พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ
Thailand Web Stat

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร THE BMA LOCAL MUSUEM

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สังกัดกรุงเทพมหานคร ... เรื่อง นุ บางบ่อ... ภาพ

     สำนักงานวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สังกัดกรุงเทพมหานคร ภายใต้หลักการและแนวความคิดของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการจะสานความฝันของคนไทยให้ได้มีแหล่งการเรียนรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้น จึงได้ริเริ่มโครงการที่จะดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานครขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และประวัติศาสตร์ที่สำคัญในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร ให้เป็นแหล่งศูนย์กลางสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจสามารถที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่สำคัญ ประวัติความเป็นมา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านวิชาการ และทางด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเริ่มต้นลงมือดำเนินการไปยังบริเวณพื้นที่ 11 เขตของกรุงเทพมหานคร คือ เขตบางรัก , เขตบางกอกน้อย , เขตสัมพันธวงศ์ , เขตบางขุนเทียน , เขตคลองสาน , เขตจอมทอง , เขตทวีวัฒนา , เขตธนบุรี , เขตบางกอกใหญ่ , เขตราษฎร์บูรณะ และเขตหนองแขม 

     ปัจจุบันการดำเนินงานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร จัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดทุกแห่งครบทั้ง 27 เขต  โดยพิพิธภัณฑ์บางแห่งได้ทำการเปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา เช่น เขตบางรัก ( ซอยเจริญกรุง 43 ) , เขตบางขุนเทียน ( โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล ) , เขตสัมพันธวงศ์ ( วัดไตรมิตรวิทยาราม ) และ เขตบางกอกน้อย ( โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ) 

     ส่วนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานครที่ทำการจัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2548 อันได้แก่ เขตคลองสาน , เขตจอมทอง , เขตทวีวัฒนา , เขตธนบุรี , เขตบางกอกใหญ่ , เขตราษฎร์บูรณะ และเขตหนองแขม ก็พร้อมให้บริการกับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป และได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี โดยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร จะเปิดบริการ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. - 16.30 น. ทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตจอมทอง  ตั้งอยู่บริเวณ วัดยายร่ม ถนนพระรามที่ 2       พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มีการขุด เส้นทางคลองด่าน ขึ้นในเขตจอมทอง ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตชาวคลองของชุมชนในเขตจอมทองมาแต่ครั้งสมัยอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วิถีชีวิตของชาวชุมชนเขตจอมทองประกอบอาชีพชาวสวนเป็นส่วนใหญ่ และผลิตผลทางด้านการเกษตรที่สำคัญของชาวจอมทองที่เลื่องชื่อ ก็คือ " ส้มบางมด " ซึ่งมีรสชาติหวานชื่นใจ , " ลิ้นจี่บางขุนเทียน " ที่มีลักษณะผลใหญ่และมีรสชาติหวานเป็นพิเศษ , การประกอบอาชีพค้าขายข้าวหลาม ใน " คุ้งข้าวหลาม " ที่จะทำกันเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่เนื้อของไม้ไผ่กำลังเจริญเติบโต เหมาะสำหรับการนำมาใช้ทำข้าวหลาม โดยชาวชุมชนเขตจอมทองจะมีการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปะ การแสดงแบบโบราณ เช่น " การแสดงโขนจิ๋ว " ของโรงเรียนอนุบาลบ้านยิ้ม , " การแสดงลิเกเด็ก " ของคณะมงคลศิลป์ โรงเรียนวัดมงคลวราราม สถานที่สำคัญในเขตจอมทองก็คือ " วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร " , " ตลาดน้ำวัดไทร " , " วัดบางขุนเทียนใน " , " วัดบางขุนเทียนกลาง " และ " วัดบางขุนเทียนนอก " 

สถานที่ตั้ง : วัดยายร่ม โทร. 0 2428 0685 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตราษฎร์บูรณะ  ตั้งอยู่ในบริเวณ โรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาส       เขตราษฎร์บูรณะ ในอดีตถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญ มีโรงสี และโกดังสินค้าตั้งอยู่เรียงรายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวชุมชนราษฎร์บูรณะส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวสวน โดยเฉพาะอาชีพการทำ " สวนหมาก " ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และการทำสวน " ชมพู่ม่าเหมี่ยว " ซึ่งมีรสชาติหวาน กรอบเป็นเอกลักษณ์ และในเขตราษฎร์บูรณะเป็นที่ตั้งของวัดวาอารามที่สำคัญหลายแห่ง เช่น วัดประเสริฐสุทธาวาส , วัดบางปะกอก , วัดแจงร้อน , วัดสน และวัดราษฎร์บูรณะ และยังเป็นที่ตั้งของ " สะพานพระรามเก้า " เส้นทางการคมนาคมที่สำคัญอีกด้วย

สถานที่ตั้ง : โรงเรียนประเสริฐสุทธาวาส โทร. 0 2427 1307

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตธนบุรี  ตั้งอยู่บนชั้น 3 อาคารโรงเรียนส่งเสริมพุทธศาสนา วัดประยุรวงศาวาส       เขตธนบุรี ในอดีตเขตธนบุรีถือเป็นเมืองหน้าด่านการค้า ซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์มีทั้ง จีน , มอญ , ลาว ฝรั่ง และแขก ซึ่งมีถิ่นพำนักพักอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืนกัน รวมถึงการประกอบธุรกิจ การค้าอยู่ในย่านเขตธนบุรีอย่างหนาแน่น จึงทำให้เขตธนบุรีเป็นแหล่งศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรม จากหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้า , โบสถ์คริสต์ , มัสยิด และ วัด ตั้งอยู่เรียงรายอยู่ทั่วไปในเขตพื้นที่ธนบุรี อาทิเช่น วัดซางตาครู้ส , ศาลเจ้าเกียนอันเกง และ มัสยิดบางหลวง เป็นต้นอีกทั้งย่านธนบุรียังเป็นถิ่นฐานของเหล่าขุนนาง ตระกูลบุนนาค ที่มีชื่อเสียงมาจวบจนปัจจุบันอีกด้วย สถานที่สำคัญในเขตธนบุรี ก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , สำนักดนตรีไทย ตระกูลพาทยโกศล , ตระกูลสุนทรวาทิน , ตระกูลคงลายทอง และอาชีพดั้งเดิมของชาวธนบุรีก็คือ การทำสวนพลู ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของธุรกิจการค้าพลูในย่านตลาดพลูที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน 

สถานที่ตั้ง : วัดประยุรวงศาวาส โทร. 0 2465 5542

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตบางกอกใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ โรงเรียนฤทธิณรงค์รอน           โดยในเขตบางกอกใหญ่ ถือเป็นศูนย์กลางการปกครองของกรุงธนบุรีเมื่อครั้งในอดีต  เพราะเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรี  ซึ่งชาวชุมชนบางกอกใหญ่ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม และการทำสวนเป็นส่วนใหญ่ โดยวิถีชีวิตของชาวธนบุรีจะเป็นแบบวิถีชาวสวน หรือที่เรียกกันว่า " สวนใน " บางกอก และเป็นถิ่นฐานของเหล่าขุนนาง และเหล่าข้าราชบริพาร จนถูกขนานนามให้เขตบางกอกใหญ่เป็น " ถิ่นฐานย่านผู้ดีสมัยรัตนโกสินทร์ " และยังเป็นแหล่งรวมวัดวาอารามที่สำคัญเอาไว้มากมาย เช่น วัดอรุณราชวราราม ,วัดประดู่ฉิมพลี , วัดโมลีโลกยาราม และวัดราชสิทธาราม ฯลฯ รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีประจำท้องถิ่น คือ งานแห่ผ้าไตร หลวงพ่อเกษร วัดท่าพระ และ งานสงกรานต์วัดอรุณ เป็นต้น 

สถานที่ตั้ง : โรงเรียนฤทธิ์ณรงค์รอน โทร. 0 2472 5542 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตคลองสาน  ตั้งอยู่บนชั้น 2 อาคารหอสมุดประชาชน วัดอนงคาราม ถนนสมเด็จเจ้าพระยา       ซึ่งภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จะทำการจัดแสดงชุดนิทรรศการเรื่องราวความสำคัญของเขตคลองสาน ในด้านของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ เอาไว้อย่างหลากหลาย และวัดอนงคารามยังมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ องค์สมเด็จย่า ของชาวไทยมาแต่ครั้งอดีต และ เจ้าสัว เจ้าของธุรกิจที่ปัจจุบันประสบความสำเร็จในเมืองไทยหลาย ๆ ท่านก็เคยมีแหล่งพำนักพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตคลองสานมาก่อนเช่นกัน ดังนั้นเขตคลองสานจึงถือเป็นแหล่งรวมศูนย์กลางด้านการค้าและย่านธุรกิจที่สำคัญทั้งในอดีตตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ " ป้อมป้องปัจจามิตร " , " สถานีศุลการักษ์ " , " สะพานปฐมราชานุสรณ์ " เป็นต้น 

สถานที่ตั้ง : อาคารหอสมุดประชาชน ชั้น 2 ภายในบริเวณวัดอนงคาราม โทร. 0 2437 5546 

      พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนกรุงเทพฯ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศในการเป็นแหล่งเสาะแสวงหาแหล่งความรู้ ซึ่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนวใหม่ โดยผู้ที่เข้าร่วมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สามารถร่วมเดินทางย้อนกลับไปศึกษาตำนาน แหล่งประวัติศาสตร์ รู้จักขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม  เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในแต่ละท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เป็นการสั่งสมประสบการณ์ เพื่อนำไปสืบทอดตำนานของกรุงเทพฯ ให้เป็นวิทยาทานสำหรับเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.bmalocalmuseum.com  พิพิธภัณฑ์เปิดบริการ  ตั้งแต่เวลา 09.00 น. - 16.30 น. ทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้