น้ำตกโขะทะ (ตอนจบ)
น้ำตกโขะทะ (ตอนจบ)
ช้างขนเสบียงสัมภาระ ผลัดกันเดินแซงหน้าระหว่างเรา บางทีที่พวกเราหยุดพักเหนื่อย ช้างก็เดินรุดหน้าไป และบางทีที่ช้างพักเหนื่อยพลางหักกิ่งไผ่อ่อนๆ ข้างทางกิน เราก็ออกเดินนำ เป็นอันว่าเรากับช้างทำความเร็วในการเดินได้พอๆ กัน ไม่มีใครเดินได้เก่งกว่ากัน เพราะเราและช้างต่างก็เหนื่อยกันแทบขาดใจกันทั้งสองฝ่าย |
สายฝนพรั่งพรำลงมาอีกครั้ง ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายสองโมงเห็นจะได้ ผมคลี่เสื้อกันฝนสีนำเงินออกมาคลุมร่าง แต่ก็ยังมุ่งเน้นให้เจ้าเสื้อกันน้ำฝนตัวนี้ไปปกคลุมกระเป๋ากล้องที่แบกอยู่ข้างหลังมากกว่า ส่วนด้านหน้าผมจะเปียกก็ช่างมันเถอะ
เรือนยอดใบไม้ในป่าช่วยให้สายฝนเบาบางลงไปได้มาก เสียงของเม็ดฝนกระทบกับใบไม้ดังไพเราะมากกว่าเมื่อคราวต้องกระทบกับสังกะสี หรือ แผ่นเหล็กหลังคารถ กลิ่นไอดินส่งกลิ่นหอมคลุ้งถนัดชัดเจน พวกเราลดจังหวะการเร่งฝีเท้าที่ก้าวเดินด้วยความระมัดระวัง
หากสายฝนยังคงตกลงมาอย่างนี้ เย็นนี้พวกเราคงเดินไม่ถึงหมู่บ้านทิโพจิแน่... เพื่อนร่วมทางแสดงอาการท้อแท้ นี่ขนาดยังไม่ได้เดินไปบนเขาเพอวาตูเลย.. ผมเองก็เริ่มท้อเช่นกัน มันคงเป็นอาการเพลียสะสม ที่พวกเราหักโหมเดินกันอย่างหนักมาสองวันแล้ว
น้ำดื่มถูกรวยรินเข้าปากด้วยความกระหาย สายลมพัดให้เย็นยะเยือกวูบแล้ววูบเล่า เส้นทางช่วงก่อนขึ้นเขาเพอวาตู เป็นป่าไผ่ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นพืชตระกูลหญ้า แต่เสียงลำต้นของมันเวลาเสียดสีกันก็ให้ความรู้สึกอ้างว้างวังเวงใจได้ไม่น้อย พี่เหล็ก มักจะเดินแวะตามข้างทางที่สงสัยว่า จะมีสิ่งมีชีวิตน้อยๆ ตัวสีขาว กระดืบๆ รวมกันเป็นกลุ่มอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ กระบอกแล้วกระบอกเล่าที่เราต่างลุ้นกันว่าข้างในจะมี หนอนไม่ไผ่ หรือไม่ ในที่สุด พี่เหล็ก ก็ประสบความสำเร็จในการค้นหา ชุมชนหนอนไม้ไผ่ ในช่วงที่ฝนเริ่มซาลง
ว่ากันว่า หนอนไม้ไผ่ หรือ ที่หลายๆ คนเรียกว่า รถด่วน นี้ (ชาวกระเหรี่ยง เรียกว่า คลีเคล้ะ) เป็นหนอนไม้ไผ่ที่กินเนื้อเยื่อไผ่เป็นอาหาร ตัวผู้มีขนาด 2 ซ.ม. ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ อาศัยอยู่ในที่อากาศเย็น ฝนตกชุกและมีความชื้นสูง ตัวแก่จะฝังตัวเป็นดักแด้ในระยะเวลา 40-60 วัน จากนั้นจะกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน มีสีน้ำตาลส้ม ปีกคู่บนมีลวดลายหยักคล้ายเส้นโค้งสีดำ |
หนอนไม้ไผ่ เมื่อนำไปคั่ว นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีโปรตีน และไขมันสูง หนอนที่เก็บมาจากป่าใหม่ๆ จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาท
อ่ะนะ...เรื่องหนอนๆ อย่างนี้ อย่านึกว่าราคาถูก ยิ่งผมเห็นคุณพี่เหล็กต้องเสี่ยงปีนป่ายตะกายขึ้นไปงัดแงะแกะดูตามกระบอกไม้ไผ่ด้วยแล้ว สมกับราคาจริงๆ ว่าแล้วฮีโร่ของพวกเราก็ได้หนอนมากระบอกนึงเต็มๆ
พวกเราตัดสินใจเดินขึ้นเขาเพอวาตู โดยมีจุดหมายปลายทางให้ถึงบ้านทิโพจิในช่วงก่อนค่ำ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งที่เขาเพอวาตูขวางกั้นอยู่ เราล้มเลิกโปรแกรมการพักค้างแรมริมลำห้วยช่วงก่อนขึ้นเขาไปโดยปริยาย เพราะบริเวณนั้นมียุงชุมมาก อีกทั้งน้ำในลำห้วยมีน้อยจนไม่สามารถใช้สอยได้
เส้นทางช่วงขึ้นเขาค่อนข้างรก บางช่วงมองไม่เห็นทางเดินต่อ คงเป็นเพราะทางสายนี้ร้างสัญจรมานาน เสียงลมหายใจของช้างที่ขนสัมภาระมาหอบ จนพวกเรารู้สึกสงสาร การเดินขึ้นเขาที่สูงชันอย่างนี้ น้ำหนักตัวของมันเป็นอุปสรรคต่อตัวเองไม่น้อย บางครั้งมันก็ถอนหายใจเสียงดัง แต่ผมขอเห็นช้างทำงานแบบมีชีวิตสภาพแวดล้อมอยู่กลางป่าอย่างนี้ดีกว่าไปเห็นช้างที่ต้องเดินตามควานอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ที่นั่นไม่เหมาะกับมัน ซ้ำร้ายเป็นอันตรายต่อตัวมันด้วย
บนเขาเพอวาตู หนาแน่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่มากมาย เมื่ออยู่บนสันเขาแล้วมองลงมาจะเห็นที่ราบเป็นทุ่งนากว้าง ที่ชาวกระเหรี่ยงในหมู่บ้านทิโพจิใช้ปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงชีพ มองไกลออกไปอีกหน่อยที่อยู่ลิบๆ นั่นถึงจะเป็นหมู่บ้านทิโพจิ
น้ำที่ทุกคนเตรียมมาหมดไปพร้อมกับความกระหาย คงเหลือไว้แต่เพียงความเหนื่อยล้า และความหิวโหย แน่นอน...ที่หมู่บ้านทิโพจิ ข้างหน้านี้คงต้องมีอะไรให้คนกินยากอย่างผมกินแน่ๆ และนั่นคือ การสร้างกำลังใจของผมในช่วงเวลานั้น
ในที่สุดพวกเราได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านทิโพจิ โดยเข้าสู่หมู่บ้านจากทางด้านหลัง สังเกตุดูชาวบ้านที่นี่จะแปลกใจไม่น้อยที่เห็นพวกเราเดินลุ่มล่ามเข้ามาถึงกลางหมู่บ้านด้วยสภาพอิดโรย พี่อู๊ดดี้ พี่เหล็ก ทักทายคนในหมู่บ้าน และถามถึงคนรู้จัก รวมถึงบ้านผู้ใหญ่บ้าน
ช่วงที่เรานั่งพักอยู่ที่ร้านค้าซึ่งมีเพียวในหมู่บ้าน ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ถึงเรื่องที่พักของพวกเราในค่ำคืนนี้ ทุกคนต่างความเห็นว่า ที่โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเนินเขาข้างหมู่บ้าน ดูจะเหมาะสมที่สุด ที่นั่นมีห้องน้ำสะดวก และอาคารชั่วคราวที่พวกเราพอจะเข้าไปกางเต้นท์นอนข้างในได้ |
ในช่วงค่ำ อากาศเริ่มหนาวยะเยือก มวลหมอกลอยปลิวเข้าปกคลุม สภาพอากาศแบบนี้แทนที่จะเป็นช่วงเช้า แต่ที่หมู่บ้านนี้ถือเป็นเรื่องปกติ หมู่บ้านทิโพจิ เป็นหมู่บ้านที่มีความสวยงาม ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าดงดอยอย่างแท้จริง คนในหมู่บ้านเป็นชาวกระเหรี่ยง เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านโขะทะ แต่มีขนาดหมู่บ้านที่ใหญ่กว่า ที่นี่มีโรงเรียนเล็กๆ อยู่บนเนินเขาข้างหมู่บ้าน มีครูชายอยู่หนึ่งคนซึ่งก็เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้านนี้เอง |
คุณครูเพียงคนเดียวเล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ทำการเกษตรปลูกข้าวเอาไว้กิน ทอผ้าเอาไว้ใช้ และขาย ผ้าทอมีทั้งผ้านุ่ง และย่าม มีสีสันลวยลายสวยงาม ภายในหมู่บ้านมีต้นลั่นทมมากมาย ส่วนคำว่า ทิโพจิ เป็นภาษากระเหรี่ยงนั้นแปลว่า ห้วยนาน้อย |
การเดินทางมาสู่หมู่บ้าน ถ้าเป็นทางรถยนต์นั้นสามารถเข้าถึงได้เฉพาะฤดูแล้ง โดยใช้เส้นทางทางเดียวกับทางที่ไปน้ำตกทีลอซู และบ้านเปิ่งเคลิ่ง แต่แทนที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ให้ตรงไปก่อนถึงบ้านนุโพประมาณ 500 เมตร จะมีแยกซ้ายเข้าหมู่บ้านทิโพจิอีก 12 กม. |
นอกจากเป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบ มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมน่าเดินทางมาเที่ยวชมแล้ว หมู่บ้านทิโพจิแห่งนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ บึงแฝด หรือภาษากระเหรี่ยงเรียกว่า ลาอือเอาะ ซึ่งแปลว่า บึง ที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง |
บึงแฝด เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่สองบึงตั้งอยู่ใกล้กัน น้ำในบึงใสสะอาด มีฝูงเป็ดน้ำอาศัยอยู่ และจะมีจำนวนมากในช่วงฤดูหนาวของทุกปีซึ่งเป็นฤดูนกอพยพ บึงแฝดเป็นหลุมยุบที่เกิดขึ้นในภูมิประเทศที่เป็นเขาหินปูน เมื่อน้ำเซาะจนชั้นหินปูนด้านล่างผุพังลง จึงเกิดเป็นบึงน้ำขึ้น ใช้เวลาเดินเท้าจากหมู่บ้านทิโพจิ ประมาณ 2-3 ชม. โดยระหว่างทางเดินจะผ่านป่าไผ่ขนาดใหญ่ |
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า แต่เดิมบริเวณบึงแฝดนี้ เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกระเหรี่ยงสองหมู่บ้าน แต่ผู้คนในหมู่บ้านไม่รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ทำผิดศีลธรรม ผิดผี จึงเกิดอาเพศโดยเกิดฝนตกหนักท่วมหมู่บ้านทั้งสอง กลายเป็นบึงแฝด ปัจจุบันบึงแฝด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักเดินทางที่ชื่นชอบการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ทั้งนี้ควรติดต่อผู้นำทางไปด้วย ไม่ควรเดินทางเข้าไปเอง เพราะเส้นทางสายนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด |
ค่ำคืนที่เหน็บหนาว และมืดสนิท ท้องฟ้าดำมีแสงจันทร์นวลส่องสว่าง รายล้อมด้วยแสงดาวน้อยใหญ่ระยิบระยับ กลิ่นเนื้อย่างหอมจากเตาไฟลอยกรุ่นแตะจมูกยั่วยวนลิ้นให้ชิมรส เหล้ากลั่นใสในแก้วเล็กถูกวนเวียนมาตรงหน้า อย่างน้อยมันก็ช่วยให้อุ่นขึ้น ถึงแม้มันจะเข้าไปทำลายประสาทบางส่วนก็ตาม |
เรื่องราวการเดินทางที่ผ่านมา และต่อไปที่ยังมาไม่ถึง ถูกนำมากล่าวถึงในวงสนทนา พรุ่งนี้แล้วซินะ ที่จะต้องจากที่นี่ไป.... พรุ่งนี้แล้วซินะ ที่ต้องกลับไปพบกับเรื่องราวและวิถีชีวิตแบบเก่าๆ.... หรือไม่ก็ต้องไปพบเจอกับปัญหาเก่าๆ ที่ไม่จบสิ้น ผมชำเรืองมองหน้าคุณครู ที่เป็นเพียงครูคนเดียวในบ้านป่าแห่งนี้ อย่างพินิจพิจารณาเข้าไปในสายตา แล้วก็ไม่เห็นว่า เขาจะมีความทุกข์ เหมือนอย่างผมเลย
เเรื่องที่เกี่ยวข้อง น้ำตกโขะทะ ตอนแรก น้ำตกโขะทะ ตอนที่สอง
นุ บางบ่อ ... เรื่อง (2 / 2551) / ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551
ขอขอบคุณ - สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม |
พี่อู๊ดดี้ , พี่ยุ้ย , พี่เหล็ก ตูกะสู คอทเทจ โทร. 0 5556 1295 คุณตุ้ม ปากะญอ รีสอร์ท โทร. 08 9959 0989 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง. ภาคเหนือ เขต 4 โทร. 0 5551 4341-3 |