น้ำตกโขะทะ ตอนแรก
น้ำตกโขะทะ ตอนแรก
แด่...พ่อ และ แม่ ที่ให้สองเท้าเพื่อก้าวเดิน
แนะนำผู้ร่วมเดินทาง ประกอบด้วยมิตรสหาย 8 ชีวิต ซึ่งได้แก่ คุณสุชาติ จันทร์หอมหวล (พี่อู๊ดดี้ ตูกะสู คอทเทจ) , คุณอำนวยพร บุญจำรัส (พี่จืด จาก Advance Thailand Geographic) , คุณพีระวัฒน์ จริยสมบัติ (พี่ป๊อบ จาก Bangkok Post) , คุณธนิสร หลักชัย (พี่แจ๊ค นักคิดนักเขียนอิสระ) , พี่ต่าย TT&T แม่สอด , คุณวรรัช บัวทอง (เอ็ด แม่ปิง) , คุณดิเรก (พี่เหล็ก พ่อครัว และคนนำทาง) และผม นุ บางบ่อ
ทุกๆ คนถึงแม้มาจากสถานที่ต่างกัน แต่วันนี้เราร่วมเดินทางด้วยกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และจะร่วมทุกข์สุขด้วยกันอีก 5 วันข้างหน้าเป็นอย่างน้อย
สู่ อ.แม่สอด จ.ตาก รถบัสปรับอากาศแบบ Vip สายกรุงเทพฯ แม่สอด เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางตามกำหนดเวลา 04.00 น. พอดิบพอดี ผมและพี่ๆ อีกสามชีวิตในแวดวงคนทำหนังสือท่องเที่ยวต่างงัวเงียเก็บสัมภาระ ลงจากรถมายืนง่วงนอนกันต่อที่สถานีขนส่งแม่สอด เพื่อรอมิตรสหายท้องถิ่นมารับช่วงต่อจากพาหนะคันใหญ่ที่ผมพึ่งลากสังขารกันลงมา
เอ็ด แม่ปิง คือสหายท้องถิ่นที่อาสาจะมารับ และเป็นผู้จุดประกายทริปหรรษาหฤโหดในทริปนี้ ที่ภายหลังเราตั้งชื่อทริปนี้ในหมู่พวกเรากันเองว่า ไอ้นุเมา
ทริปนี้เป็นการเดินทางที่พวกเราทุกคนต่างตั้งใจกันมา เมื่อหาวันเวลาได้ลงตัวแล้ว จึงลงมือเขียนใบลาพักร้อนพร้อมกัน ตลกดีเหมือนกันที่ต่างก็ทำงานด้านท่องเที่ยวกันแท้ๆ แต่ไปต่างจังหวัดก็ต้องลาพักร้อน คงเป็นเพราะเราเดินทางกันในช่วงวันทำงานกระมัง ถึงกระนั้นหากไม่เดินทางกันในช่วงวันทำงานอย่างนี้ เราก็คงไปไม่ถึงจุดหมายที่อยู่ไกลโพ้น และที่สำคัญจุดหมายที่เราจะไปนั้น ต้องเดินด้วยเท้านานนับวัน และยิ่งในช่วงที่ฝนตกด้วยแล้วไม่มีรถยนต์คันไหนจะกล้าลุยฝ่าดงป่าเข้าไปในเส้นทางทุรกันดารสายนี้ มีเพียง 2 เท้าที่ต้องย่ำเดิน หรือไม่ก็อีกวิธีหนึ่ง นั่นคือการนั่งช้างเข้าไป ซึ่งก็จะล่าช้ากว่าการเดินด้วยเท้าของเราเอง ณ ที่ๆ เป็นปลายทางแห่งความฝันนี้ก็คือ หมู่บ้านโขะทะ แห่ง อ.อุ้มผาง จ.ตาก
No.4 Guest House เอ็ด แม่ปิง พาเราไปพักผ่อนเพื่อฆ่าเวลาและตระเตรียมความพร้อมในช่วงก่อนฟ้าสาง No.4 Guest House (นัมเบอร์ 4 เกรสท์เฮ้าส์) บ้านไม้สีแดงสองชั้นเป็นสถานที่พักของพวกเราในช่วงเช้ามืด ซึ่งเอ็ด แม่ปิง ได้ผสานการมาเยือนของพวกเราไว้ล่วงหน้าแล้ว |
พี่อ๋อม ผู้เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 4 หลังนี้ นับเป็นอีกหนึ่งมิตรสหายใจดีที่พำนักอาศัยอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก และเปิดธุรกิจบริการที่พักสะอาดสงบเรียบง่ายในรูปแบบเกรสท์เฮ้าส์ และทัวร์ท่องเที่ยวเดินป่าในแถบตะเข็บชายแดน ตั้งแต่ป่าในเขตพื้นที่ อ.อมก่อย จ.เชียงใหม่ เรื่อยลงมาถึง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ลูกค้าลูกทัวร์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวต่างชาติ ที่ดั้นด้นเดินทางมาเพื่อเสาะหาเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่น้อยคนนักจะได้รู้จัก
พี่อ๋อม ได้เป็นธุระติดต่อเรื่องการจัดหารถให้พวกเราเดินทางสู่ อ.อุ้มผาง ดินแดนดอยลอยฟ้า และให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับสภาพเส้นทางอันลำบากจากอุ้มผางสู่หมู่บ้านโขะทะ หากเราเดินทางไปในช่วงที่ฝนตกอย่างนี้ รวมถึงเรื่องราวกล่าวขวัญเกี่ยวกับน้ำตกโขะทะ ที่ยิ่งใหญ่งดงามไม่แพ้น้ำตกทีลอซูอันโด่งดัง |
ผมและพลพรรคคนอื่นๆ นั่งฟังอย่างตั้งใจ และตื่นเต้นจนอยากจะเห็นอยากจะออกเดินทางไปให้ถึงโดยเร็ว ตอนนี้พวกเราต่างจิตนการกันไปไกลถึง น้ำตกโขะทะ น้ำตกที่ยิ่งใหญ่แต่ถูกปกปิดความอลังการไว้ด้วยม่านป่าแห่งขุนเขามานานแสนนาน |
แบ่งสัมภาระ พวกเรามาถึง อ.อุ้มผาง ในเวลาเกือบเที่ยงวัน เส้นทางถนนลอยฟ้า 1,219 โค้ง ไม่ได้ทำให้หัวใจที่พองโตยุบลงไปแม้แต่น้อย อ.อุ้มผางในวันกลางสัปดาห์อย่างนี้ช่างสงบเงียบ ไม่ค่อยมีนักทองเที่ยวเหมือนวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวน่าอภิรมย์
คนขับรถพาพวกเราชาวคณะมาส่งที่ ตูกะสู คอทเทจ ที่พักสบายๆ แบบน่ารักๆ บนเชิงเขาในเส้นทางสู่ดอยหัวหมด ณ ที่แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของพวกเราทุกครั้งเมื่อยามที่เดินทางมาเยือนอุ้มผาง
ในขณะนั้น คุณสุชาติ จันทร์หอมหวล (หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า พี่อู๊ดดี้ หนุ่มใหญ่ผู้เชี่ยวชาญพื้นที่ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร) และคุณสุมารี จันทร์หอมหวล (พี่ยุ้ย ผู้บริหารตูกะสู คอทเทจ) รวมถึงอาหารในเมนูเด็ดได้รอต้อนรับพวกเราอยู่ก่อนแล้ว
ข้าวของสัมภาระที่ไม่จำเป็นถูกแบ่งเก็บไว้ในห้องพักของตูกะสู คอทเทจ ผมเลือกแต่เสื้อผ้าที่จำเป็นจริงๆ เช่นชุดสำหรับใส่นอน อุปกรณ์อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และอุปกรณ์ถ่ายภาพที่จำเป็นเท่านั้น ยัดลงไปในเป้ใบเล็ก เพราะว่าการเดินทางต่อไปในช่วงบ่ายเราจะต้องเดินเท้าเข้าสู่หมู่บ้านโขะทะ การนำสัมภาระติดตัวไปมากนั้นจะเป็นการทำให้การเดินทางลำบากมากขึ้น
พี่ป๊อป ผู้ร่วมเดินทางจากบางกอกโพสท์ เป็นผู้มีไอเดียฉลาดแบบน่ารักๆ เสมอ เมื่อผมเห็นสัมภาระของพี่ป๊อบ ที่พี่แกเก็บเสื้อลงกระเป๋าไปหลายตัว ก็อดถามไม่ได้ว่า พี่จะเอาไปทำไมหลายตัวล่ะ เดี๋ยวก็ต้องขนกลับมาอีก พี่ป๊อบ ยิ้ม พลันตอบว่า ใครว่าจะเอากลับ ใส่แล้วทิ้งเลยต่างหาก หรือ ไม่ก็ให้ชาวบ้านเขาไปใช้ประโยชน์ต่อ... อืม...เข้าท่าแฮะ เดี๋ยวทริปหน้าผมเตรียมเสื้อที่เบื่อๆ หรือไม่ค่อยได้ใส่แล้ว มาออกทริปแบบนี้บ้างดีกว่า กลับมาก็ไม่ต้องกลับมาซักด้วย ฮิฮิ...
เดินด้วยใจ ไปด้วยเท้า พี่อู๊ดดี้ เตรียมรถเพื่อไปส่งพวกเราที่สบห้วยแม่ละมุ้งไว้ 2 คัน คันหนึ่งเป็นรถของพี่อู๊ดดี้เอง และอีกคันหนึ่งเป็นรถของคุณตุ้ม ปากะญอ รีสอร์ท ระยะทางจากตัว อ.อุ้มผาง ถึง สบห้วยแม่ละมุ้ง เป็นระยะทางประมาณ 25 กม. โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 ไปทางเดียวกันกับทางที่จะไปดอยหัวหมด
สบห้วยแม่ละมุ้ง คือจุดที่ ลำห้วยแม่ละมุ้ง และ ลำห้วยแม่กลอง ซึ่งเป็นสายน้ำหลักของ อ.อุ้มผาง ไหลมาบรรจบกัน จากจุดนี้พี่อู๊ดดี้ ได้ให้พี่เหล็ก (ชื่อจริง นายดิเรก) สูบลมเข้าเรือยาง เพื่อพาพวกเราข้ามฝั่งไป จากนั้นการเดินเท้าระยะทาง 8 กม. ขึ้นลงเขาสู่หมู่บ้านโขะทะจึงได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่ายนี้เอง |
สภาพพื้นดินที่เฉอะแฉะเพราะสายฝนพึ่งมาเยี่ยมเยือนเมื่อวันวาน ทำให้การเดินยากลำบากมากขึ้น พวกเรายังโชคดีที่ได้ช้างพัง ของชาวกระเหรี่ยงในหมู่บ้านโขะทะออกมารับ เพื่อขนสัมภาระให้พวกเราได้เดินสะดวกขึ้น ตอนนี้พวกเราทุกคนคิดเหมือนกันว่า ไม่อยากให้ฝนตกลงมาซ้ำอีก เพราะจะทำให้การเดินลำบากมากยิ่งขึ้น |
แรก ผมเริ่มมีอาการหอบกระหาย เม็ดเหงื่อผุดพรายชุ่มเสื้อทั่วผืนหลัง กล้องถ่ายภาพสองตัวเริ่มมีน้ำหนักราวกับว่ามันเพิ่มน้ำหนักตัวมันเองได้ คงเป็นเพราะช่วงปีหลังนี้ผมไม่ค่อยได้ออกทริปโหดๆ แบบนี้นัก ความพร้อมของร่างกายเลยถดถอยไป หรือว่าเป็นเพราะเราอายุมากขึ้นกันแน่...
เส้นทางเดินเท้าสายนี้ ชาวกระเหรี่ยงในหมู่บ้านโขะทะใช้เดินกันเป็นประจำในช่วงฤดูฝน เพื่อสัญจรออกมาสู่ตัว อ.อุ้มผาง หากเป็นช่วงฤดูแล้งรถยนต์สามารถเข้าถึงหมู่บ้านได้ แต่เส้นทางก็ทุรกันดารมากทีเดียว การเดินเท้าสู่หมู่บ้านจึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด |
ผมพร่ำคิดถึงหมู่บ้านโขะทะแบบจินตนาการไปล่วงหน้าว่าหมู่บ้านจะมีสภาพเป็นอย่างไร คงเป็นหมู่บ้านที่สวยงามท่ามกลางดงป่า คงมีอากาศหนาวเย็น และสายน้ำใส ที่สำคัญที่นั่นจะมีน้ำดื่มเย็นๆ บ้างไหม...
พี่แจ๊ค ถึงแม้จะมีขาที่ค่อนข้างยาว แต่ก็เดินช้าพอๆ กับผม เพราะมัวแต่แวะถ่ายภาพไปตลอด จึงทำให้ผมมีเพื่อนคุยระหว่างทาง พวกเราทำความเร็วได้พอๆ กับช้างที่เดินตามมา เห็นต้วมเตี้ยมๆ อยู่ข้างหลัง พักเดียวก็เดินตามพวกเราทัน ช้างเดินไปพลางถอนหายใจเสียงดัง มันคงเหนื่อยเหมือนพวกเราทุกคน ร่างที่อ้วนท้วนคงทำให้ขาทั้งสี่ของมันแบกรับน้ำหนักไว้ไม่ใช่น้อย |
เส้นทางเดินสูงชันขึ้นเรื่อย ทุกย่างก้าวต้องระมัดระวัง ผิวทางที่เฉอะแฉะทำให้ผมลื่นล้มราวกับเด็กพึ่งหัดเดิน เนื้อตัวเกรอะกรังไปด้วยโคลน ในช่วงแรกก็รู้สึกหงุดหงิดถึงความสกปรก แต่พอเข้าสู่ชั่วโมงที่สองผมก็เริ่มสนุกกับมัน เคยมีบางคนซึ่งผมจำไม่ได้ว่าใครเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อหลีกหนีมันไม่ได้ ก็จงเป็นเพื่อนกับมันซะ คิดได้อย่างนี้แล้ว ผมก็เริ่มสนุกกับการเดินมากขึ้น จนไม่สนใจร่างที่เปื้อนโคลนอีกต่อไป |
สามชั่วโมงผ่านไป ความเหนื่อยล้าเริ่มทวีมากขึ้น พี่จืด พี่อู๊ดดี้ เอ็ด แม่ปิง เริ่มออกหน้าไปก่อนแต่ก็ไม่ไกลกันนัก ช่วงนี้ทุกคนต้องเร่งฝีเท้ากันมากขึ้นเพราะท้องฟ้าเริ่มมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมาแล้ว ผมต้องเก็บกระเป๋าอุปกรณ์ถ่ายภาพลงในกระเป๋ากันน้ำ จากที่เคยแวะถ่ายภาพดอกไม้ ต้นไม้ริมทาง ต้องเดินผ่านเลยไปด้วยความเสียดาย แล้วสายฝนก็ตกหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเราทุกคนไม่กังวลกับเรื่องเปียกปอน เพราะตอนนี้ไม่สามารถหลีกหนีมันได้แล้ว |
สภาพอากาศในป่าตอนนี้ช่างฉ่ำเย็น พวกเราเหน็บหนาวถึงแม้จะเหนื่อยล้า พี่ต่ายเริ่มเป็นตะคิวที่ขาขวา ต้องหยุดพักการเดินไปพักหนึ่ง พี่อู๊ดดี้บอกว่าอีกไม่ไกลก็จะถึงลำห้วย นั่นแสดงว่าจะถึงหมู่บ้านโขะทะ คำว่า อีกไม่ไกล ทำให้พวกเรารีบตัดสินใจเดินต่อ อาการของพี่ต่ายเริ่มดีขึ้น โดยการหยุดพักเป็นระยะๆ |
หมู่บ้านโขะทะ เสียงน้ำไหลในลำห้วย ทำให้พวกเรายิ้มออกมาพร้อมกัน ถึงแล้ว ผมตะโกนออกมาด้วยความดีใจ สายน้ำใสไหลจากทางขวาไปซ้าย ตรงหน้าเรามีสะพานข้ามลำห้วย และป้ายเขียนไว้ว่า หมู่บ้านโขะทะ ผมยืนทอดอารมณ์ชมสายน้ำอยู่ได้ไมนานทั้งที่ฝนเริ่มหยุดราวกับธรรมชาติต้องการแกล้งทดสอบกำลังใจกับเรา |
พี่เหล็ก สตาฟจากตูกะสู คอทเทจ เป็นคนที่เดินมาถึงก่อน แล้วเข้าแคมป์ที่พักเพื่อเร่งรีบจัดเตรียมอาหารอย่างคนที่เป็นงาน ไม่น่าเชื่อว่า ชายหนุ่มอายุผู้มีอัธยาศัยตลกโปกฮา จะทำงานด้านการครัวได้คล่องแคล่วว่องไว ทั้งที่อุปกรณ์ต่างๆ ก็ไม่ถือว่าจะสะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน และพี่เหล็ก นี่ก็คือพ่อครัว และคนนำทางคนสำคัญของพวกเราในทริปนี้ |
ที่หมู่บ้านโขะทะ พวกเรามีที่พักค่อนข้างสะดวกสบายตามวิสัยของคนมาเที่ยวบ้านป่า เข้ากับธรรมชาติ และดูกลมกลืนไปกับสภาพหมู่บ้าน ทั้งนี้เพราะพี่อู๊ดดี้จัดเตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจัดเป็นแคมป์ไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ต้องการเดินทางมายังหมู่บ้านโขะทะ |
พวกเราอาบน้ำในห้องน้ำข้างที่พักที่มีอยู่ 2 ห้อง ถึงแม้เวลาตอนนี้เกือบ 6 โมงเย็น แต่ก็ทำให้พวกเราหนาวจนสั่นสะท้าน พี่จืด พี่ปีอบ และพี่แจ๊ค ที่รอคิวเข้าห้องน้ำก็ฆ่าเวลาด้วยการไปเดินเที่ยวชมหมู่บ้าน ซึ่งผมก็ได้ตามไปหลังจาบน้ำเสร็จ |
ที่นี่มีเซเว่นด้วยว่ะ นุ พี่จืด บอกผม ผมยิ้มเพราะรู้ว่ายังไงก็คงเป็นไปไม่ได้แน่ ที่หมู่บ้านเล็กๆ กลางป่าเขาอย่างนี้จะมีเซเว่น แต่ก็อดเดินไปตามทางที่พี่จืดชี้ไปไม่ได้ ด้วยความอยากรู้ และต้องการเดินเล่นจึงเดินตามรอยไป |
พี่จืด ไม่ได้โกหก ที่หมู่บ้านโขะทะ มีเซเว่นจริงๆ ด้วย แต่หน้าตาของร้าน และสินค้าภายในร้านไม่ได้เหมือนเซเว่นของแท้เลยแม้แต่น้อย ร้านเซเว่นของหมู่บ้านโขะทะ ก็คือร้านขายของโชห่วยเล็กๆ มีอาหารแห้ง พวกอาหารกระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป น้ำปลา ขนมขบเคี้ยวนิดหน่อย มีน้ำอัดลม แต่ไม่มีน้ำแข็ง หรือตู้เย็น ที่สำคัญหน้าร้านเขียนไว้ว่า seven eleven พี่จืด ไม่ได้โกหกจริงๆ ด้วย |
อย่ากระนั้นเลย...มาถึงแล้ว ผมก็ทำการตุนอาหารแห้งเพิ่มขึ้นอีกหน่อย ตามประสาคนกินง่าย อยู่ง่าย แต่หลายคนชอบว่าผมว่า กินยาก อยู่ยาก ผมก็มักจะแย้งเสมอว่า ผมน่ะ กินง่าย อยู่ง่าย เพราะชอบกินอะไรที่ง่าย เช่น ไข่ดาว , ไข่เจียว , ไข่ต้ม , เนื้อ หมู ย่าง , หรือมาม่าดิบกับข้าวสวยร้อนๆ ก็อยู่ได้แล้ว (เมนูหลังนี่ ต้องลองซะให้ได้เลยนะครับ อร่อยแบบง่ายๆ) |
ในวงข้าวมื้อค่ำ พวกเราเนื้อตัวสะอาดมาล้อมวงกัน ฝีมือพี่เหล็ก ต่างถูกทุกคนชิมและชม แต่ท่าทางพี่เหล็กแกไม่ได้เขินเลยแม้แต่น้อย คงเป็นเพราะมีคนชมอยู่บ่อย ผมแอบนึกในใจดังๆ ว่า ทำกับข้าวอร่อยอย่างนี้นี่เอง ถึงมีเมีย 4 ลูกอีก 5 (ผ่านไปอุ้มผาง ก็อย่าไปแซวแกนะ แกอาย...) |
หลังมื้อค่ำพวกเรายังคงนั่งล้อมวงกันต่อในแคมป์ที่ปลูกสร้างด้วยไม่ไผ่ และมีหลังคาที่ทำจากใบตองตึง เสื้อผ้าที่ใส่มาถูกซักน้ำเปล่าแล้วผึ่งไว้ วันพรุ่งนี้เราจะต้องใส่ต่อ คงมีแต่พี่ป๊อบเท่านั้นที่มีเสื้อตัวใหม่ใส่ รองเท้าคืออุปกรณ์สำคัญของการเดินป่า รองเท้าที่ใส่สบายและไม่ลื่นเวลาเดินจะเป็นรองเท้าที่ดีมาก ไม่จำเป็นต้องใช้ของที่ราคาแพง |
ชาวกระเหรี่ยง ในหมู่บ้านโขะทะสองสามคนเดินเข้ามาคุยกับพี่อู๊ดดี้อย่างคนคุ้นเคย พวกเราเลยได้ข้อมูลหมู่บ้าน และข้อมูลสภาพเส้นทางสู่น้ำตกโขะที่เราจะเดินต่อไปชมกันในพรุ่งนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง น้ำตกโขะทะ ตอนที่สอง น้ำตกโขะทะ ตอนจบ
นุ บางบ่อ ... เรื่อง (2 / 2551) / ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551
ขอขอบคุณ - สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม |
พี่อู๊ดดี้ , พี่ยุ้ย , พี่เหล็ก ตูกะสู คอทเทจ โทร. 0 5556 1295 คุณตุ้ม ปากะญอ รีสอร์ท โทร. 08 9959 0989 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง. ภาคเหนือ เขต 4 โทร. 0 5551 4341-3 |