9 อัตลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ สู่การรังสรรค์บริบทใหม่ของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

9 อัตลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ สู่การรังสรรค์บริบทใหม่ของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

9 อัตลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ สู่การรังสรรค์บริบทใหม่ของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ” สถานที่แห่งความทรงจำ และความประทับใจนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ชื่อนี้ที่บ่งบอกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันดีงาม สถานที่ที่ได้ต้อนรับ นักท่องเที่ยว บุคคลสำคัญทั้งไทยและระดับโลกด้วยการบริการแบบไทยที่อบอุ่นและมีนํ้าใจ รวมทั้งเป็นสถานที่ที่จารึกผลงานทางศิลปะ สถาปัตยกรรมและจิตรกรรมจากอดีตถึงปัจจุบันไว้อย่างมากมาย และหากกล่าวถึงอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าแห่งความทรงจำของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ นั้น จะมีเรื่องราวความงดงามแสดงและแทรกอยู่ในหลายๆ ส่วนทั้งภายในและภายนอกของโรงแรม โดยอัตลักษณ์เหล่านั้นกำลังจะถูกนำมาถ่ายทอดอีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างความประทับใจให้กับคนไทยและผู้มาเยือนจากทั่วโลกในเดือนกันยายนนี้ กับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ณ Dusit Central Park

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยเจตจำนงค์และความตั้งใจของ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่มุ่งมั่นยกระดับธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยท่านไม่เพียงแต่สร้างโรงแรมที่มีความโดดเด่นและสะท้อนความงดงามของกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังได้นำเอาอัตลักษณ์ความเป็นไทยรูปแบบต่างๆ มานำเสนอและสร้างสรรค์จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกอีกด้วย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้เวลา ผ่านมามากกว่าครึ่งศตวรรษ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ก็ยังเป็นโรงแรมอันดับต้นๆ ที่ยังสืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะความเป็นไทยเอาไว้ได้อย่างงดงาม หน้าที่สำคัญของพวกเราในวันนี้นอกเหนือจากการสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งใหม่ที่ร่วมสมัยแล้วนั้น เราต้องการส่งต่อศิลปะทั้งสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น และมอบคุณค่าทางจิตใจให้กับลูกค้าและแขกผู้มาเยือนที่มีความรักความผูกพันกับ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ต่อไปอย่างยาวนาน และนี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ในช่วงเวลาที่เราจะปิดโรงแรมในปี พ.ศ. 2562 เราจึงได้เชิญคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและทีมงานจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมกันเก็บบันทึกส่วนต่างๆ ที่ทรงคุณค่าและควรแก่การอนุรักษ์จนได้เป็นผลงานมากมาย โดยเราขอหยิบยกเอา 9 อัตลักษณ์อันโดดเด่นที่บ่งบอกถึงความเป็นดุสิตธานีได้มากที่สุดมาเล่าสู่กันฟัง 9 ชิ้นงานนี้ได้แก่ ยอดเสาสีทอง (Golden Spire) กรอบอาคารสีทอง (Golden Façade) ห้องไลบรารี (Library 1918) ต้นไม้แห่งความทรงจำ (Trees from Original Dusit Thani Bangkok) นํ้าตก (Signature Cascading Waterfall) เพดานล็อบบี้ (Signature Lobby’s Ceiling) ผนังตกแต่ง (Decorative Lobby’s Screens) เสาเบญจรงค์ (Benjarong Pillars) และห้องไทยเฮอร์ริเทจ สวีท (Heritage Suite)  โดยส่วนต่างๆ เหล่านี้จะกลับมาสร้างความประทับใจครั้งใหม่ให้กับคนไทยและผู้มาเยือนจากทั่วโลกอีกครั้ง ภายในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่ Dusit Central Park แห่งนี้”

1.Golden Spire ยอดเสาสีทอง สัญลักษณ์แห่งความทรงจำ

ยอดเสาปลายแหลมสีทองบนยอดตึกที่ได้ถูกออกแบบครั้งแรกเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว โดยสถาปนิกญี่ปุ่น Mr. Yozo Shibata หัวหน้าสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบจากบริษัท Kanko Kikaku Sekkeisha (KKS) โดยการออกแบบนั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก ยอดของ พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม จนกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ใครเห็นก็ล้วนทราบว่าสถานที่แห่งนี้ คือ เมืองดุสิตธานี และด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตลักษณ์สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ยังคงมีความสวยงามและดึงดูดสายตาของคนไทยและคนทั่วโลก เราจึงได้สร้างสรรค์ยอดเสาใหม่ที่มีลักษณะโปร่งเพื่อยังคงมองเห็นยอดเสาสีทองเดิมด้านในอย่างชัดเจนโดยมีความสวยงามร่วมสมัยมากขึ้นและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลกับขนาดของอาคารโรงแรมใหม่ 39 ชั้น เสมือนเป็นจุดเชื่อมต่อแห่งยุคสมัยที่ยังคงรักษามรดกที่สืบต่อมาอย่างยาวนาน โดยที่นี่จะกลายเป็นจุดชมวิว เช็คอิน และกลับมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ เหมือนที่เคยเป็นมา

2.Golden Façade กรอบอาคารมงคลสีทอง

ไม่เพียงแต่ความงามวิจิตรตามลักษณะสถาปัตยกรรมไทยเท่านั้น แต่ในหลายๆ ส่วนของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ยังมีการสอดแทรกความหมายและความมงคลเอาไว้อย่างครบถ้วนโดยเฉพาะส่วนด้านหน้าของอาคาร หรือกรอบอาคาร (Golden Façade)  ที่ถูกสร้างสรรค์ผ่านการวางสมมาตรตามศาสตร์ฮวงจุ้ยเพื่อเสริมมงคล โดยแรงบันดาลใจมาจากกรอบอาคารสีทองเดิมแต่นำมาปรับรูปแบบใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น และเมื่อเวลาแขกถ่ายรูปจากห้องพัก ตัวกรอบอาคารนี้จะทำหน้าที่เป็นกรอบรูปสีทอง (Golden Photography Frame) ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นพร้อมรับ Panoramic View ของสวนลุมพินีได้อย่างเต็มตา เกิดเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษให้ทุกครั้งที่กลับมาดูรูปจะจดจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยมาพัก ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

3.Library 1918 สถานที่รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ก่อนที่จะมาเป็น ห้องไลบรารี่ นั้น ห้องนี้เคยเป็นห้องอาหารอิตาเลียน และห้องจัดเลี้ยงนํ้าชาที่จัดถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในรัชกาลที่ 6 ภายหลังเมื่อได้ปรับมาเป็นห้องประชุมจึงได้ออกแบบให้ภายในห้องตกแต่งด้วยหัตถศิลป์งานฉลุไม้ที่สง่างามประดับตกแต่งด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ และมีข้าวของเครื่องใช้ในองค์รัชกาลที่ 6 ซึ่งของสะสมต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นการเทิดพระเกียรติองค์รัชกาลที่ 6 ในฐานะผู้สร้างเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้น เพื่อใช้ทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918)  ห้องดังกล่าวได้ถูกใช้สำหรับการจัดงานขนาดเล็กในโอกาสต่างๆ อาทิ พิธีหมั้นแบบไทย การจัดเลี้ยงรับรองเป็นการส่วนพระองค์แก่ราชวงศ์ และบุคคลสำคัญชั้นนำทั้งจากไทยและต่างประเทศ

4.Trees from original Dusit Thani Bangkok ต้นไม้ต้นแรกที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ปลูกไว้

การกลับมาของสวนไม้เมืองร้อนที่สะท้อนมาตรฐานการดูแลจากต้นนํ้าสู่ปลายนํ้าตอกยํ้าวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพื้นที่ สีเขียวและสร้างพื้นที่พักใจให้กับผู้ที่มาพักอาศัย สะท้อนการดูแลอย่างใส่ใจทั้งโครงการรวมถึงต้นไม้ ทางโครงการฯ ได้รักษาต้นลีลาวดี ที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นคนปลูกบริเวณนํ้าตก โดยได้ย้ายไปอนุบาลไว้ในระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ และเมื่ออาคารของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ต้นไม้แห่งความทรงจำนี้จะถูกนำมาปลูกไว้ภายในโครงการฯ ตามเดิมอีกหนึ่งความตั้งใจของ คุณชนินทธ์ โทณวณิก คือการพัฒนาที่ดินให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง และชุมชน เราจึงออกแบบให้โครงการฯ มี Roof Park หรือพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีก 7 ไร่ เพื่อให้ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และใช้เป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนและสันทนาการ

5.Signature Cascading Waterfall นํ้าตกสวรรค์ชั้นดุสิต

หนึ่งในซิกเนเจอร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ คือ นํ้าตก 9 ชั้น ที่สร้างความสงบและร่มเย็นต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือน นํ้าตกจะถูกแบ่งระดับชั้นเป็น 3 ชั้น (ด้านบน) หมายถึง ไตรภูมิทั้ง 3 โลก และ 6 ชั้น (ด้านล่าง) หมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น เมื่อนำทั้งสองเลขมารวมกันจะได้เป็นเลข 9 ตัวเลขมงคลที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมให้ความสำคัญ โดยนํ้าตกจะถูกรายล้อมด้วยมวลบุปผชาตินานาชนิด โดยการกลับมาครั้งใหม่นี้ “นํ้าตกสวรรค์ชั้นดุสิต” จะกลับมาสร้างความร่มรื่นและสดชื่นให้กับผู้พักอาศัยบนพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นและสมบูรณ์แบบกว่าเดิม

6.Signature Lobby’s Ceiling เพดานล็อบบี้สีทองอร่าม

ดีไซน์ฝ้าเพดานหลุมในบริเวณล็อบบี้ชั้นล่างของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งใหม่ จะเป็นการสร้างสรรค์ที่ผสานความทันสมัยแบบใหม่และอัตลักษณ์ของรูปทรงฝ้าดั้งเดิมของโรงแรมเข้าด้วยกัน โดยดีไซน์ให้เป็นฝ้าขั้นบันไดทรงสี่เหลี่ยมสีทองซึ่งต่อเนื่องมาจากบริเวณ drop off ด้านนอกเข้าจนถึงด้านใน lobby ผสานกับการออกแบบแสงไฟที่ลงตัวเพื่อให้เกิดมิติด้านความงดงามอย่างลงตัว ทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้เกิดเอกลักษณ์กับพื้นที่สำหรับรับรองแขกคนสำคัญ และจะสร้างการจดจำที่ประทับใจในทุกครั้งที่ได้มาเยือน

7.Decorative Lobby’s Screens อัตลักษณ์ไทยแท้

เส้นโค้งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “สินเทา” งานจิตรกรรมฝาผนังแบบดั้งเดิมของไทย ทว่ามีการปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปทรงที่ดูคล้ายก้อนเมฆเพื่อสื่อถึงแนวคิดเรื่องสรวงสวรรค์ที่เชื่อมโยงกับความหมายตามชื่อ “ดุสิต” สะท้อนความสง่างามที่จะสะกดสายตาผู้มาเยือนทุกคน สำหรับผืนภาพภายในได้หยิบยกความสวยงามของโครงสร้างฝ้าเพดานและเสาที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งเดิมมาเป็นแรงบันดาลใจ ที่นับเป็นสถาปัตยกรรมตกแต่งงดงามตามเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ซึ่งออกแบบจาก

ผลงานจิตรกรรมรูปสระบัวของ “ขรัวอินโข่ง” ศิลปินชาวไทยผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในช่วง พ.ศ. 2393 – 2403(ค.ศ. 1850 – 1860) โดยสะท้อนความหมายของดอกบัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์เครื่องบูชา และความดีงามของพระพุทธศาสนา จากการที่ดอกบัวจะผุดขึ้นสู่แสงสว่างและความอบอุ่น ซึ่งเป็นนัยสื่อแทนการตรัสรู้ และด้วยแนวคิดการออกแบบซึ่งมีที่มาจากการเติบโตของบัวเช่นนี้ ดีไซน์ดังกล่าวจึงสื่อถึงจินตนาการดุจดั่งกำลังเดินอยู่เบื้องล่างของสระบัว

8.เสาเบญจรงค์ กับผลงานชิ้นเอกที่สรรสร้างอย่างบรรจง

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่อยู่คู่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ มานาน 50 กว่าปีนั้นคือ เสาเบญจรงค์ เสาเอกขนาดใหญ่ 2 ต้น ที่มีนํ้าหนักรวมกว่า 10 ตัน โดยนับเป็นผลงานศิลปะที่ดำรงไว้เพื่อสะท้อนความเป็นเมืองดุสิตธานี โดยได้ถูกนำกลับมาเป็นอัตลักษณ์เพื่อเชื่อมรอยต่อของประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยความวิจิตรของตัวเสาที่ได้ถูกวาดลวดลายจิตรกรรมไทยไว้อย่างประณีต นับเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ โดย "ท่านกูฏ" อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูล และถอดความหมายจากภาพจิตรกรรมวัดโพธิ์ ทั้งการใช้สี และลวดลายก่อนลงมือเพนต์จริง นับว่าเป็นผลงานที่เชื้อเชิญให้ผู้ที่มาเยือนเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมไทยอย่างเต็มเปี่ยมตามที่ทางโครงการมุ่งมั่นรักษาคุณค่าความเป็นไทยแบบดั้งเดิมไว้

9. Heritage Suites ผสานต้นแบบความเป็นไทยอย่างครบสมบูรณ์

จากอดีตถึงปัจจุบัน ห้องสวีทที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ นับว่าเป็นต้นแบบความเป็นไทยที่แท้จริงไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ต่างก็หลงใหลตั้งแต่แรกเข้าพัก โดยมีเอกลักษณ์ของการออกแบบบวกกับการตกแต่งห้องที่รังสรรค์อย่างประณีตบรรจงผ่านการสอดแทรกวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างไทยในแบบฉบับของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ อาทิ การนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างลายลูกฟักและผนังไม้ฝาปะกนบ้านไทยมาร่วมตกแต่งภายในห้อง ด้านบริเวณหัวเตียงที่ยังคงใส่ใจในรายละเอียดด้วยการเพิ่มลวดลายที่ปักด้วยมือทุกชิ้นสื่อความหมายถึงสรวงสวรรค์ และการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปร่างโค้งนุ่มนวลแบบไทยเพื่อทำให้องค์ประกอบของห้องดูร่วมสมัยมากขึ้น โดยการกลับมาใหม่ครั้งนี้ ห้องพักทั้ง 257 ห้องจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และทั้งหมดสามารถมองเห็นความร่มรื่นของสวนลุมพินีได้อย่างเต็มตาผ่านช่องหน้าต่างที่เป็นกระจกบานใหญ่สูงจากพื้นจรดเพดาน ซึ่งตกแต่งด้วยขอบสีทองหรูหราเพื่อสื่อถึงภาพความทรงจำที่น่าประทับใจ และยังเสริมความพิเศษด้วยพื้นที่พักกายชมวิวริมหน้าต่างเพื่อให้ผู้พักอาศัยได้ผ่อนคลาย และชื่นชมความงดงามของธรรมชาติกับบรรยากาศอันแสนสงบจากภายในห้องพัก การตกแต่งภายในของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ได้รับการออกแบบจาก André Fu Studio ซึ่งได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการออกแบบได้คำนึงถึงความต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างลงตัว สื่อความหมายของคำว่า Heritage ได้อย่างสมบูรณ์

การอนุรักษ์มรดกแห่งความทรงจำอันทรงคุณค่าที่เปี่ยมไปด้วยความหมายเหล่านี้ จะเป็นภาพสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่ต้องการสานต่อเรื่องราวแห่งความใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อเชื่อมโยงมรดกทางความทรงจำให้คงอยู่บนรากฐานของความแข็งแกร่งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันงดงามของไทย สู่การหลอมรวมกับตัวตน อัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เพื่อนำเสนอจุดยืนแห่งความเป็นไทยร่วมสมัยของ “หมุดหมายกรุงเทพฯ” พร้อมมอบประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ที่ยอดเยี่ยมเหนือระดับในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการบริการอันเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแบบ Gracious Hospitality สมกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งในการสะท้อนความเป็นไทยสู่สากล และนี่คือองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการมิกซ์ยูสชั้นนำใน Super Core CBD ของกรุงเทพฯ Dusit Central Park โดยโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จะกลับมาเปิดให้บริการในเดือนกันยายนนี้ พวกเราชาวดุสิตพร้อมต้อนรับทุกท่าน โดยสามารถติดตามเราได้ที่ dusit.com”

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ 9 อัตลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ สู่การรังสรรค์บริบทใหม่ของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook