“เป๊ปซี่โค” จับมือพันธมิตรจีไอแซด (GIZ) พลิกโฉมเกษตรกรไทย สู่ยุคเกษตรอัจฉริยะ
“เป๊ปซี่โค” มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย pep+ (PepsiCo Positive) พร้อมจับมือพันธมิตรจีไอแซด (GIZ) พลิกโฉมเกษตรกรไทย เพิ่มผลผลิตและรายได้ สู่ยุคเกษตรอัจฉริยะ
เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เดินหน้าหนุนเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งตั้งแต่ต้นน้ำ 10 จังหวัด จำนวนกว่า 5,800 คน ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 38,000 ไร่ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เร่งยกระดับการเพาะปลูกมันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชหลังนาที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นและมีการรับประกันการซื้อที่แน่นอนภายใต้ระบบพันธสัญญา รองรับผลผลิต 1 แสนตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ล่าสุดจับมือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือจีไอแซด (GIZ) พัฒนาองค์ความรู้เกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง
นางสาวบุษบา วงศ์นภาไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวว่าบริษัทฯ ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เลย์” มันฝรั่งทอดกรอบยอดนิยมของไทย เราให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตควบคู่กับแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาลหรือ ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อตอบสนองเทรนด์ของผู้บริโภค และสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อโลก
“กลยุทธ์ pep+ ที่บริษัทฯ ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งเสริมให้เกษตรกรที่เพาะปลูกมันฝรั่งประสบความสำเร็จในหลายมติ ทั้งการเพิ่มความสามารถ แนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตร ตลอดจนการพลิกโฉมการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ถือเป็นการสร้างแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คนและโลกผ่านผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างแบรนด์เลย์”
นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตรประเทศไทย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่าคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้กับสังคม ปัจจุบันเป๊ปซี่โค ประเทศไทยได้ให้การส่งเสริมเกษตรกรไทยในการปลูกมันฝรั่งบนพื้นที่กว่า 38,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม มีเกษตรกรรวมกันมากกว่า 5,800 คน ผ่านการจัดทำฟาร์มต้นแบบ (model farm) จำนวน 19 แห่ง ซึ่งเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเราจะได้รับองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคนิค และเทคโนโลยีในการปลูกมันฝรั่งซึ่งเป็นพืชหลังนาที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี และมีความมั่นคง เนื่องจากมีการรับประกันราคารับซื้อที่แน่นอน ภายใต้การทำข้อตกลงของระบบเกษตรพันธสัญญา
นายธนกฤต ศรีวิชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทยยังส่งเสริมศักยภาพ และเพิ่มผลผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรนำแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรแบบยั่งยืนมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการนำเข้า โดยได้เพิ่มผลผลิตจาก 2 ตันต่อไร่ เป็น 3.0-3.2 ตันต่อไร่ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 5 ตันต่อไร่ ภายใน 5 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในฟาร์มต้นแบบ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัล Agro Drone Scout หรือการใช้โดรนเพื่อประเมินโรคและตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง และ ListenField หรือการใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดเพื่อตรวจสอบสภาพดิน การติดตั้งระบบชลประทานน้ำหยด และจัดการปัญหาศัตรูพืชและให้สารอาหารแก่พืชแบบผสมผสาน รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน โดยร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ในการเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่สนใจการใช้ระบบน้ำหยดในการเพาะปลูก รวมถึงความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ท้องถิ่นสำหรับภูมิอากาศเขตร้อน เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้รวมกว่า 100,000 ตัน ต่อปี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี
นางสาวอัญชลี คุณากรวัตร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเสริมถึงถึงผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการปลูกมันฝรั่งเป็นอย่างยิ่ง เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จึงได้เดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ทำงานร่วมกับ จีไอแซด (GIZ) และหน่วยงานของไทย อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว ผ่านโครงการ “การจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันฝรั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยวิธีการปลูกข้าวมันฝรั่งและข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน” (Building a Climate Resilient Potato Supply Chain through a Whole-Farm Approach หรือ RePSC) เพื่อเสริมทักษะให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเรียนรู้แนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ เช่นการปรับปรุงดินและการให้ความรู้เรื่องศัตรูพืชและโรคคุณภาพของที่ดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ปรับความเป็นกรด-ด่างของดิน การใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคทางดิน ระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ระบบน้ำหยด และระบบให้น้ำตามร่องแบบสลับ การเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเกษตรกรหญิง รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือนและยังช่วยเสริมทักษะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้านนายวินัย แสนสุข เกษตรกรตัวอย่าง กล่าวว่าหลังจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกมันฝรั่ง โครงการดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิต และการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับ พร้อมทั้งนำหลักทางด้านความยั่งยืนมาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้รับรู้ถึงแนวทางในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก ที่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดูแลคุณภาพให้ดีขึ้น
“นวัตกรรมมีส่วนสำคัญอย่างมากกับเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้รู้ถึงข้อมูลสภาพอากาศ ความชื้นในดิน และสภาพพื้นที่การเกษตร ช่วยให้เกิดการวิเคราะห์และการวางแผนการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมและการจัดการที่ดิน น้ำ แสงอาทิตย์ และอุณหภูมิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ” นายวินัยกล่าว
ดร.อรรถวิชช์ วัชรพงศ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการโครงการ RePSC ซึ่งได้รับเงินทุนจากรัฐบาลเยอรมันผ่านหน่วยงาน DeveloPPP กล่าวว่า “การดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลเป็นที่น่าพอใจ เกษตรกรสมาชิกสามารถนำแนวปฏิบัติทางการเกษตรแบบฟื้นฟู มาปรับใช้กับพื้นที่ผ่านระบบการเกษตรแบบหมุนเวียนอย่างยั่งยืนที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรและลดการเผาฟางและตอซังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงที่ภาคเหนือกำลังเผชิญกับภาวะปัญหาหมอกควัน-ไฟป่าอย่างรุนแรง
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามการดำรงชีวิตของเกษตรกรไทยในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดำรงชีวิตของเกษตรกรจะตกอยู่ในความเสี่ยง หากปราศจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้การปลูกพืชเชิงเดี่ยวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป การส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนสำหรับข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพด จะช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” ดร.อรรถวิชช์กล่าวปิดท้าย