ป่าซับลังกา

ป่าซับลังกา

ป่าซับลังกา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ใครที่ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ป่าหินงามกันมาแล้ว คงจะคุ้นตาครับ เพราะว่าจากจุดชมวิว ผาสุดแผ่นดิน จะมองเห็นผืนป่าซับลังกาได้ถนัดชัดเจนทีเดียว ที่ผาสุดแผ่นดินเป็นแนวกั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดชัยภูมิกับจังหวัดลพบุรี หลักเขตนั้นจะอยู่บนแนวสันเขาลูกนี้ ถ้าใครเดินลงไปตามหน้าผาได้ ใช้เวลาเดินป่าอีก 2 ชั่วโมงก็จะถึงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกาแล้วหล่ะครับ แต่เราไม่สามารถไปทางนั้นได้จึงต้องอ้อมแนวเขาระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร จึงจะไปถึง ทำไมจึงมีชื่อว่า "ป่าซับลังกา"?....... สอบถามจากผู้ช่วยเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา บอกว่าในความหมายแล้ว "ซับ"หมายถึงพื้นที่ที่มีน้ำชุ่มอยู่ ส่วน"ลังกา"นั้นเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นกก ขึ้นอยู่ทั่วไปตามพื้นที่ชุ่มน้ำในป่าซับลังกา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์อย่างที่ผมเข้าใจตอนแรกแต่อย่างใด ป่าซับลังกาได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2502 มีเนื้อที่ประมาณ 398.38 ตร.กม. หรือ 248,987 ไร่ ปัจจุบันป่าซับลังกาเป็นต้นน้ำลำธารของลำสนธิไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก จึงเป็นป่าผืนสุดท้ายในจังหวัดลพบุรี ที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการจัดตั้งเป็น เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เนื้อที่ 96,875 ไร่ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2529 มีเขตติดต่อกับ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ มาสิ้นสุดความเดียวดายที่หน้า"เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา" เจ้าหน้าที่ ที่นี่ทุกคนเป็นกันเองมาก จากที่ทำการเขตฯ ถึงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ห้วยพริก - น้ำตกผาผึ้ง ระยะทางประมาณ 10 ก.ม. เป็นทางลูกรัง นักท่องเที่ยวที่มีรถขับเคลื่อนสี่ล้อก็จะขับขึ้นไปเอง ส่วนที่ไม่มีก็จะจ้างรถชาวบ้านราคา 5-6 ร้อยบาท แต่ผมมาคนเดียวเลยขออาศัยไปกับเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นไปทำงานบนนั้น
ระหว่างทางขึ้น แวะถ่ายภาพดอกกระเจียวใหญ่ที่ผากลาง เมื่อคืนนี้ฝนตกทางลื่นมากกว่าจะถึงห้วยพริกก็เล่นเอาหืดขึ้นคอทีเดียว จากจุดนี้ต้องเดินต่อไปยังน้ำตกผาผึ้ง ระยะทางไป-กลับประมาณ 3,200 ม. ต้นทางเป็นป่าหญ้าคาและป่าไผ่ที่มีปล้องยาวกว่า 1 เมตรเป็นไผ่ที่พบได้ไม่กี่ที่ในป่าเมืองไทย นึกถึงตอนที่ไปยืนอยู่ที่ผาสุดแผ่นดิน มองเห็นผืนป่าเบื้องล่างเป็นป่าสองสี สีเขียวอ่อนนั้นน่าจะเป็นใบไผ่ที่เรากำลังยืนอยู่นี่แหละ

ส่วนที่ลึกเข้าไปก็คือใบสีเขียวเข้มของไม้ยืนต้น ลำธารเล็กๆไหลเอื่อยๆ กับบรรยากาศรอบกายที่ค่อยๆเย็นลงเรื่อยๆ พี่เจ้าหน้าที่ที่นำผมไปบอกว่าลำธารนี้ไหลมาจากน้ำตกผาผึ้ง เราค่อยๆเดินลัดเลาะไปตามทางริมลำธาร เยื้องย่างไปบนหินก้อนโต ข้ามน้ำบางตอนที่เอื้อให้คนเดินได้สะดวกขึ้น ปูแป้งตัวน้อยอวดโฉมให้เห็นเพียงแว้บเดียว ก็รีบวิ่งหนีไปซ่อนตัวใต้รากไม้ริมลำธาร

เดินมาเรื่อยๆก็จะถึงจุดแรกที่นักท่องเที่ยวตั้งชื่อให้ว่า "ร่องสวรรค์" ถ้าผมเป็นนักท่องเที่ยวคนนั้นผมก็คงจะเรียกมันเหมือนๆกัน เพราะคงไม่มีชื่ออื่นที่เหมาะกว่านี้อีกแล้ว ก็ดูลักษณะหินที่ราวกับมีใครเอาเหล็กมาสกัดเป็นร่องให้น้ำไหลผ่านเอาไว้ยาวประมาณ 80 ซ.ม. อยู่กลางหินที่มีรูปร่างละม้ายคล้ายโยนีของมนุษย์ หรือนี่จะเป็นเนินพระจันทร์ บนเทือกเขาพระศิวะ ในนิยายเรื่องเพชรพระอุมา ... ไม่มีใครรู้ เป็นความแปลกของธรรมชาติ...

เดินผ่านสายธารน้ำเย็นใสปกคลุมด้วยกอไผ่ปล้องยาวดูราวกับเป็นแขนขาของป่าที่ยื่นมาบังแดดให้ เหลือเพียงแสงบางส่วนเท่านั้นที่ลอดลงมาให้พืชชั้นต่ำได้ใช้ในการสังเคราะห์แสง และช่วยให้เมล็ดพันธ์รุ่นใหม่ได้ใช้ในการเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ในวันข้างหน้า ในมุมหนึ่งต้นไม้ใหญ่แผ่รากค้ำยันดินอยู่ พี่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นต้นพระเจ้าห้าพระองค์ ด้วยเมล็ดที่มีสีเขียวขนาดเท่ามะนาวลูกเขื่องนั้น พอเวลาที่ผิวนอกได้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติแล้ว จะเผยให้เห็นเมล็ดแข็งที่อยู่ข้างใน มีความแปลกอยู่ตรงที่เมล็ดพืชชนิดนี้จะมีลวดลายคล้ายพระเครื่องอยู่รอบๆเมล็ด 5 รูปด้วยกัน จึงเรียกกันว่า ต้นพระเจ้าห้าพระองค์

์ ตามพื้นดินใกล้ๆบริเวณนั้น ตามซากขอนไม้จะเห็นเห็ดชนิดต่างๆขึ้นอยู่ทั่วไป เห็ดหูหนูที่เรานำมาทำอาหารได้หลายๆอย่างนั้นชอบขึ้นอยู่ตามขอนไม้ที่มีความชื้นสูงๆ บางทีก็ขึ้นตามโคนต้นไม้ นักท่องเที่ยวมักจะถูกใจกับสีสันสดใสของเจ้าเห็ดแชมเปญ ซึ่งก็ขึ้นทั่วไปขอนไม้

ในน้ำนั้นปลากั้งตัวน้อยขี้อายมาก แต่ก็เผลอให้เราเห็นตัวกันบ่อยๆ มันกระโดดออกจากแอ่งน้ำเล็กที่อยู่ห่างจากลำธารทันทีที่เห็นเราเดินผ่าน อาการมันน่ารักปนน่าขำ ปลากั้งเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปตามน้ำตก ถือได้ว่ามันเป็นปลาที่อึดมากๆ เพราะในช่วงหน้าแล้งมันจะซุกตัวอยู่ใต้ก้อนหินที่มีความชื้น รอจนกว่าหน้าฝนจะมาเยือนอีกครา

บนก้อนหินนั้นก็มีพืชหลายชนิดขึ้นอยู่ เช่นหม้ายขันหมาก ลีโกเนีย หรือบอนหิน บริเวณที่เราเดินมาถึงนี้เป็นทางขึ้นถ้ำผาผึ้ง มองขึ้นไปสูงลิบๆนั้นมีสันถานเป็นวงกลม อยู่บนหน้าผา หยุดพักดื่มน้ำกันก่อนที่จะขึ้นไป เราจะทิ้งน้ำไว้ที่นี่เอาแต่กล้องขึ้นไปจะได้คล่องตัว ทางขึ้นนั้นค่อนข้างชันต้องเจอกับต้นจันผาก่อนมีป้ายบอกทางว่าถ้ำผาผึ้ง และนี่เป็นสัญญาณว่าเรามาถึงป่าจันผาแล้วหละ

เจ้าหน้าที่บอกว่าพวกผึ้งป่ามาอาศัยอยู่ที่นี่จำนวนมาก แต่ตอนนี้ถ้ำนั้นเป็นที่อยู่ของค้างคาวและนก ถ้ำนี้ยังมีการพัฒนาหินงอกหินย้อยอยู่ในช่วงหน้าฝน ในช่วงหน้าแล้งก็จะหยุดการเจริญเติบโต ผมเก็บภาพรังของนกเอี้ยงถ้ำมาด้วยแต่เสียดายที่ในรังไม่มีไข่ มันคงจะยังไม่ผสมพันธ์กัน แต่คงจะอีกไม่นานนี้ ด้านนอกมีหินงอกรูประฆัง และรูปหมูป่า ออกจากถ้ำผาผึ้งเดินขึ้นทางชันๆ ด้านหลังอีกราว 300 เมตร ถึงป่าจันผา ที่ขึ้นอยู่ตามหินล้วนๆ เดินลำบากมากๆ เป็นหินคมที่เกิดจากการถูกฝนชะเป็นรอยพรุนไปหมด ส่วนที่โดนชะมากๆก็จะกลายเป็นรอยคมๆ เล็กเรียว แต่เราก็ต้องเหยียบหินเหล่านี้ขึ้นไปเพื่อจะชมความงามของ เจ้ารองเท้านารีพันธ์เหลืองปราจีน ที่ขึ้นอยู่ข้างบนนั้นให้ได้

ในป่าซับลังกานั้นมีหน้าผาอย่างนี้อยู่หลายที่ เช่นที่เห็นอยู่ลิบๆนั้นเรียกว่าผาแดง จะอยู่ตรงกันข้ามกับป่าหินงามเลย และในป่าซับลังกานี้เป็นที่อาศัยของเลียงผาที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองไทย มันจะลงมาถ่ายมูลทิ้งไว้ตามพื้นดินแล้วก็กลับขึ้นไป การที่จะพบเห็นตัวนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องดักซุ่มเป็นอาทิตย์ เราคงนะไม่มีเวลาขนาดนั้นเอาเป็นว่าไปดู รองเท้านารีในที่ที่มันขึ้นจริงๆตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตามร้านขายกล้วยไม้ ก็คงจะพอแล้ว

ตามซอกหินที่น้ำเซาะพอให้ดินแทรกเข้าไปอยู่จะเป็นที่เจริญเติบโตของมัน รองเท้านารีพันธ์เหลืองปราจีนนี้ดอกจะไม่ใหญ่มากนัก มีสีเหลืองอมเขียว มีจุดสีแดงอมม่วงอยู่ทั่วดอก ใบสีเขียวเข้มมีจุดสีขาวอยู่ทั่วไป เป็นพืชที่มีใบหนาเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตอนหน้าแล้งนั่นเอง รองเท้านารีจะมีถ้วยที่ใช้สำหรับการดักแมลง มันจะส่งกลิ่นหอมๆออกไปเพื่อให้แมลงเข้ามาดมดอมแล้วก็จะหลงเข้าไปในถ้วยนั้น กลายเป็นอาหารของมัน รองเท้านารีขึ้นอยู่บริเวณที่สูงที่สุดของป่าจันผา

ทั่วๆไปตามบริเวณโคนต้นจันผาบ้าง อยู่เดี่ยวๆบ้างหรืออาจจะอยู่ในซอกหลืบต่างๆที่มองที่แรกไม่เห็น ต้องมองหากันดีๆ ผมใช้เวลาอยู่กับการถ่ายภาพที่นี่นานพอสมควร เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูต้นลิ้นมังกร พืชสมุนไพรที่เราคุ้นหู ขึ้นอยู่บนหินมีดอกเป็นช่อสูงขึ้นมาพอสมควร แต่เจ้าหน้าที่บอกว่ายังไม่บานเต็มที่

การที่ได้มาเห็นพืชพันธ์ต่างๆในที่ๆมันควรอยู่จริงๆนั้น ผมบอกได้เลยว่ามันต่างจากที่เราได้เห็นตามร้านขายไม้ป่า หรือแม้แต่ในความเห็นแก่ตัวของบางคนที่นำไปครอบครองเป็นเจ้าของ เราไม่สามารถเลี้ยงดูเขาให้เหมือนกับที่เขาอยู่ตามธรรมชาติ และควรจะเลิกค่านิยมในการซื้อขายของป่ากันไปได้แล้ว หันมาเที่ยวอย่างอนุรักษ์กันดีกว่า ยั่งยืนกว่าครับ

สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะไปทุ่งดอกกระเจียวกัน อยากชวนให้แวะไป ป่าซับลังการกันด้วยครับเพราะว่าอยู่ไม่ไกลกันมากนัก นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แล้วนั้นยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายๆ ที่ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยประดู่ เขาผากลาง ฯลฯ

การเดินทาง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ไป จ.สระบุรี ผ่าน จ.สระบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 21 สระบุรี - ชัยบาดาล เลี้ยวขาวเข้า อ.ชัยบาดาล ไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ชับบาดาล - ลำสนธิ ก่อนถึง อ.ลำสนธิ 2 ก.ม. แยกเลี้ยวซ้ายเข้า ต.วังเชื่อม อีก 37 ก.ม. ไปเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา รวมระยะทาง 260 ก.ม. รถประจำทาง จากกรุงเทพ นั่งรถทัวร์สายกรุงเทพ - ชัยภูมิ หรือกรุงเทพ - หลมสัก ก็ได้ ไปลงที่ อ.ชัยบาดาล(ตลาดลำนารายณ์) แล้วต่อรถสองแถวจากชัยบาดาล ไป บ.วังเชื่อม ถึงหน้า เขตรักษาพันสัตว์ป่าซับลังกา รถสองแถวมีวันละ 1 เที่ยวเท่านั้น ออกจาก บ.วังเชื่อม 6.00 น. และออกจากชัยบาดาลประมาณ 11.00 น. (คันเดียวกัน)

ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก

บ้านพักเรือนนอน 1 หลัง พักได้ 15 คน บ้านบึงบัว 1 หลัง พักได้ 15 คน บ้านทรงแปลก 1 หลัง พักได้ 15 คน บ้านดูเด่น 1 หลัง พักได้ 15 คน ตึกขาว 1 หลัง พักได้ 10 คน

ติดต่อ

เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซับลังกา 036 451936 , 07 0902598 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภาคกลางเขต 7 อ.เมือง จ.ลพบุรี 036 422768-9
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook