“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์” นิทรรศการเรือพระที่นั่งจำลองในพระราชพิธีกฐินหลวงครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์” นิทรรศการเรือพระที่นั่งจำลองในพระราชพิธีกฐินหลวงครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์” นิทรรศการเรือพระที่นั่งจำลองในพระราชพิธีกฐินหลวงครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์” ไอคอนสยาม และ กองทัพเรือ ชวนชม เรือพระที่นั่งจำลอง และริ้วขบวนเรือในพระราชพิธีกฐินหลวงครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

Focus

  • นับเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบันที่จะมีการจัดพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567
  • นิทรรศการ “สี สรรค์ สะท้อนศิลป์” โดยไอคอนสยาม และกองทัพเรือ จัดแสดงประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธีที่สืบทอดมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย และรายละเอียดริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2567
  • ไฮไลต์ประกอบด้วยการจัดแสดงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ความยาว 11 เมตร พร้อมเรือพระที่นั่งจำลอง 4 ลำ และการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีด้วยการแกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง และประดับกระจก โดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567 และเป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยและความวิจิตรบรรจงของงานช่างศิลป์ไทยผ่านการสร้างสรรค์เรือพระราชพิธี

“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์”

ก่อนที่งานพระราชพิธีสำคัญจะเกิดขึ้นในปลายเดือนตุลาคม 2567 กองทัพเรือ และ ไอคอนสยาม ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “สี สรรค์ สะท้อนศิลป์” ระหว่าง วันที่ 27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี โดยภายในนิทรรศการ ประกอบด้วย การจัดแสดงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ความยาว 11 เมตร พร้อมเรือพระที่นั่งจำลอง 4 ลำ ภาพแสดงริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทั้ง 52 ลำ เรื่องราวการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีด้วยการแกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง และประดับกระจก โดยช่างฝีมือชำนาญการนอกจากนี้ยังจัดแสดงชุดนายเรือพระที่นั่ง ชุดนายท้ายคนกำกับ ชุดพนักงานเห่เรือ รวมถึงการจัดแสดงแกลเลอรี่ภาพและวิดีทัศน์พระราชพิธีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 และรายละเอียดเกี่ยวพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พร้อมจัดแสดงบุษบกจำลอง

“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์”“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์”“สี สรรค์ สะท้อนศิลป์”

ในนิทรรศการได้ถ่ายทอดรายละเอียดในริ้วขบวนเรือพระราชพิธีให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องราวการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีด้วยการแกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง และประดับกระจกอันวิจิตรบรรจง ผ่านภาพเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ อีกทั้งยังมีการสาธิตการประดับกระจกจากช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้ได้ชมด้วย

ขบวนเรือพยุหยาตรา

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 10 จัดขึ้นครั้งแรกในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2562 ดังนั้นพระราชพิธีที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567 จึงเป็นครั้งที่ 2 แต่เป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบันสำหรับพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ขบวนเรือพยุหยาตรา ขบวนเรือพยุหยาตรา

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ การต้อนรับทูตานุทูตประเทศต่างๆ และประกอบในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น โดยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบทอดต่อกันมาถึงปัจจุบัน ทว่าก่อนหน้านี้การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคถูกเว้นไปนานกว่า 25 ปี โดยนับตั้งแต่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อฉลองพระนครครบ 105 ปี เมื่อพ.ศ. 2475 ก็ไม่ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลย

จนกระทั่งในพ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีขึ้นมาใหม่ และบูรณะเรือพระราชพิธีลำเก่ารวมทั้งสร้างขึ้นมาใหม่ ประกอบกับเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้นจึงได้มีการจัด “ขบวนพุทธพยุหยาตรา” อัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์แห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลอง โดยการจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อยแต่ไม่ครบเนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง

ขบวนเรือพยุหยาตรา

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2555  รวมทั้งสิ้น 17 ครั้ง โดยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์คือการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยมีการจัดริ้วขบวนอย่างสวยงามพร้อมเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายด้วยการนำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มาเป็นแม่แบบ

สำหรับพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นั้น การจัดรูปขบวนประกอบด้วยเรือพระราชพิธีจํานวน 52 ลํา กำลังพลฝีพาย 2,200 นาย และแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ความยาว 1,280 เมตร และ กว้าง 90 เมตร ดังนี้

ขบวนเรือพยุหยาตรา ขบวนเรือพยุหยาตรา

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือประทับพระราชอาสน์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งรอง เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือตั้งบุษบกเชิญผ้าพระกฐิน นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมเป็นเรือกลองใน (เป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ) พร้อมด้วยเรือตำรวจ และเรือแซง 7

ขบวนเรือพยุหยาตรา

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุตเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง ปิดท้ายด้วยเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองเป็นเรือคู่ชัก ส่วนริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดังสายละ 11 ลำ และเรือแซงสายละ 3 ลำ

ขบวนเรือพยุหยาตรา

เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 คือจะเริ่มต้นจากท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม 8 เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ และถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยฝีพายเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ จะพายพร้อมกันกับกาพย์เห่เรือซึ่งประพันธ์ขึ้นใหม่ จำนวน 4 บท บทที่ 1 เป็นบทสรรเสริญพระบารมี  บทที่ 2 ชมเรือกระบวน บทที่ 3 บุญกฐิน และบทที่ 4 ชมเมือง ซึ่งประพันธ์โดย พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ

Fact File

  • นิทรรศการ “สี สรรค์ สะท้อนศิลป์” เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2567 ณ ไอคอนลักซ์ อเวนิว ชั้น M ไอคอนสยาม
  • ในวันพระราชพิธีในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 จะมีการถ่ายทอดสดริ้วขบวนเรือพยุหยาตราในการเสด็จพระดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ให้ผู้สนใจได้ร่วมรับชม ณ ไอคอนสยาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook