เปิด หอจดหมายเหตุฯ อังคาร กัลยาณพงศ์ ณ บ้านที่พำนักและสร้างสรรค์งานจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ทายาทของศิลปินและกวีเอก อังคาร กัลยาณพงศ์ นำโดยบุตรี อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ได้รีโนเวตบ้านซึ่งเป็นสถานที่พำนักและสร้างสรรค์งานของพ่อให้เป็นหอจดหมายเหตุและผลงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมแล้วโดยการนัดหมายล่วงหน้า
Focus
- ทายาทของศิลปินและกวีเอก อังคาร กัลยาณพงศ์ นำโดยบุตรี อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ได้รีโนเวตบ้านซึ่งเป็นสถานที่พำนักและสร้างสรรค์งานของพ่อให้เป็นหอจดหมายเหตุและผลงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์
- หลังจากดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปีด้วยทุนส่วนตัวของครอบครัว หอจดหมายเหตุฯ พร้อมเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมแล้วโดยการนัดหมายล่วงหน้า
- หอจดหมายเหตุฯ จัดแสดงบางส่วนของงานจิตรกรรม บทกวี อุปกรณ์การทำงาน ของใช้ในชีวิตประจำวันและของสะสมส่วนตัวของท่านอังคาร พร้อมจัดทำทะเบียนและฐานข้อมูลสืบค้นตามหลักสากล
“ไม่อยากให้คนลืม อังคาร กัลยาณพงศ์”
ขวัญ-อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ บุตรีของศิลปินและกวีเอก อังคาร กัลยาณพงศ์ (พ.ศ. 2469-2555) กล่าวถึงแรงขับเคลื่อนในการรีโนเวตบ้านเดี่ยวสองชั้นในซอยพระรามเก้า 59 กรุงเทพฯ สถานที่ที่เคยเป็นที่พำนักและสร้างสรรค์กวีนิพนธ์และผลงานจิตรกรรมมากมายของ “ท่านอังคาร” ชื่อที่คนในวงการศิลปะเรียกขานและยกย่อง ให้เป็น หอจดหมายเหตุและผลงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์ (Art and Archives of Angkarn Kallayanapong)
“เคยบอกกล่าวว่าเราจะสร้างกึ่งมิวเซียมให้สำเร็จ คือจริงๆ ไม่อยากให้คนลืมเขา ไม่อยากให้คนลืม อังคาร กัลยาณพงศ์ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจมีบทเรียน เคยเรียนหลักสูตรที่พูดถึงเขาอยู่ หรือคนรุ่นเก่าที่อยากรำลึกความหลัง หรือเป็นแฟนคลับและอยากมาชมผลงาน ชมชีวิตส่วนหนึ่งของเขา ดังนั้นมันต้องสำเร็จและทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้” ขวัญ ลูกคนที่ 2 ของท่านอังคารผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุฯ กล่าวกับ Sarakadee Lite
ความตั้งใจในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุฯ เริ่มตั้งแต่เมื่อท่านอังคารเสียชีวิตใน พ.ศ. 2555 แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องเงินทุนซึ่งทั้งหมดต้องใช้ทุนส่วนตัวของครอบครัวและปัจจัยอีกหลายอย่างทำให้การดำเนินการต้องหยุดชะงักมาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามในช่วง พ.ศ. 2565-2566 เริ่มกลับมาดำเนินการต่ออย่างจริงจัง มีการจัดทำทะเบียนผลงาน เอกสาร ภาพถ่าย และข้าวของเครื่องใช้หลายพันชิ้นตามระบบการจัดทำจดหมายเหตุแบบสากล และถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซนต์ หอจดหมายเหตุและผลงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2532 สาขาวรรณศิลป์ และกวีซีไรต์ พ.ศ. 2529 พร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้ที่สนใจแล้วโดยการนัดหมายล่วงหน้า
“งบประมาณทุกอย่างเป็นงบของตัวเองในการจัดหาทุกอย่างจึงสะดุดบ้าง เราทำไปหยุดไป เพราะงบหมดบ้างพอหมดก็หามาใหม่ การรีโนเวตใช้งบประมาณมากและเกินงบไปมากก็ลำบากประมาณหนึ่ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราก็โหมกันอย่างหนัก เพราะต้องการเปิดให้ทันภายในปีนี้ (ปี 2567) เป็นการทดลองเปิด เพราะยังไม่สมบูรณ์ น่าจะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จากงานทั้งหมด ยังเหลือส่วนที่เป็นคาเฟ่ อาร์ตช็อป และห้องเวิร์กช็อปที่ยังไม่เรียบร้อย”
ภาพวาดด้วยสีอะคริลิกและชาร์โคล ภาพสเกตซ์ รูปวาดที่ยังวาดไม่เสร็จ บทกวี งานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามโบราณสถานต่างๆ รวมไปถึงของใช้ในชีวิตประจำวันและของสะสมส่วนตัว เช่น สร้อยอำพันที่ท่านมักใส่ติดตัว หมวกสักหลาดใบโปรด ย่าม และไม้เท้าที่ใช้ประจำ รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ในช่วงปลายของชีวิต ปากกาคอแร้งและปากกาหมึกซึมสำหรับเขียนบทกวี แท่งชาร์โคล พู่กัน และสีอะคริลิกสำหรับวาดภาพ ไม้รองมือขณะเขียนรูป คือบางส่วนที่นำมาจัดแสดงให้ชมเพื่อบอกเล่าถึงชีวิตและการสร้างสรรค์งานของท่านอังคารผู้ฝากผลงานเลื่องชื่อไว้มากมาย เช่น กวีนิพนธ์เรื่อง ปณิธานกวี ลำนำภูกระดึง และกวีศรีอยุธยา
นอกจากนี้ยังมีการจำลองบรรยากาศการทำงานของศิลปินในห้องทำงานจริงและมีการจัดเก็บฐานข้อมูลทั้งหมดในระบบดิจิทัลเป็น Digital Archive ที่ผู้ชมสามารถดูรายละเอียดของผลงาน เครื่องมือ ของใช้ และของสะสม เพิ่มเติมได้จากแท็บเล็ตที่จัดเตรียมไว้ให้ขณะเข้าชม หรือสืบค้นทางคลังข้อมูลออนไลน์ที่ https://www.angkarnarchives.com/ ซึ่งจัดทำเป็นสองภาษาคือไทยและอังกฤษ
เปิดบ้านเป็นแหล่งค้นคว้าและสืบค้นความจริงแท้ของผลงาน
บ้านหลังนี้เป็นที่พำนักของท่านอังคารตั้งแต่ราวปี 2525 จนกระทั่งเสียชีวิตซึ่งเป็นบ้านหลังแรกที่ซื้อเป็นสินทรัพย์ของตนเองหลังจากอาศัยในบ้านเช่าและย้ายไปมาอยู่บ่อยครั้ง ปัจจุบันขวัญกับน้องสาวคือ วิศาขา กัลยาณพงศ์ ซึ่งเป็นอีกเรี่ยวแรงสำคัญในการร่วมจัดทำหอจดหมายเหตุฯ ยังคงพักอาศัยอยู่ที่นี่ บ้านได้มีการรีโนเวตใหม่ทั้งหมดโดยส่วนด้านหน้าบ้านทำให้เป็นสถานที่จัดแสดงได้ ด้านหลังเป็นคลังซึ่งมีการจัดเก็บโดยอิงการอนุรักษ์เชิงป้องกัน ห้องชั้นล่างมีการทำบันไดวนขึ้นไปยังชั้น 2 ซึ่งเป็นห้องทำงานโดยมีการจัดวางอุปกรณ์การทำงาน เอกสาร และของใช้ต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับบรรยากาศการทำงานจริงของศิลปินโดยอ้างอิงจากภาพถ่ายที่ขวัญเคยถ่ายไว้ในปี 2544
“เราต้องการให้ที่นี่เป็นแหล่งค้นคว้าศึกษาวิจัยและเป็นแหล่งสืบค้นความจริงแท้ของผลงาน เพราะบางครั้งมีการปลอมผลงานเกิดขึ้นและหลายคนไม่ทราบว่าจะไปหาข้อมูลที่ไหนถึงจะถูกต้องที่สุด ที่นี่ไม่ใช่พื้นที่ใหญ่ในการที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ คนอาจจะคาดหวังว่าต้องใหญ่สมศักดิ์ศรี แต่เราจัดการได้ในพื้นที่ที่เป็นและความสามารถของพื้นที่ จึงให้เป็นระบบของจดหมายเหตุ เราเอาโครงสร้างการจัดการหอจดหมายเหตุแบบสากลเข้าไปสวมให้เหมาะสมกับบริบทของศิลปิน”
จากรูปที่ขวัญถ่ายไว้จะเห็นว่าในห้องทำงานเต็มไปด้วยกองหนังสือและเอกสารจำนวนมากรายล้อมตัวท่านอังคารไปหมด แต่ในการจัดแสดงจริงเลือกนำเสนอคีย์เวิร์ดที่สำคัญ เช่น มุมที่ท่านอังคารใช้วาดรูป โต๊ะที่ใช้อ่านและเขียนหนังสือ และตู้วางของใช้ต่างๆ
“ท่านชอบนั่งวาดรูปบนพื้นโดยใช้เสื้อคอกลมแขนสั้นสีขาวตัวหนึ่งเป็นที่รองนั่ง ข้างๆ เป็นกระป๋องสี พู่กัน ขันน้ำที่ใช้ผสมสีเพราะสะดวกดี หรือนั่งทำงานเขียนบทกวีบนโต๊ะที่มีกองหนังสือและเอกสารเต็มไปหมด ข้างๆ ก็มีภาพถ่ายตู้พระธรรมลวดลายรดน้ำปิดทอง เพราะท่านชอบลายไทย เราเอาข้าวของเครื่องใช้ที่ท่านใช้จริงๆ มาจัดแสดงให้ได้เห็นว่าท่านทำงานในบรรยากาศแบบนี้จริงๆ ให้ได้กลิ่นอายเป็น living museum โดยเทียบเคียงกับภาพถ่าย”
ในห้องทำงานยังจัดแสดงภาพวาดด้วยชาร์โคลบนกระดาษในช่วงปี 2495-2517 เช่น ภาพแม่น้ำแควน้อย ภาพเหมือนของภรรยาคือคุณอุ่นเรือน และภาพเหมือนของมารดาผู้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและแต่งบทกวีให้ท่านอังคาร
“ในการจัดแสดงไม่อยากทำให้น่าเบื่อและแห้งแล้งจึงใช้ดิจิทัลแท็บเล็ตเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือให้สามารถเล่าเรื่องประกอบการชม เช่น ไม้รองเขียนรูปคนดูอาจไม่เข้าใจว่าใช้งานอย่างไร ในแท็บเล็ตก็จะมีภาพประกอบขณะที่ท่านกำลังทำงานโดยใช้แท่งไม้ยาวมีผ้าขาวติดเป็นทางกลมที่ปลายไม้สำหรับรองมือเพื่อสะดวกในการวาดจิตรกรรมฝาผนัง เรามีการนำชมโดยทายาทเองจึงมี story telling เล่าเรื่องประกอบด้วย”
เผยมุมน่ารักและโรแมนติกของท่านอังคาร
ถัดจากห้องทำงานเป็นห้องที่จัดแสดงงานสเกตซ์ด้วยหมึกดำ เช่น ภาพใบไม้ ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นลายเซ็นของท่านอังคาร บทกวีในยุคแรกๆ ที่แสดงถึงชีวิตที่ยากลำบากและความน้อยเนื้อต่ำใจในวาสนา เช่น บทกวีในปี 2513 ชื่อ ผ้าขี้ริ้ว และบทร้อยแก้ว เช่น เรื่อง บันทึกของจิตรกร และ ภาษาสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างสรรค์งาน เช่น แท่งชาร์โคลสีต่างๆ พู่กัน แปรงทาสี ปากกาคอแร้ง ปากกาหมึกซึม ดินสอสี หมึกดำ หลอดสี ทองคำเปลว เป็นต้น
“มีการโชว์ให้เห็นถึงการพัฒนาของลายมือและลายเซ็น จะเห็นได้ว่าเมื่อท่านได้ไปทำงานคัดลอกจิตรกรรมไทยโบราณเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านมีการใช้ลายเส้นที่อ่อนช้อยมากขึ้น หรือในระยะแรกๆท่านนิยมเขียนบทกวีด้วยปากกาคอแร้ง แต่เมื่ออายุมากขึ้นและสายตาไม่ดีเริ่มใช้ตัวอักษรที่ใหญ่ขึ้นและใช้ปากกาหมึกซึม เพราะสะดวกกว่า”
บริเวณกำแพงด้านหนึ่งจัดแสดงสำเนาของจดหมายเหตุประเภทเอกสารโดยแบ่งเป็นสามประเภทคือ กลุ่มจดหมายจากต่างประเทศ เช่น จดหมายเชิญไปร่วมงานกวีนิพนธ์ในต่างประเทศ อีกกลุ่มคือเอกสารทางราชการและเอกชน เช่น หนังสือขอยืมบทกวีเรื่อง เสียเจ้า ไปจัดแสดง จดหมายเชิญไปเป็นที่ปรึกษาการซ่อมสีจิตรกรรมวัดสุทัศน์ฯ และบัตรประจำตัวผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มจดหมายต่างๆ เช่น จดหมายจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จดหมายถึงภรรยา และการ์ดเชิญงานแต่งงานของท่านอังคารกับคุณอุ่นเรือน
“ในระหว่างการทำจดหมายเหตุก็ได้เห็นสิ่งของเครื่องใช้ที่เราไม่เคยเห็นหรืองานสเกตซ์อื่นๆ งานบันทึกหรือจดหมายที่เป็นส่วนตัว หรือจดหมายที่คนอื่นเขียนถึงท่าน ท่านมีมิติหลากหลาย มีความน่ารัก มีความเป็นอาจารย์ทำให้เรานำไปเป็นไอเดียในการเล่าเรื่องเพิ่มเติมได้ มีมุมน่ารักเช่นจดหมายที่เขียนถึงคุณอุ่นเรือนตอนแรกๆ ที่รู้จักกัน หรือเวลาท่านจะออกไปไหนจะทิ้งโน้ตไว้ให้คุณอุ่นเรือนว่า ‘เดี๋ยวกลับมานะ’ หรือ ‘รอหน่อยนะแก้วตามีเรื่องจะปรึกษา’ ท่านมีคำเรียกหลายอย่างเราก็ได้เห็นความน่ารักและความโรแมนติก”
ของใช้ส่วนตัวและของสะสมตั้งแต่วัยหนุ่มจวบจนบั้นปลายชีวิต
ห้องชั้นล่างจัดแสดงบางส่วนของงานคัดลอกจิตรกรรมไทยโบราณตามโบราณสถานและวัดที่ท่านอังคารได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ในช่วง พ.ศ.2501-2507 ภายใต้โครงการอนุรักษ์ฯ ของกรมศิลปากรในจังหวัดต่างๆ เช่น อยุธยา สุโขทัย และเพชรบุรี
“หลังจากที่ท่านถูกเชิญออกจากการเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านไปบวชเรียนที่วัดมหาธาตุเกือบ2 เดือน หลังจากนั้นอาจารย์เฟื้อมาชวนไปทำงานคัดลอกจิตรกรรมไทย ในขณะที่ลายเส้นการคัดลอกของอาจารย์เฟื้อมีความนิ่งและสม่ำเสมอ แต่ลายเส้นของท่านอังคารมีเข้ม หนัก เบา จนอาจารย์เฟื้อกล่าวว่า ‘นายวาดอะไรก็เป็นนายไปหมด’ ท่านยังมีความเชี่ยวชาญเรื่องเมืองเก่าและได้รับเชิญให้ไปบรรยายและนำชมอยู่บ่อยครั้ง ท่านยังสะสมเศษอิฐจากซากโบราณสถานมาไว้บูชาซึ่งบางส่วนได้นำมาจัดแสดงด้วย”
ท่านอังคารชื่นชอบการผจญภัยในป่าตั้งแต่วัยหนุ่มจึงมีของใช้ในการเดินป่าจำนวนหนึ่งนำมาให้ชมด้วย เช่น เสื้อผ้า เป้ มุ้ง รองเท้า และกระบอกใส่น้ำซึ่งบางชิ้นเขียนว่า “ภูกระดึง” ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับบทกวีที่ท่านเขียนเรื่อง “ลำนำภูกระดึง” รวมถึงเสื้อผ้าต่างๆ เช่น เสื้อเปื้อนสีเขียนว่า “สระบุรี” ซึ่งเป็นเสื้อที่ท่านใช้ขณะวาดจิตรกรรมฝาผนังให้กับโรงพยาบาลสระบุรี (ปัจจุบันจัดแสดงที่วิทยาลัยพยาบาลสระบุรี)
โต๊ะกระจกกลางห้องจัดแสดงของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สร้อยอำพัน หมวก เข็มขัด แว่นตา แว่นขยาย ไม้เกาหลัง ปากกาฉีดอินซูลิน และชุดตรวจอินซูลิน
สร้างสะพานเชื่อมโยงงานของบรมครูกับคนรุ่นใหม่
ขวัญกล่าวว่าผลงานที่เป็นกระดาษทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงผ่านการอนุรักษ์มาแล้วและของที่เก็บในคลังมีการจัดเก็บโดยอิงการอนุรักษ์เชิงป้องกัน
“เราศึกษาการอนุรักษ์วิธีต่างๆ จากนักอนุรักษ์เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการว่าต้องเก็บอย่างไร รักษาอย่างไรเพื่อให้อยู่ได้นาน ผลงานชิ้นสำคัญมีการซ่อมอย่างถูกวิธีจากนักอนุรักษ์”
ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 ทางหอจดหมายเหตุฯ ได้ทดลองเปิดให้เข้าชมแบบไม่เป็นทางการโดยการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อทดสอบระบบและจุดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น
“ผู้ชมอาจคาดหวังว่าจะเห็นงานมากกว่านี้ แต่เราสามารถจัดการได้ในพื้นที่ที่เป็นอยู่ เราจะใช้วิธีจัดแสดงแบบหมุนเวียนโดยกำหนดธีมในแต่ละนิทรรศการ เช่นธีมเรื่องพ่อกับลูกอาจนำมาจัดแสดงเป็นธีมต่อไปหรือใครสนใจจะหยิบยืมผลงานไปจัดแสดงเราก็ยินดี”
ขวัญจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และต่อระดับปริญญาโทสาขาบริหารวัฒนธรรม คณะนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ไม่ได้ทำงานศิลปะ แต่เธอคลุกคลีแวดวงศิลปะหลายปีในฐานะผู้ประสานงานนิทรรศการศิลปะ ผู้ช่วยคิวเรเตอร์ และคิวเรเตอร์ นอกจากนี้ยังมีผลงานเขียนหนังสือ เช่น พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก เรื่องสั้นชื่อ เงาลับจากปลายป่า นิยายเรื่อง อีกไม่นานเราจะสูญหาย ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2561 รวมเรื่องสั้น ในเงาคือเราผู้ซ่อนเร้น และล่าสุดคือนวนิยายเรื่อง โนอาห์แห่งความทรงจำ
นอกจากจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ในรูปแบบเว็บไซต์แล้ว การให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานในแง่มุมต่างๆ ของท่านอังคารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ Facebook : TheAngkarn และ Instagram: @angkarnkallayanapong เป็นอีกช่องทางที่สร้างสะพานเชื่อมถึงผู้ชมในวงกว้าง
“การทำสื่อออนไลน์มีสิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือ คนรุ่นใหม่เข้ามาถามและสนใจงาน บางคนอายุ 20 กว่าก็เป็นแฟนคลับ ทำให้เราเซอร์ไพรส์ว่ายังมีคนรุ่นใหม่ที่รู้จักเขาไม่ใช่แค่คนรุ่นเก่าอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะรู้จักจากบทกวี บางคนถึงขั้นท่องกลอนได้และศึกษาอย่างจริงจัง หรือนักสะสมงานศิลปะรุ่นใหม่ก็อยากศึกษางานเพิ่ม เพราะในตลาดศิลปะยังมีงานท่านอังคารหมุนเวียนอยู่เรื่อยๆ”
ความสำคัญของ archive บนเส้นทางลุ่มๆ ดอนๆ
ขวัญกล่าวว่าหอจดหมายเหตุฯ แห่งนี้อาจเป็นตัวจุดประกายเล็กๆ ให้ศิลปินรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญในการเก็บรักษาผลงาน เอกสาร ภาพถ่าย อุปกรณ์ทำงาน ของใช้ หรือของสะสมในแต่ละช่วงชีวิต โดยเธอยกเครดิตส่วนใหญ่ให้แม่คือคุณอุ่นเรือน (เสียชีวิตเมื่อปลายปี 2563) ผู้เก็บข้าวของเครื่องใช้และผลงานทุกอย่างของพ่อและเป็นกำลังสำคัญในการเปิดบ้านเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์” ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะปิดตัวไป ดังนั้นจึงถือว่าแม่เป็นคนแรกที่ทำ archive ไว้และเธอเข้ามาสานต่อทำให้เป็นระบบและหมวดหมู่มากขึ้น
“ต่อไปเมื่อคุณเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเป็นการเสริมมิติของคุณค่าและความหมายของงาน ถ้าคุณไม่เก็บรักษาไว้ตั้งแต่วันนี้ก็จะไม่มีอะไรเหลือเลย”
ในการจัดตั้งหอศิลป์ส่วนตัวของศิลปินในรูปแบบหอจดหมายเหตุ artist’s houses หรือ artist’s studios เริ่มมีมากขึ้นและขวัญเห็นว่าสามารถนำไปต่อยอดทั้งด้านความรู้เชิงวิชาการและทางสุนทรียภาพพร้อมกับสร้างวัฒนธรรมที่สามารถขายต่อไปได้ในอนาคต
“ในต่างประเทศแม้เป็นพื้นที่เล็กๆ เขาก็สามารถขายตั๋วให้คนมาชม ขายวัฒนธรรม สร้างรายได้เข้าประเทศและเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวได้หากมีการจัดการที่ดีและร่วมมือกันระหว่างทายาท เอกชนหรือรัฐบาล เพราะคอนเทนต์ของศิลปินสามารถเอามาต่อยอดได้มากมาย”
แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เธอเผชิญและกว่าจะก่อร่างหอจดหมายเหตุฯ ให้เป็นรูปร่างได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“ความยากคืองบประมาณ เพราะเป็นการหาทุนด้วยตนเองและบางส่วนจากผู้ที่รักและศรัทธาในตัวศิลปิน การขอทุนต่างๆ เราทำอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากจากหน่วยงานไหนเลย ถูกปฏิเสธทุกครั้งทั้งจากหน่วยงานเอกชนและรัฐบาล แต่เมื่อต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้เราก็ใช้ทุนตัวเองจนกระทั่งค่อยๆ เห็นเป็นรูปเป็นร่าง จริงๆ แล้วนี่เป็นสมบัติของชาติเมื่อเราไม่อยู่หรือไม่มีใครรับช่วงต่อ เราก็ต้องให้กับหน่วยงานหรือใครสักคนมาดูแลต่อ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นของประเทศ ไม่ใช่แค่ของศิลปิน”
“ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์
ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฎ ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ
เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นฤๅ ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ
หยามยโสกักขฬะอธรรม เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์
ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์ จงผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน
หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน ทรมาณทุกข์ร้อนร้ายนิรันดร์เอย”
(บทกวี “ดูถูกศิลปะ” โดย อังคาร กัลยาณพงศ์)
Fact File
- หอจดหมายเหตุและผลงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์ (Art and Archives of Angkarn Kallayanapong) ตั้งอยู่ที่ 66 ซอยพระรามเก้า 59 กรุงเทพฯ
- ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยการนัดหมายล่วงหน้า และมีค่าเข้าชมคนละ 100 บาท โดยตั๋วเข้าชมนำมาแลกเป็นเครื่องดื่มหรือของที่ระลึกได้
- นัดหมายเข้าชมผ่าน LINE OA : @angkarnarchives หรือ โทร. 089-693-9914
- ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.angkarnarchives.com หรือ Facebook : TheAngkarn
อัลบั้มภาพ 17 ภาพ