เมรุปูน
สร้างเมื่อ : รัชกาลที่ 1
บนถนนบำรุงเมือง หลังวัดสระเกศ ฝั่งบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ใกล้ๆ กับย่านประตูผีนั้น แต่เดิมเป็นถิ่นต้องห้าม ที่คนทั่วๆ ไปในสมัยก่อน จะไม่ไปเยือน หากไม่มีกิจเกี่ยวกับงานศพ ที่นั่นมีป้ายขนาดใหญ่ ที่พิมพ์ตัวโตไว้ชัดเจนว่า เมรุปูน ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับศพอยู่ดี
ที่หลังวัดสระเกศ ซึ่งเป็นวัดโบราณ ที่สถาปนาขึ้นเป็นวัดหลวงในยุค เริ่มสร้างกรุงเทพฯ นั้น เมรุปูนที่เราเห็นป้ายตรงนั้น ก็สร้างมานานพอๆ กับการสร้างเมืองเลยทีเดียว หากแต่เมรุปูน เมื่อแรกสร้างนั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งพระองค์โปรดฯ ให้สร้างเมรุที่ทำด้วยปูนขึ้นที่วัดสุวรรณาราม ย่านบางกอกน้อยขึ้นก่อน โดยมีพระราชดำริจะให้เมรุปูนนี้ เป็นเผาศพผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นรองจากการทำเมรุกลางเมืองลงมา
กาลล่วงมาถึง รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมมหาพิชัยญาติ ทำเมรุปูน ขึ้นที่หลังวัดสระเกศ โดยมีพระราชดำริว่า ให้สร้างเมรุปูนมีพลับพลา พร้อมทั้งโปรดฯ ให้จัดเตรียมดอกไม้ไว้สำหรับเป็นทาน
เมรุปูนนี้ รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้สร้างเป็นทรงพระวิหารไว้อย่างวิจิตร อีกทั้งยังโปรดฯ ให้สร้างเป็นกุฏิสงฆ์ เพื่อไว้พระอัฏฐารสศรีสุคตฑสพลญาณบพิตร ซึ่งได้มาแต่ วัดวิหารทองพิษณุโลก
ปัจจุบัน เมรุปูนนี้ไม่มีการทำพิธีใดๆ และไม่มีแม้แต่ร่องรอยวิหารเดิมเหลืออยู่แล้ว คงเหลือแต่ถนนสายใหญ่ที่ยังคงชื่อ เมรุปูน ไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น
สิริลักษณ์ จินตนะดิลกกุล
LEISURE TEAM ท่านผู้อ่านมีคำแนะนำหรือติชมหรือคุยกับ LEISURE TEAMได้ที่ leisure@th.mweb.com