The Langham Bangkok ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ โรงภาษีร้อยชักสาม ศุลกสถานแห่งแรกในไทย

The Langham Bangkok ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ โรงภาษีร้อยชักสาม ศุลกสถานแห่งแรกในไทย

The Langham Bangkok ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ โรงภาษีร้อยชักสาม ศุลกสถานแห่งแรกในไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

The Langham Bangkok โรงแรมหรูแห่งใหม่ริมเจ้าพระยาที่นำประวัติศาสตร์ของ โรงภาษีร้อยชักสาม หรือ ศุลกสถาน แห่งแรกของเมืองไทยมาเปลี่ยนเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

Focus

  • โรงภาษีร้อยชักสาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นโรงแรมหรู The Langham Bangkok คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี ค.ศ.2026
  • The Langham Bangkok ดำเนินการภายใต้ บริษัท Rabbit Holdings ซึ่งอยู่ในเครือ BTS Group เบื้องต้นได้วางห้องพักไว้ทั้งหมด 78 ห้อง

หลังปิดปรับปรุงและดำเนินการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ โรงภาษีร้อยชักสาม ครั้งใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ.2563 ตอนนี้บริษัท Rabbit Holdings ซึ่งอยู่ภายใต้ BTS Group ก็ได้ประกาศเปิดตัวโรงแรมหรูแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการในชื่อ The Langham Bangkok ความน่าสนใจของโรงแรมแห่งนี้ไม่ใช่แค่ความสวยงามของอาคารนีโอคลาสสิคยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และเปลี่ยนฟังก์ชันจากโรงภาษีสู่โรงแรม แต่ที่นี่ยังเป็นจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์สำคัญช่วงเวลาหลังจากที่ไทยเปิดประเทศตามสนธิสัญญาเบาริงในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกำหนดให้ไทยเรียกเก็บภาษีจากสินค้าขาเข้าได้ในอัตราร้อยละ 3 หรือก็คือ  “ร้อยชักสาม” จากนั้นไม่นานกรมศุลกากรแห่งแรกในไทยก็ถูกสร้างขึ้น ณ ริมน้ำเจ้าพระยา รองรับเรือสินค้าจากนานาประเทศแล่นเข้าออกไม่ได้ขาด

The Langham Bangkok โรงภาษีร้อยชักสาม ก่อนปิดปรับปรุง
โรงภาษีร้อยชักสามตรอกโรงภาษีซอยเจริญกรุง 36

ศุลกสถาน หรือ โรงภาษีร้อยชักสาม ตั้งอยู่ใน ตรอกโรงภาษี ซอยเจริญกรุง 36 ประกอบด้วยอาคาร 3 หลังบนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เด่นสะดุดตาเห็นจะเป็นอาคารหลังกลางขนาด 3 ชั้น เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีกรอบประตูหน้าต่างทรงโค้ง (Arch) ทำจากไม้สักตกแต่งลายฉลุ แซมด้วยงานปูนปั้น กลางอาคารเป็นโถงขนาดใหญ่ ด้านในสุดคือบันไดไม้สักขนาดใหญ่  มีลูกมะหวดราวบันไดที่เผยให้เห็นความหรูหราของอาคารที่สร้างโดยนายช่างใหญ่ชาวอิตาลี โยอาคิม กราซี (Joachim Grassi) สถาปนิกและผู้รับเหมาชาวต่างชาติซึ่งทำงานให้กับราชสำนักสยาม เขาผู้นี้อยู่เบื้องหลังงานก่อสร้างแบบตะวันตกมากที่สุดในบรรดาสถาปนิกต่างชาติที่เข้ามาทำงานในยุคเดียวกันนั่นคือช่วงรัชกาลที่ 5  และป็นคนเดียวกับที่วางผังโครงการขุดคลองรังสิต

โรงภาษีร้อยชักสามโครงสร้างภายในก่อนการบูรณะ
โรงภาษีร้อยชักสาม

โยอาคิม กราซี รับงานออกแบบในนามของบริษัทกราซีบราเธอร์แอนด์โก ไม่ว่าจะเป็น ศาลยุติธรรม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สยามมีศาลสมัยใหม่ การสร้างโรงทหารหน้าแห่งแรก งานออกแบบโบสถ์วัดนิเวศธรรมประวัติให้มีรูปทรงคล้ายโบสถ์คริสต์ และมาสเตอร์พีซคือ ศุลกสถาน โรงภาษีแบบใหม่ที่จัดเก็บภาษีขาเข้า ขาออก ได้ในที่เดียว มีทั้งที่จอดเรือ มีรถรางขนาดเบาขนสินค้าและบรรทุกน้ำจากเจ้าพระยาไปยังเรือนพักของพนักงาน ที่สำคัญเป็นการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งาน ช่วยแก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีไม่ทั่วถึงที่สยามเคยประสบอีกด้วย

The Langham Bangkok

อาคารศุลกสถานแห่งนี้ไม่ได้เพียงเป็นโรงภาษี แต่ยังถือได้ว่าเป็นที่สุดของความหรูหราในย่านริมน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอาคารหลังกลางนั้น บริเวณชั้น 3 มีการติดโคมแก้วระย้า พร้อมด้วยฉากเขียนสีน้ำขนาดใหญ่ และด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ ชั้น 3 ของตึกโรงภาษีร้อยชักสามจึงคล้ายกับเป็นศูนย์กลางของงานเฉลิมฉลอง ทั้งเคยใช้เป็นสถานที่จัดงานเต้นรำของชาวต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งใช้เป็นสถานที่จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคราวฉลองการเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก

โรงภาษีร้อยชักสามการยกระดับความสูงของอาคารก่อนการบูรณะ
โรงภาษีร้อยชักสาม

โรงภาษีร้อยชักสาม ได้ถูกกำหนดให้เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ตามประวัติ ศุลกสถานหรือ Customs House  เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2429 มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2433 และเปิดทำการทำการเรื่อยมาจน พ.ศ. 2492 กระทั่งมีการเปิดท่าเรือทันสมัยแบบสากลที่ท่าเรือคลองเตย กรมศุลกากรจึงย้ายที่ทำการไปอยู่ที่คลองเตยจนถึงปัจจุบัน

 โรงภาษีร้อยชักสามอาคารประกอบด้านข้าง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเช่นกัน
สำหรับโรงแรมหรู The Langham Bangkok เปิดภาพแรกออกมาด้วยการคงโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ของศุลกสถานเดิมไว้ได้ค่อนข้างครบถ้วน ในขั้นตอนการบูรณะนั้นตัวอาคารมีการยกระดับความสูงของอาคารทั้งสามหลังขึ้น เมื่อเสร็จแล้วจะสามารถเปิดให้บริการห้องพักได้ 78 ห้อง พร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการและเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ริมเจ้าพระยาในอีก 2 ปีข้างหน้าตรงกับ พ.ศ.2569

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook