคอลเลกชันที่ทางพิพิธภัณฑ์ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Museo Leonardo da Vinci) ในกรุงโรม อิตาลี ได้จัดทำขึ้น

วิทรูเวียนแมนวิทรูเวียนแมน
ในนิทรรศการยังนำเสนอเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานอันลือลั่นของเขาในรูปแบบดิจิทัลทัชสกรีนและวิดีโอสั้น เช่น ภาพ วิทรูเวียนแมน (Vitruvian Man : ค.ศ. 1490) ซึ่งเป็นภาพผู้ชายที่มีสัดส่วนในอุดมคติของมนุษย์ หรือ สัดส่วนทองคำ (The Golden Ratio) ยืนกางแขนและขาภายในวงกลมและสี่เหลี่ยมจตุรัสที่เลโอนาร์โดใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ทำความเข้าใจลักษณะทางกายวิภาค รวมไปถึงการใช้แสงเงาและการสร้างทัศนมิติ (perspective) ทำให้ภาพ 2 มิติมีมุมมองแบบ 3 มิติและมีจุดรวมสายตาในภาพ อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ค.ศ. 1495-1498)  และห้องแห่งความลับที่จะเปิดเผย 25 ความลับที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชั้นสีของภาพเขียนชื่อดัง “โมนาลิซา” (ค.ศ. 1503-1517) ที่เลโอนาร์โดเก็บภาพนี้ไว้กับตัวตลอดตั้งแต่เริ่มเขียนในฟลอเรนซ์ จนย้ายไปที่มิลาน โรม และฝรั่งเศส และผ่านการปรับแก้ทีละเล็กละน้อยตลอดช่วงสุดท้ายของชีวิต

ภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ค.ศ. 1495-1498)ภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ค.ศ. 1495-1498)

Da Vinci Alive Bangkok โดยผู้สร้างและโปรดิวเซอร์ Grande Experiences และ Live Impact Events ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากสองนิทรรศการดิจิทัลอิมเมอร์ซิฟก่อนหน้านี้คือ Van Gogh และ Monet & Friends เป็นนิทรรศการที่อัดแน่นด้วยข้อมูลจึงเหมาะกับผู้ชมสายคอนเทนต์มากกว่าสายถ่ายรูป อีกทั้งในครั้งนี้มีการจำลองฉากต่างๆ ในภาพเขียนชื่อดังของศิลปินมาเป็นแบ็กดร็อปสำหรับถ่ายภาพเพียงเล็กน้อยซึ่งแตกต่างกับสองนิทรรศการก่อน

Sarakadee Lite ขอพาไปสำรวจความเป็นอัจฉริยะในหลายด้านของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ชายผู้ถนัดซ้ายและเขียนหนังสือจากขวาไปซ้ายด้วยตัวอักษรกลับด้าน ชายผู้ผ่าศพราว 30 ศพเพื่อศึกษากายวิภาคอย่างละเอียดของมนุษย์ และชายผู้ใช้เวลากว่า 20 ปีสังเกตการบินของนกเพื่อออกแบบเครื่องกลให้มนุษย์บินได้ ดังเช่นในท้ายจดหมายสมัครงานที่เขาเขียนถึงผู้ปกครองเมืองมิลานว่า

“…เช่นเดียวกับงานจิตรกรรม ข้าพเจ้าสามารถทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ดังเช่นที่คนอื่นๆ ทำได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม”

ช่างสังเกต ตั้งคำถาม และหาคำตอบตั้งแต่การบินของนกจนถึงสัดส่วนทองคำของมนุษย์

เลโอนาร์โด ดา วินชี จดรายการสิ่งที่เขาต้องทำและเรียนรู้ วาดภาพสิ่งที่ทดลองและออกแบบในสมุดบันทึกซึ่งหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันราว 7,000 หน้า และต่อมามีการนำมาจัดเข้าเล่มเป็น โคเด็กซ์ (Codex) หรือ เอกสารโบราณ โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของเขา เช่น เรื่องเรขาคณิต เครื่องจักรกล ดาราศาสตร์ พฤกษศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น ในนิทรรศการได้มีการจำลองโคเด็กซ์บางเล่มมาให้ชมด้วย

โคเด็กซ์ (Codex) หรือ เอกสารโบราณโคเด็กซ์ (Codex) หรือ เอกสารโบราณ

เขาเริ่มศึกษาเรื่องกายวิภาคใน ค.ศ. 1489 โดยเริ่มจากกะโหลกศีรษะ ใบหน้า และสัดส่วนของมนุษย์ และนำไปสู่การวาดภาพเขียนด้วยน้ำหมึกบนกระดาษที่โด่งดังคือ วิทรูเวียนแมน โดยมีแรงบันดาลใจมาจากตำราสถาปัตยกรรมโบราณของสถาปนิกและวิศวกรชาวโรมัน วิตรูวิอุส (Vitruvius) ที่ระบุว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมต้องมีความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ อย่างสมมาตรกับสัดส่วนอันสมบูรณ์ของมนุษย์

ในปรัชญาของศิลปะกรีกและโรมัน วงกลมหมายถึงโลกแห่งจิตวิญญาณและสี่เหลี่ยมจตุรัสแสดงถึงโลกทางกายภาพและธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัดส่วนอันสมบูรณ์ของมนุษย์ตามอุดมคติมีระบุไว้หลายข้อ อาทิ “ความยาวของแขนที่กางออกเต็มที่เท่ากับความสูงของคน” “เท้ามีความยาวขนาดเท่ากับหนึ่งในเจ็ดส่วนของความสูง” และ “หนึ่งในแปดส่วนของความสูงเท่ากับขนาดของศีรษะ”


เลโอนาร์โดได้ทดลองวาดภาพตามหลักของวิตรูวิอุสในวงกลมและสี่เหลี่ยมจตุรัสและแก้ไขจนถูกต้องตามหลักกายวิภาคและคณิตศาสตร์ เขาพบว่าสะดือของชายในภาพจะอยู่ตรงกลางของวงกลมพอดีและอวัยวะเพศจะอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของสี่เหลี่ยมจตุรัส ส่วนนิ้วมือบรรจบกับจุดตัดของวงกลมและสี่เหลี่ยมแสดงถึงความสัมพันธ์ของโลกกายภาพและโลกแห่งจิตวิญญาณ ในนิทรรศการมีจอดิจิทัลทัชสกรีนที่ผู้ชมสามารถแตะเพื่อดูรายละเอียดแต่ละส่วนของโครงสร้างสัดส่วนอุดมคติของมนุษย์


เขาศึกษาเรื่องกายวิภาคอย่างเข้มข้นในช่วง ค.ศ. 1508-1513 ภายหลังจากที่ได้มีโอกาสผ่าศพชายคนหนึ่งที่มีอายุเกิน 100 ปี หรือที่เรียกว่า “ศตวรรษนิกชน” (The Centenarian Man) ด้วยการผ่าศพทีละชั้นๆ เพื่อศึกษากล้ามเนื้อ หลอดเลือด กระดูก และอวัยวะต่างๆ พร้อมกับวาดภาพประกอบอย่างละเอียดและจดบันทึก โดยคาดว่าเขาได้ผ่าศพราว 30 ศพ และวาดภาพกายวิภาคไม่ต่ำกว่า 200 ภาพ

รอยยิ้มปริศนาของโมนาลิซากับกายวิภาคเส้นประสาทและกล้ามเนื้อปาก

ภาพวาดชิ้นสำคัญของ เลโอนาร์โด ดา วินชี คือ โมนาลิซา ซึ่งเชื่อว่าเขาได้รับการว่าจ้างให้วาดภาพเหมือนของ ลิซา เกอราร์ดีนี (Lisa Gherardini) ภรรยาของพ่อค้าไหมที่ร่ำรวยในเมืองฟลอเรนซ์โดยเริ่มวาดใน ค.ศ. 1503 และนำติดตัวไปด้วยเมื่อย้ายไปยังมิลาน โรม และฝรั่งเศส เขาใช้เวลาเขียนและมีการปรับแก้หลายครั้งจนถึงค.ศ. 1517 อีกทั้งไม่เคยส่งมอบให้ผู้ว่าจ้างและไม่เคยมีบันทึกว่าเขาได้รับเงินค่าตอบแทนจากการวาด


ไฮไลต์ของนิทรรศการคือห้อง ความลับของโมนาลิซา (The Secrets of the Mona Lisa) ที่นำเสนอผลงานวิจัยในช่วงปลาย ค.ศ. 2004 โดย ปัสกาล ก็อตต์ (Pascal Cotte) นักวิเคราะห์งานศิลปะชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นคนแรกที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลฝรั่งเศสและพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ให้วิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์และถ่ายภาพโมนาลิซาด้วยกล้องมัลติสเปกตรัมความละเอียดสูงถึง 240 ล้านพิกเซล

ภาพโมนาลิซามีการแก้ไขและเสริมแต่งตลอดช่วงระยะเวลากว่า 14 ปีทำให้ภาพมีการซ้อนทับหลายชั้น และจากการวิจัยของก็อตต์ด้วยเทคโนโลยีการขยายชั้นเลเยอร์ที่เรียกว่า Layer Amplification Method (LAM) เขาลงความเห็นว่าเลโอนาร์โดวาดภาพคนหลายเวอร์ชันโดยวางทับซ้อนกันโดยเริ่มจากเลเยอร์แรกเป็นภาพบุคคลปริศนา เลเยอร์ที่ 2 เป็นภาพคนมีเครื่องประดับมุก เลเยอร์ที่ 3 เป็นภาพเหมือนของลิซา เกอราร์ดีนี และเลเยอร์สุดท้ายมีการแก้ไขจนกลายเป็นภาพโมนาลิซาในปัจจุบัน

โมนาลิซา

ในการสำรวจเม็ดสียังพบว่าเลโอนาร์โดใช้พิกเมนต์สีน้ำเงินอัลตรามารีน (ultramarine pigment) ที่ได้จากการบดอัญมณี ลาพิสลาซูลี (lapis lazuli) ที่มีราคาแพงกว่าทองคำในยุคนั้นมาใช้วาดทิวทัศน์ท้องฟ้าทั้งหมดในภาพทำให้ภาพบุคคลมีคาแรกเตอร์โดดเด่น

ภาพ โมนาลิซา ที่จัดแสดงในตู้กระจกกันกระสุนที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่แสดงความซับซ้อนของอารมณ์มนุษย์ผ่านรอยยิ้มลึกลับ ฉากหลังเป็นภูมิทัศน์ของท้องฟ้าและภูเขาสลับซับซ้อนในม่านหมอกด้วยเทคนิค “สฟูมาโต” (sfumato) ที่ทำให้เส้นรูปทรงและเส้นขอบภาพไม่ชัดเจน

ช่วงเวลาที่เขาวาดภาพโมนาลิซายังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาศึกษาเรื่องกายวิภาคอย่างจริงจังโดยเฉพาะการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ในสมุดบันทึกหน้าหนึ่งเขาวาดภาพประกอบการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อของริมฝีปากอย่างละเอียดเพื่อศึกษากล้ามเนื้อที่ทำให้ริมฝีปากขยับเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น ยิ้ม อ้ากว้าง ทำปากจู๋ และยืดออก

โมนาลิซา สิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับการบิน 
สิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคจากองค์ความรู้หลากแขนงและจินตนาการแหวกแนว

นอกจากจะเป็นศิลปินชื่อดังในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เลโอนาร์โดยังเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก เขาได้ร่างแบบสิ่งประดิษฐ์มากมายในสมุดบันทึกที่เกิดจากความรอบรู้ในสหวิทยาการผสมผสานกับจินตนาการสุดล้ำเลิศ ในโซน “อัจฉริยะแห่งการสร้างสรรค์” (The Genius of Creation) จึงนำเสนอสิ่งประดิษฐ์จำลองกว่า 75 ชิ้นตามแนวคิดของเลโอนาร์โดทั้งที่เกี่ยวกับการบิน เครื่องจักรกล เครื่องดนตรี อาวุธ และยุทโธปกรณ์ต่างๆ

เปียโนพกพาเปียโนพกพา
หลังจากฝึกฝนฝีมือด้านศิลปะที่เมืองฟลอเรนซ์ เลโอนาร์โดย้ายมาที่มิลานและในจดหมายสมัครงานถึงผู้ปกครองเมือง เขาระบุความสามารถของตนเองมากมายในการประดิษฐ์อาวุธและยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยที่ใช้ในสงคราม แม้จะไม่ได้รับตำแหน่งวิศวกร แต่เขาได้ทำงานเป็นผู้อำนวยการสร้างละครขบวนแห่ที่ควบคุมการออกแบบเวที กลไกอุปกรณ์ประกอบฉาก เครื่องแต่งกาย และดนตรี และสามารถสร้างผลงานที่น่าตาตื่นใจ เช่น สร้างเวทีหมุนสำหรับฉากละคร และสร้างกลไกรูปปีกนกที่ยกตัวนักแสดงลอยเหนือเวทีได้ รวมถึงออกแบบเครื่องดนตรีให้มีกลไกมากขึ้น อาทิ เปียโนพกพา กลองกล และขลุ่ยคู่

โมนาลิซา หน้าไม้ยักษ์บนยานพาหนะขับเคลื่อน
ในขณะอยู่มิลาน เลโอนาร์โด ดา วินชี ได้ศึกษาตำราศาสตร์ทางการทหารและร่างแบบสิ่งประดิษฐ์ด้านวิศวกรรมทางทหารจำนวนมาก เช่น หน้าไม้ยักษ์ความยาวประมาณ 24 เมตรพร้อมกลไกสายธนูสำหรับลั่นไกและติดตั้งบนยานพาหนะขับเคลื่อน ปืนใหญ่ที่ใช้พลังไอน้ำดันลูกปืนโดยไม่ต้องใช้ดินปืน เครื่องยิงปืนกล 3 แถว 30 กระบอก รถถังเคลื่อนที่ด้วยเพลาที่เชื่อมต่อกับล้อทั้ง 4 และสะพานฉุกเฉินที่สามารถสร้างขึ้นอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์สงครามโดยใช้ท่อนไม้ขัดและค้ำยันกันโดยไม่ต้องใช้เชือกหรือตะปู อย่างไรก็ตามไม่มีเครื่องกลขนาดใหญ่ชิ้นไหนได้ถูกสร้างขึ้นจริงและใช้ในสงครามเมื่อฝรั่งเศสรุกรานมิลานใน ค.ศ. 1499

ย้อนรอยยุคเรอแนซ็องส์กับมาสเตอร์พีซของศิลปินแห่งยุคแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซิฟ

แน่นอนว่าจุดเด่นของนิทรรศการคือการนำเสนอภาพศิลปะในรูปแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซิฟแบบพาโนรามา 360 องศาด้วยความละเอียดสูงจากโปรเจกเตอร์ 60 ตัวที่ฉายลงบนผนังและพื้นของ Gallery Hall ในครั้งนี้พาผู้ชมย้อนกลับไปในยุคเรอแนซ็องส์ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 14 ถึง 17 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อิตาลีโดยเฉพาะเมืองฟลอเรนซ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการค้า การเงิน และเป็นศูนย์รวมของศิลปินและนักคิดชั้นนำของยุโรป

The Birth of Venus โดย ซันโดร บอตตีเชลลีThe Birth of Venus โดย ซันโดร บอตตีเชลลี
ยุคนี้เป็นยุคที่ฟื้นฟูแนวคิดและศิลปะคลาสสิกของกรีกและโรมัน พร้อมกับโอบรับคติมนุษยนิยมและแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ นิทรรศการจึงนำเสนอผลงานของศิลปินในยุคนี้โดยเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนและยุคเริ่มต้นของเรอแนซ็องส์ (Proto & Early Renaissance : ค.ศ. 1290-1475)) เช่น ผลงานของ จอตโต ดี บอนโดเน (Giotto Di Bondone) มาซัชชีโอ (Masaccio) และภาพ The Birth of Venus ที่โด่งดังของ ซันโดร บอตตีเชลลี (Sandro Botticelli)

ต่อมาเป็นยุครุ่งเรือง (High Renaissance ; ค.ศ. 1475-1525) ซึ่งเป็นยุคของเลโอนาร์โดและผู้ชมจะได้เห็นภาพผลงานชิ้นเด่นๆ แบบเต็มตาเต็มจอ เช่น ภาพเหมือนชื่อ “จิเนวรา เด เบนชี” (Ginevara de’ Benci: ค.ศ.1474) เป็นภาพบุตรสาวนักการธนาคารชาวฟลอเรนซ์ที่นักวิจารณ์ศิลปะชี้ว่าเป็นภาพนำร่องของภาพโมนาลิซา และภาพ “แม่พระและพระบุตรพร้อมนักบุญแอนนา” (Virgin and Child with Saint Anne) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพชิ้นเยี่ยมด้วยเทคนิคการเขียนสีม่านหมอกและภาพทิวทัศน์ตามหลักธรณีวิทยา

เลโอนาร์โด ดา วินชีรูปปั้นเดวิด โดย ไมเคิลแองเจโล
ศิลปินในยุครุ่งเรืองยังประกอบไปด้วย ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) เจ้าของผลงานประติมากรรมชิ้นเอกอย่าง เดวิด (David) และจิตรกรรมบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีนในนครรัฐวาติกัน กำเนิดอาดัม (The Creation of Adam) รวมไปถึง ราฟาเอล (Raphael) กับจิตรกรรมเพดานอันโด่งดัง The School of Athens ซึ่งประดับอยู่ภายในที่ประทับของพระสันตะปาปาในนครรัฐวาติกัน

การนำเสนอภาพแบบดิจิทัลอิมเมอร์ซิฟยังเพิ่มประสบการณ์เร้าใจด้วยบทเพลงคลาสสิกของ ปุชชีนี (Puccini) แวร์ดี (Verdi) โมซาร์ท (Mozart) และ รอสซีนี ( Rossini) อีกด้วย

Fact File

  • นิทรรศการ “Da Vinci Alive Bangkok” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม- 31 กรกฎาคม 2567 ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม
  • ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ Thai Ticket Major หรือ https://www.liveimpact-event.com/davinci/  ราคาบัตร VIP 1,580 บาท, บัตรทั่วไป 1,080 บาท และบัตรนักเรียน/นักศึกษา 480 บาท
  • รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1338 หรือ Facebook : ICONSIAM

อ้างอิง

หนังสือ เลโอนาร์โด ดา วินชี เขียนโดย Walter Issacson แปลโดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Being

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook