เรื่องชุด ฉันรักกรุงเทพฯ
ถนนสุรวงศ์ (1) โดย ประทุมพร
ถนน "4 ส." คือ สีลม สุรวงศ์ สี่พระยา และสาทร ซึ่งเป็นถนนรุ่นเก่าของกรุงเทพฯ ที่ตัดยาวขนานกัน มีความกว้างความยาวเมื่อแรกสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดพอๆ กัน มาถึงเมื่อราว 5 ศตวรรษที่แล้ว ถ้าพิจารณาด้านรูปลักษณ์และบรรยากาศ 2 ฟากฝั่งแต่ละถนนแล้ว พอจะแยกแยะความแตกต่างในจุดเด่น ๆ ได้ดังนี้ :
ถนนสีลมที่เล่าไปแล้วมีบรรยกาศคึกคักกว่าเพื่อน บนถนนมีรถราง รถเมล์ รถยนต์ รถสามล้อ (และพาหนะอื่นๆ เช่น รถ กุดัง ที่เปิดโล่งด้านหลังสำหรับขนของใหญ่ รถขนของขนาดเล็กมี 3 ล้อ คนขี่อยู่ข้างหลังตัวรถ และยังมีทั้ง รถเจ๊ก ซึ่งใช้แรงคน (มักเป็นชายจีนสูงอายุ) ลากอยู่ด้าหน้า) วิ่งสวนไปมาขวักไขว่ตั้งแต่เช้าจนเย็น
2 ฝั่งถนน มีจำนวนซอยทะลุและซอยตัน ที่แยกแยะออกไปจากตัวถนนหลักมากกว่าสายอื่น ซึ่งบนถนนหลักและซอยเหล่านั้นมีบ้านเรือนและร้านค้าหนาตามากกว่าถนน ส.อื่นๆ
พูดง่ายๆ ก็คือ ถนนสีลม ก็คือ ถนนสีลมเมื่อ 5-6 ศตวรรษที่แล้ว ส่อเค้าว่าจะเป็นธุรกิจที่ฟูฟ่องมากกว่าถนนสายอื่นมาตั้งแต่บัดโน้นแล้ว แต่ก็ยังมีบ้านสวยบริเวณกว้างจำพวก 'วิลล่า' (Villa หรือ Mansion) ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายนี้อยู่หลายหลังทีเดียว น่าเสียดายว่า ในวันนี้บ้านสวยเช่นนั้นไม่มีเหลือบนถนนสายนี้อีกแล้วสักหลังเดียว
ส่วนถนนสาทรซึ่ง (เคย) มีคลองน้ำใสแล่นยาวตลอดกลางระหว่างถนนสาทรเหนือและใต้นั้น แทบจะเรียกว่าเป็น 'เขตที่อยู่อาศัย' (residential area) มาตั้งแต่ต้นเลย เพราะ 2 ฟากฝั่งถนนทั้ง เหนือ และ ใต้ ตั้งแต่หัวถนนด้านถนนวิทยุเรื่อยไปจนจรดปลายถนนที่ไปออกด้านถนนเจริญกรุง
ที่เรียกว่า 'ติดต่อ' นั้น หมายถึงบริเวณสนามกว้าง ซึ่งทุกบ้านมีกันคนละหลายๆ ไร่ติดกัน มิใช่ตัวอาคารแบบยุโรปสง่างามแต่ละหลังจะตั้งอยู่กลางเนื้อที่หลายไร่ ห่างจากอาคารของเพื่อนบ้านชนิดว่ามีสามีภรรยาทะเลาะกัน เพื่อนบ้านไม่มีทางได้ยิน (หากไม่ถึงกับคว้าปืนมายิงกันเปรี้ยงปร้าง)
ส่วนถนนสุรวงศ์กับสี่พระยานั้นมีบ้านอยู่อาศัยกับอาคารร้านค้าตั้งคละกันไป แต่ไม่ฟูฟ่องเป็นธุรกิจชนิดเดินสะพัดทเกบถนนสีลม ถนนสุรวงศ์มีความร่มครึ้มน่าอยู่มากกว่าถนนสี่พระยา ซึ่งให้บรรยากาศแห้งแล้งชอบกลมาจนถึงบัดนี้
ถนนสุรวงศ์มีบรรยากาศออกฝรั่งๆ เพราะมีบ้านชาวต่างประเทศรุ่นแรกๆ ที่มาเป็นชาวกรุงเทพฯ อาศัยอยู่หลายหลัง และมุมถนนสุรวงศ์ด้านซ้ายที่จะไปทะลุออกถนนเจริญกรุง เคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมชั้น1 โรงแรมหนึ่งคือ ทรอกาเดโร (Trocadero ) บัดนี้ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม แต่สีสันหน้าตาและบรรยกาศเปลี่ยนไปจากเดิมชนิดกู่ไม่กลับแล้ว
'ท่านเสฐียรโกเศศ' หรือ พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์ชาวไทยยุคศตวรรษที่ 25 ท่านหนึ่งได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของท่านอยู่ในบริเวณถนนสุรวงศ์ เดโช สีลม เจริญกรุง สี่พระยา ฯลฯ ท่านได้เล่าประสบการณ์หนหลังไว้มากมาย และน่าอ่านมากในหนังสืออันมีค่ายิ่งคือ ชุด "ฟื้นความหลัง"
จะขอย่อความชนิดเก็บเล้กผสมน้อยมาจากข้อเขียนบทต่างๆ ของท่านซึ่งว่าด้วยถนนสรุวงศ์ ดังต่อไปนี้:
กำเนิดของถนนสุรวงศ์ก็คือ พระยาสีหราชเดโชไชย (โต บุนนาค) ได้ซื้อที่ถนนไว้ 2 สาย สายหนึ่งแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปถึงคลองหัวลำโพง (เรียกว่า วัวำพอง ขณะนั้น) อีกสายหนึ่งแยกจากสายใหม่นี้ไปทางตะวันออกไปจรดถนนสีลม และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานถนนทั้ง 2 สายนี้จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้รับถนน 2 สายนี้ไว้เป็นถนนหลวงเพื่อเจ้าพนักงานจะได้จัดการรักษาและซ่อมแซมเหมือนถนนหลวงทั้งปวงต่อไป
ถนนสายที่แยกจากถนนเจริญกรุงไปถึงคลองหัวลำโพงนั้น พระราชทานนามว่า 'ถนนสุรวงษ' ถนนสายที่แยกจากถนนนี้ไปทางตะวันออกไปจรดถนนสีลม พระราชทานนามว่า 'ถนนเดโช'
ตามที่มีผู้เข้าใจว่า 2 ชื่อนี้มาจากบุคคลเดียวกัน คือ พระยาสีหราชเดโชไชย ซึ่งเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็น เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ นั้น (รวมทั้งข้อเขียน 'ฉันรักกรุงเทพฯ' ในบทก่อนๆ ด้วย) 'เสถียรโกเศศ' ได้อธิบายว่าไม่น่าจะใช้ตามนั้น เพราะล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระราชทานนามถนน 2 สายนี้ในคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระยาสีหราชฯ จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่ถึง 3 ปี ดังนั้น นาม 'สุรวงศ์' หรือ 'สุรวงษ' น่าจะมาจากราชทินนามของ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือ 'เจ้าคุณทหาร' ซึ่งเป็นท่านบิดาของพระยาสีหราชฯมากกว่า
นามพระราชทานดั้งเดิมจะสะกดอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ถนนสายนี้มีชื่ทางราชการว่า ถนน 'สุรวงศ์' ซึ่งมีตัว 'ษ' มาเป็น 'ศ' ทั้งหมด
ตามคำบอกเล่า (บันทึกไว้เป็นข้อเขียน) ของ 'เสถียร-โกเศศ' เมื่อถนนสุรวงศ์สร้างใหม่ ๆ นั้น ปากถนนด้านเจริญกรุงสร้างเป็นเรือนตึก 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ฟากละ 3 หลัง แต่ละหลังมีรั้วโปร่งทำด้วยไม้กั้นเป็นสัดส่วยของบริเวณบ้าน
หลังแรกทางขวามือ เป็นห้างจำหน่ายยาฝรั่งยาฝรั่งตรางู ของ นายแพทย์โธมัส เฮาเวิร์ด (Dr. Thomas Howard Hays) ซึ่งเป็นหมอสอนศาสนาชาวเอมริกัน ที่มาสอนที่ศิริราชพยาบาลยุคแรก และย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางรัก (ต่อมาเปลี่ยนโรงพยาบาล 'เลิดสิน' อยู่บนถนนสีลม)
หมอเฮส์เป็นผู้ให้กำเนิด 'ห้างขายยาอังกฤษตรางู' ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมือหลายครั้งจนถึงตระกูล 'ว่องวานิช' ในปัจจุบันหมอเฮส์ผู้นี้ได้ร่วมกับภรรยาซึ่งเป็นมิชชั่นนารีชาวอเมริกัน เช่นเดียวกันคือ เจนนี เนียลสัน (Jenny Neilson) ก่อตั้งห้องสมุด 'เนียลสัน เฮส์' ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสุรวงศ์มาจนถึงทุกวันนี้ (จะได้กล่าวถึงต่อไป)
บ้านหลังที่สองเคยเป็นที่อยู่ของ 'หมอปัวส์' (Poix) ชาวฝรั่งเศส ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวช บ้านหลังนี้ต่อมาเป็นภัตตาคารอาหารอิตาเลียน ชื่อ 'ทรอกาเดโร' ดำเนินงานโดยสุภาพสตรีชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนั้นชื่อ มาดามสตาโร (Madame Staro) ซึ่งได้พัฒนาภัตตาคารมาเป็น 'โรงแรมทรอกาเดโร' ในเวลาต่อมา
บ้านหลังที่สามถัดมา เป็นที่อยู่ของ หมอยอน คาริงตัน (John Carrington) ซึ่งเป็นหมอมิชชั่นนารีอเมริกันเช่นเดียวกับหมอเฮส์
ตรงข้ามถนนอีกด้านหนึ่ง เคยเป็นที่ตั้งห้างโก้ของยุคนั้นคือ ห้าง 'แบดแมน' อยู่พักหนึ่ง หลังจากย้ายมาจากถนนราชดำเนินเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา (ซึ่งต่อมาเป็นกรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์จนรื้อไป) ติดๆ กันนั้นเป็นร้านขายยาฝรั่งเศส (French Pharmacy)
ถัดต่อไปเป็นบ้านครูแตรชาวเยอรมันชื่อ ไฟต์ (Fiet) ครูไฟต์มีบุตรชาย 2 คน คนหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ ไฟต์ ภายหลังได้รับราชการในราชสำนักเป็นหัวหน้าวงดุริยางค์ เปลี่ยนชื่อเป็นทยว่า นายปิติ ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า 'วาทยากร' ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระเจนดุริยางค์ รับราชการอยู่ที่กรมศิลปากรแผนกดนตรีสากล มีลูกศิษย์ลูกหามาก และมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่9
พระเจนดุริยางค์ผู้นี้ คือท่านผู้แต่งทำนอง 'เพลงชาติ' ของไทยที่เรายืนเคารพธงชาติทุกเช้าเวลา 08.00 น. นั่นเอง
ถัดไป ติดๆ กับพื้นที่ที่โรงแรม 'มโนห์รา' ในปัจจุบัน เคยเป็น สโมสรอังกฤษ ต่อมาย้ายมาติดอยู่กับห้องสมุด เนียลสัน เฮส์ ในปัจจุบันซึ่งอยู่ตรงข้ามฟากถนนไปไกลจากที่เดิม ตรงพื้นที่ที่เป็นโรงแรมมโนห์ราในขณะนี้สมัยแรกสร้างถนนสุรวงศ์ เคยเป็นบ้านพักของ 'หมอสมิท' (มัลคอล์ม สมิท-Dr. Malcolm Smith) ซึ่งเคยเป็นแพทย์ประจำสำนักของสมเด้จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีสมเด็จพระศรีพัชรินทรบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่5 ซึ่งได้นำประสบการณ์ของการแพทย์ในราชสำนักไทยไปแต่งเป็นหนังสือเรื่อง 'แพทย์ในราชสำนักแห่งสยาม' (A Physician at the Court of Siam)
เยื้องบ้านหมอมัลคอล์มตรงข้ามฟากถนนเคยเป็นสโมสรเยอรมัน ซึ่งเป็นที่รวมของชาวเยอรมันในกรุงเพทฯ มาสังสรรค์พักผ่อนหย่อนใจและดื่มเบียร์กัน ชาวเยอรมันเหล่านี้มีการละเล่นสนุกระหว่างกันชนิดหนึ่ง ชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า 'เล่นสะบ้า' ทุกวันจะมีเสียงครืนๆ ของลูกสะบ้ากระทบพื้นไม้ดังสนั่นไปทั่วบริเวณ ต่อมาเมื่อมีการเล่นโบว์ลิ่งในเมืองไทย ท่าน 'เสถียรโกเศศ' จึงได้ข้อสรุปว่า 'สะบ้า' ของชาวเยอรมันครั้งโน้น ก็คือโบว์ลิ่งนั่นเอง
นิวาสสถานของลูกหลานสกุล 'บุนนาค' ผู้ตัดถนสายนี้อยู่ไปทางปลายถนนด้านที่ไปทะลุออกถนนพระรามสี่ เคยมีบ้านของ ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) นอกนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผักและที่รกร้างว่างเปล่าอยู่นานกว่าจะพัฒนาต่อมาเป็นลำดับจนเป็นถนนที่ร่มรื่นที่น่าอยู่ในสมัยรัชกาลที่8 ต่อกับต้นสมัยรัชกาลที่9 แล้วก็พัฒนาต่อมาจนกลายเป็นถนนสายธุรกิจที่อึกทึกรองจากถนนสีลมเช่นนี้ในปัจจุบัน
ตัวเองมีประสบการณ์ระดับ 'ปฐมภูมิ' เกี่ยวกับถนนสุรวงศ์อยู่มากพอใช้ จะขอเล่าในตอนต่อๆ ไป
ขอขอบคุณ
นิตยสาร ขวัญเรือน