การป้องกันการทุจริตและการฉ้อโกงเชิงรุก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวของทุกคนปลอดภัย
การป้องกันการทุจริตและการฉ้อโกงเชิงรุก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวของทุกคนปลอดภัย บทความโดย ซีซาร์ อินทรา ประธานบริษัทของทราเวลโลก้า (Traveloka)
ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มิจฉาชีพได้พัฒนารูปแบบการหลอกลวงที่ซับซ้อนขึ้นมากซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นักท่องเที่ยวจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เราต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริตและฉ้อโกงอย่างเด็ดขาด
เนื่องจากสัปดาห์ International Fraud Awareness Week หรือ สัปดาห์แห่งการตระหนักรู้เรื่องฉ้อโกงแห่งชาติ กำลังจะมาถึงในระหว่างวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2567 นี้ เราควรตระหนักและเน้นย้ำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับภัยจากมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากมิจฉาชีพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยประเทศไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ทั้งภาคการท่องเที่ยวยังสร้างงานให้ประชากรและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่ด้วยเหตุที่มีมิจฉาชีพเหล่านี้ขัดขวางการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัยและป้องกันภัยคุกคามบนโลกดิจิทัลจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะจุดหมายของการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย
ภัยจากมิจฉาชีพและการฉ้อโกงทำให้ประเทศไทยสูญเสียทางการเงินอย่างมหาศาล เฉพาะในปีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (thaipoliceonline.com) ได้รับรายงานคดีฉ้อโกงออนไลน์กว่า 26,000 คดี ส่งผลให้เกิดความเสียหายรวมกันสูงถึง 4,650 ล้านบาท (หรือประมาณ 138 ล้านเหรียญสหรัฐ)
รู้เท่าทันกลลวงมิจฉาชีพ
การเข้าใจวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือต่อการทุจริตและฉ้อโกงอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่ารูปแบบกลโกงจะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ แต่หลักการหลอกลวงของมิจฉาชีพเหล่านี้ยังเหมือนเดิม คือ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ทำให้กลัว และโน้มน้าวให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพมักใช้เว็บไซต์ปลอม โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย หรือการแอบอ้างเป็นคนอื่นเพื่อล่อลวงนักท่องเที่ยว ในประเทศไทย เราพบว่าการหลอกลวงที่พบบ่อยครั้ง ได้แก่ บริการสมัครวีซ่าปลอม บริการจองโรงแรม และประกาศรับสมัครงานปลอม ทำให้นักท่องเที่ยวเสียเงินเสียเวลาและผิดหวังเมื่อการท่องเที่ยวที่วางแผนไว้กลายเป็นเรื่องหลอกลวง นอกจากจะสร้างปัญหาให้แก่นักท่องเที่ยว ยังทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางชั้นนำอีกด้วย รวมไปถึงอาจทำให้นักท่องเที่ยวเสียความมั่นใจด้านการเดินทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทษไทยซึ่งคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 36 ล้านคนในปีนี้ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก
ความรับผิดชอบร่วมกันด้านความปลอดภัยที่มีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
การรักษาความปลอดภัยในยุคดิจิทัลในภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาครัฐ และนักท่องเที่ยวเอง
นักท่องเที่ยวสามารถป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ในไม่กี่ขั้นตอน การเพิ่มความระมัดระวังและความตื่นตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบโฆษณาชวนเชื่อที่ล่อตาล่อใจซึ่งรับรองราคาต่ำเกินควรหรือส่วนลดที่สูงมาก มิจฉาชีพมักจะปลอมแปลงชื่อแบรนด์และที่อยู่ ทำให้นักท่องเที่ยวมองข้ามความแตกต่างเล็กน้อยได้ง่าย การตรวจสอบความถูกต้องของแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวก่อนเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต รหัส CCV หรือ OTP สามารถป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพงได้ มาตรการง่าย ๆ เช่น การตรวจสอบสัญลักษณ์ยืนยันและหลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ไม่ได้ร้องขอจะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ Traveloka ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความปลอดภัย และขอให้ผู้ใช้งานรายงานให้เราทราบถึงกิจกรรมที่น่าสงสัย การป้องกันเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดความเสี่ยงของความเสียหาย แต่ยังเพิ่มทักษะของทุกคนในด้านดิจิทัลในยุคปัจจุบันที่โลกเชื่อมโยงถึงกัน
นอกจากนี้ ภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการต่อต้านการฉ้อโกงด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ (AOC) และการออกพระราชกำหนดอาชญากรรมทางไซเบอร์ในปี 2566 รวมถึงการเปิดตัวโครงการ #ThaisAware ปี 2567 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นโครงการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลเพื่อต่อต้านการหลอกลวงทางออนไลน์
ภาคธุรกิจก็มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการทุจริตและฉ้อโกงเช่นกัน Traveloka มีแนวทางที่เน้นทั้งด้านบุคคลและเทคโนโลยี โดยอัลกอริทึมเรียนรู้ขั้นสูงของเราสามารถตรวจจับกิจกรรมที่น่าสงสัยได้ และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ช่วยปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานที่แน่นหนา เช่น การยืนยันตัวตนโดยใช้หลายปัจจัย (MFA) และการเข้ารหัสแบบครบวงจร นอกจากนี้ทีมป้องกันการทุจริตและฉ้อโกงของเราจะคอยตรวจสอบกิจกรรมตลอด 24 ชั่วโมง และเรายังร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลและพันธมิตรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่า การปกป้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน
การท่องเที่ยวควรจะสร้างความสุขและความตื่นเต้นให้แก่ทุกคน ไม่ใช่สร้างความกังวลใจหรือความไม่สบายใจ Traveloka มุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันและการรู้เท่าทันต่อภัยคุกคามอยู่เสมอจะช่วยให้เรารักษาเถียรภาพของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ และช่วยให้ประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์การเดินทางที่ปลอดภัย สนุกสนาน และราบรื่นในยุคดิจิทัล