ไม่ใช้เงินสดขึ้นรถโดยสารหรือขนส่งมวลชน จ่ายแบบใดได้บ้าง
ไม่ใช่เงินสดขึ้นรถโดยสาร ขนส่งมวลชน จ่ายแบบใดได้บ้าง มาดูกันว่าสังคมไร้เงินสดกับระบบขนส่งมวลชน ทุกวันนี้เป็นอย่างไร
เทรนด์การใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดในประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเลยทีเดียว แม้ว่าจะการใช้เงินสดจะยังเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตหลัก ๆ ในการซื้อสินค้าและบริการ ส่วนการให้บริการชำระเงินแบบไร้เงินสดจะเป็นทางเลือกเสริม แต่ก็ถือว่าคนไทยจำนวนมากสามารถใช้จ่ายแบบไร้เงินสดเป็น และเลือกได้ด้วยตัวเองว่าจะใช้เงินสดซื้อขายหรือจะใช้สารพัดช่องทางใช้จ่ายไร้เงินสดในการดำเนินชีวิตประจำวัน
สอดคล้องกับข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ที่ชึ้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดโดยเฉลี่ยนานถึงเก้าวัน และเมื่อพูดถึงความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดก็พบว่าเกือบสี่ในห้าของชาวไทยสามารถทำได้จริงในชีวิตประจำวัน และมั่นใจมากขึ้นที่จะใช้ชีวิตนอกบ้านโดยถือเงินสดในมือลดลง หรือบางคนอาจไม่พกเงินสดติดตัวเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ต่างก็พยายามเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลควบคู่ไปกับการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด โดยเฉพาะการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ที่ทุกวันนี้หลาย ๆ บริการเราสามารถสแกน QR Code จ่ายก็ได้ ใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิตจ่ายก็ได้ หรือแม้แต่มีบัตรเฉพาะของแต่ละที่ในการใช้จ่าย ลองมาดูกันว่าในปัจจุบันนี้ สังคมไร้เงินสดกับขนส่งมวลชนหลัก ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
รถโดยสารประจำทาง ขสมก.
รับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสดด้วย
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วยบัตรที่มีสัญลักษณ์แมงมุม จะมีวงเงินสำหรับโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท
- บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นบัตรสำหรับจ่ายค่าโดยสาร ก่อนใช้ต้องเติมเงินลงบัตรให้เพียงพอ แล้วนำมาใช้กับระบบของเครื่องอีดีซี ระบบจะหักเงินภายในบัตรตามอัตราค่าบริการของรถโดยสารแต่ละประเภท
- บัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ มีทั้งบัตรรายเดือนและรายสัปดาห์ ของทั้งรถโดยสารปรับอากาศและรถโดยสารธรรมดา เป็นบัตรที่ต้องเติมเงินเข้าไปเช่นกัน และจะมีรอบระยะเวลาในการใช้งาน แบบรายเดือน จะมีรอบใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันสินเดือนของทุกเดือน แบบรายสัปดาห์ จะมีรอบการใช้งาน วันที่ 1-7, 8-14, 15-21 และ 22-สิ้นเดือนของทุกเดือน
- บัตรโดยสารนักเรียน-นักศึกษา อิเล็กทรอนิกส์ เป็นบัตรล่วงหน้ารายเดือนที่มีลักษณะคล้ายกับบัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งประเภทเป็นบัตรรถโดยสารปรับอากาศและรถโดยสารธรรมดา สำหรับเด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนชั้นม.3 ลงมา และกลุ่มนักเรียนชั้นม.4 ขึ้นไป (รวมนิสิตและนักศึกษา)
- บัตรเครดิต-บัตรเดบิต สามารถใช้ทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ contactless ในการจ่ายค่าโดยสาร
- QR Code จะแสดงที่เครื่องอีดีซีของพนักงานเก็บค่าโดยสาร ผู้โดยสารสามารถสแกนเพื่อชำระเงินผ่าน mobile-banking ได้ทุกธนาคารในประเทศไทย
รถโดยสารเอกชน (ไทย สมายล์ บัส)
- บัตร HOP CARD เป็นบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แบบเติมเงินที่ใช้ชำระค่าโดยสารได้ทั้งการเดินทางทางบกและทางน้ำ ใช้ได้กับงรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าและเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในเครือไทย สมายล์ กรุ๊ป โดยครอบคลุมรถ 123 เส้นทาง และเรือ 3 เส้นทาง สำหรับการใช้งาน จะมีโปรโมชัน Daily Max Fare ที่สามารถเดินทางทั้งวัน รถต่อรถจ่ายสูงสุด 40 บาท รถต่อเรือจ่ายสูงสุด 50 บาท (ซึ่งจ่ายด้วยเงินสดจะแพงกว่า)
รถไฟฟ้าบีทีเอส
สำหรับการซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสแบบเที่ยวเดียว นอกจากจะชำระด้วยเงินสดที่ห้องออกบัตรโดยสารและเครื่องจำหน่ายบัตรอัตโนมัติ ยังสามารถใช้วิธีชำระผ่าน QR Code คือแอปพลิเคชันที่รองรับการจ่ายเงินผ่าน QR Code ซึ่งจะเป็น Rabbit LINE Pay หรือ Mobile Banking ของธนาคารใดก็ได้ เลือกเมนู Scan QR ในแอปฯ นั้น จากนั้นก็สแกน Code ที่อยู่บนหน้าจอเพื่อชำระเงิน
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นประจำ ก็จะมีบัตรแรบบิท ที่ใช้วิธีการเติมเงินเข้าไปก่อนนำไปใช้งาน หรือจะผูกบัตรแรบบิทเข้ากับกระเป๋า Rabbit Line Pay หรือผูกบัตรเดบิต/บัตรเครดิตก็ได้ เพื่อหักเงินค่าโดยสารได้ทันที ซึ่งกระเป๋า Rabbit Line Pay จะรองรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ทั้งวีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard), เจซีบี (JCB) และบัตรเดบิต Thai Payment Network (TPN) ของธนาคารกรุงเทพ
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอส ก็เป็นบริการขนส่งมวลชนที่ผู้ที่มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้สิทธิผ่านบัตรประชาชนเดินทางได้ โดยนำบัตรประชาชนของผู้ที่มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารทุกสถานี แล้วบอกสถานีปลายทาง
รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที
การชำระเงินซื้อเหรียญโดยสารเอ็มอาร์ทีแบบเที่ยวเดียวที่ห้องออกเหรียญโดยสาร นอกจากชำระด้วยเงินสดแล้ว สามารถสแกนจ่ายด้วย QR Code ได้ และสามารถสแกนจ่ายด้วย QR Code ที่เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติของ MRT สายสีเหลือง และ MRT สายสีชมพู
นอกจากนี้ MRT สายสีเหลือง และ MRT สายสีชมพู จะสามารถใช้บัตรแรบบิทชำระค่าโดยสารได้ด้วย โดยต้องเติมเงินเข้าไป หรือผูกบัตรเข้ากับกระเป๋า Rabbit Line Pay หรือผูกกับบัตรเดบิต/บัตรเครดิต
ในขณะเดียวกัน MRT สายสีน้ำเงิน และ MRT สายสีม่วง จะใช้บัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus สำหรับบัตรโดยสาร MRT สามารถออกบัตรโดยสารได้เฉพาะที่ MRT สายสีน้ำเงิน ส่วนบัตรโดยสาร MRT Plus สามารถออกบัตรโดยสารได้เฉพาะที่ MRT สายสีม่วง การใช้บัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus จ่ายค่าโดยสาร ต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรก่อน ก่อนหน้านี้ต้องไปต่อแถวเติมเงินที่ห้องออกเหรียญโดยสาร แต่ปัจจุบันสะดวกสบายมากขึ้น เพราะสามารถเติมเงินบัตร MRT และ MRT Plus ผ่าน TrueMoney Wallet และ Krungthai Next
อีกทั้งรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ยังรองรับการใช้งานทั้งบัตรเครดิต วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของทุกธนาคารผู้ออกบัตร และรองรับบัตรเดบิตด้วย ขณะนี้รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี (รวมบัตรเดบิต UOB TMRW) หรือจะใช้บัตรพรีเพด (Prepaid Card) และบัตรทราเวลการ์ด (Travel Card) เพื่อเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถใช้ได้ทุกธนาคาร เช่นเดียวกับบัตรเครดิต
ส่วนการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ผู้ที่มีสิทธิ์สามารถใช้บริการในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และ MRT สายสีม่วง โดยจะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนในเขต 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้ในระบบรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที จะต้องเป็นบัตรที่มี 2 ชิปการ์ด หรือก็คือมีสัญลักษณ์แมงมุมบนหลังบัตร
ระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ
รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายสีแดงเข้มและสายสีแดงอ่อน รองรับการแตะบัตร ทั้งบัตรเครดิต/บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด ในการเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้ทันที โดยการใช้งานบัตรทั้ง 3 ประเภท เพื่อเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า จะต้องเป็นบัตรวีซ่า (Visa), มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เจซีบี (JCB) และยูเนี่ยนเพย์ (UnionPay) ซึ่งสามารถใช้งานได้ทุกธนาคาร
รวมถึงมีบัตรโดยสารเติมเงินรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สามารถเติมเงินลงบัตรผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ด้วยการสแกน QR Code หลังบัตร หรือเลือกเมนูจ่ายบิล ผ่าน COM. CODE : 7675, ตู้เอทีเอ็ม (ATM) ธนาคารกรุงไทย, Mobile Banking ของทุกธนาคาร ด้วยการสแกน QR Code หลังบัตร และชำระเงินสดผ่านเครื่อง EDC ณ จุดจำหน่ายบัตรทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง และขสมก.
นอกจากนี้ รถ บขส. (ไม่รวมรถร่วมเอกชน) และรถเมล์โดยสารในพื้นที่ต่างจังหวัดบางพื้นที่ ก็เปิดให้บริการชำระเงินแบบไร้เงินสดแล้วเช่นกัน โดยรถ บขส. สามารถใช้บัตรเครดิต/บัตรเดบิต จ่ายค่าโดยสารได้ที่จุดจำหน่ายตั๋ว และผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายค่าเดินทางได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส. ทั่วประเทศ