20 แหล่งเรียนรู้เฉพาะทางสุดโดนบน “เกาะรัตนโกสินทร์”

20 แหล่งเรียนรู้เฉพาะทางสุดโดนบน “เกาะรัตนโกสินทร์”

20 แหล่งเรียนรู้เฉพาะทางสุดโดนบน “เกาะรัตนโกสินทร์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร มีพระบรมมหาราชวังเป็นจุดศูนย์กลาง และเต็มไปด้วยสถานอีกมากมายที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกรุงเทพมหานครแห่งใหญ่ มีแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง

ในเมื่อเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครของเรามีของดีมากมายขนาดนี้ ก็อย่าปล่อยให้ความรู้เหล่านั้นวนเวียนอยู่แค่ภายในพิพิธภัณฑ์เลย เสียของเปล่า ๆ บทความนี้ Tonkit360 ได้รวบรวมแหล่งเรียนรู้เฉพาะทางบนเกาะรัตนโกสินทร์ไว้ให้มากถึง 20 แห่งเลยทีเดียว แต่ละแห่งไม่ได้อยู่ไกลกันมาก (และมีแถมให้ไปถึงฝั่งธนบุรีด้วย) ไปดูกันว่ามีที่ไหนน่าสนใจบ้าง และถ้าไปเที่ยวที่เหล่านี้ จะได้อะไรกลับบ้าน

1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีความน่าสนใจในฐานะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของไทย ที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงอันนำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตรชาติไทย ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีของประเทศไทย ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ รวมไปถึงเรื่องราวของประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา

นอกจากศิลปะโบราณวัตถุแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังโดดเด่นในเรื่องของโบราณสถาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เนื่องจากสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เดิม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ด้วยเป็นอาณาเขตของวังหน้าเก่า ภายในพิพิธภัณฑ์จึงประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และอาคารมหาสุรสิงหนาท ด้วยเหตุนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครจึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่โดดเด่นและน่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

2. นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

พิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่ห้ามพลาดหากอยากเที่ยวชมแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจบนเกาะรัตนโกสินทร์ คือ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ที่นี่คือศูนย์การเรียนรู้และยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมในยุครัตนโกสินทร์ จัดแสดงวัตถุจัดแสดงภายในอาคารที่ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ถัดจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยอาคารนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่นำมาบูรณะให้เป็นอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ด้วยที่ตั้งของอาคารเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าสู่เขตราชธานีเมื่อครั้งอดีต จึงเปรียบได้เป็น “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์” นั่นเอง

ด้านในจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งความน่าสนใจของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ คือการจัดแสดงเรื่องราวความรู้ต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัย ทั้งสื่อจัดแสดง หุ่นจำลอง การนำสื่อผสมเสมือนจริง 4 มิติ สื่อมัลติทัช มัลติมีเดียแอนิเมชัน ในรูปแบบ Interactive Self-Learning จำนวนทั้งหมด 9 ห้องจัดแสดงที่ตั้งชื่อห้องไว้อย่างคล้องจองกันและมีความไพเราะทางภาษา รวมไปถึงสิ่งจัดแสดงทั้งหมดที่มี สมกับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงคุณค่าแห่งยุคสมัย ที่เราสามารถสัมผัสได้ในระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น

3. มิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยาม หรืออีกชื่อคือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ นับเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมายเน้นไปที่การแสดงตัวตนของชนชาติไทย แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของชาวไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันในมิติที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น ใช้การนำเสนอด้วยสื่อผสมหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะนิทรรศการ “ถอดรหัสไทย” ที่นำเสนอภายใน 14 ห้องนิทรรศการ ที่จะพาผู้ชมทุกคนไปเรียนรู้ทุกมุมมองความเป็นไทย และพัฒนาการความเป็นไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย การศึกษา ความเชื่อ วัฒนธรรมร่วมสมัย ฯลฯ

นอกจากนิทรรศการหลักอย่างนิทรรศการถาวรชุดถอดรหัสไทย ที่พาทุกคนไปเรียนรู้พัฒนาการความเป็น “ไทย” ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแล้ว ยังมีนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดขึ้นตามเทรนด์ของสังคมด้วย รวมไปถึงนิทรรศการเสมือนจริง ที่เราสามารถเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียนได้ผ่านทางออนไลน์ และมิวเซียมใต้ดิน พิพิธภัณฑ์ใต้ดินแห่งแรกของไทย ความร่วมมือระหว่างมิวเซียมสยามและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ใต้ดิน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ บริเวณทางออกที่ 1 สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย สถานีรถไฟแห่งเดียวในระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน พื้นที่เมืองเก่าที่ทรงคุณค่าที่สุดของกรุงเทพมหานคร

4. พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6

ไม่ไกลกันจากมิวเซียมสยาม เดินไปเรื่อย ๆ จนถึงหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพน
วิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ณ อาคารราชวัลลภ อาคารเก่าแก่สไตล์ยุโรปยุคหลังที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2466 บริเวณพื้นที่ชั้น 2 และ 3 ถูกเรียกว่าพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยพลโทยุทธ สมบูรณ์ เจ้ากรมการรักษาดินแดนในขณะนั้น ทำหนังสือขอพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากสำนักพระราชวัง เพื่อนำมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากนั้นมาก็มีการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์หลายครั้ง โดยครั้งสำคัญ คือในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 สมัยที่พลโทหาญ เพไทย เป็นเจ้ากรมการรักษาดินแดน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 พลโทสมเกียรติ สุทธิไวยกิจ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง ดำริให้จัดทำโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 เพื่อเทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาเป็นผู้ออกแบบปรับปรุง ให้คำแนะนำ และกำกับดูแลการจัดแสดงให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักการ

สำหรับนิทรรศการภายใน บริเวณชั้น 2 คือห้องพระบารมีปกเกล้า พื้นที่แห่งการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชสมัย และบริเวณชั้น 3 คือห้องรามจิตติ จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ อาทิ ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ฉลองพระองค์ลำลอง พระมาลา ฉลองพระบาท และเครื่องหมายต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์

5. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์อีกแห่งที่น่าสนใจ คือพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งอยู่บนอาคารอนุรักษ์ 3 ชั้น กรมโยธาธิการเดิม บริเวณทางแยกผ่านฟ้าลีลาศ ภายในจัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนำมาจัดแสดง

ภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งการจัดนิทรรศการออกเป็น 3 ชั้น ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวร ชั้นที่ 1 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ชั้นที่ 2 จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และชั้นที่ 3 จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่าง ๆ นอกจากนิทรรศการถาวรแล้ว ยังมีนิทรรศการหมุนเวียน นิทรรศการเคลื่อนที่ รวมถึงพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ที่สามารถเข้าชมผ่านออนไลน์

6. พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ใครที่สนใจงานแฟชั่น โดยเฉพาะงานการออกแบบผ้าและเครื่องแต่งกาย อยากให้ลองเข้าไปพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดูสักครั้ง เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทย และประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย โดยทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้า ตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าชนิดต่าง ๆ และการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ รวมทั้งชมนิทรรศการฉลองพระองค์ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงนำความเป็นไทยออกไปสู่สากล และก่อให้เกิดรายได้กลับมาสู่ผู้ผลิตในประเทศ

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ เขตพระราชฐานชั้นนอก ริมกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ นิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ในปัจจุบัน คือนิทรรศการ สิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงผ่านฉลองพระองค์ในช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นถึงความงดงามของฉลองพระองค์รวมทั้งการออกแบบเครื่องแต่งกายในแต่ละยุคสมัย โดยจะจัดแสดงถึงวันที่ 30 เมษายน 2568

7. พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ

คอหนังย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์น่าจะสนใจและชื่นชอบที่นี่ได้ไม่ยาก เพราะที่พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณแห่งนี้ได้รวบรวมปืนใหญ่โบราณที่มีอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์มาจัดแสดงไว้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โดยเรียงหมวดหมู่ตามอายุและยุคสมัย เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเกี่ยวกับปืนใหญ่ ซึ่งในสมัยโบราณถือว่าเป็นยุทโธปกรณ์ในสงครามที่มีความสำคัญมาก จนได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งสนามรบ” เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงและยิงได้ระยะไกล ใช้บุกโจมตีศัตรูในยามศึกสงคราม ตลอดจนป้องกันพระนครในยามสงบโดยนำมาวางไว้ตามเชิงเทินบนป้อมปราการ โดยปืนใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดและถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้คือ “พญาตานี”

พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารโบราณ กระทรวงกลาโหม ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอาคารโบราณนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยช่างชาวอิตาลี เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอปัลลาเดียน ด้านหน้ามีพิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยปืนใหญ่โบราณกว่า 40 กระบอก เช่น ปืนนารายณ์สังหาญ ปืนพญาตานี และปืนชุดที่สั่งทำจากประเทศฝรั่งเศส แต่ละกระบอกมีเรื่องราวที่เคยผ่านศึกสงครามมาแล้วมากมายในอดีต อีกทั้งยังสะท้อนถึงศิลปะการออกแบบอาวุธของแต่ละยุคสมัยอีกด้วย

8. บำรุงชาติสาสนายาไทย (บ้านหมอหวาน)

จะเรียกที่นี่ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์อีกแห่งหนึ่งก็ได้ สำหรับบ้านหมอหวาน หรืออาคารบำรุงชาติสาสนายาไทย เนื่องจากที่นี่เคยเป็นบ้านของ “หมอหวาน รอดม่วง” แพทย์แผนโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีชีวิตอยู่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 8 แม้ว่าปัจจุบัน การแพทย์แผนปัจจุบันการแพทย์แผนไทยจะเลือนหายไปตามกาลเวลา และถูกแทนที่ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ที่บ้านหมอหวานแห่งนี้ได้รวบรวมองค์ความรู้ตำราแพทย์แผนไทยที่มียังมีชีวิตไว้ และกลายเป็นป้อมปราการสุดท้ายของการแพทย์แผนไทยที่กำลังจะเลือนหายไป

สำหรับอาคารบำรุงชาติสาสนายาไทย หรือบ้านหมอหวาน สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2467 เป็นอาคารพาณิชย์กึ่งปูนกึ่งไม้ 3 ชั้นในรูปแบบโคโลเนียล ชิโน-โปรตุกีส จากรูปแบบและลวดลายปูนปั้นที่ปรากฏบนตึก สันนิษฐานว่าออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าของเดิมคือหมอหวาน รอดม่วง หมอยาแผนไทยผู้ก่อตั้งร้านขายยาบ้านหมอหวาน บนเกาะรัตนโกสินทร์ ภายในมียาหอมล้ำค่าอยู่ 4 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมสว่างภพ ยาหอมประจักร ยาหอมอินทรโอสถ และยาหอมสุรามฤทธิ์ ปัจจุบัน บ้านหมอหวานและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยถูกส่งต่อมายังทายาทรุ่นที่ 4 ที่ได้พยายามเก็บรักษามรดกตกทอดนี้ไว้และฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

9. หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

อีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ที่ใช้อาคารประวัติศาสตร์บนถนนราชดำเนิน คือหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เป็นหอศิลป์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย ใช้เป็นแหล่งจัดแสดงผลงานของศิลปิน ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยของไทย อันมีรากฐานต่อยอดมาจากศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม ภายในจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยทั้ง 6 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์ ดนตรีและการแสดง การออกแบบ และภาพยนตร์ จากหลากหลายศิลปินทั้งศิลปินแห่งชาติไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับประเทศในอาเซียนและการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์

ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน จึงถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยของไทย แบ่งจัดแสดงเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียนขนาดใหญ่ สำหรับจัดนิทรรศการผลงานศิลปะที่ต้องใช้พื้นที่และมีจำนวนมาก และห้องออดิทอเรียม ที่มีวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งระบบภาพ แสง สี เสียงที่ทันสมัย ชั้นที่ 2 ประกอบไปด้วยห้องสมุด ที่รวบรวมหนังสือ วารสาร และเอกสารวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณค่าหาชมได้ยาก ห้องนิทรรศการ และห้องปฏิบัติการ 1 และ 2 ที่สามารถใช้เป็นห้องจัดอบรม เสวนา หรือกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่แสดงผลงาน ส่วนชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน ผ่านนิทรรศการหมุนเวียนที่ถูกจัดขึ้นตลอดปี

10. หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

จริง ๆ แล้ว หากพูดถึงแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมองค์ความรู้ไว้มากมายหลากหลายสาขาวิชา หลายคนก็น่าจะนึกถึงห้องสมุด ซึ่งกรุงเทพมหานครก็มีห้องสมุดสาธารณะที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพฯ เช่นกัน ซึ่งก็คือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร จัดตั้งขึ้นจากโครงการสร้างห้องสมุดสาธารณะของเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่เกิดขึ้นจากการที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้คัดเลือกให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือโลก ประจำปี พ.ศ. 2556

ซึ่งจุดเริ่มต้นก็มาจากแนวคิดและนโยบายของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่จะผลักดันให้เมืองหลวงของประเทศไทยเป็น “มหานครแห่งการเรียนรู้” และเพื่อเพิ่มแหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ที่รวบรวมองค์ความรู้อันทรงคุณค่า
และแหล่งภูมิปัญญา ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัยครบวงจร โดยหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร จึงเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงความเป็นมาของกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีบริการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ และบริการห้องค้นคว้าสำหรับสมาชิกของหอสมุด

อาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นอาคารเก่าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว และเป็น 1 ในอาคารประวัติศาสตร์ 15 หลังที่เรียงรายตลอดสองฟากถนนราชดำเนิน ดำเนินการบูรณะใหม่โดยคงรูปแบบเดิมของอาคารและตกแต่งภายในให้มีความเข้ากับบรรยากาศอย่างลงตัว

11. พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

กวีเอกคนหนึ่งที่เป็นที่รู้จักอย่างมากสำหรับคนไทย เห็นทีว่าจะหนีไม่พ้น “สุนทรภู่” กวี 4 แผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้ซึ่งมีวันคล้ายวันเกิดเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่โรงเรียนจะต้องจัดกิจกรรม รวมถึงผู้คนในแวดวงวรรณคดีไทยจะต้องระลึกถึง อีกทั้ง ยูเนสโก (UNESCO) ยังได้ประกาศยกย่องให้สุนทรภู่เป็นบุคคลดีเด่นระดับโลกด้วย ซึ่งหากว่าใครสนใจอยากจะศึกษาชีวประวัติของกวีผู้นี้ สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดแห่งนี้เคยเป็นที่พักจำพรรษาของกวีเอกผู้นี้ในสมัยที่บวชเป็นพระภิกษุ ลักษณะของพิพิธภัณฑ์ จะเป็นกุฏิหลังหนึ่ง ที่เรียกว่า “บ้านกวี” หรือ “กุฏิสุนทรภู่” และเป็น “วรรณศิลป์สโมสร” อนุสรณ์แห่งความทรงจำต่อมหากวีผู้นี้

พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ เป็นหมู่กุฏิ 3 หลังในหมู่กุฏิคณะ 7 วัดเทพธิดาราม แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ห้อง ห้องแรก คือห้องแรงบันดาลใจไม่รู้จบ จัดแสดงชีวประวัติและผลงานของสุนทรภู่ ภายในห้องมีรูปหล่อครั้งตัวของสุนทรภู่ ซึ่งทางวัดเทพธิดารามสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2512 ห้องที่ 2 คือห้องมณีแห่งปัญญา จัดแสดงเกี่ยวกับการสะท้อนสภาพสังคมผ่านผลงานของสุนทรภู่ และมีส่วนกิจกรรมให้ทดลองเรียงบทกวีจากผลงานของสุนทรภู่ ส่วนห้องที่ 3 คือห้องใต้ร่มกาสาวพัสตร์ จัดแสดงในกุฎิซึ่งเชื่อว่าสุนทรภู่เคยพำนัก มีการจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารและของใช้ต่าง ๆ บางจุดนำเอาเทคโนโลยี AR มาช่วยในการนำชมพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้เข้าชมเสมือนได้ถ่ายภาพและวิดีโอร่วมกับพระภิกษุภู่จริง ๆ

12. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรืออีกชื่อคือ หอศิลป์เจ้าฟ้า เป็นหอศิลป์และเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร ที่ได้ด้ริเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน ประเภทศิลปะสมัยใหม่ขึ้น เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย โดยได้รับมอบอาคารโรงกษาปณ์เก่า จากกรมธนารักษ์ เพื่อจัดตั้งเป็นหอศิลปแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรมประเภททัศนศิลป์ ของศิลปินผู้ที่มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและร่วมสมัย

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ นิทรรศการถาวร จัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีและผลงานร่วมสมัย โดยนำเสนอให้เห็นวิวัฒนาการของผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ห้อง คือ ห้องเฉลิมพระเกียรติ แสดงจิตรกรรมภาพฝีพระหัตถ์ ของรัชกาลที่ 9 ห้องจิตรกรรมไทยประเพณี จัดแสดงจิตรกรรมไทยประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับสืบทอดมาตั้งแต่อดีต โดยมีเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ที่สอดแทรกด้วยเรื่องราวในวรรณคดีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยก่อน ห้องจิตรกรรมแบบตะวันตก จัดแสดงภาพจิตรกรรมไทยที่ผสมผสานกับรูปแบบจิตรกรรมตะวันตก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และห้องประติมากรรม จัดแสดงผลงานประติมากรรมในยุคของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475

อีกส่วน เป็นนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดปี เดือนละ 2-4 นิทรรศการ ผลงานที่นำมาจัดแสดง จะเป็นผลงานทัศนศิลป์ทุกประเภท ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศิลปะ เป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับชาติ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

13. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

งานศิลปะของไทยนั้นมีความน่าสนใจหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก ซึ่งอีกหนึ่งชิ้นงานศิลปะที่ใครหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คือ เรือพระราชพิธี ซึ่งรู้หรือไม่ว่าบนเกาะรัตนโกสินทร์นั้นมีพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางแบบพิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธีด้วย ในพื้นที่เดิมที่เคยเป็นอู่เรือหลวงเก่าหรือโรงเก็บเรือรบและเรือพระที่นั่งที่ใช้ในพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่และเรือพระราชพิธีบางส่วนถูกระเบิดได้รับความเสียหาย และอยู่ในสภาพทรุดโทรมนานหลายปี กระทั่งสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรบูรณะซ่อมแซมเรือพระที่นั่งและเรือเก่าที่ใช้ในพระราชพิธี ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแต่โบราณ มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปกรรม จากฝีมือช่างอันล้ำเลิศ หลังจากนั้นกรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่าง ๆ ให้เป็นมรดกของชาติ พร้อมกับยกฐานะของอู่เรือหลวงเก่านี้ขึ้นเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ภายในมีส่วนของอาคารสำนักงาน และอาคารจัดแสดงเรือพระราชพิธี

สำหรับเรือพระราชพิธีที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือเรือพระราชพิธีสำคัญ 8 ลำ (จาก 52 ลำ) ได้แก่ แบ่งเป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือที่มีโขนเรือ 4 ลำ คือ เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ และเรือเอกไชยเหินหาว พร้อมด้วยเครื่องประกอบและสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ส่วนเรือพระราชพิธีอีก 44 ลำ ฝากเก็บรักษาอยู่ที่ท่าวาสุกรี พื้นที่ของสำนักพระราชวัง 6 ลำ และที่แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ 38 ลำ

14. พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร หนึ่งในวัดสำคัญบนเกาะรัตนโกสินทร์ สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 ความสำคัญของพระอารามแห่งนี้ คือ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชไทยถึง 4 พระองค์ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์สายฝ่ายธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในประเทศ รวมถึงเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และวัดประจำรัชกาลที่ 9 ด้วย เป็นที่ประทับจำพรรษาของรัชกาลที่ 9 ในระหว่างผนวช อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 2 วัด สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 9

โดยพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร จัดตั้งขึ้นตามโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ในปีพ.ศ. 2552 ด้วยเห็นว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารพระองค์ปัจจุบัน (ในขณะนั้น) รวมถึงผู้ทรงครองและครองวัดบวรนิเวศวิหารในอดีต ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ และศาสนกิจต่าง ๆ เป็นคุณูปการแก่การพระศาสนาและชาติบ้านเมือง จึงเห็นสมควรที่จะได้นำพระประวัติและผลงานของเจ้าอาวาศวัดบวรนิเวศวิหารทุกพระองค์ทุกท่านมาจัดแสดงให้เป็นที่ปรากฎแก่สาธารณชน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่อนุชนสืบไป

พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งอยู่ ณ อาคารมนุษยนาควิทยาทาน ภายในมีการรวบรวมพระประวัติ พระเกียรติคุณ ผลงาน อัฐบริขาร และสิ่งของเครื่องใช้ของเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษา การพระศาสนา และการปกครองของคณะสงฆ์ตลอดถึงคุณูปการที่คณะสงฆ์มีต่อชาติบ้านเมือง ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ชั้นที่ 1 จะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับฉายวีดิทัศน์

ส่วนชั้นที่ 2 จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 7 ห้อง ตามจำนวนอดีตเจ้าอาวาสของวัดบวรนิเวศวิหารที่สวรรคต/สิ้นพระชนม์/มรณภาพไปแล้ว ได้แก่ พระวชิรญาณเถร (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4), สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ), สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) และสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)

15. พิพิธบางลำพู

อีกสถานที่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 คือ พิพิธบางลำพู ศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์ พิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บนถนพระอาทิตย์ ริมคลองบางลำพู ใกล้กันกับป้อมพระสุเมรุ 1 ใน 2 ป้อมปราการปกป้องพระนครที่ยังคงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน บริเวณนี้ แต่เดิมมากไปด้วยต้นลำพู จึงเป็นที่มาของชื่อบางลำพู ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อยที่ทำแสงกะพริบระยิบระยับยามค่ำคืน แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ต้นสุดท้ายแล้ว ยังคงอนุรักษ์ไว้ในพิพิธบางลำพูแห่งนี้

พิพิธบางลำพู จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่ประยุกต์การแสดงวัตถุและการเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์เข้ากับการแสดงวิถีชุมชนบางลำพูเดิมอย่างน่าสนใจ จัดแสดงประวัติความเป็นมาและวิถีชุมชนบางลำพู ย่านการค้าและแหล่งชุมชนเก่าแก่ 7 ชุมชน ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ยังคงสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลานกิจกรรม และสถานที่สาธารณประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม

16. หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา

ออกมาจากพิพิธบางลำพูไม่ไกล ก็จะเจอกับหอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา เดิมเป็นวังของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เป็นที่พักของนายมารีโอ ตามัญโญ นายช่างชาวอิตาเลียน ผู้ควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อที่ดินบริเวณนี้สร้างเป็นที่ทำการของกรมตำรวจ ครั้นเมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ เข้ารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจพระนครบาล จึงขอพระราชทานบ้านและที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเจ้าพระยาจึงเป็นอาคารอีกหลังที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร

ปัจจุบัน ที่นี่เปิดเป็นหอศิลป์ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการศิลปะสมัยใหม่ โดยกลุ่ม ปตท. ได้อนุรักษ์บ้านเจ้าพระยาให้เป็นที่จัดนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลในการประกวดศิลปกรรม ปตท. รวมทั้งใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงหรือศิลปินรุ่นใหม่ ส่วนพื้นที่โดยรอบอาคารทรงปั้นหยา ก็ได้รับการปรับปรุงตกแต่งใหม่ให้มีความงดงาม สามารถใช้ประโยชน์เป็นลานกิจกรรมศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนในย่านใกล้เคียง รวมถึงสินค้าชุมชนที่กลุ่ม ปตท. ร่วมสนับสนุน ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจัดแสดงและจำหน่าย รวมถึงร่วมกับ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จัดตั้งร้าน Café Amazon for Chance โดยมีบาริสต้าเป็นผู้พิการทางการได้ยิน

17. พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์

อีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์เช่นเดียวกันกับพิพิธบางลำพู คือ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ (พิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งไม่ได้อยู่ใกล้กัน แต่สามารถเดินถึงกันได้ถ้าขยันเดิน) พิพิธภัณฑ์เฉพาะทางเกี่ยวกับเงินตราทั้งสกุลเงินไทยและต่างประเทศ โดยสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “วิถีแห่งเงินตรา สินล้ำค่าของแผ่นดิน” ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ผ่านเงินตรา ซึ่งเป็นสื่อกลางที่ใช้การแลกเปลี่ยนหมุนเวียนในเศรษฐกิจ และยังเปรียบเสมือนนักเดินทางผู้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย

ที่นี่จัดแสดงเงินตราโบราณ เหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก เงินตราต่างประเทศ รวมถึงเผยแพร่ภารกิจของกรมธนารักษ์ด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์ การอนุรักษ์เงินตราโบราณ และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะด้านเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์และเงินตราสำหรับผู้สนใจ นักสะสม เยาวชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับนักสะสมเหรียญและผู้สนใจทั่วไป ในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล ตลอดจนการจัดนิทรรศการ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ ภายในยังมีห้องสมุดเฉพาะทางเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ แหล่งความรู้เพื่อการศึกษาค้นคว้าและห้องกิจกรรมสำหรับผู้เข้าชมที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมร่วมกัน

18. พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องราวที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในแผ่นดินไทย คือเรื่องราวของเงินตรา ที่เรื่องราวไม่ใช่แค่เรื่องของเหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่มีมูลค่า แต่เป็นอะไรที่ใหญ่กว่านั้น ใหญ่แบบสถาบันการเงิน หรือก็คือเรื่องของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ซึ่งมีความสำคัญในฐานะของธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลกำกับเรื่องการเงินของชาติ ใครที่สนใจอยากศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมาที่ พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่านบางลำพูเท่าไรนัก อยู่ที่บริเวณแยกบางขุนพรหม หรือก็คือบริเวณวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์นั่นเอง เพราะที่นี่คือที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย มีต้นกำเนิดมาจากแนวความคิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2502-2514 เปิดดำเนินการครั้งแรกในนามว่า “พิพิธภัณฑ์เงินตรา” ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการจัดแสดงในสถานที่ต่าง ๆ คือ ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์

ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดแสดงนิทรรศการถาวร คือ “นิทรรศการเงินตรา” แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงินของประเทศที่เชื่อมโยงกับเงินตรามาทุกยุคทุกสมัย วิวัฒนาการเงินตรา “นิทรรศการประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย” กับบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และ “นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร” จัดแสดงประวัติการพิมพ์ธนบัตรตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงขั้นตอนการพิมพ์ธนบัตรผ่านแท่นพิมพ์ที่เคยใช้งานอยู่จริง ซึ่งเป็นการจัดแสดงในนิทรรศการที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ณ วังบางขุนพรหม จัดแสดงเป็นห้องต่าง ๆ ได้แก่ “ห้องบริพัตร” จัดแสดงพระประวัติทูนกระหม่อมบริพัตร รวมทั้งวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในพระองค์ “ห้องสีชมพู” ใช้สำหรับรับรองบุคคลสำคัญที่มาเยือนวังบางขุนพรหม ตลอดจนใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระและพิธีการต่าง ๆ “ห้องสีน้ำเงิน” ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่พระราชทานแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2489 “ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ ตั้งชื่อห้องเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ว่าการพระองค์แรกของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ห้องนี้เคยเป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่พระองค์แรก จนถึงนายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการคนที่ 10 และ “ห้องประชุมเล็ก” ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยใช้เป็นที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ

ส่วนที่วังเทวะเวสม์ ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดง ห้องประชุม และห้องรับรอง ทายาทราชสกุลเทวกุลเป็นผู้ตั้งนามห้องต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย “ห้องเทพสถิตสถาพร” จัดแสดงพระประวัติและพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ “ห้องบุราณสถานบูรณะ” จัดแสดงเรื่องราวการอนุรักษ์วังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ รวมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ซึ่งนอกจากตำหนักใหญ่แล้ว ในบริเวณวังเทวะเวสม์มีอาคารบริวารที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงและนำมาใช้ประโยชน์อีก 3 อาคาร คือ ตึกหม่อมลม้าย ตึกหม่อมจันทร์ และเรือนแพ

19. พระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี)

ถ้าพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วพระราชวังในสมัยที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้นตั้งอยู่บริเวณไหนทางฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา? มีใครเคยสงสัยเรื่องนี้บ้าง แล้วจริง ๆ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ทรงตั้งพระราชวังของพระองค์ไว้บริเวณไหนของกรุงธนบุรี ถ้าอยากรู้คำตอบล่ะก็ ต้องข้ามแม้น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรี เพื่อเข้าชมพระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี) ให้เห็นกับตา เพราะที่นี่แหละคือพระราชวังแห่งเดียวที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี) เป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ป้อมวิไชยประสิทธิ์ บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งเดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่า “พระราชวังเดิม” ตั้งแต่นั้นมา

พระราชวังเดิม ภายในประกอบด้วยอาคารท้องพระโรง อาคารเก่าแก่อายุกว่า 250 ปี สถานที่ซึ่งพระเจ้าตากสินมหาราชทรงออกว่าราชการ เดิมเป็นอาคารไม้ จากนั้นบูรณะซ่อมแซมด้วยการก่ออิฐถือปูน อาคารเก๋งจีนคู่หลังเล็ก ภายในจัดแสดงอาวุธจากสมัยกรุงธนบุรี นอกจากนี้ยังมีหมู่อาคารอื่น ๆ ได้แก่ อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ อาคารตำหนักเก๋งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลศีรษะปลาวาฬ อาคารเรือนเขียว และป้อมวิไชยประสิทธิ์ ที่เคยใช้เป็นด่านเก็บภาษีปากเรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

20. พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

อีกแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจบนเกาะรัตนโกสินทร์ฝั่งธนบุรี คือพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช เดิมพื้นที่บริเวณนี้คือ สถานีรถไฟธนบุรี (หรือ บางกอกน้อย) มีความสำคัญในฐานะเคยเป็นสถานีต้นทางแห่งแรกของรถไฟสายใต้ ต่อมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบที่ดินบริเวณสถานีธนบุรี ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ส่วนหนึ่งใช้สร้างโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และอีกส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์จัดสร้างขึ้นใหม่โดยใช้อาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นำเสนอเรื่องราวที่ทรงคุณค่า ทั้งทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย-วังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงปัจจุบัน และการสร้างทางรถไฟสายใต้และวิถีชุมชนบางกอกน้อย

นอกจากนั้น ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังแสดงถึงกำเนิดแห่งโรงพยาบาลศิริราชและโรงเรียนแพทย์แห่งแรก ประวัติการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ณ ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์ นำเสนอจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลศิริราช โซนจำลองการผ่าตัด ร่วมเป็นหนึ่งในทีมผ่าตัดในห้องผ่าตัด ห้องสยามรัฐเวชศาสตร์ รู้จักการแพทย์แผนไทย ศาสตร์อันลึกซึ้งที่ไม่ลึกลับ เรียนรู้ได้ เข้าใจได้ และยังช่วยให้ดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี ร้านโอสถวัฒนา รวบรวมสมุนไพรไทยหลายร้อยชนิดในร้านขายยาโบราณ พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์หลากหลายพัฒนามาเป็นการผลิตยาด้วยเทคนิคที่ทันสมัย พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ จุดกำเนิดของวงการศัลยศาสตร์ไทย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook