ภารกิจที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร การเดินทางยาวไกลเพื่อมุ่งหมายสิ่งที่อยู่ไกลโพ้น วันนี้คุณเองก็สามารถเดินทางไปถึง สิ่งที่อยู่สูงได้ล่องลอยลงมา รอวันคุณคว้าไว้ในความทรงจำ
เอ็ด แม่ปิง ... เรื่อง นุ บางบ่อ ... ภาพ
สวัสดีครับพบกันครั้งแรก คราวนี้ผม เอ็ด แม่ปิง มากับภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางไป ไปตามหา "รุ้งกินน้ำ" ที่น้ำตกแห่งหนึ่งใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยมีผู้ร่วมเดินทางกับผมอีก 2 ท่าน คือ พี่วิสูตร (ผช.ททท.ตาก) และ นุ บางบ่อ (travel.sanook.com)
|
เราออกเดินทางจากตัวเมืองตากประมาณ 09.00 น. ไปตามทางหลวงหมายเลข 105 (ตาก-แม่สอด) แวะเข้าอุทยานแห่งชาติลานสาง เพื่อชมความงดงามของสายน้ำตกลานสาง ที่ไม่เคยหืดแห้งไปตามฤดูกาล ณ วันนี้บริเวณโดยรอบอุทยานฯ ลานสาง ดูผิดตาไปจากเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา เป็นอย่างมาก มีการจัดภูมิทัศน์ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ร้านค้าสวัสดิการ บ้านพัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการกันมากในช่วงฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้ |
|
จากนั้นพวกเราเดินทางต่อไปยัง อ.แม่สอด ถึงแม่สอดเที่ยงวันพอดี (ระยะทางจากตากไป แม่สอด ประมาณ 86 กม. ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชม.) มื้อเที่ยงวันนี้ เราขอเลือกทานอาหารจีน ร้านที่พวกเราไปชิมกันนี้ชื่อ ร้านกวางตุ้ง ซึ่งที่นี่เป็นร้านอาหารกวางตุ้งขนานแท้และดั้งเดิม ที่เปิดบริการมากว่า 50 ปี (ไม่มีแกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง ให้ทานนะครับ) |
|
|
เมื่อเข้าไปในร้านเราก็พบกับ "น้องหมวย" คนสวยทายาทร้านกวางตุ้ง ที่รอต้อนรับพร้อมน้ำเก๊กฮวยเย็นๆ กับอาหาร 5-6 อย่าง วางเต็มโต๊ะ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารขึ้นชื่อของร้าน เช่น พริกหยวกยัดใส่หมู , ปลาเมยนึ่งซีอิ๊ว , ต้มจืดสาหร่าย , กระดูกหมูอ่อนผัดเปรี้ยวหวาน , ผัดผัก และ ขอแนะนำเมนูใหม่ หมูตากแดดผัดใส่บล๊อกโครี่ (มั่นใจครับว่าว่าชื่อ หมูตากแดด จริงๆ) |
|
|
นอกจากกิจการร้านอาหารจีนกวางตุ้ง แล้ว น้องหมวยยังเปิดกิจการ ร้านภาพประดับพลอย อีกด้วย เพราะทางร้านกวางตุ้งมีโรงงานที่ผลิตภาพประดับพลอย (แห่งเดียวในประเทศไทย) โดยสามารถทำได้ทั้งภาพวิว และ ภาพเหมือนจริง ถือได้ว่าเป็นของที่ระลึกจาก อ.แม่สอด อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่สำคัญงานภาพประดับพลอยของที่นี่ เป็นงานแฮนด์เมดล้วนๆ แถม ราคาไม่แพงด้วย หากเพื่อนๆ สนใจ ก็ลองโทรไปสอบถามได้ตามหมายเลขข้างล่างได้ครับ |
|
เมื่อเติมพลังคนกันเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องเติมพลังให้รถบ้าง เพราะตลอดระยะทาง 164 กม. เส้นทางข้างหน้าที่จะไป ไม่มีปั้มน้ำมัน มีอีกทีก็ที่ตัวอำเภออุ้มผาง โน่นเลย จาก อ.แม่สอด ไปตามทางหลวงหมายเลข 1090 เข้าสู่ อ.พบพระ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทสวนเกษตรมากมาย ท่านจะได้ชม และเลือกซื้อผลไม้นานาชนิด เช่น ทับทิม"ศรีปัญญา", ส้มเขียวหวาน, ส้มสายน้ำผึ้ง , มะคาเดเมีย และอะโวคาโด้ และ ชมน้ำตก 97 ชั้น ที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ ที่สำคัญ อ.พบพระ เป็นแหล่งปลูกกุหลาบมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย เราจะเห็นไร่กุหลาบสองข้างทาง ตลอดระยะทาง 20 กม. |
|
|
ก่อนขึ้นเส้นทางถนนลอยฟ้า ที่ กม.49 บนเทือกเขาถนนธงชัย ที่คดเคี้ยวถึง1219 โค้ง เราจะมองเห็นเส้นทางข้างหน้าที่จะไปอยู่อีกฟากเขาลูกข้างหน้า ช่างเป็นทางที่คดเคี้ยวซะเหลือเกิน เมื่อเดินทางมาถึง กม.ที่ 86 เป็นที่ตั้งของหน่วยย่อย แขวงการทางแม่สอด เป็นจุดพักคนและรถ มีบริการกาแฟร้อนๆ ห้องน้ำสะอาด กับอากาศเย็นสบายสดชื่น ที่ทำให้ทุกท่านผ่อนคลายความเมื่อยล้าลงได้มากทีเดียว |
|
จากนั้นเดินทางต่อ ระหว่างทาง กม.ที่ 88 - 92 เป็นที่ตั้งของศูนย์อพยพบ้านอุ้มเตี้ยม ที่ปลูกบ้านตามไหล่เขาดูแปลกตา ในที่สุดพวกเราก็มา ถึง อ.อุ้มผาง ประมาณ 16.00 น. หลังจากใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชม.จาก อ.แม่สอด
|
อุ้มผางเป็นชุมชนเล็ก ๆ มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย สงบ ในตัวเอง มี ร้านมินิมาร์ท ประมาณ 5 ร้าน ร้านอาหารประมาณ 10 ร้าน ร้าน Internet 2 ร้าน บ้านเก่าบ้านโบราณ 10 หลัง (HOME STAY) รีสอร์ท/เกสท์เฮ้าส์ ประมาณ 40 แห่ง และสนามบินชุมชนอุ้มผาง (เครื่องบินเล็ก) |
|
|
ข้อสำคัญที่สุดตอนนี้อุ้มผางยังไม่มีธนาคารนะครับ (แต่กำลังจะมีภายในปี 2548 นี้ เป็นสาขาหนึ่งของธนาคารออมสินครับ) คณะเราเข้าพักที่ภูดอย แคมป์ไซต์ ของ คุณณรงค์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์อุ้มผาง โดยมี พี่สรายุทธ์ เลขาชมรมฯ และพี่จอก เจ้าของ สวนเรือนแก้ว รีสอร์ท ให้การต้อนรับ และ นัดหมายเวลาที่จะล่องเรือยางไปจับรุ้งกันในวันรุ่งขึ้น |
|
06.00 น. กับบรรยากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าสีคราม แสงแดดส่องประกายสดใส ถือว่า เป็นนิมิหมายที่ดีในการจับรุ้งครั้งนี้ เราเที่ยวตลาดเช้าของชาวอุ้มผาง ซึ่งเป็นตลาดเล็กๆ น่ารัก บริเวณเดียวกันนั้น ยังเป็นท่ารถ อุ้มผาง - แม่สอด อีกด้วย เที่ยวชมตลาดสักพักก็เดินทางไปลงเรือที่ สวนเรือนแก้ว รีสอร์ท ของพี่จอก โดยมีพี่สราวุธ และลุงยงค์ ไกด์จากภูดอยแคมป์ไซต์ ร่วมเดินทางไปอำนวยความสะดวกในทริปจับรุ้งกับเราด้วย |
|
|
ส่วนพี่จอกต้องแยกขับรถไปรอรับพวกเราที่ท่าขึ้นเรือ "ถ้ำตะโค๊ะบิ๊" เราเริ่มล่องเรือกันประมาณ 08.30 น. ซึ่งลุงยงค์ บอกว่า จะไปถึงน้ำตกที่มีรุ้งปรากฏ ประมาณ 09.00 น. ซึ่ง แสงแดดจะส่องมาพอดี เส้นทางที่ล่องผ่านถ้ำผาโหว่ เป็นหน้าผาใหญ่ มีถ้ำอยู่กลางหน้าผา คณะเราเป็นเรือลำแรกที่ล่องในเช้านี้ จึงทำให้เห็นนกนานาชนิดบินเลียบขนานกับสายน้ำแม่กลอง และดอกไม้ป่า 2 ข้างฝั่ง ไม่นาน พวกเราก็มาถึงน้ำตกทีลอจ่อ ที่ละอองน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงกว่า 80 ม. แต่เราไม่ได้หยุดเรือตรงนี้ ลุงยงค์บอกว่า ต้องล่องไปอีก 50 ม. ถึงจะเห็นรุ้ง ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นหน้าผาใหญ่มีสายน้ำตกลงมาเหมือนม่านน้ำ ฝั่งตรงข้ามหน้าผา มีหินก้อนใหญ่ให้เราไปจอดถ่ายภาพรุ้งกินน้ำได้สบาย และ ณ จุดนี้นี่เองที่เป็นจุดเกิดของสายรุ้ง ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ล่องลอยลงมา ให้เราได้ไขว่คว้าเอาไว้ |
ขณะที่รอการปรากฏของรุ้งที่จะลงกินน้ำนั้น มีแพไม้ไผ่ 4 ลำ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั่งมาด้วยลำละ 2 คน ผ่านมาด้วยพอดี จึงเป็นภาพที่น่าดูมาก พี่สรายุทธ์บอกว่า นักท่องเที่ยวพวกนี้ชอบล่องแพไม้ไผ่มาก ไม่อยากล่องเรือยางอย่างเราหรอก เพราะที่บ้านเมืองเค้ามีดีเรือยางที่กว่านี้อีก (อันที่จริงผมก็ชอบแพไม่ไผ่นะ เวลานั่งมันได้บรรยากาศจริง ๆ กับลำน้ำที่ไหลเอื่อยๆ ไม่รุนแรงเช่นนี้) และอีกอย่างการล่องแพไม่ไผ่นี้นั้นเป็นสัญลักษณ์ของ อ.อุ้มผาง ในยุคเริ่มแรก บางคนอาจจะว่าการล่องแพไม้ไผ่นั้นเป็นการทำลายทรัพยากร ความจริงแล้ว การใช้ไม่ไผ่มาต่อแพของชาวอุ้มผางนี้ ไม่ได้เป็นการทำลายทรัพยากรอย่างที่เข้ากันครับ แพไม้ไผ่ที่ล่องไปจนถึงปลายทางแล้วจะถูกถอดออก และนำใส่รถกลบมาผูกให้เป็นแพ แล้วนำไปล่องใหม่ ปัจจุบันเหลือผู้ประกอบการอยู่เพียงไม่กี่ราย ที่ยังคงใช้วิธีการล่องน้ำแม่กลองด้วยแพไม้ไผ่ |
|
|
เราใช้เวลาเฝ้าดูรุ้ง ถึงประมาณ 10.15 น. รุ้งก็ไม่มีที่ท่าว่าจะจางหายไป คาดว่าน่าจะปรากฏอย่างนี้ไปถึงประมาณ 11.00 น. แต่คณะเรามีภารกิจต่อ จึงต้องอำลารุ้งกินน้ำ เพื่อไปขึ้นฝั่งที่ ถ้ำตะโค๊ะบิ๊ แต่ก่อนถึงท่าขึ้นเรือเราแวะไปแช่น้ำร้อนธรรมชาติที่บ่อน้ำร้อน 11.00 น. ถึงท่าขึ้น พี่จอกมารอรับพอดี พร้อมอาหารกล่อง ซึ่งเดี่ยวนี้ผู้ประกอบการในอำเภออุ้มผาง เค้าพัฒนาแล้ว เขาไม่ใส่กล่องโฟมเหมือนแต่ก่อน ปัจจุบันใส่กล่องพลาสติกแข็งแรง สะอาด และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่ยอดเยี่ยมมากทีเดียว |
|
จากนั้นเราก็อำลาแยกย้ายกับคณะชมรมฯ เพราะคณะเราจะเดินทางเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เพื่อชมความงดงามยิ่งใหญ่ของน้ำตกทีลอซู สภาพเส้นทาง 20 กม.แรกเป็นถนนลาดยาง ถึงด่านเดลอ เลี้ยวซ้ายต่อด้วยถนนลูกรัง 25 กม. ตลอดเส้นทางเข้าที่ทำการเขตฯ จะมีฝุ่นมาก รถอาจติดฝุ่น ทำให้ล้อ Free เพราะฝุ่นที่นี่ละเอียดเหมือนแป้ง ฉะนั้น รถตู้ , รถเก่ง , รถแต่งโหลด , รถจักรยานยนต์ ทางเขตฯ จึงไม่อนุญาตให้เข้าโดยเด็ดขาด |
ขาเข้าผ่านเนินที่เสียงต่อรถติดมี 2 เนิน คือ มอดินแดง และ โค้งตัว S ส่วนขากลับออกมามี 1 เนิน ซึ่งเป็นทางขึ้นดอยยาวฝุ่นเยอะมาก ต้องใช้ทักษะการขับรถที่ดีถึงจะรอดได้ หลังจากใช้เวลาประมาณ 1.30 ชม. ก็ถึงด่านเสียค่าธรรมเนียม รถ 30 บาท คนขับ 20 บาท คนนั่งไปเสียด้านใน
บริเวณที่ทำการเขตฯ มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก หลังจากกรมอุทยาน ฯ ได้เข้ามาปรับปรุงขนานใหญ่ มีที่จอดรถเป็นสัดส่วน ร้านค้าสวัสดิการ ห้องน้ำกว่า 100 ห้อง ลานกางเต็นท์ขยายใหญ่ขึ้นรอบรับได้ถึง 1,000 เต็นท์ ซึ่งพร้อมบริการนักท่องเที่ยวตลอดเวลา หลังจากที่พี่วิสูตร และนุ บางบ่อ เสียค่าธรรมเนียมคนละ 20 บาท เราก็ออกเดินทางตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1.5 กม. ไปกลับ 3 กม. มีป้ายสื่อความหมายไปตลอดทางเป็นระยะ น่าสนใจไม่ใช่น้อย
|
ทางเดิน 500 ม. แรกจะดูแห้งแล้งสักหน่อยเพราะย่างเข้าฤดูร้อนแล้ว พอเดินทางต่อไปก็ได้ยินเสียงน้ำที่ไหลมาจากน้ำตกทีลอซู มีน้ำตกเล็กๆ ข้างทาง สระมรกตที่สวยไม่แพ้ จ.กระบี่ ใช้เวลาเดินประมาณ 20 นาทีก็ถึงน้ำตกทีลอซูอันยิ่งใหญ่ สวยงาม |
|
หลังจากที่เราเก็บความประทับใจของน้ำตกทีลอซูเพียงพอแล้ว ก็ถึงเวลาที่คณะเราก็ต้องขออำลาแผ่นดินดอยลอยฟ้าอุ้มผาง กลับมาใช้ชีวิตในป่าคอนกรีตเหมือนเดิม ผมขอเชิญชวนให้นักเดินทางทุกท่าน เดินทางมาชมสายรุ้ง ณ น้ำตกทีลอจ่อ ที่นี่ท่านจะได้สัมผัสรุ้งอย่างใกล้ชิด สามารถสร้างความประทับใจให้กับท่าน และครอบครัวได้อย่างยากที่จะลืมเลือน สำหรับทริปนี้ผมคงต้องขอลาไปก่อน โอกาสหน้ามีโครงการเด่นๆ จะมาเล่าสู่กันฟังใหม่นะครับ
" เอ็ด แม่ปิง "
|
|
การเดินทางสู่ จ.ตาก คลิกที่นี่
รายชื่อที่พัก + ผู้ประกอบการล่องเรือยาง ภูดอย แคมป์ไซค์ โทร. 0 5556 1049 , 0 5556 1279 บุญช่วย แคมป์ปิ้งค์ทัวร์ โทร. 0 5556 1020 สวนเรือนแก้ว รีสอร์ท โทร. 0 1886 5226 , 0 1886 8867 แคมป์สุขเสถียร โทร. 0 5556 1227 ตูกะสู คอทเทจ โทร. 0 5556 1295 โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม โทร. 05556 1534
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท.สำนักงานภาคเหนือ เขต 4 โทร. 0 5551 4341 - 3